ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

B.Y.O. ธรรมเนียมนี้ตรงข้ามกับวิถีไทย


In G&C December 2006
          B.Y.O. เป็นอีกคำหนึ่งที่พบในวิถีการกิน  
          ครั้งแรกที่พบเจอก็เป็นงงเหมือนกันค่ะว่าอะไร
 
          แหล่งที่เจอก็ที่ประเทศออสเตรเลียโน่น  โดยอ่านพบในบรรดาแผ่นพับ  ใบปลิว  จุลสารที่แจกฟรีตามสถานที่ต่างๆ   ซึ่งภายในนั้นจะบรรจุข้อมูลสารพัดสารเพที่จะเอื้ออำนวยให้การท่องเที่ยวของเรามีความสุขอย่างเหมาะเจาะกับความพอใจและทุนทรัพย์  
          ข้อมูลสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือแหล่งที่อยู่ที่กิน  เอกสารที่เราได้นั้นแจกฟรีค่ะ  เพราะคนที่ออกสตังค์คือเจ้าของธุรกิจต่างๆ ที่ลงโฆษณาในนั้น   เนื้อที่ในกระดาษที่ใหญ่มากก็เสียเงินมาก ดังนั้นการใช้คำย่อเพื่อให้ข้อมูลแก่ลูกค้าอย่างครบถ้วนก็ต้องใช้คำย่อซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป
          แต่เราไม่ใช่คนในพื้นที่  จึงต้องงงกับบรรดาคำย่อทั้งหลายเหล่านั้น  และคำย่อ B.Y.O. ที่ปรากฎให้เห็นก็เป็นหนึ่งในบรรดาคำย่อทั้งหลายที่อยู่ในกลุ่ม  เดาไม่ออกเอาซะเลย
           
          เมื่อไม่รู้ก็ต้องหาคำตอบค่ะ  แล้วก็พบว่าคำเต็มๆคือ Bring Your Own  ซึ่งเป็นการบอกลูกค้าว่าให้ “เอามาเอง” นะ
          แล้วอะไรล่ะที่ต้องเอามาเอง  คนต่างถิ่นอย่างเราจะรู้มั๊ยเนี่ย?
          คนออสเตรเลียเห็นคำนี้แล้วเข้าใจทันทีค่ะว่า สิ่งที่ต้องเอามาเองเมื่อเข้ามาใช้บริการร้านอาหารหรือโรงแรมที่มีคำนี้คือ เครื่องดื่มจำพวกแอลกอฮอล์!
          นี่ถ้าเป็นเมืองไทยไม่ต้องเสียเวลาติดป้ายบอกเลยค่ะ  คนไทยที่นิยมพกพาเครื่องดื่มประเภทนี้เข้าไปดื่มในร้านอาหารนั้นมีให้เห็นเป็นปกติ   ขนาดบางร้านห้ามนำเข้าไป  ยังแอบทำกันเลย
        
         ทำไมที่ออสเตรเลียจึงต้องมีการบอกกล่าวเช่นนี้?
         เรื่องนี้เกี่ยวกับกฎหมายค่ะ และกฎหมายของบ้านเขาเข้มแข็งกว่าบ้านเราแยะเลย   ร้านอาหารที่จะจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มจำพวกแอลกอฮอล์ได้  ต้องมีใบอนุญาตค่ะ  เช่นเดียวกับเมืองไทยนี่แหละค่ะ  แต่ค่าใช้จ่ายในการทำเช่นนั้นแพง สิ้นเปลือง และมีเรื่องหยุมหยิมเกี่ยวเนื่องมากมายจนไม่มีซะจะดีกว่า  
          อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ไม่ห้ามถ้าประชาชนทั่วไปจะไปซื้อหามาดื่มเอง  และโรงแรมหรือร้านอาหารบางแห่งมีการกำหนดพื้นที่ไว้สำหรับผู้ที่จะดื่มเครื่องดื่มจำพวกแอลกอฮอล์ไว้ด้วย  พอๆกับพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ยังไงยังงั้น
        ร้านค้าที่ไม่ต้องการทำใบอนุญาตที่ว่านี้  และไม่ต้องการทำให้ลูกค้ามีน้ำโหขึ้นมาเมื่อสั่งเครื่องดื่มที่ต้องการแล้วไม่มีให้  จึงประกาศให้รู้ล่วงหน้าว่า  ถ้าอยากมากินอาหารที่ร้านของฉันล่ะก็  ไม่มีเครื่องดื่มจำพวกแอลกอฮอล์ไว้บริการหรอกนะจ๊ะ  ถ้าอยากจะดื่มก็กรุณาพกมาเอง  ทางร้านไม่ขัดข้อง 
        ร้านที่บอกแบบนี้แล้ว ก็หมายความว่า ค่าเปิดขวด แบบที่ถูกเรียกเก็บจากบางร้านในเมืองไทยนั้น  ไม่มีค่ะ 
        ถ้าร้านไหนไม่บอกไว้ และไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำหน่ายให้เห็น ก็อย่าได้นำเข้าไปวางตั้งให้ขัดอารมณ์เจ้าของสถานที่เป็นอันขาด
        นอกจากนั้น  หลายร้านที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม  จะกำหนดพื้นที่การดื่มไว้ด้วย  เคยไปพักอยู่โรงแรมหนึ่ง  มีป้ายติดไว้เบ้อเริ่มว่า “ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านประตูนี้”  และมีคำบรรยายประกอบไว้ด้วยว่า  หากพบเห็นในพื้นที่ที่ห้ามไว้  เจ้าหน้าที่ของโรงแรมจะช่วยกำจัดทิ้งให้ทันที    คนที่จะดื่มต้องไปใช้บริการที่บาร์ของโรงแรมหรือไปซื้อมานั่งดื่มบริเวณใกล้กับบาร์ซึ่งจัดไว้ให้   เรียกว่าดื่มกันให้เป็นที่เป็นทาง
        เรื่องที่จะเดินดื่มสเปะสะปะที่โน่นที่นี่  ทำไม่ได้ค่ะ
        มีโอกาสไปใช้ชีวิตตามวิธีกินแบบนี้เมื่อไหร่  เห็นตัวย่อนี้เข้า  ก็อย่าลืมที่บอกไว้นะคะ
        บีวายโอที่เมืองไทยนั้น เป็นเรื่องค่ะ... เพราะมักจะคิดเงินเพิ่มค่าเปิด !!!
             
 
หมายเลขบันทึก: 313762เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท