ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบวนเกษตร1


ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบวนเกษตร: การสร้างอัตลักษณ์เพื่อต่อสู้กับความยากจนในประเทศไทย

Angroforestry Movement: Constructive Identity for Struggle against Poverty in Thailand

 

บทนำ 

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของเกษตรกรในประเทศไทยมีพัฒนาการจากการเคลื่อนไหวชุมนุม

ประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนับแต่ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้ง สหพันธ์ชาวไร่ชาวนาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 ซึ่งเคลื่อนไหวภายใต้คำขวัญ “ที่ดินต้องเป็นผู้ถือคันไถ และกฎหมายต้องเป็นธรรม (ประภาส ปิ่นตบแต่ง น.16) การต่อสู้ของขบวนการเกษตรกรในอดีตเป็นไปในรูปแบบของการปะทะ ต่อสู้ ขัดแย้งโดยอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายรัฐ ยุทธศาสตร์สำคัญคือการรวมตัวกันชุมนุมประท้วงในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2517 ที่ชาวนาจำนวนหลายพันคนจาก 11 จังหวัดเดินทางมาชุมนุมพร้อมกันที่สนามหลวง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สิน และปัญหาที่ดินทำกินที่ถูกโกงไปโดยนายทุน การชุมนุมครั้งนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน 6 วัน ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงในกรุงเทพมหานคร และในต่างจังหวัดของขบวนการเกษตรกรไทย (กนกศักดิ์ แก้วเทพ 125,128-130,172) การเคลื่อนไหวประท้วงในช่วงเวลาดังกล่าว  นำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงด้วยการจับกุมตัวและการลอบสังหารผู้นำชาวนา ในช่วงปี 2517-2522 มีผู้นำชาวนาเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารมากกว่า 33 ราย และบาดเจ็บ สูญหายอีกหลายร้อยคน (กองเลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ) เหตุการณ์การปราบปรามชาวนาในช่วงเวลานั้นทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของเกษตรไทยอ่อนกำลังลง และขาดความต่อเนื่อง  จนกระทั่งได้มีการรวมตัวกันของเกษตร ชาวไร่ชาวนาภาคอีสานอีกครั้ง  ภายใต้องค์กรที่เรียกว่า สมัชชาเกษตรกรรายย่อย ต่อมาเมื่อมีการขยายจำนวนสมาชิกในรูปของเครือข่ายปัญหาที่เผชิญร่วมกันครอบคลุมพื้นที่ในภาคอีสานเกือบทุกจังหวัดแล้วจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน” (สกย.อ.) ในปี 2537  จากนั้นได้มีการสรุปบทเรียนการเคลื่อนไหว พร้อม ๆ กับการมีสมาชิกเข้าร่วมกับเครือข่ายครอบคลุมทั่วไปเทศจึงได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็น “สมัชชาคนจน” ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย ในปี 2538 สมัชชาคนจนเคลื่อนไหวครั้งแรกโดยการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2539 มีเกษตรกรเข้าร่วมถึง 11,000 คน ใช้เวลาการชุมนุมยาวนานถึง 2 เดือน บทบาทของสมัชชาคนจนยังมีความสำคัญและเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัยนับตั้งแต่รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปะอาชา มาจนถึงรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  ปัญหาที่เป็นประเด็นการเรียกร้องต่อรัฐบาลให้แก้ไขเป็นประจำในทุก ๆ ครั้งที่มีการชุมนุมได้แก่ ปัญหาหนี้สิน  ปัญหาที่ดินทำกิน และความเดือดร้อนที่ได้รับจากโครงการพัฒนาของรัฐ  ซึ่งมักได้รับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และมักเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทวงคำสัญญาจากรัฐบาลเสมอๆ  (ประสิทธิพร กาฬอ่อนสี, 2547) ขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกรมักได้รับการตอบโต้ในทางลบจากภาครัฐ มีการตรวจสอบประวัติ จับกุมดำเนินคดี ตลอดจนข่มขู่และลอบสังหาร ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมากกับการเคลื่อนไหวของขบวนการเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถสร้างความชอบธรรม ผลักดันข้อเรียกร้องให้รัฐยอมรับได้อย่างเป็นทางการ (formal recognition) โดยไม่ใช้ความรุนแรงเข้าปะทะ รวมถึงการได้รับการยอมรับนับรวม (inclusion) เข้าเป็นส่วนหนึ่ง ในฐานะพันธมิตรของรัฐ  ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลสำเร็จขั้นสูงสุดของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม  (Gamson, 1990, pp.31-33)

จากจุดเริ่มต้นของการก่อรูปแนวคิดวนเกษตรที่เดิมเรียกว่า เกษตรพื้นฐาน ในปี 2524 (เครือข่ายป่าตะวันออก, 2550, น. 1) มาจนถึงปัจจุบัน (2553) เป็นเวลา 29 ปี  วนเกษตรสร้างความเข้มแข็งจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรในท้องถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา และขยายเครือข่ายออกไปสู่ชุมชนในห้าจังหวัดของภาคตะวันออก ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่าที่เรียกว่า ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก[1] เครือข่ายที่มารวมตัวกันเหล่านี้เรียกตนเองว่า  “เครือข่ายป่าตะวันออก”  นอกจากจะมีสมาชิกเป็นทางการที่กระจายอยู่ในเขต 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง แล้วยังสมาชิกจากจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศเดินทางมาเยี่ยมชม ศึกษาดูงาน  และเข้ารับการอบรม

ความรู้ ความคิด และการสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาเพื่อต่อสู้ ตอบโต้ และหยัดยืน เบียดแทรกเปิดพื้นที่ให้กับตนเองท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้มาเป็นเวลายาวนาน จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั้งรัฐ และองค์กรพัฒนาภาคเอกชน  

วนเกษตรต่างไปจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องของขบวนการเกษตรกรอื่น ๆ ที่สำคัญคือ ไม่นิยมการชุมนุมประท้วง ปะทะ ขัดแย้งกับรัฐบาล กลุ่มวนเกษตรไม่เคยเดินทางเข้ามาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาให้ ในทางตรงข้าม ผู้นำกลุ่มวนเกษตรได้รับการเชิญจากหน่วยราชการ ตลอดจนผู้นำรัฐบาล ให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมพิจารณาและกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร ได้รับการยกย่อง แต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิก  เป็นปราชญ์ชาวบ้าน  ครูภูมิปัญญาไทย[2] รวมทั้งเป็นองค์กรเกษตรที่ทำหน้าที่เผยแพร่วิธีการพัฒนาแบบทางเลือกที่เรียกว่า “เศรษฐกิจพอเพียง”  เช่นเดียวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรที่องค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กรเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และใกล้ชิดสนิทสนมกับแกนนำกลุ่ม

นอกจากนั้น วนเกษตร ยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นพื้นที่ทำวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก

ความสำเร็จของวนเกษตรที่เกิดขึ้นนี้ มีงานวิจัย งานเขียนหลายเรื่องที่ทำการศึกษา ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ 1) ใช้ทฤษฎีด้านการเรียนรู้เป็นกรอบในการศึกษา โดยเข้าไปศึกษาว่า ผู้นำและสมาชิกกลุ่มมีรูปแบบการเรียนรู้ และมีขั้นตอนเข้าสู่กระบวนการวนเกษตรอย่างไร (จิตติมา ดำรงวัฒนะ, 2544; สัมฤทธิ์ ผิวนิ่ม, 2545; Thancheen and Lauzon, 2006)

2) การศึกษาในเชิงพรรณนา ที่มุ่งศึกษาชีวิตของผู้นำกลุ่ม ประสบการณ์ วิธีคิด กิจกรรม ตลอดจนความสำเร็จ ในรายละเอียดแง่มุมต่าง ๆ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานขององค์กรพัฒนาเอกชน (เสรี พงศ์พิศ, สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ และวิชิต นันทสุวรรณ, 2532; มยุรี ดำรงเชื้อ, 2534; ฉันทนา บรรพศิริโชติ. 2546;  เสรี พงศ์พิศ, 2548ก, น.131-136; 2548ข, น. 25-304)

ซึ่งผลการวิจัยมักจะสรุปตรงกันว่า เกิดจากประสบการณ์ชีวิต การเรียนรู้ด้วยภูมิปัญญา และความคิดที่ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนากระแสหลักของตัวผู้นำ ค้นหา สร้างองค์ความรู้เพื่อหลุดพ้นจากวงจรของทุนนิยม และสร้างทางเลือกใหม่เกิดเป็นแนวทางวนเกษตร

อย่างไรก็ตามวนเกษตร ในสายตาของนักวิชาการแล้ว เป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้านที่รวมตัวกันต่อต้านเข้ามาของเศรษฐกิจกระแสหลัก   มีชีวิตที่เรียบง่าย พอเพียง และผูกพันกับธรรมชาติกับท้องถิ่น แต่ไม่มีงานวิจัยใดที่ศึกษาวนเกษตรในฐานะที่เป็น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ซึ่งมีความเข้มแข็ง และน่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถทำงานได้ร่วมกับทั้งรัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้วยกันเอง ผู้นำกลุ่มได้รับการยอมรับ และประกาศตนว่า แนวทางของกลุ่มคือแนวทางที่สามารถหลุดพ้นไปจากความยากจนได้ 

บทความนี้มุ่งเสนอกระบวนการสร้างตัวตน (Identity) ของกลุ่มวนเกษตร โดยมุ่งตอบคำถามว่า พวกเขา-เธอ ใช้วิธีการอย่างไรในการสร้างอัตลักษณ์ร่วม ให้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมไทย และอัตลักษณ์ร่วมที่สร้างขึ้นดังกล่าวสามารถผลักดันไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างไร

กรอบทฤฎีการวิจัย

การศึกษานี้กำหนดกรอบความคิดกว้าง ๆ จากทฤษฏีการสร้างอัตลักษณ์ร่วม (collective identity)   ในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้องเปิดพื้นที่ให้กับตนเองให้ได้รับการยอมรับ

แนวคิดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการปัจจุบัน  ทั้งในสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์   ทั้งการศึกษาในกลุ่มเกย์  หญิงรักหญิง  คนผิวดำ การเรียกร้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์  กลุ่มคนเหล่านี้มีวิถีชีวิตที่ถูกแบ่งแยกและจำกัดขอบเขตการดำเนินชีวิตให้แตกต่างไปจากคนทั่วไปในสังคม  รวมถึงการเกิดขึ้นของ ขบวนการทางสังคมรูปแบบใหม่ (new social movement) ที่ไม่พอพอใจกับโครงสร้างทางสังคมในระดับมหภาค อันเป็นผลจากนโยบายของรัฐ และองค์กรระหว่างประเทศ    การศึกษาอัตลักษณ์ร่วมได้เติมเต็มช่องว่างระหว่างขบวนการทางสังคม (social movement) และกระบวนการทางการเมือง  เป็นการเมือง   อัตลักษณ์ (identity politics) ที่ขับเคลื่อนด้วยความเหมือนในความต่างของกลุ่มคน

การเกิดขึ้นของอัตลักษณ์ร่วม ถูกใช้เป็นกลยุทธ์ความเคลื่อนไหวทางสังคมใน 3 ลักษณะ  คือ 1) ช่วยผลักดันให้ขบวนการทางสังคมประสบผลสำเร็จ ในฐานะที่เป็นวิธีการไปสู่เป้าหมายจากการมีสำนึกร่วมกัน  และใช้เป็นกรอบความคิดวิเคราะห์ปัญหาที่เผชิญอยู่ร่วมกัน 2) ใช้ความแตกต่างที่มีจุดร่วมกันของขบวนการทางสังคมที่มีอัตลักษณ์ต่างจากกลุ่มทางสังคมอื่น  เป็นสิ่งปลุกเร้ากระตุ้นเพื่อหวังผลทางการเมือง 3) เป็นเป้าหมายร่วมกันของสมาชิกในฐานะที่อัตลักษณ์ร่วมของตนเองได้รับการยอมรับจากสังคม (Bernstein, 2005, pp. 59-63)

อัตลักษณ์ร่วม คือความรู้สึกร่วมของปัจเจกบุคคลที่เชื่อมโยงกันในลักษณะที่เป็นชุมชน  กลุ่ม   สถาบัน กลุ่มคนเหล่านี้ยอมรับการเป็นสมาชิก และผลิต สร้าง วัฒนธรรม   การเรียกชื่อ สัญลักษณ์  ตลอดจนมีความสนใจและเป้าหมายร่วมกัน  ผลที่ตามมาจากการมีอยู่ของอัตลักษณ์ร่วม ได้นำไปสู่  การรวมกลุ่มช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่องค์กรที่เป็นทางการสำหรับการต่อสู้การถูกเอารัดเอาเปรียบ  การไม่ได้รับการยอมรับ    สามารถเปลี่ยนสภาวะ (transform) วิถีชีวิตกิจกรรมไปสู่การยอมรับของสังคม นอกจากนั้นยังช่วยก่อรูปความเข้าใจ การยอมรับให้กับปัจเจกบุคคลภายนอกกลุ่มด้วย  (Polletta & Jasper, 2001, pp. 282-297)       การเกิดขึ้นของอัตลักษณ์ร่วมในการบทความนี้ใช้กรอบการศึกษาการสร้างอัตลักษณ์ จากการถอดรื้อ ความรู้ชุดเดิมในรูปของวาทกรรม ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นจริง ถูกต้อง และการก่อรูปขึ้นของอัตลักษณ์ชุดใหม่ที่เห็นคัดค้าน โต้แย้ง  ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มอัตลักษณ์ที่เคยถูกปิดกั้น ควบคุมไม่ให้มีสิทธิมีเสียง ได้เผยตัวตนอัตลักษณ์ขึ้นมา (Cerulo, 1997, pp. 385-409) ขณะเดียวกันก็สร้างอัตลักษณ์ร่วมขึ้นจากอุดมการณ์ (ideology)  สัญลักษณ์ ความหมาย กิจกรรม ความเชื่อ และแบบแผนการปฏิบัติของกลุ่ม  ที่ถูกสร้างขึ้นในบริบทเชิงพื้นที่ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เพื่อโน้มน้าวขยายขอบเขตจำนวนสมาชิก โดยมีวัฒนธรรมเป็นขอบเขตของปฏิบัติการเคลื่อนไหว (arena of action) และเป็นผลที่ตามมาของขบวนการเคลื่อนไหว (consequence of movement effort)  วัฒนธรรมนำไปสู่เขตแดนของความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันที่แตกต่างไปจากกลุ่มทางสังคมอื่น (Williams, 2004, pp.92-95) ซึ่งเป็นการต่อสู้กันระหว่างวาทกรรมการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในแบบทุนนิยม กับการพัฒนาที่เป็นทางเลือกซึ่งสร้างขึ้นจากองค์ความรู้ท้องถิ่น

ระเบียบวิธีวิจัย

การศึกษานี้เป็นการศึกษาภาคสนาม (field research) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในระดับองค์กร ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า เครือข่ายป่าตะวันออก ที่ประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ ในบริเวณป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดยผู้วิจัยได้เข้าไปใช้ชีวิตในพื้นที่บ้านนาอิสาน ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามไชยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับกลุ่มวนเกษตร ณ ที่ทำการเครือข่ายป่าตะวันออก และพื้นที่ชุมชนในเขตตำบลท่ากระดาน การศึกษามุ่งความสนใจไปที่การตีความกระบวนการ [สร้าง] กรอบ (frames process) ซึ่งเป็นการค้นหาสาระสำคัญหลัก (schemata) จากเหตุการณ์ กิจกรรม ประสบการณ์ ของกลุ่มวนเกษตร เพื่อตีความรหัสความหมายเชิงวัฒนธรรมที่ใช้กำหนด ทางออกแนวทางการแก้ไขปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ ตลอดจนยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวที่แตกต่างไปจากขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรกลุ่มอื่น  (Hunt, Benford and Sonw, 1999, pp. 185-208; Snow, 2004, pp.380-412) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่อไปนี้

การสังเกตแบบมีส่วนร่วม  ผู้วิจัยเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรม          1)การประชุมที่หน่วยงานองค์กรภายนอก เชิญสมาชิก หรือตัวแทนสมาชิกของวนเกษตรเข้าร่วมประชุม            2)การประชุมของผู้นำกลุ่มวนเกษตรกับสมาชิกในชุมชน และสมาชิกจากชุมชนอื่น                   3)กิจกรรมตามโครงการพัฒนา อันมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของกลุ่มวนเกษตร

 การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-depth interview) สัมภาษณ์ผู้นำ  (protagonists) และสมาชิกกลุ่มวนเกษตร ในด้าน ประวัติการต่อสู้เพื่อให้พ้นจากความยากจน และมุมมองที่มีต่อปัญหาความยากจน 

 การสัมภาษณ์กลุ่ม (focus group) ในขั้นตอนนี้ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลในสองขั้นตอนข้างต้น เพื่อสร้างกรอบแนวคิดแล้ว จากนั้นนำกรอบแนวคิดที่ได้มาสัมภาษณ์กลุ่มผู้นำชุมชน เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ของชุมชน ในด้าน   เป้าหมายร่วมกันวนเกษตร            2) มุมมองที่มีต่อความยากจน       3) แนวทางขจัดความยากจน และยุทธศาสตร์การต่อสู้เคลื่อนไหว

 


[1] ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญมีพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์อยู่ในเขตป่าครอบคลุม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อุทยานแห่งชาติเขาคิชกูฎ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง และ อุทยานแห่งชาติน้ำตกเขาสิบห้าชั้น ทั้งนี้ยังไม่นับรวมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ทั้งพื้นที่ที่เป็นภูเขา และพื้นที่ราบที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์

[2] ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสองครั้งคือ ปี พ.ศ.  .... และ พ.ศ.2549 เลี่ยม บุตรจันทา เป็นปราชญ์เกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครูภูมิปัญญาไทย ของกระทรวงศึกษาธิการ ในปี.... ตามลำดับ

หมายเลขบันทึก: 311347เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2009 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท