๗๙.เทคนิคการเตรียมสอบ


การปฏิบัติงานคือการเตรียมสอบ

"...ช่วยติวข้อสอบให้ด้วย เห็นได้ข่าวว่าอส.จะเปิดสอบอีกครั้ง.."เสียงพี่ผู้หญิงคนหนึ่งได้ขอร้องให้ผู้เขียนช่วยติวเนื้อหาในการออกข้อสอบให้เพื่อเตรียมสอบ

พี่คนนี้ผู้เขียนได้รู้จักมานาน และได้มีโอกาสร่วมงานกันมาหลายปี ปัจจุบันปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้างานสารบบคดี เข้าทำงานพร้อม ๆ กับผู้เขียน ยามมีปัญหาในการปฏิบัติงาน จะสอบถามเรื่องใดเกี่ยวกับงานคดี จะตอบได้ทุกเรื่อง และมีความจำแม่นมาก เคยสอบคัดเลือกเลื่อนเป็นหัวหน้าฝ่าย หลายครั้ง ผลปรากฎว่าสอบไม่ผ่าน

ผู้เขียนเป็นคนโชคดีนิดหนึ่ง สอบเข้าทำงานเพียง ๒ ครั้ง ก็สอบได้ลำดับที่ ๑ ทั้งสองครั้ง..(โม้จริง ๆ )... เมื่อเข้ามาปฏิบัติงาน มีโอกาสเข้าสอบเลื่อนตำแหน่งก็สอบติดทุกครั้ง ไม่เคยสอบตก และได้ลำดับที่ดี ๆ เช่น สอบเลื่อนเป็นระดับ ๕(ซี ๕) และระดับ ๖ (ซี ๖) ก็สอบได้ลำดับที่ ๑ ของสำนักงานอัยการสูงสุด

ต่อมา ๒ ปี ให้หลังได้มีโอกาสสอบเลื่อนเป็นระดับ ๗ ก็สอบได้ลำดับที่ ๗ และสุดท้ายสอบคัดเลือกเป็นเจ้าหน้าที่บริหารทั่วไป ๘ ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่าย ก็สอบได้ลำดับที่ ๑ ของสำนักงานอัยการงสูงสุด ในการสอบครั้งนั้นสำนักงานฯต้องการเพียง ๒ ตำแหน่ง และมีผู้เข้าสอบคัดเลือกจากทั่วประเทศจำนวน ๓๐ กว่าคน

ที่เขียนมาก็มิได้มุ่งหวังจะโอ้อวด เพียงเสนอแนะถึงผลสำเร็จที่เคยปฏิบัติมา และอีกประการหนึ่ง เสียใจกับเพื่อน ๆ ที่สอบไม่ผ่าน บางท่านมีความรู้ความสามารถ และเชี่ยวชาญมากกว่าผู้เขียน แต่ก็เป็นที่น่าตกใจ และเสียใจว่า...เพื่อน ๆ สอบตกเป็นเพราะเหตุใด ?

 

                      

 

เพื่อเป็นวิทยาทานและแนะนำข้าราชการที่จะเข้าสอบคัดเลือกในโอกาสเร็ว ๆ นี้ จึงเสนอแนะการเตรียมสอบ โดยผู้เตรียมสอบจะต้องมี ๔ ต. ๒ ข.  ดังนี้

  • ต้องรู้ขอบเขตเนื้อหา ผู้ที่เข้าสอบจะต้องรู้ขอบเขตเนื้อหาที่จะนำมาออกข้อสอบ ส่วนจะเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการ ๔ ปี,แผนปฏิบัติการประจำปี,โครงการที่สำคัญ ๆ ของหน่วยงาน,ระเบียบ คำสั่ง หรือหนังสือเวียนที่สำคัญ

 

  • ต้องจัดตารางเวลาดูหนังสือ เมื่อรู้ขอบเขตแล้วจะต้องมาจัดตารางเวลาการดูหนังสือที่แน่นอน วิชาที่คิดว่ายากและเข้าใจยาก ควรจะจัดตารางดูในช่วงตื่นจากนอนตอนเช้า ในขณะอ่านตำราจะต้องคิดว่าหากกรรมการที่ออกข้อสอบในวิชานี้ ควรจะออกในเรื่องใด จะถามอย่างไร และเราจะตอบอย่างไร ควรจะลองตั้งคำถามและลองตอบข้อสอบไปด้วย

 

  • ต้องฝึกปรือการเขียนตอบ ผู้เข้าสอบส่วนมากจะเน้นเรื่องการอ่านตำรามากเกินไป แต่ในความจริงการเข้าสอบส่วนมากจะเน้นการเขียนและสัมภาษณ์ จึงควรจะเตรียมฝึกทำข้อสอบไม่ว่าจะเป็นข้อสอบเก่า ๆ และข้อสอบที่เราฝึกตั้งคำถามและลองตอบเอง อย่าลืมจับเวลาด้วย ต้องตรวจดูข้อสอบเก่า ๆ ว่าในแต่ละวิชากรรมการเคยออกวิชาละกี่ข้อ หากออกวิชาละ ๑ ข้อ ในวิชาดังกล่าวผู้มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำมา ...ผมก็ทำไม่ได้นะครับ !!!

 

  • ต้องออกกำลังกาย ยอมรับว่าการเข้าสอบทุกครั้ง ทุกคนจะเครียด สาเหตุเกิดจากมีการแข่งขันสูง ที่ครั้งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นส่วนกลาง และสำนักงานที่อยู่ปริมณฑลกรุงเทพฯจะมีการเตรียมการและติวเนื้อหาที่จะออกสอบกันประมาณครึ่งเดือน ท่านที่อยู่ต่างจังหวัดจะเสียเปรียบในเรื่องดังกล่าว ต้องรักษาสุขภาพ

 

  • ข้อสอบคือเนื้องานทั้งหลาย จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ข้อสอบมีอยู่ไม่น้อยนำมาจากเนื้องานที่เราปฏิบัติเป็นประจำ แต่เราคาดไม่ถึง โดยเฉพาะเกี่ยวกับระเบียบ คำสั่ง และหนังสือเวียนต่าง ๆ หากผู้เข้าสอบอ่านหนังสือเวียน ระเบียบ คำสั่ง และแผนงาน/โครงการเป็นประจำ หากข้อสอบที่ออกมาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รับรองว่า...หมู !!!

 

  •  ขอให้พากายและใจไปทำบุญ คนจะประสบผลสำเร็จมากหรือน้อย อยู่ที่การทำคุณความดี มีบารมีและบุญมากหรือไม่ จงเชื่อเถิดว่า...บุญเท่านั้นที่จะทำให้เราประสบผลสำเร็จในชีวิต !!! ครับ

 

        ...อย่างไรก็ตาม ชีวิตไม่ได้สมหวังไปเสียทุกอย่าง บางครั้งต้องทำใจไว้บ้าง  ดั่งที่ปราชฌ์ท่านว่า...ถึงจะมีโชควาสนาและโอกาส  แต่ก็ไม่สู้ฟ้าท่านลิขิตไว้ได้...

 

 

หมายเลขบันทึก: 313664เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Okkkkkk!!!!!!!คร้า

จะนำไปใช้น่ะคร้า+++++

พยายามเข้า.....สู้ๆๆๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท