คุณภาพมาจากความรู้คู่ความใส่ใจ


ให้ถือว่า “ช้าดีกว่าผิด” ถ้าเกินความสามารถรีบหาตัวช่วยด่วนไม่ต้องอาย “ เรามีหน้าที่รักษาคนไข้ ไม่ใช่รักษาหน้าตัวเอง”

 

   คุณภาพ คำนี้คงไม่ต้องอธิบาย มีคนให้นิยามต่างๆนาๆ แต่ในความรู้สึกก็คงพอเข้าใจกัน วันนี้อยากมาพูดถึงอีกมุมมองในการให้ได้มาซึ่ง “คุณภาพในการดูแลผู้ป่วย”  แบบสูงสุดสู่สามัญ

    ในสภาพปัจจุบันเราแสวงหาคุณภาพด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น HNQA , HA , ISO , HPH  และอื่นๆอีกมากมาย  แต่ในทุกค่ายคุณภาพก็มีรูปแบบของตัวเองที่กำหนดให้ต้องเรียนรู้ เช่น HA ก็มีเครื่องมือต่างๆออกมาอยู่เรื่อยๆ แค่เรียนรู้เครื่องมือก็ใช้เวลามากกว่าครึ่งแล้ว  ถ้าเปรียบเหมือนการออกรบก็ต้องบอกว่า “ กว่าจะแต่งตัวครบ สงครามก็จบพอดี”  หมายถึงว่าเราทำกันมาตั้งนานทำไมยังไม่รู้สึกว่าคุณภาพในการดูแลเพิ่มขึ้นเท่าไร อุบัติการณ์ต่างๆก็ยังมีคล้ายๆเดิม  อาจเป็นเพราะเรามัวแต่แต่งตัวกันใช่หรือไม่ ( ความเห็นส่วนตัว)  ก็เลยลองคิดขึ้นมาว่า แล้วถ้าคนจบใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้รูปแบบของงานคุณภาพแต่ละค่ายล่ะ แล้วจะทำงานให้เกิดคุณภาพอย่างไร เอาแบบใช้สามัญสำนึก ไม่ต้องมีรูปแบบมาก  เพราะเดี๋ยวสงครามจะจบเสียก่อน

   ขอเสนอที่ว่าก็คือ “คุณภาพมาจากความรู้คู่ความใส่ใจ”  พื้นๆมากเลย แต่อยากขยายความตามประสบการณ์ที่ได้ลองทำมา( My tacit knowledge) ดังนี้

      ความรู้  ส่วนใหญ่ก็อ่านหนังสือ ( วารสารคลินิก , internet )  ,  ถามพี่แพทย์ , ถามเพื่อนแพทย์, ถามน้องแพทย์ (ทำบ่อย), ถามพยาบาล , อบรม  แต่ที่สำคัญคือต้องพยายามหาความรู้ที่เป็น case รับผิดชอบก่อน (รู้เรื่องตัวเองก่อนรู้เรื่องชาวบ้าน) เพราะนี่คือสนามรบจริง ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองในประเด็นต่างๆในตัวผู้ป่วย และถ้าขาดความรู้ก็เริ่มไปหาเริ่มไปหาความรู้ตามรูปแบบข้างบน ซึ่งเร็วที่สุดก็คือการถามผู้รู้  โดยสรุปก็ต้องมีความรู้เป็นพื้นฐานและต้องรู้วิธีหาความรู้ ถ้าไม่มีความรู้ มีแต่ความขยันหรือใส่ใจอย่างเดียว “เขาเรียกโง่แล้วขยัน”  ฮิตเล่อร์บอกต้องเอาไปฆ่าก่อน  อย่าลืม “ ทำทุกเรื่องให้กระจ่างก่อนลงมือ”

    ความใส่ใจ   เคยได้ยินมาบ่อยๆเวลาเกิดอุบัติการณ์  “ ทุกคนก็รู้ ว่าทำยังไง แต่มันไม่ยอมทำกัน มันก็เลยเกิดเรื่อง  ”  แสดงว่าข้อความรู้ผ่านแล้ว เพราะเราวางระบบ วางกรอบ วางมาตรฐานแล้ว แต่ตกม้าตายเรื่องความใส่ใจที่จะทำตาม  คุณภาพก็ไม่เกิด   เรื่องความใส่ใจอาจเริ่มด้วยลองจินตนาการว่าวันนี้ผู้ป่วยควรได้อะไรบ้าง พรุ่งนี้และอนาคตไกลๆ ควรได้อะไรบ้าง ถึงจะหายเร็วๆ, ปลอดภัย,ไม่ป่วยซ้ำ  แล้วก็จัดให้อย่างรอบคอบ อย่ารีบ ให้ถือว่า “ช้าดีกว่าผิด”  ถ้าเกินความสามารถรีบหาตัวช่วยด่วนไม่ต้องอาย  “ เรามีหน้าที่รักษาคนไข้ ไม่ใช่รักษาหน้าตัวเอง” (คำพูดจากภาพยนตร์เรื่อง หมอเจ็บ)   อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราใส่ใจ เรื่องของพฤติกรรมบริการที่เหมาะสมก็ย่อมตามมาเอง

    เรื่องพื้นๆ แบบ common sense ที่เสนอให้ลองทำดูสำหรับคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจระบบซับซ้อนของงานคุณภาพค่ายต่างๆนี้ น่าจะช่วยลดอุบัติการณ์ต่างๆได้  ผมว่าถ้าทุกคนร่วมกันทำแค่นี้ คุณภาพก็เกิดแล้ว ส่วนงานคุณภาพที่ซับซ้อนต่างๆ ก็ทำกันไปตามระบบเพื่อเป็นการพัฒนาขั้นสูงขึ้นไปอีกครับ   

                                                           บรรพต

 

หมายเลขบันทึก: 313084เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยกับการเรียนรู้ก่อนที่จะลงมือทำ หากแต่งานทุกอย่างมีในตำราก็คงจะดี แต่บางอย่างไม่มีตำราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นหลากหลายแนวคิดและวิธีปฎิบัติ...จะเรียนรู้หรือเลียนแบบแถมความใส่ใจ บางทีอาจไม่ได้งานที่มีคุณภาพ...แต่ก็เป็นแนวคิดที่ดี ถ้าจะเพิ่มอีกนิด ..ความรัก (ในองค์กร และงานที่ทำ).....คาดว่าถ้าทุกคนมีทั้ง 3 อย่างนี้น่าจะดีนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท