อนุภาพแห่งคำชม


อานุภาพแห่งคำชม

ผู้เขียน   Joseph Blasé และ Peggy C. Kirby

ผู้แปล   ศาสตราจารย์อารี  สัณหฉวี

 

                ในบรรดายุทธวิธีของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีอิทธิพลหรือผลกระทบต่อการทำงานด้านดีของครูนั้น  การยกย่องชมเชยจะได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดจากการตอบแบบสอบถาม

                เทอร์เรนซ์  ดีล(Terrence Deal, 1987)  กล่าวว่า  การศึกษาประสิทธิภาพของผู้บริหารจำเป็นต้องศึกษาลักษณะที่หลากหลายของโรงเรียน  ผู้บริหารสถานศึกษาไม่ใช่เป็นแค่ผู้นำทางการสอนเท่านั้น  แต่ต้องเป็นทั้งผู้ปกครอง  นักแนะแนว  ที่ปรึกษา  วิศวกร  ศึกษานิเทศก์  ผู้พิพากษา  กวี  พระเอกหรือนางเอก  ในฐานะผู้ปกครองและนักแนะแนว  ผู้บริหารสถานศึกษาจะพัฒนาครูทั้งในด้านส่วนตัวและวิชาชีพ  ให้ความรัก  ความเมตตา  แนะนำ  ชมเชยให้กำลังใจ  มีบทบาทฟูมฟักเลี้ยงดูแบบพ่อแม่  เรื่องเช่นนี้ทำให้ต้องใช้เวลาของผู้บริหารมาก  ผู้บริหารที่มุ่งเน้นเป็นผู้นำทางการสอนมากเกินไปก็อาจจะละเลยความสัมพันธ์แบบฟูมฟักเลี้ยงดู

                ในการพิจารณาบทบาทของผู้บริหารในฐานะผู้ปกครองและนักแนะแนวตามที่ดีลกล่าวนี้เป็นแบบบิดาธิปไตย  นักการศึกษาบางคนเห็นว่าเป็นการลดศักดิ์ศรของครู  แต่ผู้เขียนก็ยืนยันจากงานวิจัยฉบับนี้ว่า การชมเชยเป็นยุทธวิธีที่ได้ผล  ได้รับการกล่าวถึงจากครูมากที่สุด  และมีอิทธิพลด้านดีมากที่สุด  ดังนั้นจึงไม่ควรมองขามบทบาทขงคำชม หรือคิดว่าการชมเป็นเรื่องที่ธรรมดาอยู่แล้ว

 

 ทำไมต้องชม

                ผู้บริหารสถานศึกษามีบทบาทและหน้าที่มากมายในการบริหารโรงเรียน  แล้วทำไมผู้บริหารจะต้องเสียเวลาอันมีค่ามานั่งชมเชยครูเล่า?” 

                งานวิจัยฉบับนี้พยายามศึกษาถึงยุทธวิธีที่ผู้บริหารสถานศึกษาใช้แล้วมีประสิทธิภาพในการทำให้เกิดผลสะท้อนในด้านดีแก่ครู  อันเป็นผลดีต่อการปฏิบัติงานของครู  การชมมีผลดีต่อครูเพราะเป็นการสนองความต้องการของครูด้านการเห็นคุณค่าในตนเอง(Self-esteem)  ในขณะเดียวกันคำชมก็สนองความต้องการส่วนตัวของผู้บริหารด้วย  ผลงานเขียนของเบลส(Blasé and Blasé, 1994, 1997, 1998)  พบว่างานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับความสำเร็จของผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้บริหารที่มีความต้องการแสดงออกสูงและยอมรับในความรักความอบอุ่นจะเป็นผู้ที่มีความรู้สึกไวต่อความต้องการด้านนี้ของครูด้วย

                ความสุขของผู้บริหารที่ได้จากการชมเชยครูในงานวิจัยฉบับนี้  พบว่า  ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพมักใช้ยุทธวิธีการชมเชยในการสร้างอิทธิพลหรือผลสะท้อนด้านดีต่อเจตคติและพฤติกรรมของครู  ครูจะนำคำชมของผู้บริหารไปเชื่อมกับจุดมุ่งหมายของผู้บริหารในการพัฒนาการสอนในห้องเรียน  ยุทธวิธีการชมชยนี้ผู้บริหารจะใช้กับครูแบบตัวต่อตัว  การชมเชยหรือยอมรับความสามารถของครูช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ครู  และความพึงพอใจในการทำงานของครู  การชมเชยยังช่วยสร้างบรรยากาศในโรงเรียน  ความสามัคคีของคณะครูและการร่วมทำงานเพื่อจุดมุ่งหมายของโรงเรียน

 

 ปฏิกิริยาของครูต่อคำชม

                เรามักจะเคยได้ยินคำบ่นของผู้บริหารเรื่องความอึดอัดใจที่จะแสดงความรักใคร่ใยดีและพูดยกย่องชมเชยอย่างเปิดเผย  ในทำนองเดียวกันครูบางคนก็บ่นไม่ชอบที่ผู้บริหารพูดยกย่องชมเชยเพราะดูเป็นการแสดงอำนาจสูงกว่าของผู้บริหาร

                ครูที่ตอบคำถามในงานวิจัยนี้  กล่าวถึงคำชมของผู้บริหารว่ามีส่วนในการสร้างความมั่นใจและภาคภูมิใจ  มีส่วนส่งเสริมให้เกิดกำลังใจ  เห็นคุณค่าและยอมรับงานที่ทำ

                 ครูใหญ่มักจะเขียนข้อความสั้นๆ ถึงครูแต่ละคน  ให้กำลังใจ  ชมเชย  หรือทักทาย  ข้อความเหล่านี้จะปรากฏที่ตู้จดหมายของโรงเรียน  บางทีก็ส่งไปที่บ้าน  ถ้าทำงานโรงเรียนเสร็จครูใหญ่  จะส่งข้อความไปถึงครูและชมเชยผลงาน  ครูใหญ่ทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันมีค่า  และทำให้ฉันมีความรู้สึกที่ดีต่อครูใหญ่  ฉันรู้ดีว่าครูใหญ่มีงานมากแต่การที่ครูใหญ่เห็นคุณค่าของฉันทำให้  ฉันมีความรู้สึกที่ดีต่องานและพยายามที่จะทำงานให้ดียิ่งขึ้น 

ครูมัธยมต้นคนหนึ่ง 

 

                การชมนอกจากจะทำให้ครูรู้สึกพอใจและภาคภูมิใจแล้ว  ยังช่วยให้ครูรู้สึกว่า “ตนเองมีกลุ่มและเป็นสมาชิกที่สำคัญของกลุ่ม”  ครูบางคนกล่าวว่าการได้รับคำชมเชยจากผู้บริหารทำให้รู้สึกว่าผู้บริหาร รัก และ ให้เกียรติตน

                ครูบางคนบอกว่า คำชมเชยทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน  ทำให้รู้สึก กระตือรือร้น และ มีแรงบันดาลใจในการทำงาน ครูบางคนกล่าวว่าฉันพยายามทำให้ดีที่สุด ให้สมกับคำชมเชยของครูใหญ่

                การชมยังมีผลต่อพฤติกรรมโดยทั่วไป  ซึ่งครูจะพยายามทำตนให้สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้บริหารสถานศึกษาในเรื่องการเรียนการสอน เช่น ครูกล่าวว่า

  • ทำให้ฉันพยายามคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสอนมากขึ้น
  • ทำให้ฉันมีเวลาวางแผนการสอนมากขึ้น
  • ทำให้ฉันทำงานหนักขึ้น  ไม่ใช่เพียงแต่ทำงานเต็มเวลาเพียง 8 ชั่วโมงเท่านั้น  และพยายามทำงานทุกชิ้นให้เสร็จ

 เมื่อครูเห็นว่าการชมมีผลด้านดีต่อตน  ครูก็นำไปใช้กับนักเรียน  บางทีทั้งโรงเรียนก็ใช้รูปแบบนี้  ดังคำกล่าวต่อไปนี้

  • ตอนนี้ฉันทำอะไรไปในทางสร้างสรรค์มากขึ้น  ฉันอดทนและยอมรับเด็กได้ดีขึ้น
  • ฉันพยายามมองหาส่วนดีของนักเรียน  และยกย่องชมเชยนักเรียนในส่วนนั้น
  • ฉันพยายามปฏิบัติตามครูใหญ่ในทางสร้างสรรค์  เพื่อไปใช้กับนักเรียน  อีกทั้งยังนำไปใช้ร่วมกับผู้ปกครองและครูอื่นๆ อีกด้วย

 ครูกล่าวต่ออีกว่าคำชมของผู้บริหารมีผลทำให้ครูสนับสนุนผู้บริหารย้อนกลับด้วย เช่น

  • ฉันก็ชมครูใหญ่ด้วย
  • ฉันกระตือรือร้นที่จะสนับสนุนครูใหญ่มากขึ้น

 ครูบางคนอาสาช่วยเหลือผู้บริหาร

  • ฉันทำงานพิเศษให้ครูใหญ่
  • ฉันเต็มใจที่ทำงานในโครงการใหม่ๆ ของโรงเรียน

 การชมเชยยังช่วยสร้างบรรยากาศของโรงเรียน  เพราะครูมีขวัญกำลังใจอันมีผลต่อนักเรียน  ทำให้ครูสอนดีขึ้นและทุ่มเทในการสอนมากขึ้น

 

 อานุภาพของการชมเชย

                งานวิจัยฉบับนี้ชี้ชัดถึงอานุภาพของการชมเชยว่าเป็นยุทธวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสร้างอิทธิพลหรือผลสะท้อนในด้านดีต่อครู  แต่ผู้เขียนก็ตระหนักถึงความขัดเขินอึดอัดใจของครู  และผู้บริหารหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับยุทธวิธีนี้  จากงานวิจัยนี้มี 2 คำถามที่ผู้อ่านอาจจะถามคือ  หนึ่ง เราจะถือว่ายุทธวิธีการชมเชยนี้เป็น “เรื่องพิเศษ” หรือเป็น “สามัญสำนึก”  สอง ถ้าการชมเชยเป็นเรื่องพิเศษ  ทำไมผู้บริหารทั่วไปจึงไม่ใช้ยุทธวิธีนี้

                แดน ลอร์ตี(Dan Lortie, 1975) ตั้งข้อสังเกตว่าการสอนมีความยากลำบากเฉพาะท้องถิ่น  และการประเมินผลที่เกิดกับนักเรียนและคุณภาพการสอนก็ประเมินได้ยาก  ผลกระทบที่ครูมีต่อนักเรียนไม่แน่นอน  ครูจำเป็นต้องประเมินตนเอง  แต่บุคคลย่อมต้องการการยอมรับจากผู้อื่น  การประเมินตนเองจึงยังไม่เพียงพอ  ความไม่มั่นใจในตนเองของครูช่วยได้โดยการยอมรับจากผู้อื่น  ครูที่เก่งๆ ก็ยังต้องการความมั่นใจ

                จากการศึกษาวิจัยพบว่า  การชมเชยที่มีอิทธิพลหรือผลดีต่อครูเป็นการชมเชยที่เกี่ยวกับงานในหน้าที่เท่านั้น  มิได้รวมถึงการชมเชยทั่วไป เช่น เสื้อชุดใหม่  ผมทรงใหม่  หรือการกระทำอื่นๆ ที่มิใช่งานในโรงเรียน

 

 โอกาสและวิธีการชมเชย

                ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพจะชมเชยการปฏิบัติงานของครูเมื่อไร  และอย่างไร  คำตอบจากแบบสอบถามของครูระบุว่า  ผู้บริหารใช้ทุกโอกาสชมเชยครู  บางทีด้วยวาจา  บางทีด้วยท่าทาง

                ถึงแม้ว่าผู้บริหารสถานศึกษาจะมีเวลาที่จะชมเชยครูแต่ละคน  ครูหลายคนกล่าวว่าบางทีครูใหญ่จะชมเชยเป็นกลุ่ม  หรือชมเชยในที่ประชุมครูหรือในการประชุมกลุ่มย่อย  หรือผ่านการสื่อสารภายใน  ดังนี้

  • ครูใหญ่แสดงความเชื่อใจ  มั่นใจในคณะครู  และมักจะพูดเสมอ ๆ ว่าคณะครูของเราเป็นผู้ที่ได้รับการคัดสรรมาแล้ว  เป็นคณะครูชั้นเยี่ยมของมลรัฐ
  • ทุกครั้งในการปิดประชุม  ครูใหญ่จะชมเชยคณะครูที่ตั้งใจทำงานหนัก
  • ทุกวันศุกร์ครูใหญ่จะพูดว่า  พวกเราได้ทำงานหนักมาตลอดสัปดาห์แล้ว

จากงานวิจัยนี้พบว่า  การชมเชยที่เป็นยุทธวิธีที่ดี  ไม่จำเป็นต้องชมเชยต่อหน้า  อาจเป็นคำชมที่ถ่ายทอดมาอีกทีก็ได้  เช่น ผู้บริหารสถานศึกษาชมครูกับคนอื่น  และในที่อื่น ๆ ครูคนหนึ่งกล่าวว่า “ครูใหญ่ของเราเอ่ยถึงคุณภาพของคณะครูเราทุกครั้งที่มีโอกาส”

                ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพจะใช้การชมเชยเป็นกลุ่มและเป็นรายบุคคลสลับกันไป  มิได้ใช้แบบใดแบบหนึ่งแบบเดียว  ครูคนหนึ่งพูดถึงยุทธวิธีการชมเชยของผู้บริหารว่า “คำชมหนึ่งนาที” ครูคนหนึ่งเล่าว่า  “ครูใหญ่ของเธอชมเชยทันทีเวลาที่เห็นครูทำงานดี  ครูใหญ่บางคนจะเล่าถึงคำชมที่นักเรียนหรือผู้ปกครองมีต่อครูให้ครูฟัง”

                นอกจากการชมด้วยวาจา  ผู้บริหารสถานศึกษาบางคนเขียนข้อความสั้นๆ ถึงครู  หรือหลังจากการสังเกตการสอนในห้องเรียน  ผู้บริหารจะเขียนคำชมย่อๆ ไว้ให้ครู  บางคนส่งจดหมายชมเชยไปที่บ้านของครู

                บางทีผู้บริหารใช้วิธีชมโดยไม่พูด  แต่แสดงใบหน้าท่าทาง เช่น

  • “ครูใหญ่แตะบ่าฉันแสดงความยินดี”
  • “ยุทธวิธีชมเชยของครูใหญ่คือตบบ่าเบาๆ”
  • “ครูใหญ่ยิ้มก็ทำให้ฉันดีใจแล้ว”

โดยสรุปครูใหญ่ที่มีประสิทธิภาพใช้วิธีชมเชยแบบสั้นๆ อาจเป็นทางวาจา  หรือท่าทางที่ไม่เป็นทางการในการสร้างอิทธิพลในแง่ดีให้แก่คณะครูและครูแต่ละคน  เทคนิคที่ครูใหญ่ใช้มีหลายแบบ เช่น เขียนจดหมายข้อความสั้นๆถึง  ชมเชยกับผู้อื่น  ประกาศชมเชยในที่สาธารณะ  หรือการตบบ่าเบาๆ  จุดสำคัญที่ต้องเน้นในที่นี้คือ  ผู้บริหารที่ใช้ยุทธวิธีนี้มิได้ตั้งใจที่จะสร้างอิทธิพล  หากแต่ดูเหมือนเป็นไปตามธรรมชาติ  เพราะฉะนั้นคำชมจึงจริงใจและเป็นธรรมชาติ  ไรน์ฮาร์ต, ชอร์ต, ชอร์ตและเอคเล่ย์ (Rinchart, Short, Short and Eckly, 1998) พบว่าความรู้สึกในพลังอำนาจของครูจะสัมพันธ์กับอิทธิพลในด้านดีทางสังคมของผู้บริหารสถานศึกษา

 

 คำแนะนำจากครู

                จากข้อมูลพบว่า  ถึงแม้จะมีความไม่แน่นอนในแต่ละท้องถิ่น  และโครงสร้างของโรงเรียนที่ทำให้ครูแต่ละคนอยู่โดดเดี่ยว  ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพจะใช้ทุกโอกาสในการชมเชยให้กำลังใจ  ซึ่งคำชมนั้นมักจะสั้นๆ ไม่เป็นทางการ  และเป็นการชมเชยเกี่ยวกับงานในวิชาชีพ  อาจสรุปคำแนะนำสั้นๆ จากคำตอบของครูในการนำไปใช้ ดังนี้

                1.  ชมเชยอย่างจริงใจ

                    ครูที่ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่าผู้บริหารชมเชยอย่างจริงใจมิใช่เจตนาจะใช้อิทธิพล  และการแสดงออกของผู้บริหารเป็นกันเอง สบายๆ และเป็นไปตามธรรมชาติ

                 2.  พยายามใช้การสื่อสารทางกายให้มากขึ้น

                     ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพใช้ภาษาท่าทาง เช่น ยิ้ม พยักหน้า แตะบ่า  เพื่อแสดงความเห็นด้วยและยกย่อง  เทคนิคนี้มักจะใช้เวลาที่ผู้บริหารสังเกตการสอนในชั้นเรียนของครูแทนการพูด  ซึ่งจะทำให้ขัดจังหวะการสอนของครู

                 3.  กำหนดเวลาสำหรับการยกย่องครู

                     ครูหลายคนรายงานว่า ผู้บริหารจะชมเชยครูในระหว่างการประชุม  ผู้บริหารบางคนใช้เวลาตอนเริ่มประชุม  บางคนใช้เวลาตอนจะปิดประชุม  การยกย่องชมเชยในการประชุมนักเรียนก็มักปฏิบัติเช่นกัน  หรือการชมเชยผ่านทางเสียงตามสาย  ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพจะกำหนดเวลาประจำในการชมเชยครู  ถึงแม้ว่าการใช้ยุทธวิธีการชมเชยจะดูเป็นธรรมชาติ  หากเป็นผู้ปฏิบัติใหม่คงจะต้องศึกษาและกำหนดเวลาให้แน่นอน

                 4.  เขียนข้อความสั้นๆ ในการชมเชยครูแต่ละคน

                     ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพมักจะใช้วิธีเขียนข้อความสั้นๆ ชมเชยครูเป็นรายบุคคล  ผู้บริหารมักจะเขียนด้วยลายมือของตนเองซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนม 

                 5.  พูดถึงความภาคภูมิใจกับความสามารถของครู

                     ครูมักจะรู้สึกว่าผู้บริหารตัดสินผลงานของตนจากผู้อื่น เพราะฉะนั้นผู้บริหารควรแสดงความภาคภูมิใจในคณะครูต่อผู้ปกครอง  เพื่อนนักบริหาร  และบุคคลในชุมชน

                 6.  ชมเชยสั้นๆ 

                     การชมเชยที่มีผลไม่จำเป็นต้องเป็นการชมเชยที่ยืดยาวและเป็นการเป็นงาน  ครูจะเห็นคุณค่าในคำชมสั้นๆ เพียงไม่กี่วินาที  การชมเชยสั้นๆ  ทางวาจาและทางกาย  หรือชมเชยด้วยภาษาท่าทางจะมีประสิทธิภาพมากสำหรับผู้บริหารที่มีกิจธุระวุ่น  ไม่มีเวลามาก

                 7.  เป้าหมายของการชมเชยคืองานของครู

                     เนื่องจากครูแต่ละคนมักโดดเดี่ยวอยู่ในห้องเรียนของตน  ผู้บริหารจึงควรชมเชยการทำงานของครูเป็นรายบุคคล  การชมเชยเป็นกลุ่มก็จำเป็นต้องสัมพันธ์กับงานและผลสัมฤทธิ์ของงานนั้น

   

ที่มา  ครูใหญ่คือแรงจูงใจของครู(Bringing out the Best in Teachers : What Effective Principals Do)

ผู้เขียน   Joseph Blasé และ Peggy C. Kirby

ผู้แปล   ศาสตราจารย์อารี  สัณหฉวี

 

หมายเลขบันทึก: 313457เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2009 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท