ประวัติวัดตากฟ้า (พ.ศ. ๒๕๐๘ - พ.ศ. ๒๕๓๕)


ความเป็นมาของวัดตากฟ้า ตั้งแต่พระสุรินทร์ จนฺโชโต เป็นผู้รักษาการเจ้าสำนักฯ เป็นพระใบฎีกาสุรินทร์ จนฺทโชโต และเป็นพระครูนภเขตคณารักษ์ พระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส และเจ้าคณะอำเภอรูปแรกของ ตากฟ้า

สถานะและที่ตั้ง

          วัดตากฟ้า  เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่  ๓๕๙ หมู่ที่ ๔  ตำบลตากฟ้า  อำเภอตากฟ้า  จังหวัดนครสวรรค์  สังกัดคณะสงฆ์  มหานิกาย  (ต่อมาเปลี่ยนเป็นเลขที่  ๓๕๙  หมู่ที่ ๑  และปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเลขที่  ๗๖ หมู่ที่ ๑  ถนนพหลโยธิน  ตำบล ตากฟ้า  อำเภอตากฟ้า  จังหวัดนครสวรรค์  : โดยเทศบาลตำบลตากฟ้า)

          วัดตากฟ้า  มีเนื้อที่ทั้งสิ้น  ๓๔  ไร่  ๓  งาน  ๔๕  ตารางวา  มีอาณาเขต  ติดต่อกับสถานที่ต่างๆ  ดังต่อไปนี้

          ด้านทิศเหนือ  บริเวณด้านหน้าของวัดตากฟ้า  ติดกับทางหลวงหมายเลข  ๑  ถนนพหลโยธิน  สายตาคลี - ลพบุรี  เป็นความกว้างทั้งสิ้น  ๑๗๖  เมตร

          ด้านทิศใต้  บริเวณด้านหลังของวัดตากฟ้า  ติดกับศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์  เป็นความกว้างทั้งสิ้น  ๑๗๖  เมตร

          ด้านทิศตะวันออก  บริเวณด้านขวาของวัดตากฟ้า  ติดกับศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์  เป็นความยาวทั้งสิ้น  ๒๖๓  เมตร

          ด้านตะวันตก  บริเวณด้านซ้ายของวัดตากฟ้า  ติดกับศาลเจ้าพ่อดาบทอง,  ที่ดินตระกูลปิยะชน  และตลาดตากฟ้า  เป็นความยาวทั้งสิ้น  ๒๖๓  เมตร

 

ประวัติความเป็นมา

 Takfa

ภาพอนุสรณ์ในงาน

ทอดกฐินและผ้าป่าสามัคคี วัดตากฟ้า 

๒๘  ตุลาคม  ๒๕๑๔

          วัดตากฟ้า  แต่เดิมนั้นได้ตั้งเป็นเพียงที่พักสงฆ์  ริเริ่มจัดหาสถานที่และเริ่มการก่อสร้างเพื่อดำเนินการก่อตั้งเป็นวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.  ๒๔๙๘ ซึ่งในสมัยนั้น     ยังสังกัดอยู่กับคณะสงฆ์อำเภอตาคลี  โดยได้อาศัยศรัทธาจากชาวบ้าน  ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพกสิกรรมเพราะปลูกพืชไร่  ได้ร่วมใจกันสร้างเสนาสนะ  มีกุฏิและศาลาการเปรียญขึ้น  เพื่อเอาไว้บำเพ็ญกุศลในพระพุทธศาสนา เพราะบริเวณหมู่บ้านตากฟ้านั้นก็ยังไม่มีวัด  เป็นที่ประกอบศาสนากิจ  จึงมีการดำเนินการ ดังนี้

          ทางฝ่ายประชาชน  ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘  ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองตากฟ้า ท่านแรกคือ นายบุญลือ  รัตนมงคล  ได้เป็นผู้ดำเนินการเรื่องสถานที่ก่อสร้างวัด  เพราะที่ดินบริเวณวัดทั้งหมดนั้นเป็นที่ดินที่อยู่ในครอบครองของนิคมสร้างตนเอง  อำเภอตาคลี  โดยผู้ใหญ่สมจิตร  พิมพาภรณ์  นายสิงห์  สมศรี  พร้อมด้วยชาวบ้านตากฟ้าและใกล้เคียง  เป็นผู้ดำเนินการสร้างวัด

            ทางฝ่ายคณะสงฆ์ นั้น ก็ได้รับความเมตตาสนับสนุนจาก หลวงพ่อพระครูนิพัทธ์สีลคุณ (หลวงพ่อทอง วิสาโล)  เจ้าอาวาสวัดหัวเขา  เจ้าคณะอำเภอตาคลี และ หลวงพ่อพระครูนิยมธรรมภาณ (หลวงปู่บก  ถาวโร) วัดสว่างวงษ์  เจ้าคณะตำบลตากฟ้า ในขณะนั้น  ได้ช่วยส่งพระมาเป็นผู้ปกครองที่พักสงฆ์และสำนักสงฆ์ โดยลำดับ   และเพื่อเป็นเกียรติที่พระครูนิยมธรรมภาณ ที่ได้ให้ความอุปถัมภ์แก่สำนักสงฆ์ตากฟ้าเป็นอย่างดียิ่ง  ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกกันว่า  “วัดตากฟ้านิยมธรรม”  โดยเอาชื่อท้ายของราชทินนามของพระครูนิยมธรรมภาณ  (หลวงปู่บก  ถาวโร)  มาต่อสร้อยท้ายชื่อวัดดังกล่าว 

          ปี . ๒๕๐๔  คณะกรรมการวัด ได้ดำเนินการทำเรื่องขออนุญาตสร้างวัด

          ปี  พ. ๒๕๐๖  คณะกรรมการสำนักสงฆ์ตากฟ้านิยมธรรม  ก็ได้ดำเนินการทำเรื่องขอตั้งสำนักสงฆ์ตากฟ้านิยมธรรมขึ้นเป็น  “วัด”  ในพระพุทธศาสนา

          ปี  พ. ๒๕๐๘  เมื่อพระอาจารย์บุญส่ง  -  ได้ลากลับไปจำพรรษาที่วัดสว่างวงษ์  อำเภอตาคลีตามเดิม  ทำให้สำนักสงฆ์ตากฟ้านิยมธรรมขาดผู้นำในการปกครองดูแลรักษาสำนักฯ ศาสนสมบัติและศาสนสถาน และดูแลรักษานำพาศรัทธาของญาติโยมชาวตากฟ้าและใกล้เคียง   ทางคณะกรรมการของสำนักสงฆ์ตากฟ้านิยมธรรม  จึงได้ร่วมใจกันเดินทางไปที่วัดจันเสน  อำเภอตาคลี   จังหวัดนครสวรรค์  เพื่อกราบเรียนขอพระภิกษุจาก  หลวงพ่อพระครูนิสัยจริยคุณ (วิสุทธิ์ (โอด) ปญฺญาธโร,  แป้นโต)  เพื่อที่จะให้มาอยู่เป็นผู้นำดูแลรักษาศาสนสมบัติและ ศาสนสถานของสำนักสงฆ์ตากฟ้านิยมธรรม   ตลอดจนนำพาศรัทธาของญาติโยมชาวตากฟ้าและใกล้เคียงสืบต่อไป  ซึ่งในขณะนั้น  พระสุรินทร์  จนฺทโชโต  (ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูนภเขตคณารักษ์)  กำลังจะมากราบลาหลวงพ่อพระครูนิสัยจริยคุณ   พระอาจารย์เพื่อจะเดินทางไปจำพรรษาที่วัดปากน้ำ  จังหวัดระนอง  หลวงพ่อพระครูนิสัยจริยคุณ (โอด  ปญฺญาธโร)  จึงได้ขอให้ท่าน พระสุรินทร์  จนฺทโชโต  มาอยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ตากฟ้านิยมธรรม  เพื่อมาเป็นผู้นำในการดูแลรักษาวัดและรักษาศรัทธาของญาติโยม   พระสุรินทร์  จนฺทโชโต   จึงเปลี่ยนความตั้งใจไม่เดินทางไปจำพรรษาที่วัดปากน้ำ  จังหวัดระนอง  เดินทางมาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ตากฟ้านิยมธรรม  ตามที่หลวงพ่อพระครูนิสัยจริยคุณ (โอด  ปญฺญาธโร) พระอาจารย์ร้องขอพร้อมกับการมาของพระสุรินทร์  จนฺทโชโต นั้น หลวงพ่อพระครูนิสัยจริยคุณ (โอด  ปญฺญาธโร) ก็ได้ส่ง  หลวงพ่อพริ้ง  -  มาด้วย  เพื่อที่จะได้สอนในด้านวิปัสสนากัมมัฎฐานให้กับญาติโยมด้วย

          ในปี  พ.. ๒๕๐๘  สำนักสงฆ์ตากฟ้านิยมธรรม  จึงมีพระสุรินทร์  จนฺทโชโต  เฉลิมพันธ์   เป็นผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าสำนักฯ  เป็นผู้นำ ผู้ดูแลรักษาศาสนสมบัติและศาสนสถานของสำนักสงฆ์ตากฟ้านิยมธรรม   ตลอดจนนำพาศรัทธาของญาติโยมชาวตากฟ้าและใกล้เคียง  ให้เจริญในธรรมและมั่นคงในพระพุทธศาสนา  และนำพาพระภิกษุสามเณรของวัด  และญาติโยมอุบาสกอุบาสิกา  คณะกรรมการ  และประชาชนโดยทั่วไป  พัฒนาจากสำนักสงฆ์ตากฟ้านิยมธรรม  จนเป็นวัดตากฟ้าและมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับๆ  จนเป็นที่รู้จักของคนทั้งหลายทั่วประเทศ

          พ.ศ.  ๒๕๐๙  พระสุรินทร์  จนฺทโชโต ได้รับเมตตาจากท่านเจ้าคณะอำเภอตาคลีแต่งตั้งให้เป็นฐานานุกรมของเจ้าคณะอำเภอตาคลีที่ พระใบฎีกา

          . ๒๕๑๐  ๏  กรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ  และความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม  จึงประกาศตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนามีนามว่า “วัดตากฟ้า” เมื่อวันที่  ๗ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๑๐  และได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่  ๘๔  ตอนที่  ๗๕  ลงวันที่  ๑๕  เดือน  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๑๐

                              ๏  พระราชพรหมาภรณ์  เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์  ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้  พระใบฎีกาสุรินทร์  จนฺทโชโต  เป็น  เจ้าอาวาสวัดตากฟ้า  อำเภอตากฟ้า  จังหวัดนครสวรรค์  ตราตั้งเจ้าอาวาสเลขที่  ๒๘/๒๕๑๐  ลงวันที่  ๑๕  เดือน  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๑๐

                              ๏  ปีเดียวกันนั้นวัดตากฟ้าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อวันที่  ๑๔  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๑๐  โดยมีเขตวิสุงคามสีมา  กว้าง  ๔๐  เมตร  ยาว  ๘๐ เมตร  รวมอุปจารของวัดคิดเป็นเนื้อที่  ๘๐๐ ตารางวา  และได้ดำเนินการผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต  เมื่อปี  พ.ศ.  ๒๕๑๒

          .. ๒๕๑๓  ตำบลตากฟ้า  ได้แยกการปกครองออกมาจากอำเภอตาคลี  โดยยกฐานะขึ้นเป็น “อำเภอตากฟ้า”  ตามพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่  ๑๓  เดือน ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๑๓  อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดนครสวรรค์  โดยมิได้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอมาก่อน  โดยมี นายชัยศรี  นุตาลัย  มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอตากฟ้า  เป็นคนแรก

          พ.ศ.  ๒๕๑๕  พระเทพคุณาภรณ์   (พุฒ  วุฑฺฒิทตฺโต) เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์  ได้มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าคณะตำบล ที่ ๓/๒๕๑๕   ลงวันที่  ๑๔  เดือน พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๑๕  แต่งตั้งให้  พระใบฎีกาสุรินทร์  จนฺทโชโต  เจ้าอาวาสวัดตากฟ้า  รองเจ้าคณะตำบลตาคลี เขต ๑  เป็น  เจ้าคณะตำบลตากฟ้า  อำเภอตากฟ้า  จังหวัดนครสวรรค์

          พ.ศ.  ๒๕๑๗ ๏  พระใบฎีกาสุรินทร์  จนฺทโชโต  ได้รับแต่งตั้งเป็น    พระอุปัชฌาย์  เมื่อวันที่ ๔  เดือน  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๑๗  

                             ๏  พระใบฎีกาสุรินทร์   จนฺทโชโต  ได้รับแต่งตั้งเป็น       ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอตากฟ้า  จังหวัดนครสวรรค์  เมื่อวันที่  ๒๐  เดือน  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๑๗ 

                             ๏  พระใบฎีกาสุรินทร์  จนฺทโชโต  ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรีที่ พระครูนภเขตคณารักษ์  ลงวันที่  ๕  เดือน  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๑๗

          พ.ศ.  ๒๕๑๘  พระธรรมเจดีย์ (กี  มารชิโน ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ  เจ้าคณะภาค  ๔  ได้แต่งตั้งให้  พระครูนภเขตคณารักษ์  อายุ  ๓๘  พรรษา  ๑๘  เป็น  เจ้าคณะอำเภอตากฟ้า  เมื่อวันที่  ๑๕  เดือน  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๑๘

                             ๏  และในวันที่  ๕ เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้น พระครูนภเขตคณารักษ์  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น  พระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท  ในราชทินนามเดิม

            พ.ศ.  ๒๕๒๐ วัดตากฟ้า ได้รับคัดเลือกจากกรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการให้เป็น  วัดพัฒนาตัวอย่าง

            พ.ศ.  ๒๕๒๓   พระครูนภเขตคณารักษ์  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์  เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก  ในราชทินนามเดิม

 

          ถาวรวัตถุต่างๆ  ภายในวัดตากฟ้า   มีพระอุโบสถ  ซุ้มประตู  และกำแพงวัดโดยรอบ   ศาลาการเปรียญ  หอระฆัง  กุฏิที่พักของภิกษุ-สามเณร  จำนวน  ๑๒  หลัง  ศาลากองอำนวยการ  หอน้ำ  (รูปบาตร)  เมรุ  ศาลาที่พักเผาศพ  ห้องน้ำ  ฯลฯ  สิ่งต่างๆ  ถูกก่อสร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของหลวงพ่อพระครูนภเขตคณารักษ์  (สุรินทร์  จนฺทโชโต  เฉลิมพันธ์) ร่วมกับพระภิกษุ-สามเณรของวัดตากฟ้า  ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์ ผู้เข้ามาบวชและอยู่จำพรรษาในอาวาสแห่งนี้สืบทอดกันมาทุกปีๆ  โดยมีหลวงพ่อพระครูนภเขตคณารักษ์เป็นผู้ออกแบบและเป็นผู้นำในการก่อสร้างและจัดทำทุกสิ่งอย่าง  พระภิกษุ-สามเณรของวัดตากฟ้าต้องมีหน้าที่ทุกรูป  ใครเลื่อยไม้เป็นไปเลื่อยไม้  ใครเผาถ่านเป็นไปลงถ่าน  ใครก่อสร้างเป็นไปก่อสร้าง  ช่างไม้,   ช่างปูน, ช่างไฟ  ใครมีความชำนาญด้านไหนก็ไปทำงานนั้น   แม้ไม่เป็นอะไรเลยก็เป็นกำลังหนุนช่วยในด้านแรงงานไป    ญาติโยมที่เข้ามาวัดจะพบเห็นอยู่เป็นประจำว่า  พระภิกษุ-สามเณรของวัดตากฟ้า  กำลังเลื่อยไม้  แปรรูปไม้   พระภิกษุ-สามเณรกำลังทำแบบเทปูน  และพระภิกษุ-สามเณรกำลังขนหิน - ทราย - ปูน  เพื่อผสมปูน  พระภิกษุ-สามเณรกำลังเทปูนก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ  ภายในวัดอยู่เป็นประจำ   เป็นที่ชินตาของของญาติโยมทั้งหลายโดยทั่วไป  สมเจตนาของญาติโยมที่ได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ให้การสนับสนุนเพื่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา  ทำให้วัดตากฟ้ามีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ  จนได้รับยกย่องเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง  และนำไปสู่การเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่นในโอกาสต่อมา 

       วัดตากฟ้ามีพระภิกษุ-สามเณรจำพรรษาไม่ต่ำกว่า  ๓๐ รูปทุกปี  โดยมีพระครูนภเขตคณารักษ์  (สุรินทร์  จนฺทโชโต  เฉลิมพันธ์)  เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก  เป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรก  และเป็นเจ้าคณะอำเภอรูปแรกของ อำเภอตากฟ้า...ฯ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 311159เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2009 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท