ท่องเมืองลาว(เที่ยวในงาน): หลวงน้ำทา ยางพารา รึหลวงน้ำทาจะเป็นเพียงเมืองผ่าน


ให้ทุกอย่างของโลกตะวันตกผ่านไป ปล่อยให้หลวงน้ำทารักษาวิถีชนบท เป็นเมืองกสิกรรมที่สงบเงียบ

ไปหลวงน้ำทามาสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อปีกลายแค่เพียงเพื่อผ่านไปเที่ยวเมืองสิง  ครั้งที่สองเมื่อเดือนกันยาที่ผ่านมาไปติดต่อเรื่องพาพี่น้องไปดูงานการปลูกยางพารา และกำลังจะต้องไปอีกครั้งในสองสามวันนี้ครับคราวนี้พาพี่น้องจากหงสาคณะใหญ่ร่วม ๙๐ชีวิตไปดูยางพาราที่นั่น คงจะเหนื่อยทั้งกายทั้งใจอีกยกหนึ่ง

เมืองหลวงน้ำทาตั้งอยู่บนที่ราบกว้างขวางทางตอนเหนือของสปป ลาว  มีแม่น้ำสายหลักก็คือ “น้ำทา” ที่มาของชื่อเมืองชื่อแขวงนั่นเอง ชื่อเดิมของเมืองนี้คือ หัวน้ำทา (น่าจะแปลว่าตอนต้นของแม่น้ำทา) มีชายแดนติดกับจีนที่ด่านบ่อเต็น ตามประวัติของเมืองหลวงน้ำทา (ที่สรุปมาจากหนังสือ “สบายดีหลวงน้ำทา”) มีการกล่าวถึงเมืองในทุ่งราบของหุบน้ำทามาตั้งแต่สมัยเจ้าฟ้างุ้ม ร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยาตอนต้นของสยาม และอาณาจักรล้านนายุคราชวงค์เม็งราย มีการกล่าวถึงการทำไมตรีสัญญากันระหว่างกษัตริย์แห่งเชียงแสน กับเจ้าชีวิตแห่งหลวงพระบางโดยให้เมืองน้ำทาเป็นเขตปักปันเขตแดน มีการสร้างพระเจดีย์ไว้ในคราวนั้นถึงสององค์ (ปัจจุบันยังมีร่องรอยปรากฎ) ประชาชนดั้งเดิมแห่งที่ราบลุ่มน้ำทา ได้แก่ชาวลื้อ และชาวไทยวน เพราะมีพื้นที่ติดต่อกับสิบสองปันนา และล้านนา

ที่ราบลุ่มน้ำทาร้างผู้คนไปร่วม ๑๕๐ปี เหตุเพราะเกิดศึกสงคราม การถูกรุกรานจากทั้งทางสิบสองปันนา และจากม่าน อีกทั้งช่วงนั้นก็เกิดความวุ่นวายในอาณาจักรล้านช้างด้วย ประชาชีจึงพากันอพยพหนีออกไปอยู่ที่เมืองเงิน(แขวงไชยะบุรี) และที่เมืองน่าน

เมื่อภาวะสงบสุขกลับคืนมาอีกครั้ง พี่น้องชาวลื้อที่เมืองเงินส่วนหนึ่งก็พากันกลับคืนไปหลวงน้ำทา พร้อมๆกับพี่น้องชาวยวนจากเมืองน่าน ปัจจุบันจะพบว่าชื่อบ้านนามเมืองของเมืองเงิน กับเมืองหลวงน้ำทาจะเหมือนกันแทบทุกบ้าน เช่น บ้านบวก บ้านขอน เป็นต้น จากหนังสือ จักรวรรดินิยมเหนือแม่น้ำโขง (สุวิทย์ ธีรศาศวัต) กล่าวถึงในสมัยอาณานิคมตะวันตกมาปกครองล้านช้าง ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ ของบ้านเรา ช่วงที่มีการแย่งชิงประชาชน และดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มีการประกาศเขตปลอดทหารและนักปกครองไทยในระยะ ๒๕ กม.จากน้ำโขง ฝรั่งเศสก็ส่งเจ้าเมืองหลวงน้ำทามาเกลี้ยกล่อมชาวเมืองเงินให้เอาใจออกห่างเมืองน่าน แสดงว่าสองเมืองนี้ยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันอย่างเหนียวแน่น

นอกจากชาวลื้อจากเมืองเงิน ชาวยวนจากเมืองน่านแล้ว ยังมีพี่น้องไทดำที่พากันอพยพหนีศึกฮ่อมาจากเมืองแถนสิบสองจุไท และยังมีพี่น้องบรรดาเผ่ากลุ่มที่พูดภาษามอญเขมร และกลุ่มภาษาตระกูลจีนธิเบตอีกหลายชาติพันธุ์ที่พากันเคลื่อนย้ายมาอยู่ที่หลวงน้ำทา จึงเป็นสังคมแบบพหุสังคมที่หลากสีสัน มีหัวข้อให้นักมานุษยวิทยาน่าศึกษาหลายอย่าง เช่นเรื่องที่ชาวลื้อรับพุทธศาสนาผ่านทางเชียงใหม่ ชาวไทดำจากเดียนเบียนฟูที่เคยแต่นับถือแถนกำลังพยายามรับศาสนาตามแบบ อาจเพื่อเหตุผลทางสังคม นอกจากนั้นยังมีชาวไทแดงอีกเผ่าหนึ่งที่น่าสนใจ ยิ่งได้ไปเดินที่ตลาดเช้าของหลวงน้ำทา ท่านจะได้ศึกษาถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ว่าลาวลุ่ม ไทดำ ไทแดง ไทยวน ขมุ ลาวห้วย อาข่า จีน ต่างแสดงบทบาทที่แตกต่างกัน มีสินค้ามาขายที่ไม่เหมือนกัน ส่งสัญญานให้ผู้ที่มีกำลังแรงกายทั้งหลายช่วยมาสานต่อทีเถอะ ว่าไงครับหนุ่มเมืองปาย

เศรษฐกิจของเมืองหลวงน้ำทา นอกจากจะเป็นเมืองอู่ข้าวของลาวเหนือแล้ว ปัจจุบันยังเป็นแหล่งผลิตพืชเมืองร้อนป้อนไปเลี้ยงเมืองจีน ได้แก่ กล้วยหอมที่นี่ชาวจีนมาลงทุนปลูกเองเอาพันธุ์จากการเพาะเนื้อเยื่อปลูกแบบอุตสาหกรรมบังคับให้ออกผลพร้อมกันแล้วก็เก็บเข้าตู้คอนเทนเนอร์ขนกลับปักกิ่ง มีการปลูกอ้อยส่งโรงงานงานน้ำตาลในจีน นอกจากนั้นก็มีปลูกยอ มันสำปะหลัง ข้าวโพด หรือแม้กระทั่งการปลูกข่าเก็บเมล็ดขายเป็นเครื่องเทศ ยางพาราก็ปลูกขายจีนกันเป็นล่ำเป็นสัน การปลูกยางพาราที่นี่มีพ่อเฒ่าเลามาแห่งบ้านหาดยาวเป็นผู้ที่ไปเรียนรู้มาจากจีน นำมาปลูกคนแรก ทุกวันนี้แค่เดินสายไปบรรยาย กับรอรับคณะมาดูงานก็แทบไม่มีเวลาพัก สวนที่ได้กรีดน้ำยางปัจจุบันมีราว ๓พันต้น (๖ เฮกตาร์) ได้ผลผลิตเป็นยางก้อนประมาณ ๓-๔ตันต่อ เฮกตาร์ ราคาขายให้พ่อค้าจีนที่มารับซื้อที่บ้านกิโลกรัมละ ๔ หยวน มีรายได้เฉลี่ยปีละ ๑๕ ล้านกีบต่อเอกตาร์ ก็ถือว่าค่อนข้างสูงเลยทีเดียว  

จากเมืองหลวงน้ำทามีถนนมุ่งไปทางตะวันตกร้อยกว่ากม.ก็ถึงเมืองหว้ยทราย ตรงกันข้ามกับเชียงแสนของบ้านเรา จากหลวงน้ำทาอีกราว ๓๐ กม.ก็ถึงด่านชายแดนจีน เมืองหลวงน้ำทาจึงมีความสำคัญในแง่ของจุดแวะพัก จุดศูนย์กลางการค้า แต่เมื่อไม่นานมานี้มีการปรับปรุงถนนจากห้วยทราย อ้อมผ่านหลวงน้ำทา ตรงไปชายแดน ทำให้รถท่องเที่ยววิ่งตรงไปพักกินข้าวเที่ยงได้ที่ชายแดนเลยทีเดียว โดยไม่ต้องแวะเข้าหลวงน้ำทาหากไม่ตั้งใจแวะจริงๆ นี่เป็นผลสะท้อนของการสร้างซูปเปอร์ไฮเวย์ที่หลายคนอาจมองไม่เห็น ได้พูดคุยกับพี่อ้ายชาวไทดำเจ้าของกิจการบ้านพัก เขาพูดว่า “รึเมืองหลวงน้ำทาจะเป็นเพียงทางผ่าน”  

แต่ผมว่าช่างเหอะให้ทุกอย่างของโลกตะวันตกผ่านไป ปล่อยให้หลวงน้ำทารักษาวิถีชนบท เป็นเมืองกสิกรรมที่สงบเงียบอยู่ต่อไปก็น่าจะดีเหมือนกัน

บันทึกนี้ตั้งใจจะเขียนเรื่องท่องเที่ยวเบาๆ กลายมาเป็นเรื่องหนักไปได้อย่างไรก็ไม่รู้ ไว้ไปเที่ยวหน้าจะหามุมมองแบบเบาๆมาเล่าใหม่ครับ  

 

 

หมายเลขบันทึก: 309865เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2009 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บรรยากาศดีครับ ยังไม่เคยไปสัมผัส ได้ แต่ เวียงจันทร์ วังเวียง หลวงพระบาง สุวรรณเขต ครับ

อยากนำปุ๋ยชีวภาพที่ผ่านการทดสอบแล้วว่ามีคุณภาพไปให้ภาคเกษตรกรประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาวได้นำไปใช้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนภาคเกษตรกรรมชาวลาวได้ใช้

ลงชื่อติดต่อ คุณ สุรัตน์ 0818796554 (ประจำประเทศไทย)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท