งานพัฒนาการเรียนรู้ ภูมิปัญญา ข้อมูลข่าวสารฯ
งานพัฒนาการเรียนรู้ ภูมิปัญญา ข้อมูลข่าวสารฯ ฝ่ายพัฒนาวิสาหกิจการเกษตร สำนักฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

“ตามไปดูฟื้นฟูหลังการจัดการหนี้ที่ จ.สมุทรสาคร” ตอนที่ 2


กระบวนการฟื้นฟูหลังการจัดการหนี้

บทบาทของวิทยากร 

ได้มีการชักชวนคุยถึงเรื่องสมาชิกกลุ่มมาจากสาขาอาชีพอะไรบ้าง สรุปแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มอาชีพใหญ่ ๆ คือกลุ่มสวนผลไม้ (ฝรั่ง, ชมพู่, มะพร้าวน้ำหอม, มะม่วง, พุทรา) อีกกลุ่มคือเลี้ยงสัตว์น้ำ (ปลาสลิด,ปลานิล,กุ้งขาว) กลุ่มอาชีพเดียวกันได้หารือร่วมกัน)
 
สำหรับกระบวนการฟื้นฟูหลังการจัดการหนี้ตามมาตรา 37/8/9 (ดูรายละเอียดตาม พ.ร.บ.) ที่กองทุนฯวางแนวทางไว้ คือซื้อหนี้แล้วเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหลังการจัดการหนี้ตามที่กฎหมายระบุ วิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีอะไรบ้าง
 
-ขั้นตอนที่ 1 สาขาจังหวัดนำเกษตรกรสมาชิกที่ซื้อหนี้แล้วเข้ารับการอบรมปรับกระบวนทัศน์เพื่อฟื้นฟูอาชีพตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน (ในสังกัด กระทวงเกษตรฯ)
 
-ขั้นตอนที่ 2 หลังจากสมาชิกที่ได้รับการจัดการหนี้ผ่านการอบรมจากศูนย์ปราชญ์ฯแล้ว ต้องทำแผนชีวิตหรือแผนการดำเนินชีวิตในระดับครอบครัวของตัวเอง (หมายถึงเป็นแผนการดำเนินชีวิตในระดับครัวเรือน โดยการให้สมาชิกในแต่ละครัวเรือนเก็บรวบรวมข้อมูลสมาชิกทุกคนในครัวเรือนว่ามีรายรับ-รายจ่ายอะไรบ้าง แล้วจากความรู้ความสามารถของสมาชิกแต่ละคนจะสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างไร โดยมีหน.สาขาจังหวัดเป็นที่ปรึกษา)
 
วิธีการในขั้นตอนที่ 2 เริ่มจากทุกครัวเรือน (สมาชิกที่ซื้อหนี้)
2.1 สำรวจรายรับ-รายจ่ายของสมาชิกทุกคนในครัวเรือน
1) สำรวจรายจ่ายของตัวเอง สำนักฟื้นฟูฯจะมีแบบฟอร์มสำหรับใช้เป็นแนวทางในการเก็บข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งจะประสานงานกับหน.สาขาจังหวัด  รายจ่ายที่ว่านี้ ดูจากอะไรบ้าง
หลักที่ต้องดูคือรายจ่ายจากปัจจัย 4 (ที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม)
ปัจจัยที่ 5 เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาของลูกหลานญาติพี่น้องในครัวเรือน
ปัจจัยที่ 6 เป็นเรื่องค่าเดินทาง, ค่าขนส่ง, ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง, ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (ที่ไม่ใช่ยารักษาโรคแต่เกี่ยวข้องกับการรับบริการด้านสุขภาพ)
ปัจจัยที่ 7 เป็นค่าซื้อหวย, ค่าทำบุญ, ค่ากฐิน, งานศพ (เชิงสังคมต่าง ๆ)
ที่ต้องดูปัจจัยหลายด้าน ๆ เพราะต้องการให้มองข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรจริง ๆ ตามสภาพที่เป็นจริง โดยการเก็บข้อมูลจากรายจ่ายต่อวัน จะพอประเมินไปสู่รายจ่ายต่อเดือนและต่อปีได้
 
หลังจากดูรายจ่ายในครัวเรือนแล้ว ก็ต้องดูเรื่องรายจ่ายด้านการลงทุน เช่น ต้นทุนการผลิตในด้านต่าง ๆ (ทำการเกษตรกร มีต้นทุนการผลิตอะไรบ้าง เป็นค่าใช้จ่ายเรื่องอะไร เรื่องการผลิตหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนการประกอบอาชีพของสมาชิกทุกคนในครอบครัว)
 
2) สำรวจรายรับของตัวเอง (มีแบบฟอร์มการเก็บข้อมูลเหมือนข้อ 2.1) เป็นการเก็บข้อมูลว่าสมาชิกทุกคนในครัวเรือนที่มีรายได้แล้ว มีรายรับคนละเท่าไหร่ รวมกันแล้วเป็นเท่าไหร่ หลังจากนั้นเอารายรับลบออกด้วยรายจ่าย จะเห็น "รายได้ที่แท้จริง" ของทั้งครัวเรือน ผลออกมาเป็นบวกหรือลบจะเป็นตัวชี้วัดว่าอาการไข้อยู่ในระดับไหน เป็นแนวทางให้สามารถคิดต่อไปได้ว่าที่ระดับอาการขนาดนี้ จะแก้ปัญหาอย่างไรจึงจะเหมาะสม
  

2.2 ทำแผนชีวิตหรือแผนการดำเนินชีวิตของครัวเรือน (แผนการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ได้รับการจัดการหนี้)
ขั้นตอนนี้ สาขาจังหวัดจะเป็นที่ปรึกษา/ประสานหาภาคีความร่วมมือในพื้นที่มาสนับสนุนการทำแผนการดำเนินชีวิตในระดับครัวเรือนของสมาชิก โดยหลักคิดคือแต่ละครัวเรือนมีความรู้ความสามารถความพร้อมไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ไม่มีใครรู้ดีว่าตัวเราควรจะทำอะไร นอกจากตัวเราเอง ดังนั้น สมาชิกในครัวเรือนต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำแผนขึ้นมาว่าจะฟื้นฟูอาชีพ (ลดรายจ่าย/ลดต้นทุนการผลิต/สร้างรายได้จากความรู้ที่ตัวเองมี) ในเรื่องอะไรบ้าง เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดกับที่ครัวเรือนนั้น ๆ ประสบอยู่ จะเรียกว่าเป็นการทำแผนแก้ปัญหาของครัวเรือนก็ได้
 
2.3 นำแผนการดำเนินชีวิตของครัวเรือนขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯในการฟื้นฟูอาชีพหลังการจัดการหนี้
ขั้นตอนนี้ หลังจากสมาชิกแต่ละครัวเรือนเริ่มรู้แนวทางแล้วว่าจะแก้ปัญหาตัวเองอย่างไรบ้าง ต้องทำกิจกรรมอะไร อย่างไร ก็นำเสนอแผนการดำเนินชีวิตของครัวเรือนหรือแผนแก้ปัญหาในครัวเรือนของตนเองให้กับองค์กรที่ตัวเองสังกัดอยู่ องค์กรก็จะทำหน้าที่ช่วยรวบรวมข้อมูลและเสนอแผน/โครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความต้องการแก้ปัญหาของสมาชิกที่ซื้อหนี้แล้วในสังกัดองค์กรของตนเอง ตรงนี้จะเป็นการเชื่อมโยงและเป็นการเสริมสร้างกระบวนการ "กลุ่ม" 1.องค์กรได้รู้ปัญหา ความต้องการ ศักยภาพที่แท้จริงของสมาชิก 2.องค์กรได้มีส่วนในการบริหารจัดการแผน/โครงการให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาหนี้สินและการฟื้นฟูอาชีพตามแนวทาง ศก.พอเพียงของสมาชิกกลุ่ม
           หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเสนอแผนและโครงการฯโดยองค์กรผ่านสาขาจังหวัดที่องค์กรตั้งอยู่
ขั้นตอนที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ที่จริงยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นอีก แล้วจะนำเสนอเป็นระยะ ๆ ต่อไป
 
ข้อสังเกต
หลังจากได้รับข้อมูลต่างๆ แล้ว กลุ่มเกษตรกรให้ความสนใจมาก ขณะที่มีการแบ่งกลุ่มชวนกันคิดต่อในเรื่องนี้ กลุ่มสวนผลไม้และกลุ่มเลี้ยงสัตว์น้ำร่วมกันคิดกิจกรรมที่จะฟื้นฟูอาชีพ ชาวบ้านบอกว่าปัญหาใหญ่ที่เป็นรายจ่ายหลัก คือต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้น การลดต้นทุนการผลิตจึงเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย กลุ่มเลี้ยงสัตว์น้ำมีอาสามาสมัครอาสาที่จะเป็นตัวตั้งตัวตีในการคิดเรื่องการลดต้นทุนค่าอาหาร เรียกได้ว่าได้รับความสนใจจากสมาชิกเกินความคาดหมาย รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ของกลุ่มโรงเข้การเกษตร จะถูกนำมาเสนอต่อไปว่าจากที่จุดประกายความคิดกันไว้ในวันนั้น หลังจากนั้นมีใครคิดและทำอะไรต่อไปอีกบ้างในโอกาสหน้า

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 309116เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2009 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท