ครูวัฒ
นายธวัฒชัย เจริญวิเชียรฉาย

บทความเติมเต็ม


บทความ อ่านเพิ่มเติม

 

วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11222   มติชนรายวัน         หน้า 20
คอลัมน์ ความคิดที่ออกแบบได้                 โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

คิดแบบประภาส


                เป็นที่ทราบว่า "ประภาส ชลศรานนท์" ไม่เพียงเป็นผู้บริหารระดับสูงของเวิร์คพอยท์ หากในอีกบทบาทหนึ่ง เขายังเป็นคู่คิด คู่คุยทางธุรกิจกับ "ปัญญา นิรันดร์กุล" ด้วยอันหมายความว่า"ประภาส"เล่นได้ทั้งบทบู๊ และบทบุ๋น เพียงแต่เขาไม่ได้ออกมายืนอยู่ในที่สว่างเท่านั้นเอง แต่กระนั้น ในบทบาทของ "ประภาส" ที่เปรียบเสมือนบุรุษผู้ซ่อนกาย ก็จัดว่า เขาถือเป็นกุนซือคนหนึ่ง ที่ไม่เพียงช่วยคิด ช่วยวางแผน หรือช่วยให้คำปรึกษาหากเขายังเป็นผู้วางกลยุทธ์ด้วย
ประภาส เล่าให้ฟังในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ ถึงเรื่องการสร้างความคิดสร้างสรรค์ในแบบของเขาว่าจะต้องประกอบด้วย 7 วิธีการอย่างน้อยคือ
หนึ่ง ทำลายกรอบลวงตา
สอง มองย้อนศร
สาม หนามยอกเอาหนามบ่ง
สี่ เรื่องเล็กรอบตัว
ห้า จับคู่ผสม
หก สมมุตินะสมมุติ
เจ็ด ขีดไปก่อนเขียนไปก่อน

          โดยเรื่องของการทำลายกรอบลวงตานั้น "ประภาส" อธิบายให้ฟังว่า คนเรานั้นเวลาทำอะไรมักจะอยู่ในกรอบของตัวเอง ทั้งกรอบความคิด และการมอง เปรียบไปก็เหมือนกับเวลาเราปลูกต้นไม้ 4 ต้น โดยให้ระยะห่างจากแต่ละต้นเท่ากัน" มองเผินๆ เหมือนต้นไม้ 4 ต้นนั้นเท่ากันก็จริง แต่จริงๆ มันไม่มีทางเท่ากันหรอก ตรงนี้คือภาพลวงตา ดังนั้น ในการคิดสร้างสรรค์ เราจึงต้องทำกลายกรอบของภาพลวงตา และเราจะพบว่า แท้จริงแล้ว มันมีหลายวิธีที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์"
             เช่นเดียวกัน ในเรื่องของมองย้อนศร "ประภาส" เล่าให้ฟังบอกว่า คนเราต้องหัดมองอะไรที่แตกต่าง พร้อมกันนั้น เขาก็ยกตัวอย่างร้านจีฉ่อย ซึ่งเป็นร้านขายของแถวสามย่าน ที่นิสิตจุฬาฯชอบไปซื้อ เพราะร้านนี้จะขายทุกอย่าง ตั้งแต่เครื่องเขียน ไปจนถึงบัตรคอนเสิร์ต เพราะฉะนั้น เวลาใครไปซื้อของร้านนี้จะไม่ผิดหวัง กับอีกเรื่องหนึ่งคือนักดนตรีที่ชื่อ "จอห์น เคส" โดยทุกครั้งที่เล่นดนตรีเขาจะนำโน้ตเพลงมาวางบนหน้าเปียโน และเขาจะวางมือลงบนแป้น โดยนิ้วจะไม่สัมผัสกับเปียโน เป็นไซเรน คอนเสิร์ต ที่ผู้ฟังต้องใช้จินตนาการในการเลือกฟังเพลงเอง ซึ่งเป็นการคิดย้อนศรอย่างหนึ่ง
             ส่วนเรื่องหนามยอกเอาหนามบ่งนั้น "ประภาส" บอกว่าเป็นการทำสิ่งไร้ค่าให้มีคุณค่าขึ้น เปรียบไปก็เหมือนกับหมู่บ้านหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ที่มีน้ำท่วมเป็นประจำ แทนที่คนในหมู่บ้านจะไปเอากระสอบทรายมากั้นน้ำ ชาวบ้านเหล่านั้น กลับช่วยกันนำน้ำที่ท่วมอยู่นั่นแหละกรอกใส่ถุงแล้วนำมากั้นน้ำท่วม ซึ่งเป็นการคิดแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง นอกจากนั้น เขายังยกตัวอย่างเมื่อครั้งทำงานกับ "อ๊อฟ" พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจงว่า หมอนี่เป็นนักแสดงที่เก่งมาก แต่ติดนิสัยชอบแคะขี้มูก กับเกาก้น ดังนั้น เวลาถ่ายทำ อาการอย่างนี้จะติดออกมาเป็นภาพด้วย   " จนโปรดิวเซอร์ หรือผู้ช่วยผู้กำกับต้องมาปรึกษาอยู่ตลอดว่า จะต้องถ่ายใหม่ไหม ผมก็เลยบอกอ๊อฟไปว่า ต่อไปนี้คุณจะแคะขี้มูก หรือเกาก้นอะไรก็ตาม ทำไปเลยนะ เพราะต่อไปนี้บุคลิกของตัวละครตัวนี้จะต้องเป็นแบบนี้ ปรากฏว่าเขาก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ และสุดท้ายเขาก็ได้ชิงรางวัลดารานำชายด้วยนะ ซึ่งนี่เป็นการหนามยอกเอาหนามบ่งอย่างหนึ่ง"
             สำหรับเรื่องเล็กรอบตัว "ประภาส" บอกว่าหลายๆ รายการของเวิร์คพอยท์เกิดจากเรื่องเล็กๆ ทั้งสิ้น อย่างรายการแฟนพันธุ์แท้ ก็เกิดขึ้นจากคำถามของน้องๆ ในบริษัทที่คุยกันเล่นว่า เมื่อปีนั้นที่ลิเวอร์พูลเป็นแชมป์ คุณว่าลูกที่ยิงเข้านั้น เขาใช้เท้าข้างไหนเตะ"คือมันถามจนผมเกิดความสงสัยว่าแล้วมึงจะรู้ไปทำไมว่ะ แต่ที่สุด มันก็ทำให้เราฉุกคิด และนำมาเป็นการตั้งคำถามๆ ผู้ร่วมรายการ จนกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ หรืออย่างรายการเกมทศกัณฐ์ก็เหมือนกัน ก็เกิดจากการที่ผมจำชื่อคนไม่ค่อยได้ ที่สุดเลยเป็นการทายชื่อคน ว่าคนนี้ชื่ออะไร และนี่ก็คือเรื่องเล็กๆ รอบตัว ที่ผมนำมาคิดอย่างสร้างสรรค์"
              ส่วนเรื่องจับคู่ผสมนั้น "ประภาส" บอกว่า การจับคู่ผสมถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง แต่ทั้งนั้น เมื่อนำมารวมกันแล้ว ภาพที่ออกมาจะต้องดูดีด้วย เหมือนอย่างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท นั่นก็เป็นงานสถาปัตยกรรมแบบผสมผสาน ระหว่างไทยกับยุโรป และก็ออกมาดูดี ทันสมัย "หรืออย่างมีดสวิสนั่นก็เป็นการผสมผสานในการนำอุปกรณ์เครื่องใช้ทุกอย่างให้มาอยู่ในที่ที่เดียวกัน หรืออย่างไอศครีมมะม่วงน้ำปลาหวานที่เซ็นทรัลเวิลด์ เขาก็ทำไอศกรีมะม่วงขึ้นมา แล้วราดคาราเมลที่มีรสชาติน้ำปลาหวาน เสียดายแต่ว่าผมยังไม่ได้ชิมเท่านั้นว่าอร่อยหรือไม่ แต่สักวันต้องไปชิมแน่"
             หรืออย่างเรื่องสมมุตินะสมมุติ"ประภาส"บอกว่าเป็นการตั้งคำถามแล้วนำมาคิดต่อ เหมือนอย่างรายการอัจฉริยะข้ามคืนนั่นก็เหมือนกัน ก็เกิดจากการสมมุติว่าถ้าเราจับคนอัจฉริยะสักคนเข้าไปขังอยู่ในห้องสมุด แล้วเขาจะเป็นอย่างไร คือเป็นการสมมุติแล้วนำมาคิดต่อ
              หรืออย่างเรื่องขีดไปก่อนเขียนไปก่อนก็เหมือนกัน"ประภาส"บอกว่า อาจเป็นเพราะเราเป็นสถาปนิกมาก่อน ว่างๆ ก็ชอบขีดขอบเขียนอะไรไปเรื่อยๆ เหมือนอย่างเพลงเจ้าภาพจงเจริญ นั่นก็เหมือนกัน ทีแรกกะเขียนเจ้าหนี้จงเจริญ แต่พอมาแก้ก็เลยกลายเป็นเจ้าภาพจงเจริญ หรืออย่างรายการคุณพระช่วย ก็เกิดจากคำอุทานว่าโอ้...มายก๊อด
        

          "แต่ทั้งนั้น เราต้องมีเชื้อเพลิงอยู่ภายใน หรือมีไฟ หรือมีความรู้สะสมเป็นต้นทุนอยู่ ซึ่งพอมีอะไรมาจุดปั๊บ มันก็พร้อมจะลุกโชนขึ้นทันที ผมถึงเชื่อว่า ความเคยชินของมนุษย์เป็นอุปสรรคต่อการคิด แต่ถ้าเราหาญกล้า เราก็จะทำได้ ต้องหัดฝึกให้ซนๆ อยู่เสมอ แล้วเราจะมีความคิดสร้างสรรค์"

          ซึ่งเป็นความคิดที่ฝึกกันได้ ยิ่งเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ ที่มีเทคโนโลยีอย่างพร้อมสรรพ ขอเพียงแต่ให้สะสมความรู้เป็นต้นทุน และหัดหมั่นเติมเชื้อไฟให้กับตัวเองอยู่เสมอ เท่านั้นคุณก็จะคิดแบบประภาสได้
ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากแต่ประการใดเลย ?

หมายเลขบันทึก: 312682เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2009 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท