สรุปสาระสำคัญที่ได้จากการจัดประชุมสัมมนา เรื่อง สถานภาพการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาไทย


สถานภาพการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง

สาระสำคัญที่ได้จากการจัดประชุมสัมมนา เรื่อง สถานภาพการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาไทย

1.นโยบายของการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง โดยเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา คือ 1) ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง เพื่อตอบสนองการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้สะดวกขึ้น 2) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 3) การปรับบทบาท สกอ. โดยลดการออกกฎระเบียบ และเน้นการส่งเสริมสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาที่สามารถจัดการศึกษาลักษณะดังกล่าวให้เป็นแบบอย่างที่ดี (Good practice) รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ 4) การ Post audit หลักสูตรด้วยวิธีการ และกระบวนการที่ชัดเจน และผลจากการสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่ สกอ. จะผลักดันไปสู่การปฏิบัติ

 2. กรอบนโยบาย แนวนโยบายและแนวปฏิบัติ สำหรับการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1) กฎกระทรวงสำหรับสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 2) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการสำหรับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และ3) หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติสำหรับการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง โดยให้สภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบหลักสูตร และต้องรายงานให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) รับทราบ  ปัญหาที่พบ เช่น จำนวนอาจารย์ที่รับผิดชอบหลักสูตรไม่เป็นไปตามเกณฑ์ มีการเปิดสอนโดยสภามหาวิทยาลัยไม่ได้รับรู้ มีการจัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ตั้งทับซ้อนพื้นที่ เป็นต้น 

3. จากการรับฟังการบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศอินเดีย พบว่า บทบาทใหม่ของอุดมศึกษา คือ การส่งเสริมการสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศผ่านการศึกษาที่มีคุณภาพ การสร้างความเป็นสากลขึ้นในจิตใจ และการตระหนักถึงกระบวนทัศน์ที่ว่า โลกคือครอบครัวเดียวกัน ทั้งนี้ ปรัชญาของ Symbiosis Higher Education คือ คำนึงถึงความต้องการ ตามด้วยแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดทางด้านจริยธรรม แต่งตั้งผู้บริหารด้วยหลักคุณธรรมบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถ โดยให้ความเป็นอิสระ และเสรีภาพในการบริหารจัดการ ไม่มีการรับบริจาคและเก็บเงินแรกเข้าจากการ รับนักศึกษา การรับนักศึกษาอยู่บนพื้นฐานของผลคะแนนของการสอบระดับชาติเพื่อคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย (national entrance test)

4. ปรัชญาการศึกษาของ Symbiosis ใช้หลักการสำคัญ 3 ประการ คือ 1) การสร้างภาพลักษณ์ ให้ทุกสถาบันในสังกัดมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสังคม จัดประชุมสัมมนา บริการวิชาการแก่สังคม 2) การระดมทรัพยากร จากค่าธรรมเนียม การลงทุน การบริจาค สมาคมศิษย์เก่า และการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม 3) การสร้างความเป็นเลิศ มีความสัมพันธ์ระหว่างวิชาการและภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับนักศึกษา มีสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นในมหาวิทยาลัย มีการจัดทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาและการ จ้างอาจารย์ในรูปสัญญา เป็นต้น

5. ในการขับเคลื่อนประเทศไทยในศตวรรษใหม่ควรใช้หลักสำคัญ 5 ประการ ที่เรียกว่า "Panchshell" คือ 1) Woman centered family 2) Child centered education 3) Knowledge centered development 4) Human centered development 5) Innovation centered Thailand

6. Symbiosis Center for Distance Learning (SCDL)เป็นสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกลเพียงอย่างเดียว มีการดำเนินการที่สำคัญดังนี้ 1) มี Student Support Services 2) มี E-learning model เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนชั้นเยี่ยม ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพที่ยั่งยืน เนื่องจากสามารถปรับสาระได้ง่ายและบ่อยครั้ง และสนับสนุนประสบการณ์การเรียนรู้ของนักศึกษา 3) มี Academic Initiatives ที่ฝึกอบรมผู้สอนทุกเดือนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งมีการจัดหาเครื่องอำนวยความสะดวกเพื่อให้อาจารย์ได้พัฒนาความรู้ เป็นต้น

7. จากการอภิปราย“เจาะลึกสภาพการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาไทย: ผลสะท้อนคุณภาพ/มาตรฐาน ปัญหา/อุปสรรค แนวทางการแก้ไขที่ปฏิบัติได้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นในมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” พบว่า 1) ผลการวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษา ที่มีศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร เป็นหัวหน้าโครงการมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า สกอ. ควรจัดทำกรอบหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการศึกษานอกที่ตั้ง โดยให้มีความยืดหยุ่น ยอมรับความแตกต่างของรูปแบบและวิธีการจัดการศึกษานอกที่ตั้ง กรอบหลักเกณฑ์ต้องประกอบไปด้วยสาระสำคัญที่สามารถประกันคุณภาพการศึกษานอกที่ตั้งให้ทัดเทียมการศึกษาในที่ตั้ง และสกอ.ควรกำหนดให้มหาวิทยาลัยเผยแพร่ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษานอกที่ตั้งให้เป็นข้อมูลสาธารณะ 2) ในมุมมองของผู้ประเมินภายนอก โดย ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) การจัดการศึกษานอกที่ตั้ง สภามหาวิทยาลัยควรต้องมีบทบาทสำคัญ และหากพบว่าจัดไม่ได้คุณภาพต้องยุติ และควรมีAudit Committee ไปประเมินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งทุกปี พร้อมทั้งควรมีการประเมินคุณภาพบัณฑิต โดยให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นองค์กรหลัก และมีความเห็นว่าการจัดการศึกษาตามรูปแบบดั้งเดิม (Classic) ไม่สามารถทำให้การศึกษานอกที่ตั้งมีคุณภาพครบทุกมาตรฐาน เพราะการจัดการศึกษานอกที่ตั้งที่มีคุณภาพในต่างประเทศ ต้องใช้รูปแบบการสอนผสมทางไกลและทางใกล้ 3) การจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งโดยการใช้การศึกษาทางไกล โดย ดร.วุฒิชัย อัศวินชัยโชติ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นั้นมีการนำระบบการศึกษาทางไกลเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยมีการสำรวจก่อนเปิดหลักสูตร มีการจัดตั้งคณะทำงานการดำเนินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของศูนย์การศึกษานอกสถานที่ตั้งทั้งหมด มีระบบการประกันคุณภาพการจัดการศึกษาของทั้งในสถานที่ตั้งและนอกสถานที่ตั้งในหลักสูตรเดียวกันจะใช้มาตรฐานเดียวกัน โดยครอบคลุมทั้งด้านวิชาการ ด้านการบริหาร และด้านการจัดการ สำหรับการเรียนการสอนใช้ทั้งรูปแบบการสอนแบบบรรยาย และการสอนผ่านระบบทางไกล และมีการวัดและประเมินผลโดยใช้มาตรฐานเดียวกันกับการจัดการศึกษาในสถานที่ตั้ง       

 

 

………………………..

หมายเลขบันทึก: 309494เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2009 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท