แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของผู้สูงวัยกับการเรียนรู้อินเทอร์เน็ต


แม้จะยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนในการที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงวัยในต่างจังหวัดที่โอกาสเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ผู้เข้าร่วมประชุมหลายท่านต่างก็ได้ระดมความเห็นที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิตัลในประชาการผู้สูงวัย

ทศพนธ์  นรทัศน์
[email protected]
ชมรม ICT for All

เวทีประชุมวิชาการ เรื่อง “แนวทางสู่การเข้าถึงผู้สูงวัยที่ยังเข้าไม่ถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต | ICT for All Symposium on “Reach The Unreached And Bridge The Digital Divide for Elderly People” ณ ห้องบรรยาย 1 หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร อาคาร SM Tower ชั้น 19 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร จัดโดยชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน (ICT for All Club) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนทางวิชาการและแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์จากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มผู้สูงวัยโดยตรง รวมทั้งร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต  ผลการประชุมในครั้งนี้ จะนำไปสู่การจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี สารสนเทศและความรู้ในกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อยกระดับ Information Literacy และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้เพิ่มสูงขึ้น กิจกรรมในครั้งนี้มีผู้สูงวัย นักวิชาการ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมจำนวน 35 คน (เนื่องจากในวันดังกล่าวเกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ไม่สะดวกต่อการเดินทางมาเข้าร่วมงานของหลายท่าน จากผู้ที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานจำนวน 50 คน)

 ก่อนที่พิธีเปิดการประชุมทางวิชาการจะเริ่มขึ้น ทศพนธ์ นรทัศน์ ผู้ประสานงานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน ได้เรียนเชิญผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านน้อมจิตถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ขอพระองค์ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ววัน ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง กอปรด้วยพระเกษมสำราญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน พระเกียรติคุณแผ่ไพศาลขจรขจายทั่วทิศานุทิศ หมู่ปัจจามิตรที่หวังประทุษร้ายต่อพระบรมเดชานุภาพ จงพ่ายแพ้แก่ทศพิธราชธรรมจรรยาที่ทรงบำเพ็ญมา


การจัดกิจกรรมของชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะว่าชมรมฯ เป็นองค์กรภาคประชาชนที่มิได้มีแหล่งทุน หรืองบประมาณสนับสนุน หากแต่ค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดงานในครั้งนี้ ก็ล้วนมาจากเงินที่ทุกท่านได้กรุณาจ่ายเป็นค่าลงทะเบียน และมีผู้ร่วมบริจาคบางส่วน รวมทั้งได้รับความกรุณาด้านการประชาสัมพันธ์จากหนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์เราคิดอะไร ThaiNGO.org ได้รับความอนุเคราะห์เอกสารเผยแพร่จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสารสื่อสาร และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย (OPPY) ธนาคารกสิกรไทย จึงนับได้ว่างานในวันนี้เป็นของภาคประชาชน โดยภาคประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่น่ายินดีว่าผู้เข้าร่วมบางท่านได้เสียสละทั้งเวลาและทุนทรัพย์เดินทางมาจากต่างจังหวัด อาทิ บุรีรัมย์ นครราชสีมา รวมถึงคุณยายวัย 83 ปี อย่าง พญ.ดวงมณี วิเศษกุล ที่กรุณามาร่วมการประชุมด้วยความตั้งใจ แม้สุขภาพในวันอันยาวนานจะไม่อำนวยนัก คุณยายบอกว่า “…ได้รับความรู้ที่ดีมาก…เมื่อไหร่จะมีกิจกรรมอย่างนี้อีก” นับเป็นกำลังใจที่ดีมากของผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ 
  

กิจกรรมในวันนี้ เป็นกิจกรรมที่ต่อยอดมาจากการอบรมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยด้วยคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต” ที่ชมรม ICT for All ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม 2552 เวลา 09.30 -16.00 น. ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ชั้น 5 โรงแรมสวนดุสิต เพลส เฟส 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีมาก และจากบทความประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผู้สูงวัยที่เข้าไม่ถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 13 ตุลาคม 2552 มีผู้สูงวัยเป็นจำนวนมากที่โทรศัพท์มาสอบถามว่าชมรม ICT for All จะจัดฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ให้ผู้สูงวัยใช่หรือไม่ พอทราบว่าเป็นการประชุมหลายท่านก็แสดงความรู้สึกผิดหวัง เพราะท่านเหล่านั้นต้องการที่จะลงมือปฏิบัติจริง (Take Action) มากกว่ามานั่งฟังภาคทฤษฎี

 เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า โครงสร้างประชากรของประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประชากรผู้สูงอายุไทยเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมา ผู้สูงอายุไทยเพิ่มจากร้อยละ 5.0 ในปี พ.ศ.2493 เป็นร้อยละ 10.1 ในปี พ.ศ.2543 เป็นการเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในปี พ.ศ. 2552 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่าประชากรไทย 63.4 ล้านคนเป็นประชากรสูงอายุประมาณ 7.2 ล้านคน หรือร้อยละ 11.3 ของประชากรทั้งประเทศ และประมาณการณ์ว่าในพ.ศ. 2558 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 15.6 พ.ศ. 2568 มีร้อยละ 21.5 และ พ.ศ. 2576 มีร้อยละ 25


ในหลายประเทศที่ก้าวสู่ หรือกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ได้วางนโยบายสำคัญเพื่อดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งการส่งเสริมการให้บริการด้านการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อันมีส่วนลดโรคสมองเสื่อมและภาวะโรคซึมเศร้า ตัวอย่างมาตรการและโครงการสำหรับผู้สูงอายุในต่างประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ จัดการศึกษาพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ไปกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งเป็นการลดอาการซึมเศร้าและโรคที่เกี่ยวกับสมอง เช่น อัลไซเมอร์ เป็นต้น ในต่างประเทศจึงมีนโยบายและโครงการด้านการศึกษาแก่ผู้สูงอายุ อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของเกาหลีใต้ (Ministry of Information and Communication: MIC) จัดโครงการการศึกษาไอซีทีเพื่อผู้สูงอายุ (ICT Education for the Elderly) โดยร่วมกับสถาบันส่งเสริมการใช้ไอซีทีของเกาหลี (Korea Agency for Digital Opportunity and Promotion: KADO) และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน วิทยาลัย ศูนย์สวัสดิการสังคม และศูนย์สวัสดิการผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ เพื่ออบรมทักษะ ICT แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นเวลา 20-30 ชั่วโมง  (ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์,2551)


United Nations Development Program (UNDP) ได้กำหนดให้การเข้าถึงความรู้และการศึกษาของประชากร เป็นส่วนหนึ่งของดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยเฉพาะเว็บไซต์ได้ทำให้พรมแดนในการเข้าถึงความรู้และการศึกษาหายไป การส่งเสริมให้ประชากรเข้าถึงความรู้และการศึกษาจึงเป็นหนึ่งในความจำเป็นของภาครัฐที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ Information Literacy ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) (2008, Towards Information Literacy Indicators: Conceptual Framework Paper) ได้นิยามว่าเป็นความสามารถของปัจเจกชนในการ (1) ตระหนักรู้ถึงความต้องการสารสนเทศของตนเอง (2) รู้ถึงวิธีการในการสืบค้นเพื่อหาข้อมูล/สารสนเทศที่ต้องการ รวมถึงต้องสามารถประเมินคุณภาพของสารสนเทศที่สามารถหามาได้ (3) รู้จักวิธีการจัดเก็บและเรียกข้อมูล/สารสนเทศมาใช้เมื่อต้องการ (4) สามารถใช้ข้อมูล/สารสนเทศอย่างมีประสิทธิผลและมีจริยธรรม (5) สามารถประยุกต์ใช้สารสนเทศเพื่อสร้างและสื่อสารความรู้


สำหรับประเทศไทยก็ดูเหมือนการส่งเสริมการเรียนของผู้สูงวัย โดยเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตจะยังห่างไกลกับความต้องการของผู้สูงวัยอย่างมาก แม้ในปัจจุบัน รัฐบาลจะได้เห็นชอบแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 ของประเทศไทย (พ.ศ.2552-2556) โดยกำหนดหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของแผนแม่บทดังกล่าว คือ การพัฒนากำลังคนด้าน ICT และบุคคลทั่วไปให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ ผลิต และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน ภายใต้มาตรการพัฒนาการเรียนรู้ ICT แก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ สร้างความร่วมมือกับสภาผู้สูงอายุฯ ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ในการจัดทำหลักสูตรและจัดอบรมความรู้ ด้าน ICT แก่ผู้สูงอายุที่สนใจโดยอาจใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยและ/หรือสถาบันการศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ดูเหมือนแผนปฏิบัติการ (Action plan) ที่จะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวยังเลื่อนลาง


หากย้อนกลับไปดูสถิติจากรายงานสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2551 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประชากรกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป มีการใช้คอมพิวเตอร์เพียงร้อยละ 5 ส่วนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 3.4 จากประชากรทั้งหมด 60,345,271 คน โดยแยกเป็นกลุ่มอายุ 50-59 ปี (จำนวน 7,313,843 คน) มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 626,246 คน (คิดเป็นร้อยละ 8.6) มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 438,041 คน (คิดเป็นร้อยละ 6.0) ส่วนกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป (จำนวน 7,244,133 คน) มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 106,972 คน (คิดเป็นร้อยละ 1.5) มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 60,283 คน (คิดเป็นร้อยละ 0.8) แสดงให้เห็นว่ายังมีประชากรกลุ่มผู้สูงวัยจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อเปิดโลกการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

กิจกรรมสำคัญในการประชุมทางวิชาการครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศ. ดร. ศรีศักดิ์  จามรมาน ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาอินเทอร์เน็ตไทย” (Father of the Internet in Thailand) กล่าวเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย” จากนั้น จะเป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาสังคมแห่งความเท่าเทียมกันด้วย ICT สำหรับผู้สูงวัย” โดย คุณสมศรี  หอมกันยา   ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาคลังความรู้ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  การนำเสนอ เรื่อง “สื่ออินเทอร์เน็ตกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย” ของ รศ.จันทนา ทองประยูร  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ เรื่อง “ช่องว่างทางดิจิตัลในการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้สูงอายุ” โดย ผศ. พ.ต.ท.หญิง ดร. ศิริวรรณ อนันต์โท สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  การนำเสนอ เรื่อง “จุดเริ่มต้นของผู้สูงวัยที่ต้องการเรียนรู้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต” โดย ครูเจี๊ยบ (สุธีรา จำลองศุภลักษณ์) ผู้สอนคอมพิวเตอร์แก่ผู้สูงวัยมากว่า 10 ปี ของชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตผู้สูงวัย (OPPY) การนำเสนอ เรื่อง “การเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงวัยด้วยไอซีที” โดย ผศ. ดร.อรนุช  สูงสว่าง  คณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  การนำเสนอ เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยด้วยคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต” โดย ทศพนธ์ นรทัศน์  ผู้ประสานงาน ชมรม ICT for All และการเปิดเวทีให้กับผู้เข้าประชุมทุกท่านได้การอภิปราย แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ “แนวทางสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี สารสนเทศและความรู้ในประชากรผู้สูงวัย และการข้อเสนอแนะในการจัดทำนโยบายสาธารณะด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเรียนรู้ของผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ
 
ผลจากการประชุมในครั้งนี้ แม้จะยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนในการที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงวัยในต่างจังหวัดที่โอกาสเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ผู้เข้าร่วมประชุมหลายท่านต่างก็ได้ระดมความเห็นที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิตัลในประชาการผู้สูงวัย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ควรขยายจำนวนศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนให้เพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ (รวมถึงการดูแลศูนย์ที่ตั้งแล้วให้มีประสิทธิภาพ) และเพิ่มเป้าหมายในการจัดฝึกอบรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตให้กับผู้สูงวัยในปี 2553 ให้มากกว่า 200 คน เพราะตัวเลขนี้ น้อยมากๆๆๆ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้สูงวัยที่ต้องการเรียนรู้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ

2. การฝึกอบรมอาสาสมัคร ICT ชุมชน หรือหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อออกไปช่วยสอนหรือแนะนำการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตให้กับผู้สูงอายุ

3. การส่งเสริมให้ลูกหลานช่วยสอนคอมพิวเตอร์ให้ผู้สูงวัยในครอบครัว ซึ่งเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดและมีความยั่งยืน สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันในครอบครัว แต่ปัญหาที่พบคือลูกหลานมักจะมองว่าผู้สูงวัยไม่มีความจำเป็นต้องรู้เรื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

4. สำหรับผู้สูงวัยที่มีรายได้พอจ่ายค่าฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งอยู่ที่หลักสูตรละประมาณ 2,500-3,500 บาท ก็สามารถเข้ารับการฝึกอบรมกับสถาบัน หรือหน่วยงานที่จัดฝึกอบรมให้ผู้สูงวัยเป็นการเฉพาะได้

5. การจัดตั้งมูลนิธิ หรือองค์กรเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรการกุศลต่างประเทศ เพื่อมาพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยด้วยคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เช่น การจัดฝึกอบรม การจัดหาคอมพิวเตอร์ราคาถูกแก่ผู้สูงวัย เป็นต้น


6. การออกค่ายหรือจัดฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ให้ผู้สูงวัยของสถาบันการศึกษาในช่วงปิดภาคเรียน

7. การจัดวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตราคาถูกให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งที่ประชุมก็ฝากความหวังไว้กับเทคโนโลยี 3G และ Wi-Max ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

8. การจัดทำรถอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ (Mobile) เคลื่อนที่ไปตามแหล่งชุมชนต่างๆ ในต่างจังหวัด คล้ายกับที่ทำในทวีปแอฟริกา วิธีนี้ก็ดูจะไม่ค่อยได้ผลในระยาว เสมือนหนึ่งการจัดเลี้ยงอาหารกลางวันเพียงหนึ่งมือ แต่ในวันต่อไปก็ไม่มีอาหารให้รับประทานอีก แต่อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้ผู้สูงวัยรับรู้ถึงเทคโนโลยีและประโยชน์ของมัน


9. การดำเนินงานโครงการอินเทอร์เน็ตตำบลในอดีตดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า เพราะประชาชนไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้เลย

10. รัฐควรจัดบริการอินเทอร์เน็ตแบบให้เปล่า หรือมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม เช่น เดียวกับกรณีของไฟฟ้า ประปา


แม้ว่าความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เหล่านี้ จะมีทั้งที่น่าจะเป็นไปได้และยากที่จะเป็นไปได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นแนวทางที่จะก้าวต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิตัลที่มาพร้อมกับยุคสารสนเทศ (Information age) เป็นปัญหาที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ไม่ต่างกับปัญหาความยากจนเลยทีเดียว

จากรายงานการวิจัยความต้องการการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชนเมืองในสังคมยุคแห่งการเรียนรู้ (2550-2551) ของวัทนี จันทร์โอกุล, ผู้อำนวยการกลุ่มแผนงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พบว่า ความต้องการเรียนรู้ของผู้สูงวัยสามอันดับแรกได้แก่ การดูแลสุขภาพ ธรรมะในศาสนาที่นับถือ และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวได้อย่างมีความสุข ซึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เหล่านี้มีอยู่อย่างมากมายในอินเทอร์เน็ต จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างโอกาสให้ผู้สูงวัยได้เข้าถึงองค์ความรู้เหล่านั้นทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต


ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน ตระหนักถึงความตั้งใจและกระหายใคร่รู้ในการเรียนคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของผู้สูงวัย แม้ชมรมฯ จะเป็นเพียงองค์กรภาคประชาชนเล็กๆ ที่ไม่มีงบประมาณ แต่เราจะพยามอย่างที่สุดในการจัดฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ให้กับผู้สูงวัยที่สนใจ ในหลักสูตรคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเบื้องต้น โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงวัยสามารถใช้งานเว็บไซต์และสืบค้นข้อมูลทางเว็บไซต์ได้ การรับ-ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail) การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และการเลือกซื้อคอมพิวเตอร์และแพ็คเกจเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เหมาะสม คาดว่าจะใช้เวลาในการอบรมประมาณ 3 วัน ซึ่งอาจจะขอให้ผู้สูงวัยที่เข้าอบรมช่วยออกค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นค่าอาหารกลางวัน อาหารว่าง และค่าเอกสารคู่มือฝึกอบรม คาดว่าจะจัดได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารของชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน (ICT for All Club) ได้ที่ www.ictforall.org

 

หมายเลขบันทึก: 308830เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2009 10:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การเข้าถึงอินเตอร์เนตของคนสูงวัยเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
เป็นการคิดก้าวกระโดด เพราะคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนตเป็นโลกของเท็คโนโลยี่
ต้องมีทักษะในการสืบค้นและเท็คนิคการใช้งานใช้มือ
เกินความสามารถของคนสูงวัยถ้าไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้มาก่อน
คนสูงวัยจะต้องมีสายตา สติปํญญา ความอดทน ความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
โรคภัยไข้เจ็บที่ต้องนั่งนานๆ เพ่งสายตานานๆ
ที่สำคัญเครื่องคอมพิวเตอร์มีราคาแพงต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

ที่ควรทำก่อนคือหาหนังสือพิมพ์ให้คนสูงวัยอ่านฟรีดีกว่า
เพราะเป็นข้อมูลที่ใกล้ตัวและมีประโยชน์ที่เป็รรูปธรรมชัดเจนกว่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท