งานแต่งตามประเพณีไทย


ความเมตตากรุณาของผู้ใหญ่ เป็นสิ่งที่เราจะไม่มีวันลืมไปได้เลยตลอดชีวิต

     งานแต่งของผมตามประเพณีไทยจัดขึ้นที่ในบริเวณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เป็นที่ทำงานอยู่ในขณะนั้น  หลังจากการจัดงานตามประเพณีจีนที่โคราชแล้วห้าวัน ในตอนเช้าได้รับความกรุณาจากท่านคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นทั้งผู้บังคับบัญชาและอาจารย์โดยตรงของเจ้าสาว ให้ใช้บริเวณบ้านพักของท่านที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยเป็นที่จัดงาน และครอบครัวของท่านเมตตาจัดการให้เกือบทุกอย่าง  เราไปไหว้ศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยที่บริเวณหน้าศาลาธรรม ก่อนจะมารับศีลรับพรจากพระจำนวน 9 รูป ที่นิมนต์มาสวดให้  แล้วทำบุญตักบาตรเช้า ต่อจากนั้นก็เป็นการจดทะเบียนสมรส โดยเชิญท่านนายอำเภอเชียงใหม่ออกมาดำเนินการนอกสถานที่ให้ที่บ้านพัก  โดยมีพ่อแม่ของเจ้าสาวและเจ้าบ่าว  คณบดีคณะสังคมศาสตร์ (ผู้บังคับบัญชาของเจ้าสาว) คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ (ผู้บังคับบัญชาของเจ้าบ่าว) ในขณะนั้นมาร่วมเป็นพยาน  ถือว่าเป็นความเมตตาของท่านต่อเราอย่างมากจริง ๆ โดยเฉพาะท่านคณบดีคณะสังคมศาสตร์  ที่นอกจากจะเมตตาให้ใช้บริเวณบ้านพักของท่านในการจัดงานแล้ว ยังช่วยในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้เกือบทั้งหมด รวมทั้งการเชิญท่านนายอำเภอมาจดทะเบียนสมรสให้นอกสถานที่อีกด้วย

             งานในตอนเย็นเป็นเป็นพิธีรดน้ำสังข์และให้พรจากผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และแขกผู้มีเกีรยติ โดยมหาวิทยาลัยให้ความเมตตาให้ใช้ ศาลาธรรม เป็นสถานที่ประกอบพิธี  ถ้าจำไม่ผิดคิดว่าเป็นรายแรก หรือ รายแรก ๆ ของงาน ที่มหาวิทยาลัยอนุญาติให้ใช้ศาลาธรรมในการจัดงานมงคลสมรส  ผู้ที่มารดน้ำให้พรมีตั้งแต่ ท่านอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา คณาจารย์และเพื่อนร่วมงานในมหาวิทยาลัย ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ   งานเลี้ยงรับรองเป็นการเลี้ยง ค๊อกเทล  ค่อนไปทางแบบฝรั่งหรือแบบสากล  เนื่องจากสถานที่คัยแคบเกินไปที่จะจัดเลี้ยงแบบอื่น ๆ (ตามความคิดของผม แต่จริง ๆ เป็นเพราะเหตุใดแน่ ต้องถามทางเจ้าสาว เพราะการตัดสินใจเป็นของทางเจ้าสาวครับ....อิอิ)

          สิ่งที่เป็นที่จดจำของผมเป็นอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในงานนี้ก็คือ ของที่ระลึก หรือของชำร่วย ที่แจกแขกที่มาร่วมงานในครั้งนี้ เป็นดอกกล้วยไม้สดจริง ๆ ที่นำลงมาจากบนดอยสุเทพปุย  คือ ดอกกล้วยไม้ รองเท้านารี  ที่ท่านรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในขณะนั้นให้ความเมตตามอบให้ เพื่อมาแจกในงาน  กล้วยไม้รองเท้านารี ในขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักและยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้ในเมืองไทยในขณะนั้น  เป็นพันธุ์กล้วยไม้สงวนของประเทศไทย ท่านรองอธิการบดีกำลังดำเนินการวิจัยการเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์อยู่ ภายใต้โครงการหลวงดอยสุเทพ  นับว่าเป็นความเมตตาของท่านรองอธิการบดีต่อเราเป็นอย่างยิ่งครับที่ มอบกล้วยไม้รองเท้านารีมาให้เป็นจำนวนมาก เพื่อแจกเป็นของที่ระลึกแก่ผู้มาร่วมงานทุกท่าน  เป็นอะไรที่เราภูมิใจอย่างยิ่ง และไม่แน่ใจว่าจะมีใครที่โชคดีอย่างเราอีก

         ความเมตตากรุณาของผู้ใหญ่ที่กล่าวมาข้างตน เป็นสิ่งที่เราจะไม่มีวันลืมไปได้เลยตลอดชีวิต   เราโชคดีจริง ๆ ครับ

         ใครมีประสบการณ์ในเรื่องนี้อย่างไร หรือมีข้อคิดเห็นอย่างไร  ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เชิญแลกเปลี่ยนครับ

หมายเลขบันทึก: 309780เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2009 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2020 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์คะ ศาลพระภูมิสมัยนั้น โล่งๆ  อยู่เลยนะคะ....ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้วอะค่ะ....นานาสัตว์ตรึมเลยค่ะ....กำลังซึ้งกับความรักของอาจารย์และภรรยาอยู่ค่ะ....ช่างเป็นความทรงจำที่น่าจดจำมากๆ เลยค่ะ(อิจฉามากๆๆ...อิ อิ)

มีความสุขมากๆ และตลอดไปด้วยนะคะ

ขอบคุณ น้องอิง P มากครับ

ศาลพระภูมิ มช. สมัยนั้น มีแค่กระถางสำหรับปักธูป เทียนเท่านั้นครับ ยังไม่มีการเอา สัตว์นานาชนิดมาวาง (เข้าใจว่าเป็นผลจากการมาบนหรือขออะไรไว้ของคนรุ่นต่อ ๆ มา)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท