องค์กรพยาบาล-ศูนย์8
กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8

วิจัย : รูปแบบการแก้ปัญหาทุพโภชนาการหญิงตั้งครรภ์


ศึกษารูปแบบการแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการในหญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการ 
                      โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8 นครสวรรค์

                               นางพรรณี ไพบูลย์และนางสาววันเพ็ญ สุทธิโกมินทร์

             การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบการแก้ไขปัญหาภาวะ ทุพโภชนาการในหญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8 นครสวรรค์ รวมถึงเพื่อศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว ความรู้ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารของหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ และติดตามอัตราการเกิดของทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ โดยกลุ่มตัวอย่าง เป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ ทุพโภชนาการ ที่มารับบริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ในช่วงตุลาคม 2547 - มีนาคม 2548 ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ที่น้ำหนักขึ้นน้อยกว่าเกณฑ์, น้ำหนักลด และน้ำหนักขึ้นมากเกินเกณฑ์ เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 104 ราย โดยดำเนินการตามรูปแบบการแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ได้แก่ การคัดกรองผู้รับบริการ, จัดทำประวัติผู้รับบริการ, ประเมินความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหาร และพฤติกรรมการบริโภค, การให้คำแนะนำ / ปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาโภชนาการ, การติดตามอย่างต่อเนื่อง และประเมินผล เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบทดสอบความรู้โภชนาการในหญิงตั้งครรภ์ และแบบสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ของกองโภชนาการ กรมอนามัย วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ Paired t-test

            ผลการศึกษา พบว่า หญิงตั้งครรภ์ จำนวน 104 ราย ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 20 - 29 ปี ร้อยละ 83.7 ส่วนใหญ่เป็นครรภ์ที่ 1 ร้อยละ 47.1 ไม่เคยมีประวัติคลอดบุตรน้ำหนักน้อย (≤ 2,500 กรัม) ร้อยละ 100 ระดับการศึกษาจบปริญญาตรี ร้อยละ 52.9 อาชีพค้าขาย และรับจ้าง ร้อยละ 39.4 และ 25.0 ตามลำดับ

    จำแนกตามปัญหาทุพโภชนาการ 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มน้ำหนักขึ้นน้อยกว่าเกณฑ์ จำนวน 60 ราย ร้อยละ 57.7
  • กลุ่มน้ำหนักลด จำนวน 19 ราย ร้อยละ18.3
  • กลุ่มน้ำหนักขึ้นมากเกินเกณฑ์ จำนวน 25 ราย ร้อยละ 24.0 

  จากการศึกษาผลการใช้รูปแบบการแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการต่อน้ำหนักตัว ความรู้ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารของหญิงตั้งครรภ์ พบว่า

  • ด้านน้ำหนักตัว มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ จำนวน 83 ราย ร้อยละ 79.8
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นต่ำกว่าเกณฑ์ จำนวน 21 ราย ร้อยละ 20.2
  • ด้านความรู้และพฤติกรรมการบริโภค พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
  • สำหรับน้ำหนักทารกแรกเกิด พบว่า ทารกน้ำหนักมากกว่า 2,500 กรัม จำนวน 97 ราย ร้อยละ 93.3

             สรุปผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลอนามัยแม่และเด็ก เพื่อป้องกันปัญหาทารก แรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ให้หน่วยงานอื่นๆ นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 311055เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2009 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กำลังสนใจเรื่องนี้ค่ะ คิดจะทำในภาคอีสาน รบกวนขอเครื่องมือได้ไหมคะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

  • คุณดวงพรค่ะ ถ้าสนใจเครื่องมือฝากติดต่อที่ 0-5625-5451 ต่อ 254-255 หรืองาน day care คุณพรรณี ไพบูลย์ ได้เลยค่ะ พี่เค้าเป็นเจ้าของผลงานสอบถามได้เลย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท