การจดทะเบียนการเกิด ภาคสอง


การแจ้งเกิด

การจดทะเบียนการเกิด (ต่อจากภาคแรก)

๔. การแจ้งการเกิดกรณีเด็กด้อยโอกาส 

ก. การแจ้งการเกิดกรณีเด็กแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาถูกทอดทิ้ง

        กฎหมาย

๑. พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

             มาตรา ๑๙  ผู้ใดพบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง ให้นำตัวเด็กไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งปฏิบัติงานในท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้แล้วให้บันทึกการรับตัวเด็กไว้ ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจรับเด็กไว้ให้นำตัวเด็กพร้อมบันทึกการรับตัวเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเขตท้องที่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้หรือได้รับตัวเด็กจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้ว ให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

             บันทึกการรับตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นสองฉบับและเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่ ผู้รับตัวเด็กหนึ่งฉบับ และส่งมอบให้กับนายทะเบียนผู้รับแจ้งหนึ่งฉบับ โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการบุคคลของผู้ที่พบเด็ก พฤติการณ์ สถานที่และวันเวลาที่พบเด็ก สภาพทางกายภาพโดยทั่วไปของเด็ก เอกสารที่ติดตัวมากับเด็ก และประวัติของเด็กเท่าที่ทราบ และในกรณีที่ไม่อาจทราบสัญชาติของเด็กให้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย

 

๒. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง พ.ศ. ๒๕๕๑

                ข้อ ๒  เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการเกิดเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง... ให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้งให้แก่ผู้แจ้งการเกิดตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งเรียกตรวจหลักฐานจากผู้แจ้งและสอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กที่แจ้งการเกิด ดังนี้

                (๑) พยานหลักฐาน ได้แก่

                     (ก) บันทึกการรับตัวเด็กที่จัดทำขึ้นโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งเป็นผู้รับตัวเด็กไว้ สำหรับเด็กแรกเกิดหรือเด็ก  ไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง

                     (ข) หลักฐานการรับตัวเด็กของหน่วยงานที่รับตัวเด็กไว้ดูแลหรืออุปการะ

                     (ค) รูปถ่ายของเด็กขนาด ๒ นิ้ว จำนวน ๒ รูป

                     (ง) หลักฐานทะเบียนราษฎรของผู้ปกครองของเด็ก (ถ้ามี)

                     (จ) หลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กทั้งพยานเอกสารและวัตถุพยาน (ถ้ามี) เช่น หนังสือรับรองการเกิดของสถานพยาบาล สำเนาทะเบียนนักเรียน จดหมาย รูปถ่ายของบุคคลในครอบครัว เป็นต้น

                (๒) พยานบุคคล ได้แก่

                     (ก) ผู้แจ้งการเกิด

                     (ข) เด็กที่ขอแจ้งการเกิดกรณีเด็กที่มีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์ขึ้นไป

                     (ค) บุพการี หรือผู้ปกครองของเด็ก (ถ้ามี)

                     (ง) ผู้รู้เห็นการเกิดของเด็กหรือสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการเกิดของเด็ก (ถ้ามี)

                     (จ) บุคคลที่เด็กเคยอาศัยอยู่หรือเคยทำงานด้วย (ถ้ามี)

 

        ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติ

        ○ เด็กที่จะแจ้งการเกิด ต้องมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ๗ ปี เว้นแต่เด็กที่ปราศจากความรู้ผิดรู้ชอบตามปรกติสามัญอันเนื่องมาจากพัฒนาการทางร่างกายของเด็กเทียบเท่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่าเจ็ดปี

       ○ ผู้แจ้ง  ได้แก่  เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่รับตัวเด็ก

       ○ ระยะเวลาการแจ้ง   กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้แต่ควรแจ้งภายใน  ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับตัวเด็ก

       ○ สำนักทะเบียนที่แจ้ง  สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่หน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ได้รับตัวเด็กนั้นไว้ตั้งอยู่

       ○ ขั้นตอนการแจ้ง

           ๑. ผู้แจ้งแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียน ได้แก่

              (๑) บัตรประจำตัวผู้แจ้ง

              (๒) สำเนาทะเบียนบ้านของสถานสงเคราะห์หรือสถานที่ที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นซึ่งรับตัวเด็กที่ขอแจ้งการเกิดไว้

              (๓) บันทึกการรับตัวเด็กซึ่งจัดทำโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ได้รับตัวเด็กจากผู้พบเด็ก

             (๔) หลักฐานการรับตัวเด็กของหน่วยงานที่รับตัวเด็กไว้

             (๕) รูปถ่ายของเด็ก ขนาด ๒ นิ้ว จำนวน ๒ รูป

             (๖) หลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กทั้งพยานเอกสารและวัตถุพยาน (ถ้ามี)     

          ๒. นายทะเบียน

             (๑) ตรวจความถูกต้องของหลักฐานที่ผู้แจ้งแสดง

             (๒) ตรวจสอบรายการบุคคลในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรว่ามีการแจ้งการเกิดและรายการบุคคลของเด็กที่ขอแจ้งการเกิดในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่

             (๓) สอบสวนผู้แจ้งและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติของเด็กและ บิดา มารดา

             (๔) ออกใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร.๑๐๐) ให้กับผู้แจ้งการเกิด

             (๕) ตรวจสอบความสมบูรณ์ของประเด็นการสอบสวนพยานบุคคล และรวบรวมหลักฐาน พร้อมเสนอความเห็นไปยังนายอำเภอท้องที่ ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการเกิดโดยให้สรุปความเห็นพร้อมระบุเหตุผลประกอบว่าเด็กที่ขอแจ้งการเกิดเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรหรือไม่ เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ได้สัญชาติไทย หรือไม่สามารถยืนยันสถานะการเกิดและสัญชาติของเด็ก  

             (๖) นายอำเภอต้องพิจารณาและแจ้งผลให้นายทะเบียนทราบภายใน ๓๐ วัน

             (๗) กรณีผลการพิจารณาระบุว่าเด็กที่แจ้งเกิดเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรและเป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้นายทะเบียนออกสูติบัตร ท.ร.๑ หรือ ท.ร.๒ แล้วแต่กรณีให้แก่ผู้แจ้ง โดยลงรายการเกี่ยวกับเด็ก บิดา และมารดา เท่าที่ทราบ

             (๘) ถ้าผลการพิจารณาระบุว่าเด็กที่แจ้งการเกิดเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้รับสัญชาติไทยให้ออกสูติบัตร ท.ร.๓  ให้แก่ผู้แจ้ง โดยลงรายการเกี่ยวกับเด็ก บิดาและมารดาเท่าที่ทราบ

             (๙) เพิ่มชื่อเด็กเข้าในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ หรือ ท.ร.๑๓ ของสถานสงเคราะห์แล้วแต่กรณี

            (๑๐) กรณีนายอำเภอแจ้งผลการพิจารณาว่าเด็กที่แจ้งการเกิดไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้รับสัญชาติไทย หรือไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กได้ ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนประวัติ (ท.ร. ๓๘ ก) ให้เด็กเป็นบุคคลประเภท 0 โดยใช้เลขที่บ้านของสถานสงเคราะห์

ข. การแจ้งการเกิดกรณีเด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง

        กฎหมาย

๑. พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

             มาตรา ๑๙/๑  เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้าเด็กยังไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ให้หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่หน่วยงานนั้นตั้งอยู่ และให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

๒. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง พ.ศ. ๒๕๕๑

             ข้อ ๒  เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการเกิด...เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง ให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้งให้แก่ผู้แจ้งการเกิดตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งเรียกตรวจหลักฐานจากผู้แจ้งและสอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กที่แจ้งการเกิด ดังนี้

                (๑) พยานหลักฐาน ได้แก่

                                               ฯลฯ

                     (ข) หลักฐานการรับตัวเด็กของหน่วยงานที่รับตัวเด็กไว้ดูแลหรืออุปการะ

                     (ค) รูปถ่ายของเด็กขนาด ๒ นิ้ว จำนวน ๒ รูป

                     (ง) หลักฐานทะเบียนราษฎรของผู้ปกครองของเด็ก (ถ้ามี)

                     (จ) หลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กทั้งพยานเอกสารและวัตถุพยาน (ถ้ามี) เช่น หนังสือรับรองการเกิดของสถานพยาบาล สำเนาทะเบียนนักเรียน จดหมาย รูปถ่ายของบุคคลในครอบครัว เป็นต้น

                (๒) พยานบุคคล ได้แก่

                     (ก) ผู้แจ้งการเกิด

                     (ข) เด็กที่ขอแจ้งการเกิดกรณีเด็กที่มีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์ขึ้นไป

                     (ค) บุพการี หรือผู้ปกครองของเด็ก (ถ้ามี)

                     (ง) ผู้รู้เห็นการเกิดของเด็กหรือสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการเกิดของเด็ก (ถ้ามี)

                     (จ) บุคคลที่เด็กเคยอาศัยอยู่หรือเคยทำงานด้วย (ถ้ามี)

          ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติ

        ○ เด็กที่จะแจ้งการเกิดต้องอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานที่สงเคราะห์เด็กและต้องมีอายุไม่เกิน ๑๘ ปี 

        ○ เด็กที่ไม่ปรากฏบุพการี หมายถึง เด็กที่ไม่สามารถสืบหาบิดามารดาหรือญาติทางสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป รวมถึงเด็กที่บิดามารดาเสียชีวิต

        ○ ผู้แจ้ง  ได้แก่ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่สงเคราะห์ ช่วยเหลือเด็กหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย โดยถ้าเป็นหน่วยงานสงเคราะห์ภาคเอกชนต้องเป็นหน่วยงานตามรายชื่อที่กระทรวง มหาดไทยประกาศ

         ระยะเวลาการแจ้ง  กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้แต่ควรแจ้งภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่รับตัวเด็กไว้อุปการะหรือสงเคราะห์

       ○ สำนักทะเบียนที่แจ้งการเกิด  สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่หน่วยงานที่อุปการะหรือสงเคราะห์เด็ก ตั้งอยู่

       ○ ขั้นตอนการแจ้ง

           ๑. ผู้แจ้งแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียน ได้แก่

               (๑) บัตรประจำตัวผู้แจ้ง

               (๒) สำเนาทะเบียนบ้านของหน่วยงานที่ให้การอุปการะหรือสงเคราะห์เด็ก

               (๓) หลักฐานการรับตัวเด็กของหน่วยงานที่ดูแลหรืออุปการะเด็ก

               (๔) รูปถ่ายของเด็กขนาด ๒ นิ้ว จำนวน ๒ รูป

               (๕) หนังสือมอบหมาย (ถ้ามี)

               (๖) หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กทั้งพยานเอกสารและวัตถุพยาน (ถ้ามี)

          ๒. นายทะเบียน

               (๑) ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานที่ผู้แจ้งแสดง

               (๒) ตรวจรายการบุคคลในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรว่ามีการแจ้งการเกิดและมีรายการบุคคลของเด็กที่ขอแจ้งการเกิดในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่

               (๓) สอบสวนผู้แจ้งและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติของเด็ก และบิดา มารดา

               (๔) ออกใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร.๑๐๐) ให้กับผู้แจ้งการเกิด

               (๕) ตรวจสอบความสมบูรณ์ของประเด็นการสอบสวนพยานบุคคล และรวบรวมหลักฐาน พร้อมเสนอความเห็นไปยังนายอำเภอท้องที่ ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการเกิดโดยให้ สรุปความเห็นพร้อมระบุเหตุผลประกอบว่าเด็กที่ขอแจ้ง การเกิดเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรหรือไม่ เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ได้สัญชาติไทย หรือไม่สามารถยืนยันสถานะการเกิดและสัญชาติของเด็ก  

              (๖) นายอำเภอต้องพิจารณาและแจ้งผลให้นายทะเบียนทราบภายใน ๓๐ วัน

              (๗) กรณีผลการพิจารณาระบุว่าเด็กที่แจ้งเกิดเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรและเป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้นายทะเบียนออกสูติบัตร ท.ร.๑ หรือ ท.ร.๒ แล้วแต่กรณีให้แก่ผู้แจ้ง  โดยลงรายการเกี่ยวกับเด็ก บิดาและมารดาเท่าที่ทราบ

              (๘) ถ้าผลการพิจารณาระบุว่าเด็กที่แจ้งการเกิดเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้รับสัญชาติไทยให้ออกสูติบัตร ท.ร.๓  ให้แก่ผู้แจ้งโดยลงรายการเกี่ยวกับเด็ก บิดาและมารดาเท่าที่ทราบ

              (๙) เพิ่มชื่อเด็กเข้าในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ หรือ ท.ร.๑๓ ของสถานสงเคราะห์แล้วแต่กรณี

             (๑๐) กรณีนายอำเภอแจ้งผลการพิจารณาว่าเด็กที่แจ้งการเกิดไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้รับสัญชาติไทย หรือไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กได้ ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนประวัติ (ท.ร.๓๘ ก)ให้เด็กเป็นบุคคลประเภท 0 โดยใช้เลขที่บ้านของหน่วยงานที่สงเคราะห์

             (๑๑) กรณีเด็กที่อยู่ในการสงเคราะห์หรืออุปการะของบุคคล หรือหน่วยงานเอกชนที่ไม่ปรากฏชื่อตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นยกคำร้องขอแจ้งการเกิด และแนะนำผู้ร้องให้ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกรณีเด็กอนาถา

 

คำสำคัญ (Tags): #การแจ้งเกิด
หมายเลขบันทึก: 308465เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2009 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท