ผชช.ว.ตาก (15): เรียนรู้กับหมอพื้นบ้าน


การที่เราจะเรียนรู้อะไรให้ได้ดี เราต้องมีความศรัทธาต่อสิ่งนั้นก่อน ความศรัทธาจะช่วยให้เราเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆอย่างรู้เท่าทัน โดยไม่ลบหลู่และไม่งมงาย

     วันนี้ (14 พ.ย. 2552) ผมกับอาจารย์เจริญ สีเขียว (แพทย์แผนไทย ร.พ. ทุ่งโพธิ์ทะเล จ. กำแพงเพชร อาจารย์พิเศษของวิทยาลัยชุมชนตาก สอนนักศึกษาหลักสูตรอนุปริญญาสาขาการแพทย์แผนไทย รุ่นที่ 2) พานักศึกษา 18 คน (จาก 19 คน) ไปเรียนรู้กับหมอสมบุญ ใจสูง ที่บ้านแม่ตาว อ.แม่สอด จ. ตาก ซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านและแพทย์แผนไทย (ที่ได้ใบประกอบโรคศิลป์สาขาเวชกรรมไทย โดยการเทียบประสบการณ์) แพทย์ประจำตำบล และเป็นผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านไทย ที่ได้เคยถวายงานแก่สมเด็จพระเทพรัตนฯ

         ผมได้ยินชื่อเสียงของหมอสมบุญมานาน แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสไปเรียนรู้ด้วย จนในวันนี้ที่ได้พานักศึกษาไปดูงาน เราไปถึงบ้านหมอสมบุญ 9 โมงกว่าๆ หมอสมบุญรอพวกเราอยู่ในบ้าน ด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มแห่งเป็นมิตรและเอื้ออารี พอนั่งพักกันได้สักครู่ เราก็ได้พูดคุยฝากเนื้อฝากตัวขอเรียนรู้เกี่ยวกับแพทย์พื้นบ้านและแพทย์แผนไทย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การเรียนรู้ทางแพทย์แผนไทย การดูแลรักษาผู้ป่วย ไปดูห้องผู้ป่วยใน 20 ห้อง (แต่ตอนนี้หมอไม่รับคนไข้แบบนอนแล้ว เพราะมีปัญหาหลายประการ) ห้องผลิตยา คลังยา ที่อยู่หลังบ้าน

         ผมบอกนักศึกษาก่อนไปว่า การไปดูงานของเราต้องไปแบบน้ำไม่เต็มแก้ว ต้องเชื่อมั่นและศรัทธา เปิดใจที่จะเรียนรู้หมอพื้นบ้านด้วยความเคารพนับถืออย่างจริงใจ ไปเพื่อขอความรู้ ขอเรียนรู้ เราจึงจะได้ความรู้ และแนะนำให้ซักถามพูดคุยอย่างชื่นชม เรียนรูประสบการณ์จากความรูฝังลึกของหมอสมบุญที่สั่งสมมาและอาจไม่มีในตำราเล่มใดๆเลย เป็นการประยุกต์ใช้KMโดยไม่ได้พูดถึงKMกับนักศึกษาเลย

         หมอสมบุญ อายุ 60 กว่าๆแล้ว ตอนเล็กๆอายุ 7 ขวบ ไปอยู่วัดกับหลวงปู่เขียว ซึ่งเป็นลุง จึงได้รับใช้ใกล้ชิดและได้เรียนรู้วิชาแพทย์แผนไทยได้ 9 ปี จึงสามารถปรุงยาให้การรักษาผู้ป่วยได้และก็เรียนรู้ต่อเนื่องมาถึง 25 ปี จนถึงบัดนี้รักษาคนไข้มากมายหลายแสนคนแล้ว เคยรักษาผู้แวยกระดูหัก มะเร็ง เบาหวาน ไตวาย และอีกหลายโรคหาย จึงได้รับการยอมรับจากผู้ป่วยในจังหวัดต่างๆ

          หมอสมบุญเล่าให้พวกเราฟัง พร้อมทั้งยกตัวอย่าง นำตำราแพทย์ เอกสารต่างๆมาให้เราดู ท่องพุทธมนต์ที่ใช้ท่องตอนรักษาผู้ป่วยให้เราฟัง บอกตำรายาบางโรคให้ แม้จะไม่ทั้งหมด แต่ก็ได้เรียนรู้อย่างมาก อาจารย์เจริญบอกว่า ได้เรียนรู้วิชาการทางแพทย์แผนไทยอย่างลึกซึ้งจากประสบการณ์ของหมอสมบุญ มีการสาธิตการตรวจร่างกาย การซักประวัติผู้ป่วย และการวินิจฉัยโรคให้ดู

         เมื่อถามถึงการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมกับวิชาชีพและไม่ให้มนตราที่ใช้เสื่อม หมอสมบุญก็ตอบให้พวกเราฟังอย่างชัดถ้อยชัดคำ เน้นการถือศีลห้า การไม่ละโมบ การไม่หลอกลวงผู้ป่วย การรู้จักปรึกษาผู้รู้ การพัมนาตนเองหาความรู้อยู่เสมอเป็นต้น 

         ตอนเที่ยง พานักศึกษาไปทานกลางวันที่ร้านหน้า ชค. ทางไปตลาดริมเมย อยู่ซ้ายมือ ร้านแบบเปิดโล่ง ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ เป็นร้านอาหารที่มีชื่อ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง ส้มตำและอื่นๆอีกหลากหลาย ในราคาพอเหมาะพอควร อาหารอร่อย วันนี้คนแน่นมาก มีทัวร์ลงหลายคณะ เกือบไม่มีที่นั่งต้องแยกกันนั่ง 3 โต๊ะ มีลูกค้าชาวพม่าขับรถทะเบียนพม่ามานั่งอยู่สองสามโต๊ะ ผมฟังสำเนียงพูดของเจ้าของร้านแล้ว คล้ายๆคนสุโขทัย แต่ไม่ใช่เป็นคนอุตรดิตถ์ ร้านอาหารที่อำเภอแม่สอดมีชื่อเสียงอยู่หลายร้าน เช่น บรรยากาศงามๆกับสวนป่าสวยๆที่ร้านข้าวเม่าข้าวฟ่าง อาหารทะเลอร่อยๆสัตว์ทะเลตัวใหญ่ๆที่ราน บ. ปลาเผา ร้านขนมจีนขยุ่มสองสามร้านที่ริมเมย กระเพาะปลาริมเมย และร้านอาหารจีนในตลาด

        หลังอาหารกลางวัน ได้ไปชมศูนย์การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านไทย ที่อยู่ในโครงการสนับสนุนส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเทพฯ ได้เดินดูสมุนไพรต่างๆที่ปลูกในพื้นที่ 15 ไร่ จำนวน 240 ชนิด พร้อมกับคำบอกเล่าให้ความรู้ในเรื่องชนิดและสรรพคุณ จน 3 โมงเย็นกว่าๆ จึงขอตัวกลับพร้อมกับขอถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก ขากลับแวะตลาดดอยมูเซอร์ ซื้อผักผลไม้เมืองหนาว เจอแม่ค้าร้านหนึ่งสำเนียงคล้ายคนโข่ทัย (สุโขทัย) เลยเข้าไปถาม คราวนี้ไม่พลาดเป็นคนศรีสำโรง บ้านเดียวกับพ่อผมนั่นเอง

         นักศึกษาที่ไปร่วมเรียนรู้ทั้งหมดต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าไม่มาวันนี้เสียใจแย่เลย การเรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านตาก นี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนวิชา ประวัติศาสตร์ แนวคิดและบูรพาจารย์ทางการแพทย์แผนไทยที่ผมเป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชา วิชาสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองที่อาจารย์เจริญ รับผิดชอบและเภสัชกรรมไทย 1 ที่อาจารย์จารุวรรณ รับผิดชอบ

         นอกจากนี้ ผมยังได้มอบหมายให้นักศึกษาแบ่งกลุ่มๆละ 2 คน ออกไปศึกษาเรียนรู้ประวัติชีวิตและภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านอีก 10 คน ในพื้นที่ 7 อำเภอของจังหวัดตาก (ขาดของพบพระกับอุ้มผาง) ซึ่งเป็นอุปสรรคในเรื่องการเดินทางของนักศึกษา แล้วผมจะรวบรวมจากรายงานต่างๆของนักศึกษามาจัดทำเป็นหนังสือ ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านจังหวัดตาก เล่ม 1 ให้กับทาง อบจ.ตาก

หมายเลขบันทึก: 313566เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2009 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท