ดนตรีมอญในพม่าว่าด้วย"จะเข้"


ถ้านาคเป็นสัญญลักษณ์ของสัตว์ให้น้ำมีอิทธิฤทธิ์ ที่บันดาลคุณค่าในทางหล่อเลี้ยงชีวิต จระเข้ก็น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์น้ำมีชีวิตที่หล่อเลี้ยง จิตวิญาณให้เบิกบานด้วยเสียงดนตรี

สวัสดีครับ 

          วันนี้ผมจะขอเสนอเครื่องดนตรีโบราณของพวกเราชาวอุษาคเนย์อีกชิ้นหนึ่งซึ่งมีทั้งความน่ารักทั้งโดยเสียงและรูปลักษณ์ ที่แน่นอนว่าเราจะทราบถึงความหมายเชิงประจักษ์ของเครื่องดนตรีชนิดนี้ได้ทันทีจากชื่อและรูปร่างของมันที่เป็นไปด้วยกันอย่างที่ไม่มีเครื่องดนตรีชนิดไหนจะเทียบได้  กล่าวคือเมื่อใครได้เห็นเครื่องดนตรีชนิดนี้ก็จะเรียกได้อย่างถูกต้องทันทีเป็นที่อัศจรรย์ใจ เพราะไม่ว่ามันจะเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมไหนมอญ-เขมร พม่า หรือไทย เขาก็จะเรียกมันด้วยศัพท์ความหมายที่แปลได้ว่า "จระเข้" ทั้งนั้น ก็น่าแปลกว่านอกจาก"นาค"จะเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างสำคัญของคนบนฝั่งสุวรรณภูมิแล้ว "จระเข้" ก็ดูจะมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมร่วมกันอยู่ไม่น้อยเลยนะครับ

        ก็ถ้านาคเป็นสัญญลักษณ์ของสัตว์ให้น้ำมีอิทธิฤทธิ์ ที่บันดาลคุณค่าในทางหล่อเลี้ยงชีวิต จระเข้ก็น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์น้ำมีชีวิตที่หล่อเลี้ยง จิตวิญาณของผู้คนบนดินแดนสุวรรณภูมิให้รื่นเริงเบิกบานไปด้วยเสียงดนตรีด้วยเช่นกันนะครับ พูดมาเสียยืดยาวเข้าเรื่องเลยนะครับ ผมขอตั้งชื่อบันทึกของผมชิ้นนี้ว่า

ดนตรีมอญในพม่าว่าด้วย "จะเข้"

เชิญท่านพิจารณาได้เลยครับ

จะเข้   ในภาษามอญเรียกว่า “จฺยาม”  ส่วนในภาษาพม่าเรียกว่า  “มิจอง” หรือ "หมี่จอง" ซึ่งต่างก็แปลว่า “จระเข้” ด้วยกันทั้งสองภาษา เพราะพิจารณาจากรูปลักษณ์ของเครื่องดนตรีที่มีความพิเศษด้วยนิยมที่จะแกะหุ่นของเครื่องดนตรี ซึ่งทำหน้าที่เป็นกล่องเสียงให้เป็นรูปจระเข้นอนเหยียดยาวตามชื่อของมันเลยทีเดียว   ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเดิมทีจะเข้ของไทยก็น่าจะมีรูปร่างและความหมายโดยนัยที่เหมือนกันนี้ด้วยเช่นกัน แต่ต่อมาในสมัยหลังช่างไทยได้ตัดทอนลายละเอียดต่างๆออกไปเหลือไว้เพียงแค่โครงสร้างดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ชื่อเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “จะเข้” ก็ยังคงเป็นสิ่งตกค้างสำคัญที่ยืนยันได้ถึงแหล่งที่มาของวัฒนธรรมร่วมกันระหว่าง มอญ พม่า และไทยที่รักใคร่ในจระเข้เหมือนๆกัน ( : อืมน่ารักนะครับพวกเราชาวสุวรรณภูมิ  :)                            

           

        จฺยาม หรือ จะเข้มอญ  ทำตัวหุ่นเป็นรูปจระเข้
       ภาพจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

อรรถาธิบาย

        จะเข้มอญเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย [1] ซึ่งมีตัวหุ่นทำหน้าที่เป็นกล่องเสียง นิยมขุดและแกะสลักขึ้นจากไม้ขนุน (เปงแนบี่ง) หรือไม้ประดู่ (ปะเด้าก์) เจาะทะลุเป็นโพรงจากด้านบนตัวหุ่น คือส่วนหลังของจะเข้ทะลุด้านล่างในส่วนท้อง ก่อนจะขึงด้วยหนังวัวในส่วนหลัง จากนั้นก็ตอกหลักผูกสาย  จำนวน ๓ สาย ซึ่งบ้างก็นิยมที่จะใช้สายไหม  สายไนล่อน  หรือไม่ก็สายลวดโลหะ พาดจากโคนหางของจะเข้ ทับลงบนผิวไม้ไผ่แผ่นบางๆ(แหน)ที่วางอยู่บนกล่องไม้(โต๊ะจะเข้) ที่มีลักษณะค่อยๆลาดเอียงลงทีละน้อย จากนั้นสายก็จะถูกพาดผ่านไปที่ช่วงหลังของจะเข้ซึ่งมีแป้นบังคับเสียง(นม)ความสูงประมาณ ๑ นิ้วซึ่งติดอยู่ด้วยครั่งหรือขี้ผึ้งรองรับอยู่ ๗-๑๒ แป้น ก่อนจะพาดไปสู่หัวของจะเข้ซึ่งเป็นส่วนของลูกบิดปรับเสียง  ในขณะที่จะเข้ของชาวยะไข่ในฝั่งตะวันตกของพม่าจะตอกหลักโยงสายจากหัวไปสู่ลูกบิดที่ส่วนหาง

       การเทียบเสียง จะเข้มอญจะเทียบสายเปล่าโดยประมาณที่เสียง   F-C-F [2]  ซึ่งโดยปกติจะดำเนินทำนองบนสายเดียว ขณะเดียวกันก็จะใช้สายอื่นทำเป็นเสียงครางหึ่งๆไปด้วย และบางครั้งก็จะเล่นควบคู่กันไปทั้งสาย ๒ และ ๓ ด้วยการทึ้ง(ดีด)ลงไปที่สายด้วยไม้ดีดทรงกลมแหลมลักษณะเหมือนดินสอ ยาวประมาณ ๓ นิ้วที่ทำด้วย งาช้าง เขาสัตว์ ไม้ หรือไม้ไผ่ก็มี

         เอาหละครับเป็นไงกันบ้างครับ เครื่องดนตรีชนิดนี้ทั้งน่ารัก น่าชัง และดูเป็นสากลสำหรับพวกเราชาวอุษาคเนย์โดยเฉพาะที่อยู่ริมน้ำบนฝั่งสุวรรณภูมิดี ในพม่ามอญมีนิทานจระเข้ใจดี ที่มีเพื่อนเป็นเจ้าชายอาศัยในแถบย่างกุ้ง-สิเรียม ชื่อว่าเจ้า "นะกาโมเยก"(เจ้านาคเมฆฝน) ส่วนในไทยก็มีนิทานจระเข้ร้ายชื่ออ้าย "ชาละวัน" และยังมีอีกหลายตำนานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้คนกับจระเข้ในสุวรรณภูมิที่มีให้แก่กัน ขอมนุษย์ทั้งหลายจงอย่าเป็นภัยแก่กันเลยนะครับ  :) สาธุ
                                                                                          สวัสดีครับ

สิทธิพร เนตรนิยม


[1] มอญเรียกว่า เจิก  แปลว่า ๑. น. เชือก,เถา,สาย (พจนานุกรม มอญ-ไทยฉบับสยาม,๒๕๔๘ : ๘๘) พม่าเรียกว่า "โจ่ตัดตู่ริหย่า"

[2] เสียง  ฟา - โด - ฟา  ในขณะที่จะเข้ไทยนิยมเทียบด้วยเสียง C-G-C โด - ที - โด]

--------------------------------

เอกสารอ้างอิง ๑. พจนานุกรม มอญ-ไทยฉบับสยาม,กรุงเทพ ๒๕๔๘

                   ๒.รามญโมส่วย,มอญคีตะนิทาน,ย่างกุ้ง ๒๐๐๔

                   ๓.http://www.museumfire.com/burma.htm

 

 

หมายเลขบันทึก: 310902เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2009 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท