ร่างกายทิ้งไว้ จิตต้องเอาไป


ร่างกายทิ้งไว้ จิตต้องเอาไป

 

 

ร่างกายทิ้งไว้ จิตต้องเอาไป

 

ให้นึกให้จำบ่อยๆ แล้วความรู้สึกความเป็นตัวเราของเรานั้นจะลดลง

ดินที่ ถมที่ เป็นอย่างไร ดินในร่างกายเราก็เป็นเช่นนั้น

อันเดียวกันเลยไม่ต่างกัน

ศพที่เขาเอาไปทิ้งในป่าช้า พอปล่อยไปนานๆ ก็แยกไม่ออกว่าอันไหนร่างกาย อันไหนดิน

เพราะธาตุดินเหมือนกัน คือสิ่งเดียวกันเลย

บุคคลใดโง่เขลาเบาปัญญา บำรุงบำเรอร่างกายซึ่งแท้จริงเป็นเพียงธาตุดินให้มาก

โดยไม่พัฒนาบำรุงจิตซึ่งอยู่กับเราจริงๆ

บุคคลนั้นเปรียบเหมือนคนโง่เหมือนกับว่า

"เฉือนเนื้อลูกตัวเอง ให้หมาข้างถนนกิน"

เพราะจิตเราต้องเอาไป แต่เราไม่ใส่ใจ

ไปใส่ใจร่างกาย ซึ่งต้องทิ้งไว้ในโลกนี้

เมื่อมีความเกิด ย่อมมีความตายอย่างแน่นอน

ร่างกายเป็นต้นเหตุแห่งความตาย

ไม่สามารถหนีความตายไปได้เลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

จะลึกถึงก้นมหาสมุทร หรืออยู่ในหุบเขา หรือบนท้องฟ้า

หากมีร้างกายแล้ว ย่อมหนีความตาย ย่อมหนีพยามัจจุราชไม่พ้นเลย

รูปร่างหน้าตาที่เราเห็นในกระจกตั้งแต่เด็กจนโตไม่ใช่เรา

แท้จริงแล้วเป็นดิน เท่านั้น

คนเราเกิดมานี่ มายืมอาศัยร่างกายคือธาตุดินเพื่อมาเกิดในภูมิมนุษย์

เหมือนเช่นกินข้าวต้องอาศัยช้อนทานอาหาร พอหยุดกินก็วาง เรียกว่าอาศัยกินอาหารเท่านั้น

คนเราเกิดมาก็อาศัยดิน เพื่อมาเกิดเพื่อยืมปั้นเป็นตัวบุคคลเราเขาเท่านั้น

"ร่างกายทิ้งไว้ จิตต้องเอาไป"

ร่างกายเอาไปไหนไม่ได้เลย ต้องทิ้งเพียงอย่างเดียว

ถ้าเราเข้าใจว่าร่างกายเป็นของสำคัญยิ่ง ร่างกายต้องการอย่างไร ไม่ว่าจะผิดศีลผิดทำ ก็จะหามาให้

มาปรนเปรอ ร่างกายนี้อย่างไม่ลืมหูลืมตา แม้จะบาปแค่ไหน

เรียกได้ว่า

"ยอมทำร้ายตัวเอง เพื่อบุคคลอื่น"

"ยอมฆ่าลูกตัวเอง เพื่อเอาเนื้อไปเลี้ยงหมาข้างถนน"

อย่างนี้ เรียกได้ว่า

"เข้าใจผิดอย่างแรง ทำเรื่องโง่ขนาดไหน"

ร่างกายนี้ไม่ได้เอามาไม่ได้เอาไป เพียงแค่เรายืมโลกเท่านั้น

แต่จิตต่างหาก

เมื่อเราทำดีมาก เมื่อเราตายไป จิตก็ไปที่สูง

เมื่อเราทำชั่วมาก แบกบาปแบกกรรมไว้ที่จิต

เมื่อตายไป จิตก็ตกต่ำ ไปเกิดในนรกบ้าง เปรตบ้าง อสูรกายบ้าง สัตว์ต่างๆบ้าง

ดังนั้น

ผู้มีปัญญาทั้งหลาย ย่อมสำรวมในศีล

ย่อมฉลาดคิดว่า

"ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด (อารมณ์พระโสดาบัน)"

เนื่องจากมีญาณปัญญาเห็นแจ้งแล้ว

"ไม่ยอมเห็นบุคคลภายนอก ดีกว่าตัวเรา"

"ไม่ยอมเฉือนเนื้อลูกตนเอง ให้หมาข้างถนนกิน"

ฉะนั้น ต้องจำไว้ว่า

"ร่างกายต้องทิ้งไว้ จิตต้องเอาไป"

เปรียบอีกอย่างคือ

เหมือนเราจะไปต่างประเทศ มีกระเป๋าเดินทางอยู่สองใบ

เราพยายามเอาเสื้อผ้า สิ่งของ เงินทอง ยัดเข้าไปในกระเป๋าที่เราจะไม่เอาไป

ส่วนกระเป๋าที่เราจะเอาไปต่างประเทศด้วยไม่ใส่อะไรไปเลย

เมื่อไปเมืองนอกแล้ว เปิดออกมา ก็เจอกระเป๋าเปล่า

เงินก็ไม่มีใช้ เสื้อผ้าก็ไม่มีใส่ ของก็ไม่มีติดตัว

"บุคคลใดที่ยอมผิดศีลผิดธรรมเพื่อร่างกาย

เหมือนกับคนที่ไม่มีปัญญา เอาเงินทอง เสื้อผ้า

ไปใส่ในกระเป๋าที่จะไม่เอาไป มันโง่ขนาดไหนล่ะ"

อย่าผิดศีลเพื่อไปบำรุงบำเรอร่างกาย

เมื่อเห็นชัดดังนี้แล้ว จะมีความแก่กล้าในศีลมาก

มีศีลอันมั่นคง ยอมตายดีกว่าศีลขาด

สุดท้ายร่างกายเมื่อเผาแล้ว อย่างมากที่สุด มันก็เหลือเพียง

"ขี้เถ้ากองเดียว มันก็คือ ดินนั่นเอง"

เมื่อร่างกายเหลือได้แค่ขี้เถ้าแล้ว

ของนอกกายมันก็จะเหลืออะไร?

สุดท้ายขอให้ทุกคนนึกเสมอไว้เป็นปัญญาติดใจว่า

"ร่างกายต้องทิ้งไว้ จิตต้องเอาไป"

"ร่างกายต้องทิ้งไว้ จิตต้องเอาไป"

"ร่างกายต้องทิ้งไว้ จิตต้องเอาไป"

 

 

 

 อะจีรัง วะตะยัง กาโย ปะฐะวิง อะธิเสสสะติ ฉุฑโฑ

อะเปตะวิญญาโณ นิรัตถังวะ กะลิงคะรัง

 ร่างกายนี้ ไม่ช้าก็มีวิญญาณไป ปราศจากวิญญาณแล้ว

ร่างกายก็ถูกทอดทิ้งเหมือนกับท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์

สาธุ สาธุ สาธุ

บุญกุศลอันเกิดจากธรรมทานนี้ หากพอมี ขออุทิศให้พ่อและแม่

และผู้มีพระคุณทั้งหลายที่ปกปักรักษาข้าพเจ้า เจ้ากรรมนายเวร

และเป็นปัจจัยเพื่อพระนิพพานในอนาคตกาลอันใกล้นี้ด้วยเทอญ

 

หมายเลขบันทึก: 307528เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2009 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขออนุโมทนาด้วยนะคะ..ชีวิตคนเราก็ธรรมดาเช่นนี้เอง...หากเราไม่ยึดติดกับสิ่งใดเราก็จะไม่ทุกข์..หากเราสละทุกอย่างได้..เราก็จะไม่กังวลกับสิ่งใด..จิตที่บริสุทธิ์ย่อมนำสุขมาให้...

สวัสดีค่ะ

เอ...เราจะเอาจิตไปได้ด้วยหรือคะ เข้าใจว่าจิตนี้เป็นอนัตตา ไม่ได้เป็นของเราเสียอีก

อีกอย่าง เข้าใจว่า จิตเกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ชวนจิตดวงสุดท้ายก็ไม่น่าจะใช่ดวงเดียวกับที่ไปเกิดใหม่มังคะ

กลับมาอีกครั้งค่ะ

นึกขึ้นได้

ว่าลืมอนุโมทนากับเจตนาอันเป็นกุศลค่ะ

ตนเอง ก็คือ ธาตุรู้ หรือ จิต เป็น อัตตา ตัวตน

ส่วนอารมณ์ นั้น ไม่ใช่ตัวตน เป็น อนัตตา

"ขอเพิ่มเติมค่ะถูกผิดประการใดก็ขออภัยค่ะ"

จิตคือตน แต่หลงผิดไปยึดอารมณ์เป็นอัตตาตัวตนของตน

จิต คือ ตน

เนื่องจาก สามัญสัตว์โลกไม่ได้รับการอบรมศึกษา

ทำให้จิตรู้จักอารมณ์ผิดจากความเป็นจริง (อวิชชา)

ดังนั้น เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ก็เกิดความพอใจยินดีในอารมณ์ (ตัณหา)

และยึดติดคิดหวังจะเอามาครอบครองไว้(อุปาทาน)

ด้วยอำนาจอวิชชา-ตัณหา-อุปาทาน ดังกล่าวนี้

เป็นเหตุให้จิตจมติดอยู่ในโลก(อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์)

โดยไม่รู้จักตนเอง(จิต) ซึ่งยืนตัวเป็นประธานอยู่ด้วยทุกขณะ

และไม่รู้จักตนเองว่า มีสภาพเดิมอันประภัสสรผ่องใส

ทำให้กลับไปยึดเอาอารมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นของภายนอกเข้ามา

ด้วยความสำคัญผิดว่า อารมณ์มีสภาพเที่ยงแท้ถาวร

และยึดว่า อารมณ์ เป็น อัตตาตัวตนของตนเอง

ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว

ตนเอง ก็คือ ธาตุรู้ หรือ จิต เป็น อัตตา ตัวตน

ส่วนอารมณ์ นั้น ไม่ใช่ตัวตน เป็น อนัตตา

มีพระบาลีในบัณฑิตวรรคแห่งพระธรรมบท กล่าวไว้ชัดเจนว่า

ปริโยท เปยฺย อตฺตานํ, จิตฺตกิเลเสหิ ปณฺฑิโต

แปลว่า

บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต ให้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส

ซึ่งแสดงชัดเจนว่า ตน คือ จิต และ จิต ก็คือ ตน อย่างไม่มีปัญหา.

อารมณ์เป็นสภาพธรรมที่จิตหลงยึดเป็นตนเอง

อารมณ์เป็นสภาพธรรมที่จิตหลงยึดถือเอาเข้ามาเป็นสมบัติของตนเองด้วยความสำคัญผิด

เพราะความจริงนั้นอารมณ์เป็นเพียงเงา และความรู้สึกที่มีต่อวัตถุหรือสิ่งที่อาศัยวัตถุเกิดขึ้นทั้งนั้น

ล้วนแล้วแต่เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ รวม ๔ ธาตุทั้งสิ้น

ซึ่งไม่สามารถดำรงอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป ต้องเสื่อมสลายแตกดับไปเป็นธรรมดาทุกอารมณ์

อารมณ์ดังกล่าวนี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย รวม ๕ ทาง

ซึ่งจะเข้าสู่จิตทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียงคู่กันตามลำดับ

เมื่อจิตรับรู้อารมณ์ทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้ว ก็จดจำอารมณ์นั้นๆไว้

แล้วก็นึกน้อมขึ้นมารับรู้อีก โดยไม่ต้องอาศัยอารมณ์ทั้ง ๕ อีกก็ได้

เป็นอารมณ์ที่เกิดจากความนึกคิดที่เก็บไว้ทางใจอีกทางหนึ่ง (ธรรมารมณ์) รวมเป็น ๖ ทาง

อารมณ์ทั้ง ๖ ดังกล่าว คือ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย ความนึกคิดทางใจ

จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปสู่จิตทีละอารมณ์ ตลอดเวลาที่ตื่นนอน

รวมทั้งในขณะนอนฝันด้วย สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์ชนิดใด

ครั้งละเพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น

เมื่อ อารมณ์ ดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นเมื่อใด

จิต ก็จะแล่นออกไปรับรู้อารมณ์ตามช่องทางที่เข้ามา

กลายเป็น จิต ผสมกับ อารมณ์ เมื่อนั้น ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านหวั่นไหว

ครั้นอารมณ์ดังกล่าวนี้ดับไป ความรู้สึกฟุ้งซ่านหวั่นไหว ก็ย่อมสงบลงชั่วขณะ

จิตก็จะดิ้นรนแสวงหาอารมณ์อันอื่นเพื่อจะได้รับรู้ต่อไปอีก

สุดแต่ว่าจะได้อารมณ์ที่พอใจมาทางใด

เมื่อรับรู้อารมณ์ใหม่ก็เกิดความรู้สึกฟุ้งซ่านหวั่นไหวในลักษณะใหม่ด้วย.

อารมณ์เหล่านี้ จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาปรุงแต่งจิตตลอดเวลาโดยไม่มีที่สิ้นสุด

ทั้งนี้เป็นเพราะจิตไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง

จึงหลงยึดเอาอารมณ์ซึ่งไม่เที่ยงไว้ โดยเข้าใจผิดว่าเที่ยงและมีแก่นสาร

เนื่องจากไม่รู้จักตนเองที่แท้จริง

จิตผสมกับอารมณ์

จิตเมื่อผสมกับอารมณ์ แบ่งเป็นจิต ๓ จำพวกคือ

๑.กามาพจรจิต เกิดขึ้นจากจิตท่องเที่ยวไปในอารมณ์ที่น่ารักน่าปรารถนา

โดยออกไปรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส รวม ๕ ทาง.

๒.รูปาพจรจิต เกิดขึ้นจากจิตปรารภถึง รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย

เป็นอารมณ์ทางใจ(ธรรมารมณ์)ที่ปราศจากกาม เป็นรูปฌาน (เพ่งรูปเป็นอารมณ์).

๓.อรูปาพจรจิต เกิดขึ้นจากจิตที่เพิกออกจากอารมณ์ทางใจที่ปราศจากกามดังกล่าว

ข้างต้น เป็น อรูปฌาน (เพ่งนามเป็นอารมณ์).

จิตเมื่อผสมกับอารมณ์แล้ว ก็ย่อมยึดถือไว้ และถูกครอบงำปรุงแต่งให้หวั่นไหว

แล้วแสดงอาการยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง ตามชนิดของอารมณ์

ซึ่งเป็น อาการของจิตที่แสดงออกมาเนื่องด้วยอารมณ์

อาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ (นามขันธ์ ๔)

๑.เวทนา ความรู้รสชาติแห่งอารมณ์

จัดเป็น ๓ ประเภทตามชนิดของอารมณ์ที่มากระทบ คือ

สุขเวทนา อารมณ์ที่น่ารักใคร่น่าปรารถนา(อิฏฐารมณ์)

ทุกขเวทนา อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ(อนิฏฐารมณ์)

อทุกขมสุขเวทนา อารมณ์ที่ปรุงแต่งจิตให้มีอารมณ์เฉยๆ(มัชฌัตตารมณ์)

๒.สัญญา ความจดจำอารมณ์

แบ่งเป็น ๖ ประเภทตามชนิดของอารมณ์ที่มากระทบ คือ

รูป(รูปสัญญา) เสียง(สัททสัญญา) กลิ่น(คันธสัญญา) รส(รสสัญญา)

กายสัมผัส(โผฏฐัพพสัญญา) ความนึกคิดทางใจ(ธัมมสัญญา)

๓.สังขาร ความนึกคิดถึงอารมณ์

จัดเป็น ๓ ประเภทตามอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้น คือ

คิดดี เป็น กุศลเจตสิก

คิดไม่ดี เป็น อกุศลเจตสิก

คิดไม่ใช่ดีไม่ใช่ชั่ว เป็น อัญญสมานาเจตสิก

๔.วิญญาณ ความรับรู้อารมณ์ที่เข้ามากระทบ

แบ่งเป็น ๖ ช่องทาง ตามช่องทางที่รับรู้อารมณ์ คือ

จักขุวิญญาณ รับรู้อารมณ์ ทางตา

โสตวิญญาณ รับรู้อารมณ์ ทางหู

ฆานวิญญาณ รับรู้อารมณ์ ทางจมูก

ชิวหาวิญญาณ รับรู้อารมณ์ ทางลิ้น

กายวิญญาณ รับรู้อารมณ์ ทางกาย

มโนวิญญาณ รับรู้อารมณ์ ทางใจ ....เหล่านี้

จิตผู้รู้ชั้น“พุทโธ” ทรงเป็นผู้ปฏิเสธว่า

อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) คือ

๑.อารมณ์ต่างๆ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย

รวม ๕ ประการเหล่านี้นั้น จัดเป็นรูปขันธ์...ว่าเป็นอนัตตา

๒.จิตแสดงอาการยึดถือครอบครองอารมณ์ไว้ ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร

๔ ประการ คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณซึ่งจัดเป็นนามขันธ์ ๔...

ว่าเป็นอนัตตาเช่นเดียวกัน

รูปขันธ์ ๑ และ นามขันธ์ ๔ เรียกรวมกันว่าเป็น ขันธ์๕ หรือเรียกว่า รูปนาม ก็ได้

เมื่อยังไม่มีอารมณ์มากระทบจิต

ขันธ์ ๕ หรือ รูปนาม ก็ยังไม่เกิดขึ้น

เราเรียกจิตขณะนี้ว่า จิตตกภวังค์ คือ ยังไม่ได้ขึ้นสู่วิถีที่จะรับอารมณ์

หรือเรียกว่า จิตประภัสสร ก็ได้

แต่ถ้าจิตขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์เมื่อใด ความประภัสสรก็ย่อมหายไป

ขันธ์ ๕ หรือ รูปนาม ก็เกิดขึ้น

มีพุทธพจน์ในอนัตตลักขณสูตร ซึ่งทรงโปรดพระปัญจวัคคีย์เกี่ยวกับขันธ์ ๕

(รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ดังนี้

รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ตัวตน

ทรงใช้เหตุผลอธิบายว่า

ถ้ารูปใช่ตัวตนแล้ว รูปก็ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย

สัตว์ย่อมหวังในรูปได้ว่า ขอรูปจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

แต่เพราะสัตว์ไม่อาจหวังในรูปได้ รูปจึงไม่ใช่ตัวตน.

และในทำนองเดียวกัน ทรงตรัสถึง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ซึ่งเป็นอาการของจิตที่เกิดขึ้นเมื่อมีอารมณ์มากระทบว่า ก็ไม่ใช่ตัวตน และทรงสรุปว่า

เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เมโส อตฺตาติ,เอวเมตํ ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญาย ทฏฺฐพฺพํ

แปลว่า

บุคคลพึงเห็นสิ่งนั้น(ขันธ์ ๕) ว่านั่นไม่ใช่เรา เราไม่เป็นนั่นเป็นนี่

นั่นไม่ใช่ตนของเรา ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง ดังนี้

ในตอนท้ายพระสูตรตรัสว่า

จิตของพระปัญจวัคคีย์ ได้หลุดพ้นจากอาสวะกิเลส อันเป็นเหตุยึดถือในขันธ์ ๕

ซึ่งแสดงว่า

จิตเป็นผู้ปฏิเสธรูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ ว่านั่นไม่ใช่สภาพเดิมของจิต

แต่เพราะถูกอารมณ์ปรุงแต่งทำให้เสียสภาพเดิมไป.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท