กระเป๋าย่านลิเพา...บรรจง ประณีต กล่าวขานของดี “เมืองนครฯ”


กระเป๋าย่านลิเพา...บรรจง ประณีต กล่าวขานของดี “เมืองนครฯ”
กระเป๋าย่านลิเพา...บรรจง ประณีต กล่าวขานของดี “เมืองนครฯ”
 

     ผลิตภัณฑ์ย่านลิเพา หัตถกรรมจักสานพื้นบ้านของภาคใต้ในอดีตได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในสมัยของเจ้าพระยาเมืองนครศรีธรรมราช จนได้นำเข้าถวายแก่เจ้านายในกรุงเทพฯ จากอดีตสู่ปัจจุบัน งานฝีมือที่ละเดียดอ่อน และประณีตของย่านลิเพาได้รับการส่งเสริมจากสมเด็จพระราชินีนาถ ทำให้กลายเป็นสินค้าที่เลื่องลือทั้งในประต่างประเทศ

     ในนครศรีธรรมราชมีกลุ่มที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องจักรสานย่านลิเพาอยู่หลายกลุ่ม มีตั้งแต่เจ้าของเพียงคนเดียว และกลุ่มระดับจังหวัด อำเภอ หรือตำบล ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน อย่างเช่นตำบลท่าเรือ มีผู้ผลิตถึง 2,000 ครัวเรือน ส่วนศูนย์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน นครศรีธรรมราช (วัดหมุน) หรือ (Nakhon Si Thammarat Handicraft Center) เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่จัดตั้งเมื่อปี 2531 หรือกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยบริหารงานในรูปแบบสหกรณ์ แบ่งปันรายได้จากจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 200 คน และมี คุณจารุวรรณ บุญชัก เป็นประธานกลุ่ม มีรองประธาน กรรมการ และเหรัญญิก ร่วมบริหารงาน
 
     การบริหารงานและการเงินของกลุ่มนี้ค่อนข้างน่าสนใจ โดยคุณจารุวรรณเล่าให้ฟังว่า รายได้จากการจำหน่าย จะจัดเงินเข้ากลุ่มร้อยละ 40 แบ่งเป็นทุนขยายกิจการ ทุนสำรอง ทุนสาธารณะ และเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกผู้ที่นำสินค้าไปจำหน่ายให้กับกลุ่มร้อยละ 5 ส่วนอีกร้อยละ 60 ปันผลให้กับสมาชิก แบ่งเป็นหุ้นละ 100 บาท ซึ่งมีการปันผล 1 ครั้งต่อปี เมื่อปี 2548 ที่ผ่านมาปันหุ้น ๆ ละ 148 บาท ปัจจุบันกลุ่มมีรายได้ประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน ส่วนสมาชิกมีรายได้ 2,500 – 3,000 บาทต่อเดือน
 
     คุณจารุวรรณ ได้เล่าย้อนไปในช่วงก่อนก่อตั้งเป็นกลุ่มศูนย์ศิลปหัตถกรรมว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา เสร็จจากทำนาก็อยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร จนกระทั่งมีคน ๆ หนึ่งออกจากเรือนจำมาสอนทำกระเป๋าย่านลิเพา ในขณะนั้นต่างคนต่างทำ และขายกันเอง แต่ทำได้เพียงปีสองปีก็หยุดกันไป ไม่คุ้มทุนเพราะพ่อค้าคนกลางกดราคา จึงเหลือเพียงไม่กี่รายที่ยังทำอยู่
 
     หลังจากนั้นไม่นาน คุณนิพนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สอบถามถึงความรู้ ความสามารถของหมู่บ้าน และได้ส่งเสริมให้กลุ่มผลิตสินค้าจักสานย่านลิเพาเพื่อจำหน่ายอีกครั้ง หลังจากที่รู้ว่า ชาวบ้านมีประสบการณ์
จนกระทั่งก่อตั้งเป็นกลุ่มศูนย์ศิลปหัตถกรรมขึ้นเมื่อปี 2531 พร้อมกับมีการสร้างอาคารอยู่ที่วัดหมุนเพื่อให้เป็นสถานที่ทำงาน และส่งเจ้าหน้าที่จากจังหวัดเข้ามาสอน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระราชินีที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ย่านลิเพาของจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงทำให้สินค้ามีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักทั้งในประต่างประเทศ
 
     สินค้าที่ผลิตจากย่านลิเพามีหลายกลุ่ม และสินค้าที่ผลิตจากกลุ่มของเราจะมีความละเอียดมาก และกลุ่มอื่นไม่ค่อยทำกัน เพราะมันยุ่งยาก ไม้ไผ่ต้องใช้ซี่เล็กจริง ๆ เส้นลิเพา และการขูดให้เหนียว จนทำให้สินค้าได้ระดับโอท็อป 5 ดาว ที่ผ่านมามีลูกค้าญี่ปุ่นหลายรายได้สั่งให้กลุ่มผลิตสินค้า เช่น ผลิตเป็นกล่องมีรูปร่างกลม หรือกล่อง 8 เหลี่ยม หรือตะกร้า เป็นต้น
 
     ส่วนรูปแบบที่ใช้จักสานมีประมาณ 100 แบบ ในตอนแรกจะใช้แบบของครูเคลือบ เป็นต้นแบบเพราะเป็นผู้มาสอนเป็นคนแรก หลังจากนั้นได้เริ่มออกแบบลวดลายกันเองร่วมกับสมาฃิก รวมทั้งนำแบบของลายผ้ามาดัดแปลง หรือบางครั้งลูกค้านำแบบมาให้ทำบ้าง และข้อดีของผู้ทำเมื่อเห็นแบบหรือลวดลายใหม่ ๆ จะสามารถทำได้ทันที ซึ่งผลิตภัณฑ์จะมีหลากหลาย เช่น กระเป๋าถือ กล่องใส่ของมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยเน้นจำหน่ายให้กับลูกค้าระดับผู้ใหญ่ ส่วนกลุ่มวัยรุ่น จะผลิตกระเป๋าสะพายขนาดเล็ก กำไรข้อมือ ที่คาดผม หรือกิ๊บติดผม เป็นต้น
 
     ราคาจำหน่าย จะกำหนดตามการผลิต หรือขั้นตอนถ้าผลิตภัณฑ์ที่มีความละเอียดมาก ราคาจะแพง ถ้าละเอียดน้อยก็จะถูก มีราคาตั้งแต่ 10 บาท ถึง 15,000 บาท สินค้าที่จำหน่ายได้จำนวนมากจะเป็นกระเป๋าขนาดกลาง
 
     วัสดุที่ใช้ผลิต จะใช้ย่านลิเพาเป็นหลัก ซึ่งเป็นพืชพันธุ์ไม้เถา ส่วนวัสดุเพิ่มเติมที่ใช้ในการผลิต เช่น หวาย ไม้ไผ่ และผ้าบุด้านใน มีทั้งผ้าไหม รวมไปถึงผ้าทอพื้นบ้าน ของนครศรีธรรมราช รวมทั้ง ถมเงิน ถมทอง
 
      ส่วนใหญ่กระเป๋าที่จำหน่ายจัดอยู่ในราคาสูงพอควร คุณจารุวรรณ ยืนยันถึงความทนทานในการใช้งานว่าจะไม่มอดอย่างแน่นอน เพราะได้แก้ไขจุดด้อยเรื่องมอด โดยใช้วิธีนำหญ้าไปต้มเกลือ และทายา รมควัน อยู่ได้นาน 100 – 200 ปี ส่วนวิธีรักษา หากดูหมอง ให้ใช้น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันมะกอกถู กระเป๋าจะแวววาวตลอด
 
     สำหรับ ย่านลิเพาสามารถเก็บได้จากป่าพลุ ซึ่งไม่มีวันหมด เพราะจะใช้วิธีการถอน หลังจากที่ถอนไปแล้วก็จะงอกขึ้นมาใหม่ และขณะนี้กลุ่มได้จัดทำแปลงสาธิตขึ้นมา โดยใช้งบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 90,000 บาท เหตุผลที่ต้องมีทำแปลงสาธิตเพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้เห็นง่ายขึ้น เพราะบางรายที่มาเยี่ยมชมจะต้องทำรายการสารคดี ทำให้บางครั้งต้องพาลงพื้นที่ป่าพลุ แม้ว่าจะมีฝนตก ฟ้าร้องหรือแดดร้อนก็ตาม
 
     ในเรื่องการทำตลาด ในอดีตขายได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่หลังจากที่รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ส่งเสริมผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ก็ดีขึ้นมาก สามารถนำสินค้าไปจำหน่ายในตลาดที่เป็นแหล่งโอท็อป และนำไปจำหน่ายที่เกาะสมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ โดยจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง
     
    ในช่วงปี 2545 2546 จะจำหน่ายได้จำนวนมาก มียอดขายกว่า 200,000 บาท แต่ตอนนี้ยอดขายลด เพราะเริ่มมีคนทำเพิ่มมากขึ้น แม่ค้าบางคนลอกแบบจนเหมือน และนำมาขายถูกกว่า เช่น เราจำหน่าย 150 บาท รายอื่นที่ลอกแบบจะจำหน่ายเพียง 100 บาท เท่านั้น แม้ว่าสินค้าจะเหมือนกัน แต่คุณภาพยังมีความแตกต่าง โดยเราจะแก้ปัญหาอธิบายให้ลูกค้าฟัง
 
    จากปัญหาหลาย ๆ อย่าง มีความต้องการให้รัฐช่วยหาช่องทางตลาด จัดอบรม ประชาสัมพันธ์ เพราะที่ผ่านมามีความผิดพลาดในเรื่องข้อมูลที่ลงบนเว็บไซต์ไทยตำบลดอทคอม คือรูปภาพและรายละเอียดสินค้าเป็นของศูนย์ แต่เบอร์โทรศัพท์เป็นของกลุ่มอื่น แต่ได้บอกเจ้าหน้าที่ให้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว
 
    ในขณะเดียวกันต้องการให้รัฐช่วยสนับสนุนเงินงบประมาณบางส่วน เพื่อนำมาซ่อมแซมตึก เพราะขณะนี้ชำรุด และเมื่อฝนตกลงมาทำให้พื้นที่ทำงานเปียก และที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับงบสนับสนุนจากผู้ว่าซีอีโอ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่บ่อย แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน
 
หมายเลขบันทึก: 310533เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2009 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท