ประวัติที่เล่ามา เชื่อได้ไหมเนี่ย: Half day conference กิจกรรมวิชาการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รพ.ขอนแก่น vs รพ.ศรีนครินทร์


ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ก็คือ การมองเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เห็นความซับซ้อน(Complex) ที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือแม้กระทั่งตัวเราเอง

        เคยเข้าประชุมอภิปรายกันบ้างไหมครับ  มีสักกี่ครั้งที่เราได้เข้าร่วมแล้วเกิดแรงบันดาลใจที่จะอยากจะทำให้เกิดสิ่งดีๆขึ้น 

        จากที่เคยเห็นและพบเจอประสบการณ์ด้วยตนเอง  การอภิปรายโดยเฉพาะในทางการแพทย์มักสร้างบรรยากาศแห่งความน่ากลัวและการจับผิดกันอยู่เสมอๆ  ถ้าพลาดขึ้นมาแม้แต่นิดเดียว  เช่นพิมพ์ผิด  พูดผิด  คุณก็พร้อมที่จะดับอยู่ตรงนั้น  แม้ว่าการที่มีคนคอยช่วยบอกว่าเรามีข้อผิดพลาด  จะทำให้ผลงานของเราผิดพลาดลดลง  แต่เราก็ต้องสูญเสียความคิดสร้างสรรค์  การแบ่งปันความรู้  แล้วก็สร้างวัฒนธรรมแห่งการจับผิด  และจ้องทำลายกัน  

        ถ้าในแวดวงการศึกษามีวัฒนธรรมเช่นนี้  เราคงคาดเดาได้อย่างแน่นอนว่าเด็กที่ออกมาจากระบบเช่นนี้  เขาจะมีท่าทีอย่างไร

        สำหรับผมใฝ่ฝันอยู่เสมอจะทำอย่างไร  วัฒนธรรมการฟังอย่างลึกซึ้ง  ไม่ตัดสินและแบ่งปันจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและการทำงาน

 

        สำหรับHalf day conference ระหว่างรพ.ขอนแก่นและรพ.ศรีนครินทร์  ประจำวันที่ 21 ต.ค.52 ที่นำเสนอโดยพญ.วรุณยุพา  และะพญ.สิริวรรณ  ผมก็คาดหวังเช่นกัน

        ในฐานะ Moderator ผมใช้เทคนิค Before action review (BAR) ที่ทางสคส.และแวดวง KM ใช้กันประจำ    นำมาทดลองใช้  โดยให้แต่ละคนพูดถึงความคาดหวังจากการอภิปรายในวันนี้  และช่วยเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ประทับใจหรืออยากเล่าให้ฟังที่เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ไม่ได้พบเจอกัน

        แต่ละคนก็จะเล่าให้ฟังว่าไปทำอะไรกันบ้าง  ไปเรียนรู้อะไรบ้าง  มีงานอะไรบ้าง  บางคนก็พูดถึงความรู้สึกของตนเองที่มีความสุขมากขึ้น  ทั้งจากที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่   ความสุขจากงานที่ทำได้สำเร็จรวมทั้ง  ความสุขจาการเข้าใจตนเองมากขึ้น  และทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันก็คือเรียนรู้แนวทางในการดูแลผู้ป่วย Paraplegia ในแง่ความรู้ทางการแพทย์  และการเข้าใจชีวิตผู้ป่วย

 

        case ที่นำเสนอ เป็นผู้ชายวัยกลางคน  ได้รับอุบัติเหตุเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว  และมีอาการอ่อนแรงตั้งแต่ระดับ C6  ลงไป  ได้ admit และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น Pressure sore , Neurogenic bladder , Flexion contracture สุดท้ายผู้ป่วยต้องกลับมารักษาตัวที่บ้านตั้งแต่ช่วงต้นปี  และได้รับการดูแลโดยภรรยาที่ตนเองเคยทอดทิ้งไปหลายปี 

 

        ประเด็นที่พูดถึงในการอภิปรายกันก็คือ

  • ผู้ป่วยรายนี้มี Hip subluxation ซึ่งอาจจะส่งผลต่อแผนการรักษาและเป้าหมายในหารรักษา ทำให้ผู้ป่วยอาจจะนั่งเองได้ลำบาก    ขณะเดียวกันทางรพ.ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยโดยมีการเชิญผู้พิการเพื่อไปให้กำลังใจเพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยกลับมานั่ง   เป้าหมายที่วางไว้กับสภาวะของคนไข้สอดคล้องกันหรือไม่
  • Family conflict การที่ผู้ป่วยต้องกลับมาอยู่กับภรรยาที่ตนเองเคยทอดทิ้งไป   แล้วผู้ป่วยมีปัญหา Pressure sore ที่ไม่ดีขึ้น ต้องระมัดระวังปัญหาการละเลยผู้ป่วย(Patient  neglect)  และการแก้แค้น (Revenge) ของภรรยา 
  • ลักษณะการแก้ปัญหาของคนไข้แต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน   และก็ส่งผลต่อการแก้ปัญหาต่อการเจ็บป่วย  บางคนก็จะชอบที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง (Internal controller)  ในขณะที่บางคนชอบที่จะให้คนอื่นแนะนำ (External controller)    แต่บางคนก็ชอบที่จะให้เป็นเรื่องของเวรกรรม  พระเจ้า  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป  ฉะนั้นควรพิจารณาว่าคนไข้ที่เราดูแลเป็นแบบไหนเพื่อที่จะปรับได้  ขณะเดียวกันจะเรียนรู้ลักษณะของคนไข้ได้  ต้องเข้าใจลักษณะการแก้ปัญหาของตัวเราก่อน

      

         และประเด็นที่สำคัญที่พูดกันเยอะมากในวันนี้  ซึ่งถูกตั้งคำถามจากพญ.วริสราว่า ในการเยี่ยมบ้านครั้งแรก  เราจะทำอย่างไร  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด  ข้อมูลที่ได้เราจะเชื่อดีหรือไม่   เพราะที่ผ่านมา  เมื่อเราไปเยี่ยมผู้ป่วยในครั้งต่อมา  ก็มักจะพบว่า  ข้อมูลที่ได้ในครั้งแรก ไม่ตรงกัน  และก็จะรู้สึกโกรธคนไข้    ซึ่งในวงก็ให้ความคิดเห็น

  • การที่แพทย์รู้เท่าทันความรู้สึกของตนเองเป็นสิ่งที่สำคํญมากในการดูแลผู้ป่วย  รู้ว่าตอนนี้ตนเองกำลังโกรธ  กำลังกลัว  สงสัย  และการที่จะรู้เท่าทันได้ต้องอาศัยการฝึกสติและหมั่นทบทวนตนเองบ่อยๆ
  • เชื่อหรือไม่เชื่อ  ไม่รู้  แต่ว่าแต่ละครั้งที่เราได้ดูแลคนไข้หรือไปเยี่ยมบ้าน  เราจะเข้าใจคนไข้มากขึ้น  เรียนรู้ชีวิตคนไข้  เหมือนกับจิ๊กซอว์ที่เราค่อยๆปะติดปะต่อเรื่องราวของคนไข้ที่เกิดขึ้น  ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถเข้าใจคนไข้ได้ทั้งหมดเพียงแค่การเยี่ยมบ้านแค่ครั้งเดียว
  • การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยไว้วางใจ(Trust) มากแค่ไหน  ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย(Doctor-patient relationship)เป็นอย่างไร  เปรียบเทียบกับเราถ้าพึ่งรู้จักใครสักคน  เราก็คงไม่กล้าที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟังเช่นกัน
  • ต้องมองว่าเป้าหมายของการเยี่ยมบ้านของเราจริงๆคืออะไร  เช่นต้องการเก็บข้อมูลเพื่อเขียนรายงานหรือนำเสนอ  หรือมีเป้าเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ป่วยและครอบครัวโดยการสั่งให้ผู้ป่วยทำในสิ่งที่เราต้องการ  หรือจริงๆแล้วเราอยากช่วยเหลือคนไข้  แต่เมื่อไปเยี่ยมคนไข้จริงๆแล้ว  เราต้องปล่อยวางเป้าหมายที่เราตั้งไว้  แล้วมองหาความต้องการของผู้ป่วยและญาติ  แล้วนำความต้องการของตัวเราและทางผู้ป่วยมาวางแผนร่วมกัน
  • การจะเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยได้  ต้องอาศัยการฟังเป็นอย่างมากแทนที่จะติดอยู่กับเครื่องมือในการเยี่ยมบ้านหรือแบบฟอร์มต่างๆที่สร้างมาเพื่อเก็บข้อมูล  ลองฟังผู้ป่วยและปล่อยให้เรื่องราวค่อยเผยตัวออกมา

 

 

        สุดท้ายก็ทำ After action review (AAR) โดยให้แต่ละคนสะท้อนว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง  บรรลุความคาดหวังที่แต่ละคนตั้งไว้แต่แรกหรือไม่ และชอบหรือประทับใจตรงจุดไหนบ้าง

หลายคนชอบการเรียนรู้แบบนี้ที่เปิดโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์  โดยน้องๆก็ตั้งคำถามจากประสบการณ์ที่ตนเองพบโดยตรง  อาจารย์ทุกท่านก็เอาประสบการณ์ที่แต่ละคนมีขึ้นมาพูดคุย  การเรียนรู้มิใช่จะเรียนรู้เฉพาะเรื่องราวภายนอกเท่านั้น  ต้องกลับมาเรียนรู้ที่ตัวเราเองด้วย  สำหรับผมในฐานะ Moderator รู้สึกดีมากๆและเหนือความคาดหมาย  อาจจะเป็นเพราะว่าผู้เข้าร่วมไม่เยอะเกินไป (9 คน)  มีการนำประสบการณ์ตรงของแต่ละคนมาแลกเปลี่ยนพูดคุย  และการที่ไม่มีการจับผิดกัน  ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น

        อ.อมรได้พูดเป็นคนสุดท้ายและได้สรุปดีมากว่า  สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ก็คือ  การมองเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ  เห็นความซับซ้อน(Complex) ที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือแม้กระทั่งตัวเราเอง  ซึ่งถ้าพิจารณาคนเดียวก็อาจจะมองไม่เห็น  แต่ถ้าช่วยกันมองหลายๆคน  ช่วยกันคิด เราก็จะมองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น  ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องสรุปเรื่องราวเลย

หมายเลขบันทึก: 312336เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2009 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 08:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณหมอ

  • คงเหมือนอย่างคุณหมอว่าต้องรู้จักเชื่อมโยงหลายๆสิ่งด้วยกัน
  • แม้ไม่ได้ทำงานที่เดียวกันแต่ก็ยังร่วม ลปรร.กันได้นะคะ
  • และรู้สึกยินดีมากค่ะที่ได้รู้จักคุณหมอที่เก่งๆและน่ารักแบบนี้
  • ยังประทับใจหมาป่าจะมากินแกะอยู่เลยค่ะ *^_^*

เป็นไปได้มั๊ยครับที่ผมจะได้มีโอกาสนั่งฟังหรือร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราวแบบนี้ผ่านช่องทาง Internet เช่น Camfrog ,Skype หรืออื่นๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท