สะดุดใจที่ปลายฟ้าชายคาโลก


สะดุดใจที่ปลายฟ้าชายคาโลก

       จามรีขนข้องอยู่      หยุดปลด

    ชีพบ่รักรักยศ             ยิ่งไซร้

    สัตว์โลกซึ่งสมมติ       มีชาติ

    ดูเยี่ยงสัตว์นั้นได้        ยศซ้องสรรเสริญ

    

  โคลงโลกนิติบทนี้คือความคิดที่บังเกิดขึ้นในทันทีที่ได้สัมผัสความอ่อนนุ่มของขนจามรี และได้คำตอบว่าอย่างนี้นี่เองจามรีจึงรักขนของมันยิ่งนัก

   ระหว่างปิดภาคเรียนครูแป๊วได้ไปตามความฝันของตัวเอง  ที่อยากไปเยือนเทือกเขาหิมาลัยซึ่งคนอินเดียจินตนาการเป็นเขาพระสุเมรุ  ของแถมที่ได้รับคือการได้เห็นฝูงจามรีกำลังและเล็มหญ้าอยู่กลางทุ่งหญ้า  เป็นจามรีสีดำล้วนเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่มีขนสีขาวปะปน ถ้าอยากเห็นจามรีขนสีขาวปุกปุยทั้งตัวคงต้องไต่ขอบฟ้าขึ้นไปให้ถึงหลังคาโลก(ทิเบต)  แต่ครูแป๊วไปแค่ดินแดนชายคาโลกที่เรียกว่าทิเบตน้อย คือ เมืองจงเตี้ยน หรือ แชงกรีล่า จึงเห็นแต่จามรีสีดำทั่วไปหมด

   จามรี หรือ yak เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คล้ายวัว อยู่ในแถบภูเขาหิมาลัย  ที่ระดับสูงกว่า 3000 เมตร เป็นสัตว์เลี้ยงของชาวทิเบต มีขนหนานุ่ม อดทนต่อสภาพอากาศหนาว ทุกส่วนของจามรีใช้ประโยชน์ได้หมด  น้ำนมทำผลิตภัณฑ์จากนมต่าง ๆ เช่น เนย โยเกิร์ต ขนม เนื้อนำมาปรุงเป็นอาหารหลายชนิดทั้งอาหารสดอาหารแห้ง หนัง  ขนทำเครื่องนุ่งห่มนานาชนิด ส่วนเขาและกระดูกทำอาวุธ เครื่องประดับ หวี ของที่ระลึก

  ธรรมชาติของจามรีเป็นสัตว์ที่รักขนของมันมาก ถ้าขนยาว ๆ ของมันติดน้ำแข็ง มันจะไม่ยอมขยับไปไหนเพราะกลัวขนจะขาด ในโคลงโลกนิติข้างต้นจึงเปรียบจามรีรักขนกับคนที่รักเกียรติยศและศักดิ์ศรีของตนเอง

 

   กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ มีบทบรรยายกระบวนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ดังนี้

   สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์

เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์  ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม

  พู่ห้อยของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์นั้นทำจากขนหางของจามรีซึ่งเป็นขนส่วนที่สวยงามที่สุดและมีราคาแพงที่สุด

 

   นอกจากนี้พระแส้จามรีเป็นเครื่องราชูปโภค(เครื่องใช้ประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์) หนึ่งในเบญจราชกกุธภัณฑ์  พระแส้จามรีทำด้วยขนหางของจามรี ด้ามเป็นแก้ว (ต่อมาได้เปลี่ยนจากขนจามรีเป็นขนหางช้างเผือกแทน) ใช้คู่กับพัดวาลวิชนี ซึ่งประดิษฐ์จากใบตาล ด้ามเป็นทองลงยา

 

  จามรีจะยังรักขนของมันเหมือนเดิมหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะจามรีหลายตัวถูกเจ้าของกร้อนขนจนเกรียน มองดูเวลาที่ไร้ขน จามรีก็ไม่ต่างจากวัวบ้านเราเท่าใดหรอกค่ะ

หมายเลขบันทึก: 308590เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2009 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จามรี นี้มัน คล้ายๆ วัวใช่ไหมครับ

เเล้ว เอามาเลี้ยงบ้านเราได้ไหมครับ ?

ผมอยากเปิดร้าน สเต็กเนื้อ จามรี ตีตลาดอาหารไทยดู ~!!

สวัสดีจ้ะวิศรุต

จามรีนั้นคล้ายกับวัว ความต่างอยู่ที่ขนของมันอ่อนนุ่มและยาวมาก

มันเป็นสัตว์ประจำถิ่นที่ราบสูงที่มีความสูงเกิน 3000 เมตร อยู่ในภูมิอากาศที่หนาวเย็น

หากนำมาเลี้ยงที่เมืองไทยคงจะไม่เหมาะกระมัง เพราะบ้านเราร้อนมาก

สเต็กเนื้อจามรีคงไม่ไหวนะ คนชอบลองของแปลกมีไม่มาก

เสียดายที่ครูไม่ยอมชิมเนื้อจามรี กลิ่นสาบมันสุดยอดมาก ติดตรึงใจจริง ๆ

เนื้อจามรีนั้นชาวธิเบตทำเป็นอาหารหลายชนิด มีทั้งแฮม ไส้กรอก เนื้อตากแห้ง ที่คล้าย ๆ เนื้อสวรรค์ก็มี

ส่วนนมจามรีเขาทำเป็นนมพาสเจอร์ไลท์ เนย และเครื่องดื่มต่าง ๆ

หากมีโอกาสลองไปสัมผัสดินแดนชายคาโลกด้วยตนเองสักครั้ง รับรองว่าลืมไม่ลงเหมือนครูแป๊ว...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท