องค์กรพยาบาล-ศูนย์8
กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8

วิจัย : รูปแบบการให้ความรู้มารดาหลังคลอด


       การพัฒนารูปแบบการให้ความรู้กับมารดาหลังคลอด แผนกสูติกรรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8 

                                สาริศา สืบจากดี , สุพัตรา โค้วสุวรรณ และรัชนี ฤทธิ์เทพ

   การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบการให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตัวหลังคลอดและการเลี้ยงดูบุตรแก่มารดาหลังคลอดและญาติ เพื่อให้มารดากลับคืนสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว ทารกหลังคลอดมีภาวะสุขภาพแข็งแรง ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงดูบุตรควรมีความรู้ความเข้าใจทั้งด้านการป้องกันภาวะแทรกซ้อน การส่งเสริมสุขภาพ และการฟื้นฟูสภาพอย่างถูกต้อง ดังนั้น การเตรียมความพร้อมมารดาและญาติก่อนการจำหน่ายจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้มีความพร้อมสามารถดูแลตนเองและบุตรได้เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน

          แผนกสูติกรรมเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ให้การดูแลมารดาและทารกหลังคลอด จากเดิมแผนกสูติกรรมจัดระบบการให้ความรู้มารดาหลังคลอดโดยใช้แผนการสอน ใช้แผ่นพลิกเป็นสื่อการสอน สถานที่สอนใช้ภายในแผนกซึ่งไม่เหมาะสม ไม่เป็นสัดส่วน ผลจากการประเมินพฤติกรรมระหว่างการสอน และประเมินความรู้ก่อนกลับบ้านมารดาไม่สนใจ ไม่สามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง และจากข้อมูลเยี่ยมบ้านมารดาหลังคลอดซึ่งงานอนามัยชุมชนประสานกลับมาที่แผนกสูติกรรม มารดาหลังคลอดปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องในการดูแลตนเองหลังคลอดและการเลี้ยงดูบุตรดั้งนั้น ผู้ศึกษาได้พัฒนารูปแบบการให้ความรู้กับมารดาหลังคลอดให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการดูแลที่เหมาะสมกับบริบทของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8 นครสวรรค์ และสอดคล้องกับนโยบายของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มเป้าหมาย คือ หญิงหลังคลอด สามี ญาติที่รับไว้ในการดูแลที่ตึกสูติกรรม ศูนย์อนามัยที่ 8 นครสวรรค์ ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 - กันยายน 2551 จำนวน 886 ราย วิธีการศึกษาโดยการจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมและเป็นสัดส่วนสำหรับจัดกลุ่มให้ความรู้ จัดทำสื่อแผ่นภาพประกอบการให้ความรู้รายกลุ่ม รูปเล่มอัลบั้มความรู้สำหรับมารดาและญาติที่ไม่สะดวกมารับฟัง มีการสาธิต การทดลองฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบวัดความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองและบุตรก่อนจำหน่ายกลับบ้าน และติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินการปฏิบัติตัว วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและร้อยละ

          จากการทบทวนได้มีการจัดมุมส่งเสริมสุขภาพและให้ความรู้สำหรับมารดาหลังคลอดและครอบครัวภายในแผนกที่เหมาะสม และผลการศึกษา พบว่า มารดาหลังคลอดมีความรู้ในการดูแลตนเองเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหลังคลอดก่อนกลับบ้านในประเด็นต่างๆ 3 อันดับแรกดังนี้ เรื่องเพศสัมพันธ์และการวางแผนครอบครัว การดูแลสุขภาพและการรับประทานยา และการรับสูติบัตร/การแจ้งเกิด คิดเป็นร้อยละ 99.77 99.44 และ 98.87 ตามลำดับ แต่มารดามีความรู้น้อยในด้านการปฏิบัติการบีบเก็บน้ำนมได้ถูกต้องคิดเป็นร้อยละ 90.29 และการออกกำลังกายหลังคลอดคิดเป็นร้อยละ 93.91 จากข้อมูลการเยี่ยมบ้านมารดาหลังคลอดของงานอนามัยชุมชนในระยะ 1 เดือน พบว่า มารดาหลังคลอดปฏิบัติตัวได้ถูกต้องในเรื่องวิธีการให้นมปฏิบัติได้ถูกต้องคิดเป็นร้อยละ 99.50 การเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่อย่างเดียวคิดเป็นร้อยละ 85.79

หมายเลขบันทึก: 311025เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2009 08:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท