การวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ตอนที่ 1


หากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเด็กไทยต่ำลงไปเรื่อยๆ?

การศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาบุคคล  เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต บุคคลต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข (รองศาสตราจารย์ผุสดี  กุฎอินทร์, 2550 : 1-7) สังคมใดที่ประชากรได้รับการศึกษาสูงจะส่งผลให้สังคมหรือประเทศนั้นๆ มีความเจริญก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เช่นเดียวกับสังคมไทยที่การจัดการศึกษาเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาล โดยนโยบายในการจัดการศึกษาของไทยได้มีแนวทางที่มุ่งพัฒนาคนและสังคมอย่างชัดเจนมาโดยตลอด สังเกตได้จากแนวทางการศึกษาไทย 3 ช่วงการเปลี่ยนแปลง คือการจัดการศึกษาในอดีตก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การจัดการศึกษาในช่วง พ.ศ.2475 ถึงพ.ศ.2542 และการจัดการศึกษาในช่วงพ.ศ.2542 ถึงปัจจุบัน

                    แนวทางการจัดการศึกษาของไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีวิวัฒนาการที่สืบเนื่องกันมาโดยตลอด ในยุคนี้จะให้ความสำคัญกับมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา โดยแนวคิดของการปฏิรูปการศึกษาสรุปได้ว่าเป็นการศึกษาเพื่อนำทางสู่สังคมแห่งปัญญาและการเรียนรู้

การศึกษาในประเทศไทย หากดูจากสภาพที่เกิดขึ้นในสังคมหลายๆ ฝ่ายกำลังเข้าใจเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ การศึกษาของไทยกำลังมีปัญหา จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากสังคม ซึ่งมีการทำวิจัยออกมา หลายครั้งที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของการศึกษา             ในบ้านเรา ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยเปรียบเสมือนสายพานความป่วยไข้ทางสังคมที่สะท้อนถึงปรากฏการณ์ความอ่อนแอของทุกภาคส่วน

ปัญหาผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ  เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของการศึกษาในประเทศไทยที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ จำเป็นต้องวิเคราะห์ประเด็นที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับผลสอบของผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะมีผลสัมฤทธิ์ต่ำต่อไป 

 

1.  ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ

    ผลจากการติดตามการปฏิรูปการศึกษาในรอบ 6 ปี หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยประเมินจากคุณภาพภายนอกสถานศึกษา 17,562 แห่งทั่วประเทศ  คิดเป็นร้อยละ 49.1 ของโรงเรียนทั้งหมด พบว่าการจัดการเรียนการสอนของครูยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  ยังมีคุณภาพอยู่ในระดับร้อยละ 39.2 การจัดกิจกรรมที่กระตุ้นผู้เรียนให้รู้จักคิด วิเคราะห์                         คิดสร้างสรรค์  คิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ มีคุณภาพอยู่ระดับร้อยละ 13.5  และครูสามารถนำผล   การประเมินมาปรับการเรียนและเปลี่ยนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพเพียงร้อยละ 21.6                             ของสถานศึกษาทั้งหมด การประเมินคุณภาพทางด้านผู้เรียนพบว่ายังมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับต่ำมากในทุกกลุ่มโดยเฉพาะความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์  มีคุณภาพระดับดีเพียงร้อยละ 11.1 และมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพดีเพียงร้อยละ 26.5 ของสถานศึกษาทั้งหมด ส่วนผลการประเมินของผู้ตรวจราชการพบว่า โครงสร้างการบริหารสถานศึกษาในส่วนกลางยังขาดการเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์ ส่วนภูมิภาคพบว่าผู้แทนกระทรวงในจังหวัดยังไม่มีความชัดเจน การกระจายอำนาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย ที่สำคัญครูจำนวนมากยังสอนแบบเดิม ขาดความรู้ในเนื้อหาวิชาและทักษะการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะครูในโรงเรียนขนาดเล็กขาดโอกาสพัฒนา เพราะไม่สามารถทิ้งห้องเรียนได้ การติดตามผลยังไม่เข้มแข็ง  ไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ทางการศึกษา (ร.ต.อ.อาภรณ์   รัตน์มณี) จากบทความทางวิชาการเรื่อง “ทำไมระบบการศึกษาไทยจึงพัฒนาช้า” ทั้งนี้สามารถแบ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ 2 ประเด็นสำคัญดังนี้

1.1  ประเด็นระบบการจัดการศึกษา

การศึกษาระบบการจัดการศึกษาโดยส่วนใหญ่ มุ่งศึกษาเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของระบบการบริหารจัดการศึกษาในประเทศและต่างประเทศ การวิเคราะห์ลักษณะเด่นของการจัดการศึกษาของประเทศนั้นเพื่อนำแนวคิดที่ได้มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ดังนั้นระบบการจัดการศึกษาของไทยยังส่งผลโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนในประเทศไทย สำหรับการนำเสนอแนวคิดประเด็นระบบการจัดการศึกษาเป็นสาเหตุสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับองค์ประกอบของการศึกษา และแยกวิเคราะห์เป็นลำดับถัดไป

องค์ประกอบในการจัดการศึกษา

    ปรัชญา  เวสารัชช์ (2545 : 2) กล่าวว่า องค์ประกอบที่สำคัญในการจัดการศึกษา                      มี 8 ประการดังนี้

                        1)    หลักสูตรหรือสาระเนื้อหาในการศึกษา ต้องทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์  เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียน และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา

                        2)    ครูผู้สอน ต้องได้รับการศึกษาอบรมมาทั้งในด้านเนื้อหาและวิธีการถ่ายทอด  เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้และสาระวิชาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                        3)    สื่อและอุปกรณ์การศึกษา  เช่น อาคารสถานที่ ตลอดถึงอุปกรณ์ที่ทันสมัยอื่นๆ จะต้องมีอย่างเพียงพอ อยู่ในสภาพใช้งานได้ และครูต้องใช้สื่อเหล่านั้นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

                        4)    รูปแบบวิธีการเรียนการสอน ควรนำรูปแบบวิธีการเรียนการสอนใหม่ๆ มาใช้ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียนแต่ละกลุ่ม และตรงกับธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน

                        5)    ผู้บริหารและบุคลากรที่ทำหน้าที่สนับสนุนการศึกษา ต้องได้รับการศึกษาอบรมที่ดี  สามารถทำหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

                        6)    งบประมาณหรือเงินทุนสนับสนุน ต้องได้รับการจัดสรรอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เนื่องจากการจัดการศึกษาเป็นเรื่องของการลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนคือรัฐบาลในฐานะผู้รับผิดชอบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ นอกจากนี้อาจมีบุคคลอื่นเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนด้วย เช่น ผู้ปกครอง ผู้เรียน ชุมชน องค์กร ภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

                        7)    สถานที่ศึกษาและบรรยากาศแวดล้อม  ต้องเหมาะสมเพียงพอ ปลอดภัย และเอื้อต่อการเรียนรู้ 

                        8)    ผู้เรียน ถือเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นที่สุดของการจัดการศึกษา และเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการศึกษา การปรับเปลี่ยนความรู้และพฤติกรรมของผู้เรียนเป็นดัชนี                   ชี้วัดผลสำเร็จในการจัดการศึกษา ดังนั้นการจัดการศึกษาควรครอบคลุมขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับ                   การเรียนรู้ของผู้เรียน นับตั้งแต่การเตรียมพร้อมก่อนเรียน การให้การศึกษาอบรม การประเมิน                    และการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

องค์ประกอบในการจัดการศึกษาทั้ง 8 ประการข้างต้น รัฐจะต้องดำเนินการทั้งในด้านการจัดระบบ  และการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความเชื่อทางการเมือง ระบอบการปกครองหรือระบบการบริหารราชการแผ่นดิน และบริบทด้านอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการศึกษาโดยรวมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  และส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างแท้จริง

    ระบบการศึกษาจำแนกส่วนประกอบได้เป็น 5 ส่วนคือ (1) ส่วนที่เป็นสภาพแวดล้อมหรือบริบท (2) ส่วนที่เป็นปัจจัยนำเข้า (3) ส่วนที่เป็นกระบวนการแปรสภาพ (4) ส่วนที่เป็นผลผลิต  และ (5) ส่วนที่เป็นผลย้อนกลับ แต่ละส่วนมีความสัมพันธ์กันเชิงระบบ  ดังต่อไปนี้

                        1)    ส่วนที่เป็นสภาพแวดล้อมหรือบริบท (context / situation) คือ สิ่งต่างๆ      ที่อยู่ภายนอกที่มีอิทธิพลต่อองค์ประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทุกส่วน และสภาพแวดล้อมหรือบริบทดังกล่าวอาจเป็นปรากฏการณ์ทางกายภาพหรือจิตภาพก็ได้

                        2)    ส่วนที่เป็นปัจจัยนำเข้า (input) คือสิ่งต่างที่ต้องนำไปใส่เข้าไปเพื่อให้การดำเนินงาน  เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น ทรัพยากร วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ เป็นต้น

                        3)    ส่วนที่เป็นกระบวนการแปรสภาพ (process) คือ กระบวนการ วิธีการหรือขั้นตอนในการทำงานที่กระทำต่อปัจจัยนำเข้าเพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ

                        4)    ส่วนที่เป็นผลผลิต (output) คือ สิ่งที่เกิดจากการใส่ตัวป้อนเข้าไปในกระบวนการ  และทำให้เกิดผลขึ้นตามความมุ่งหมาย

                        5)    ส่วนที่เป็นผลย้อนกลับ (feedback) คือ ส่วนที่ใช้กำกับและควบคุมให้ระบบดำเนินไปตามจุดมุ่งหมาย

โปรดอ่านต่อในการวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ตอนที่ 2

คำสำคัญ (Tags): #รายงาน มสธ.
หมายเลขบันทึก: 314162เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2009 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท