ความสัมพันธ์ มอญ กระเหรี่ยง พม่า ล้านนา และสยาม ในตำนานพระเจ้าเลียบโลก


ความสัมพันธ์มอญ พม่า ล้านาไทย ในศาสนตำนาน

สวัสดีครับ.. วันนี้ขอเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพี่ๆน้องๆเพื่อนบ้านของไทยในดินแดนตะวันตกที่มีปฏิสัมพันธ์กันมาเนินนานก่อนการแบ่งแยกอธิปไตยเหนือดินแดนเป็นไทย เป็นพม่าอย่างชัดเจนเช่นทุกวันนี้ แต่ก่อนพวกเราต่างก็มีความผูกพันกันมิใช่แค่เพียงโลกะชีวะ(คือโลกของผลประโยชน์แบบหยาบๆในเชิงรูปธรรม เช่น การเมือง เศรษฐกิจ)เท่านั้น แต่พวกเรายังมีความสัมพันธ์กันไปถึงเรื่องของมโนทัศน์ นามธรรมซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่ร่วมกันอีกด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของพระพุทธศาสนานั้นมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการเชื่อมร้อยให้ผู้คนต่างเผ่าหลากพันธุ์ให้เข้ามาเป็นหมู่เป็นพวกเดียวกันได้อย่างอ่อนละมุล และไม่รังเกียจเดียดฉันท์กัน

                ความข้อนี้สังเกตได้จากเรื่องเล่าในตำนานพุทธศาสนาของแต่ละท้องถิ่น ที่ถูกผลิตขึ้นไม่ใช่หมายจะเล่าเรื่องราวของตัวให้คนกลุ่มอื่นฟังเท่านั้น แต่ยังได้รับนับเอาเรื่องเล่าของคนจากกลุ่มอื่นเข้าไว้ในความทรงจำของตนด้วยศักดิ์ศรีและฐานะที่เท่าเทียมกันด้วย ตำนาน "พระเจ้าเลียบโลก" หรือที่พม่ารู้จักในนามว่า "พยาเทสะจารี" ก็คือ เรื่องราวการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าในดินแดนต่างๆด้วยพระมหากรุณาเพื่อโปรดสัตว์ผู้ยากทั้งหลายให้เข้าถึงซึ่งวิมุติสุข ตามกำลังปัญญาแห่งสัตว์ ดินแดนใดที่พระองค์เสด็จไปย่อมหมายถึงความเจริญขึ้นด้วยทวิสมบัติ ๒ สถานมี โลกุตระธรรมที่นำสัตว์ให้หลุดพ้นจากวัฏฏะสงสารเป็นขั้นสูง กับโลกียธรรมสมบัติที่จะนำสัตว์ให้จำเริญขึ้นเป็นนครสถาน เป็นบ้านเป็นเมืองอยู่เป็นสุขสำราญโดยธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงนำมาเผยแผ่ลงไป เชื่อมร้อยดินแดนของสัตว์ทั้งหลายให้เสมอกันด้วยศีลธรรม

"Mural in the Shwedagon Depicting Buddha's First Sermon, Yangon, Myanmar (Burma)" Premium Photographic Print

           ดังนั้นตำนานพระเจ้าเลียบโลกจึงไม่ใช่ตำนานที่ได้กล่าวถึงเรื่องราวของดินแดนต่างๆของคนหลากเผ่าเท่านั้น แต่ตำนานพระเจ้าเลียบโลกยังกล่าวถึงดินแดนที่ต่างก็นับถือพระพุทธศาสนาเหมือนๆกัน คนในดินแดนต่างๆเหล่านั้นจึงมีศักดิ์ศรีเสมอกันด้วยเป็นที่มีเกียรติอันพระพุทธเจ้าทรงเข้ามาโปรดเหมือนกับดินแดนอื่นเช่นกัน ดังนั้นทั้งฉันและเธอต่างก็รับรู้เรื่องราวของกันและกันจากตำนานที่กล่าวมานั้น

           กล่าวมายืดยาวผมขอเข้าเรื่องเลยนะครับ ผมของตั้งชื่อบันทึกเอกสารชิ้นนี้ว่า

"พระเจ้าเลียบโลกฉบับมอญพุทธอาณาข้ามพรมแดนของรัฐและชาติพันธุ์ ระหว่างมอญ กระเหรี่ยง พม่า ล้านนา และสยาม"

ซึ่งผมได้แปลเก็บความจากเอกสารภาษาพม่า เรื่อง "เมืองเมียวดีกับพระเจดีย์ชเว     เมียนหวุ่น" ของ หม่องหม่องเญง พิมพ์ครั้งแรก ปี ๑๙๙๒ ครับ เชิญพิจารณาได้เลยครับ

               "นโม เมื่อพระพุทธเจ้าผู้ทรงสัพพัญญูอันประเสริฐ เป็นเลิศในหมู่ชนทั้งหลายบรรลุโพธิญาณได้ ๘ พรรษา มหาศักราชได้ (๑๑๑) ปี ในเวลาเหมันตฤดู หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงจำพรรษา ณ ภิสกฐาวนมิคทาย เมืองสังสุมารคีรี แคว้นสักกะ พร้อมเหล่าอรหันตสาวก ๕๐๐ รูปแล้ว ก็ทรงเสด็จจาริกไป,,

                ในชั้นแรกพระพุทธองค์ได้ทรงจาริกไปยังเมืองอันมีนามว่ามาลกะ ในแคว้นจีนรัฐ,,ต่อจากนั้นทรงจาริกไปยังสุโขทัย(โสกกแทสี) อยุทธยทวารวดี แคว้นโยธยา(ไทย) แล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จต่อไปยังเมืองทวาย ทรงประทับนั่งบนลานศิลาแห่งหนึ่ง ในขณะนั้นก็ทรงพบกับชายชาวกระเหรี่ยงคนหนึ่ง,,ชายกระเหรี่ยงนั้นไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้ากับเหล่าพระอรหันต์ก็ไต่ถามจนทราบเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ชายกระเหรี่ยงจึงได้ถวายดอกปีญ์สิ่น ๗ ดอกเป็นทานบูชาคารวะแด่พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเห็นดังนั้นก็ทรงยิ้ม พระอานนท์จึงทูลถามถึงเหตุดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพุทธพยากรณ์ว่าด้วยผลแห่งทานในการถวายดอกปีญ์สิ่น ๗ ดอกนี้แก่เรา ทายกผู้นี้จะได้เสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ๗ ครั้งแล,,

                เมื่อพระพุทธองค์ทรงจารีกจากทวายไปในทิศเหนือถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ทรงพบกับเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก,,เศรษฐีนั้นก็ได้ปรึกษากับชาวบ้านทั้งหลายในกิจที่จะทำการถวายภัตตาหารแด่เหล่าพระอรหันต์ทั้งนั้น แล้วยังได้ถวายพานทองอีกหนึ่งพานด้วย,,ด้วยเหตุนี้หมู่บ้านดังกล่าวจึงได้ถูกเรียกว่าบ้านพานทองแต่นั้นมา,,

                จากหมู่บ้านพานทองพระพุทธองค์ได้ทรงจารีกมายังเมืองเมียวดี ที่เรียกว่า กวานผแยะปตี ซึ่งมี ๕๐๑ ครัวเรือน,,ในหนังสือรวมประวัติเจดีย์มอญหน้า ๑๐กับ ๑๖ ได้กล่าวถึงช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงเมืองเมียวดีอย่างเด่นชัด,,

พระธาตุเมืองเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอดในปัจจุบัน
ภาพจากwww.thailantern.com/.../index.php/t145.html

                ว่าจากบ้านพานทองที่พระพุทธเจ้าเสด็จมานั้น ก็ถึงเป็นหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งมีประชากรอยู่ถึง ๕๐๐ ครัวเรือน,,มีนายบ้านชื่อสุมณ,,สุมณและชาวบ้านได้เห็นพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวกมีรูปพรรณสัณฐานทั้งการแต่งกายก็พิเศษแปลกประหลาดจึงเข้าไปไต่ถามเจรจาว่าเป็นคนชาติไหน ก็ได้ความว่าเป็นพระพุทธเจ้ากับเหล่าพระอรหันต์ได้จารีกมาจากแคว้นมัชฌิมประเทศ นายบ้านจึงปรึกษากับลูกบ้านของตนทั้ง ๕๐๐ ครัวว่าจะถวายภัตตาหาร,,ชาวบ้านต่างก็พอใจร่วมถวายทาน,,ในการลนั้นพระพุทธองค์กับพระอรหันตสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ ได้รับนิมนต์ให้นั่งลงฉันท์ภัตตาหารบนแผ่นศิลา ๕๐๐ แผ่นแล้ว,,พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ตรัสเป็นพุทธพยากรณ์ไว้ว่าหลังจากที่เราได้เข้าปรินิพพานจนศาสนายุกาลได้กว่า ๒๐๐๐ ปี นายบ้านสุมณะทายกผู้นี้จะได้เป็นกษัตริย์ปกครองกรุงหงสาวดีแล,,เดิมหมู่บ้านนั้นมีชื่อเรียกเป็นภาษามอญเมาะตะมะว่า “กวานบะแยะบดาย”ภาษามอญพะโคว่า (กวานบะแยะปตี) แปลเป็นภาษาพม่าว่าหมู่บ้าน “แตเอมยะ”(ทรายเย็น:ผู้แปล),,ปัจจุบันก็เรียกด้วยภาษามอญครึ่งหนึ่งภาษาพม่าครึ่งหนึ่งโดยไม่มีคำว่า เอ  จาก “มยปะตี” เป็น “มยวตี”(คือ เมืองเมียวดีในปัจจุบัน:ผู้แปล)

                หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็เสด็จจากเมียวดีไปยังเชียงใหม่ โยนกรัฐ มีเจ้าชายพี่น้องกลุ่มหนึ่งเข้าถวายภัตตาหาร ด้วยเหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงประทานพระเกศาธาตุให้แก่หมู่เจ้าชายพี่น้องทั้ง ๑๐ องค์องค์ละหนึ่งเส้น,,

                จากนั้นพระพุทธองค์ทรงจาริกไปทางทิศตะวันออกของเชียงใหม่ระยะไกลได้ ๖ เส้นถึงเมืองลำพูน,,มีนายพรานเข้าเฝ้าถวายสมอแด่พระพุทธเจ้า,,เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสวยผลสมอแล้ว ก็ทรงทิ้งเมล็ดสมอไป เมล็ดสมอกลับตั้งขึ้นมิได้ล้มลงคงอยู่แต่เพียงเท่านั้น,,พระอนุชาอานนท์จึงทูลถามถึงเหตุนั้นทุกประการ พระพุทธเจ้าก็ทรงมีพยากรณ์ว่า อันสถานที่ซึ่งเมล็ดสมอธาตุดำรงอยู่นั้น จะเป็นที่อันพระศาสนารุ่งเรือง,,ต่อไปภายหน้าจะมีฤษีสองตนมาทำสัตยาธิษฐานกำหนดเขตสร้างเมืองเป็นรูปหอยสังข์บนพื้นที่แห่งพระธาตุเมล็ดสมอนี้ พื้นที่ดังกล่าวก็จะเกิดเป็นโคกเนินขึ้นมาแล,,ด้วยเหตุนั้นพวกฉานจึงเรียกชื่อสถานที่แห่งนี้จาก ลิง์ปวน ว่า ละพุน,,ซึ่งแปลได้ว่า “เนินโคกดิน”

พระธาตุหริภุญไชยเมืองลำพูน
ภาพจาก explore.cmumuseum.org/architecture_jeede_list...

พระพุทธเจ้าก็เสด็จจาริกจากลำพูน เชียงใหม่โยนกรัฐต่อไปยังทิศใต้ ถึงยอดเขาแห่งเมืองมะละแหม่ง,,

              ขออนุญาจบการแปลไว้เพียงเท่านี้นะครับ

         ส่งท้าย  ก็จะเห็นได้ถึงสายสัมพันธ์อันอ่อนละไมของผู้คนทั้งหลายในดินแดนแถบนี้ที่เคยมีให้แก่กัน ตั้งแต่เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย ตาก อยุธยา เข้าไปในพม่าเมียวดี  พะโค หงสาวดีที่มีทั้งมอญ พม่า กระเหรี่ยง ยวน ไทยที่ต่างก็เป็นมิตรทางศาสนาที่รู้จักสนิทต่อกันมาในตำนานหลายร้อยปี เราคนรุ่นปัจจุบันนี้ก็ขออย่าให้มีอคติคิดเห็นเเต่เศรษฐกิจ และการเมืองมากเกินไป จนกลายเป็นกำแพงกั้นทั้งความเป็นชาวพุทธและความเป็นมนุษย์กันเลยนะครับ ความเป็นสมาคมอาเซียนอย่าได้มองออกไปไกล ขอให้เริ่มพัฒนาจากใกล้ๆแถวชายแดนไทย-พม่าก่อนก็แล้วกันนะครับ

สวัสดีครับ

สิทธิพร เนตรนิยม

เอกสารอ้างอิง:๑.หม่องหม่องเญง,มโยเมียวดีแน่ะชเวเมียนโหว่นเซดี,พิมพ์ครั้งแรก ย่างกุ้ง ๑๙๙๒      

                    ๒.www.thailantern.com/.../index.php/t145.html

                    ๓.explore.cmumuseum.org/architecture_jeede_list...

หมายเลขบันทึก: 308993เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2009 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท