ลักคณา พบร่มเย็น
อาจารย์ ลักคณา ลักคณา พบร่มเย็น พบร่มเย็น

ความเป็นมาของกรรมสิทธิ์ตามความหมายของ Garard


ความเป็นมาของกรรมสิทธิ์ตามความหมายของ Garard

ความเป็นมาของกรรมสิทธิ์ตามความหมายของ Girard[1] 

-------------------------------------------------

สมัยก่อนยุคสร้างกฎหมาย 12 โต๊ะหรือแผ่น[2]

-------------------------------------------------

          Girard ให้ความเห็นว่า กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในที่ดินรู้จักกันในปัจจุบัน ย่อมไม่สามารถมีขึ้นได้ในหมู่ประชากรที่ใช้ชีวิตเร่ร่อน  และหาเลี้ยงชีพโดยการล่าสัตว์ หรือเลี้ยงสัตว์ และ มิได้ทำการเพาะปลูก  กรรมสิทธิ์อย่างเดียวในที่ดินที่ประชากรดังกล่าวอาจจะมีได้ก็น่าจะเป็นกรรมสิทธิ์รวมของชุมชนเหนือบริเวณล่าสัตว์หรือ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ซึ่งกลุ่มของตนถือว่าสงวนไว้เฉพาะสมาชิกโดยแยกจากกลุ่มอื่น อย่างไรก็ดีกรรมสิทธิรวม (propriete commune) ที่ว่านี้ไม่มีเสถียรภาพแน่นอน ทั้งนี้ เพราะว่าชีวิตเร่ร่อนทำให้คนกลุ่มนี้ต้องเคลื่อนไหวอยู่บ่อยครั้ง

          ตรงกันข้ามสำหรับประชากรที่ทำเกษตรกรรมดังที่ปรากฏที่โรมในขณะที่มีการต่อตั้งนครโรมขึ้นนั้น อกจากจะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนบุคคลแล้ว ยังมีกรรมสิทธิ์ของกลุ่มใหญ่คือ เผ่า (tribu) สกุล (clan) และหมู่บ้าน และกลุ่มเล็กคือ ครอบครัว Girard  อ้างว่าตัวอย่างที่เป็นแบบฉบับแรกของกรรมสิทธิก็คือ ชุมชนในหมู่บ้านรัสเซีย อันเป็นที่ซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ส่วนบุคคลจำกัดวงอยู่เฉพาะบริเวณแคบ ๆ ที่หัวหน้าครอบครัวมีบ้านและสวนผลไม้ของตนอยู่ ในกรณีดังกล่าวนอกเหนือจากทุ่งหญ้า และทุ่งเลี้ยงสัตว์ร่วมแล้วยังมีที่สำหรับการเพาะปลูก ซึ่งเป็นของชุมชนและมีการแบ่งปันกันตามส่วนของประชากรโดยการจับฉลากกันในกลุ่มของหัวหน้าครอบครัว     

       Girard  เห็นว่าในกลุ่มคนเยอรมันในสมัยกลางมีที่ดินชายแดนที่ดินซาลิก (salzgut) เท่านั้นที่อยู่ในกรรมสิทธิ์เอกชนส่วนทุ่งหญัาเลี้ยงสัตว์และป่าไม้ให้ร่วมกันและที่ดินที่ทำการเพาะปลูกได้ก็จะแบ่งปันกันออกไปและจับฉลากกันใช้ Girard  ไม่แน่ใจว่าข้อมูลเหล่านี้แสดงถึงก้าวของวิวัฒนาการของกรรมสิทธิ์หรือเป็นข้อมูลกระจัดกระจายเท่านั้น

          Girard เห็นว่าอีกรูปแบบหนึ่งของกรรมสิทธิ์ คือ กรรมสิทธิ์ของครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างกรรมสิทธิ์รวมของครอบครัวกับกรรมสิทธิ์ของชุมชนก็ไม่ชัดเจน และกรรมสิทธิ์แบบใดมาก่อนมาหลังก็ไม่ชัดเจนเช่นเดียวกัน Girard ยกตัวอย่างชาวเซอร์บซาดรูยา (zadrouga)ซึ่งมักจะมีครอบครัวใหญ่ทำงานช่วยกันบนทรัพย์รวมของครอบครัว โดยมิได้มีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับว่าสิทธิของสมาชิกครอบครัวแต่ละคน และการแบ่งปันที่ดินดังกล่าวก่อนหรือหลัง การเสียชีวิตของหัวหน้าครอบครัวจะเป็นเช่นไร

          Girard ยืนยันว่ากฎหมายโรมันสมัยเริ่มแรกยอมรับกรรมสิทธิ์ ทั้ง 2 แบบ คือ กรรมสิทธิ์รวมของครอบครัว ซึ่งถ้าวิเคราะห์ในลักษณะพื้นฐานแล้วมีอยู่ตลอดเวลา และกรรมสิทธิ์ของชุมชน ซึ่งอาจจะยกเลิกไปในระยะแรกๆ ของวิวัฒนาการของกฎหมาย โรมัน ก็ได้

          Girard ย้ำว่าความคิดในเรื่องกรรมสิทธิ์ของครอบครัวซึ่งได้ทิ้งร่องรอยไว้ในภาษาละตินและสถาบันโรมัน (dominium จาก dominus เจ้าของบ้าน และ heredes sui ทายาทแห่งตน) เป็นสิ่งเดียวที่สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดระบบการรับมรดกโดยไม่มีพินัยกรรม  โรมัน จึงเป็นเช่นนั้นไม่เคยหายไปจากกฎหมายโรมันและแม้นักกฎหมายยุคทอง ได้ยืนยันความจริงข้อที่ว่าความคิดเรื่องกรรมสิทธิรวมของครอบครัวไม่เห็นชัดเจนก็เพราะถูกข่มราศี (obscurcie) โดยสิทธิของทายาทที่จะขอแบ่งทรัพย์สินเมื่อหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิตลงได้ นอกจากนี้ความคิดนี้ลดระดับไปเป็นนามธรรมเพราะแดนอำนาจของหัวหน้าครอบครัวโรมันถ้าของทั้ง 2 สิ่งนี้ไม่มีปรากฏแล้ว domus (บ้าน) ย่อมเป็นตัวอย่างของกรรมสิทธิ์ของครอบครัวชัดเจนเท่ากับในกฎหมายเซอร์บ หรือฮินดู อย่างแน่นอน

          นอกจากกรรมสิทธิ์ของกลุ่มที่แคบ (groupe restreint) ดังกล่าวแล้ว Girard  ยืนยันว่ากฎหมายโรมันยังยอมรับกรรมสิทธิ์รวม (propriete collective) ในที่ดินของประชากรโรมันทั้งหมด หรือกลุ่มย่อยแบบใดแบบหนึ่ง หลังจากการก่อตั้งกรุงโรมแล้วมีขั้นตอนหนึ่งซึ่งเหมือนกับหมู่บ้านรัซเซียหรือเยอรมัน (ที่กล่าวมาแล้ว) ที่ราษฎรโรมันอาจมีกรรมสิทธิ์เฉพาะบริเวณแคบๆ ที่เป็นที่ดินของบ้านและสวนผลไม้ของตน ส่วนที่ดินที่เหลือนั้นเอกชนไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ได้ จากการพิจารณาที่ผ่านมา Girard ถึงข้อยุติว่า   เหนือสิ่งอื่นใดตามจารีตซึ่งมีในสมัยดึกดำบรรพ์ที่สุด หัวหน้าครอบครัวแต่ละคนต่างมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของตน (heredium) เฉพาะในที่ดินประมาณครึ่งเฮคตาร์ อันเป็นที่ดินแปลงเล็กเกินไปจนไม่อาจพอเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ที่ดินแปลงย่อยนี้พอเทียบเคียงได้กับที่ดินของเกษตรกรรัซเซียและเซเลียน ซึ่งเคยอยู่ในฮอลแลนด์ โดยเหตุนี้หัวหน้าครอบครัวดังกล่าวยังต้องอาศัยไม่แค่เพียงป่าไม้และทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะเท่านั้นแต่เลยไปถึงที่เพาะปลูกร่วมกันอีกด้วย

          ฉะนั้น ตามข้อยุติสำคัญของ Girard  ในบริเวณข้างเคียงกับเนื้อที่เฉพาะของหัวหน้าครอบครัวแต่ละคน คือ ข้างบ้าน (domus) ของตนน่าจะมีที่ดินสำหรับใช้ร่วมกันในหมู่คณะที่ใหญ่กว่าครัวเรือน เช่น ประชากรทั้งหมดหรืออาจจะเป็นสกุล (gens) ก็ได้ กลุ่มดังกล่าวแต่เดิมน่าจะผูกพันอยู่กับสถานที่แห่งหนึ่งคล้ายกับหมู่บ้านรัซเซีย หรือ เยอรมันที่กล่าวมาแล้ว ที่โรมก็มีชุมชนโบราณ (organisation primitive) อันใกล้เคียงกับ หมู่บ้านรัซเซีย หรือบริเวณชายแดนเยอรมันโบราณ (marche germaine) อย่างไรก็ดี กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเข้ามาแทนที่กรรมสิทธิ์รวมเช่นนี้เมื่อใด Girardไม่สามารถยืนยันได้ เขาเห็นว่าถ้าเรายอมรับฤษฎีที่ว่าเผ่าโรมันซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินรวมเฉพาะที่ดินซึ่งเอกชนยังมีกรรมสิทธิ์ได้ และถ้าเราเห็นว่าคนเมืองโรมัน 4 เผ่ามีที่ดินเดิมของหัวหน้าครอบครัว (heredia) อันมอบให้กับราษฎรอันดับแรก การแปรสภาพของที่ดินเพื่อทำการเพาะปลูกของสกุลต่าง ๆ (gentes) ให้เป็นที่ดินเอกชนเกี่ยวข้องกับการที่มีการก่อตั้งเผ่าโรมันชนบทอันดับแรก 16 เผ่าด้วยกันโดยเรียกกันว่าสกุล (gentes) โดยมีผู้เข้าใจกันว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 257 ก่อนคริสตกาล แต่อาจจะก่อนหน้านั้นก็ได้ Girard) ยืนยันว่าการเกิดที่ดินเอกชนดังกล่าวเสร็จสิ้นลงแล้วในสมัยกฎหมาย 12 โต๊ะหรือแผ่น ซึ่งนำเอาการครอบครองปรปักษ์มาไม่ใช้กับเฉพาะที่ดินของหัวหน้าครอบครัว (heredium) เท่านั้น แต่กับที่ดินทั่วไป (fundus) ด้วย

----------------------------------------------

ยุคสมัยกฎหมาย 12 โต๊ะหรือแผ่นเป็นต้นมา

-----------------------------------------------

          นับแต่มีกฎหมาย 12 ตัวหรือแผ่น (ปี 451-450 ก่อนคริสตกาล) เป็นต้นมา  กรรมสิทธิ์โรมันเป็นกรรมสิทธิส่วนบุคคลไม่ว่าจะเหนือสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ตาม อย่างไรก็ดีกรรมสิทธิ์โรมันมิได้เหมือนกรรมสิทธิ์ปัจจุบัน ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนมีได้ในทรัพย์สินทุกประเภทและโอนให้แก่กันได้ตามเจตนา กรรมสิทธิ์โรมันเป็นสิ่งที่กฎหมายเอกชนโรมันจัดตั้งขึ้น เหมือนกับอำนาจของหัวหน้าครอบครัว.(patria potestas) การสมรส (matrimonium) และการอนุบาล (tutela) โดยเหตุนี้กรรมสิทธิ์เป็นของราษฎรโรมันใช้กับทรัพย์สินโรมัน และโอนให้แก่กันได้โดยพิธีการโรมันเท่านั้น ลักษณะทั้ง 3 นี้ Girard เห็นสมควรขยายความ

1.  กรรมสิทธิ์โรมันใช้กับราษฎรโรมันเท่านั้น

          คนต่างด้าวซึ่งไม่มีสภาพบุคคลไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ได้ อย่างไรก็ดี ในระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งโรมมีสนธิสัญญาอันเปิดโอกาสให้คนต่างด้าว คือ พวกละตินมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่โรม (ius commercii) ได้แต่การผ่อนผันเช่นนี้มิได้แผ่ขยายไปถึงสนธิสัญญาทุกฉบับ หรือประชาชนที่แพ้สงครามกับคนโรมัน คนต่างด้าว (pérégrins) ที่มิได้ตกเป็นทาสและมีทรัพย์สินอยู่บ้าง ไม่อาจมีกรรมสิทธิ์โรมันเหนือทรัพย์สินของตนได้ จึงไม่อาจใช้มาตรการติดตามทรัพย์สินคืนมาตามหลักกฎหมายเอกชนโรมัน (ที่กล่าวมาแล้วข้างบน) กรรมสิทธิ์ของคนต่างด้าวเรียกกันสั้นๆ ว่า dominium (ผู้วิจารณ์กฎหมายโรมัน คือ commentators เรียกกรรมสิทธิ์ดังกล่าวว่า dominium ex iure gentium) อันต่างจาก dominium ex iure quiritium ของคนโรมัน

          Girard เชื่อว่าในภายหลังมีวิธีการปกป้องกรรมสิทธิ์แบบนี้โดยเฉพาะแต่ไม่มีใครทราบว่าวิธีการดังกล่าวเป็นอย่างไร แต่เขาเห็นว่านับแต่สมัยของการใช้ระบบสรุปคำฟ้อง (procedure fomulaire) เป็นต้นมา มาตรการดังกล่าวนี้มีประสิทธิผลไม่น้อยกว่ามาตรการของกฎหมายเอกชนโรมัน แต่ต่อมาภายใต้วิธีพิจารณาความแพ่งพิเศษ (systeme extraordinaire) (ซึ่งผู้บริหารทำหน้าที่ตัดสินความแทนที่ผู้พิพากษาซึ่งทำหน้าที่ในระบบสรุปคำฟ้อง) มาตรการปกป้องกรรมสิทธิ์ต่างด้าวปะปนกับมาตรการปกป้องกรรมสิทธิ์โรมัน และหมดความสำคัญไปในภายหลังเมื่อสภาพคนต่างด้าวเกือบหมดไปใน จักรวรรดิโรมัน (เพราะการให้สัญชาติโรมันแก่คนในจักรวรรดิมากมาย)

2. กรรมสิทธิ์โรมันใช้ได้กับทรัพย์โรมันอันเป็นวัตถุอย่างเดียวของกรรมสิทธิ์โรมัน

          ทรัพย์ซึ่งเข้าข่ายนี้ก็มีทรัพย์ในมือข้าศึกเช่นเดียวกับทรัพย์ซึ่งโอนได้ง่าย (res nec mancipi) (โดยเฉพาะในสมัยโบราณอสังหาริมทรัพย์อันยึดมาได้จากข้าศึกก็ไม่เข้าข่ายนี้) แต่สังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความสำคัญน้อยกว่าอาจเป็นทรัพย์โรมันได้ถ้าตกมาเป็นของคนโรมัน ส่วนที่ดินต่างด้าวแม้จะถูกยึดโดยคนโรมันก็ไม่อาจมีสภาพเป็นทรัพย์โรมันได้  โรมได้ขยายขอบข่ายของทรัพย์โรมันให้กับที่ดินในอิตาลีทั้งหมด แต่มิได้ขยายไปถึงที่ดินชั้นนอก (des provinces) คือ นอกอิตาลีการขยายสิทธิดังกล่าวได้สะดุดหยุดลงหลังจากมีการลังเลใจอยู่พักหนึ่งเมื่อพ้นสมัยประชาธิปไตยไปแล้ว ทั้งนี้ อกชนมีกรรมสิทธิ์ไม่ได้เพราะรัฐโรมันเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ดินเหล่านี้แต่เพียงผู้เดียว แต่ปล่อยให้คนพื้นเมืองและผู้สืบสิทธิครอบครองและใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ซึ่งรัฐมิได้ยึดมา โดยที่รัฐโรมันสงวนไว้ซึ่งสิทธิในการเวนคืนเพื่อสาธารณประโยชน์ (domaine eminent) เมื่อใดก็ได้

          ที่ดินชั้นนอก (fonds provinciaux) ดังกล่าวจะแตกต่างจากที่ดินในอิตาลี (fonds italiques) ในแง่กฎหมายมหาชนในลักษณะที่ว่าต้องเสียภาษี ส่วนในแง่กฎหมายเอกชนในลักษณะที่ว่าผู้ครอบครอบแทนที่จะมีกรรมสิทธิ์อันได้รับการปกป้องโดยการฟ้องคดีติดตามเอาทรัพย์คืน (revendication) กลับได้แต่เพียงกรรมสิทธิ์ชั้นต่ำ (propriete inferieure) อันเรียกกันอย่างคลุมเครือว่าเป็นารครอบครองและการเก็บกิน (possessio et usufructus) โดยมีวิธีการคุ้มครองพิเศษ อย่างไรก็ดี ที่ดินชั้นนอกนี้อาจพ้นจากความด้อยฐานะได้โดย การที่จักรพรรดิ์ทรงประทานแก่ใครอันที่ดินตั้งอยู่ ซึ่งสภาวะของที่ดินชั้นในอิตาลี หรือ ius ltalicum นอกจากนี้การแบ่งแยกประเภทที่ดิน 2 ชุดเริ่มเลือนไปในแง่กฎหมายมหาชนเพราะมีการขยายภาษีที่ดินมาถึงอิตาลีและในแง่กฎหมายเอกชนเพราะการยกเลิกวิธีพิจารณาความแพ่งแบบสรุปคำฟ้อง (procedure fomulaire) และในท้ายที่สุดจัสติเนียนทรงยกเลิกการแยกประเภทที่ดินดังกล่าวไป

3. กรรมสิทธิ์โรมันตั้งแต่แรกมาไม่อาจได้มาโดยวิธีอื่นใดนอกจากกรรมวิธีโรมันกรรมสิทธิ์มีเพียงประเภทเดียว

          กรรมสิทธิ์อันได้มาโดยกรรมวิธีของกฎหมายเอกชน ตามความเข้าใจของ Girard ลักษณะพิเศษ (physionomie) ของกฎหมายโบราณทำให้กรรมสิทธิ์ไม่อาจโอนให้กันได้โดยการยินยอมพร้อมใจกัน หรือโดยการส่งมอบทรัพย์ให้ (tradition) ตามความยินยอมพร้อมใจกันแต่จะต้องใช้กรรมวิธีอันกำหนดขึ้นโดยกฎหมายเอกชนอันเป็นการส่งมอบโดยวิธีพิเศษ (mancipation) ส่วนทรัพย์ที่ไม่เข้าข่ายการส่งมอบพิเศษ (res nec mancipi) นั้นก็มิได้พ้นจากกฎเกณฑ์ข้อนี้ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่ามีการเรียกร้องให้ใช้วิธีการพิเศษเช่นเดียวกันหรือไม่ก็ถือกันว่าทรัพย์ประเภทนี้ยังไม่เข้าข่ายที่เอกชนพึงมีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายเอกชนได้[3]

          อย่างไรก็ดี คนโรมันในระยะโบราณต่อมาไม่นานนักยอมให้การส่งมอบทรัพย์ธรรมดา (tradition) สามารถโอนกรรมสิทธิ์แบบโรมัน (pripriete quintaire) ในทรัพย์ที่ไม่ต้องส่งมอบโดยวิธีพิเศษ (res nec mancipi) ได้ อันเป็นการยอมรับว่ากรรมสิทธิ์ตามกฎหมายเอกชนโรมัน (propriete civile) สามารถได้มาโดยวิธีการกฎหมายสากล (droit des gens) ได้ Girard  เห็นว่าที่เป็นเช่นนี้เป็นการสร้างรอยแตก (breche) อันแรกในระบบโรมันโดยที่ต้นเหตุมาจากกฎหมายเอกชนโรมันเอง ส่วนรอยแตกที่สองนั้นจะมาจากกฎหมายผู้บริหาร คือ ไพรตอร์ นั่นเอง (droit pretorien)

          ราษฎรโรมันซึ่งได้รับมอบทรัพย์ที่ส่งมอบได้ยาก (res mancipi) โดยวิธีการส่งมอบธรรมดาคือหยิบยื่นให้ (tradition) นั้น นับแต่สมัยโบราณเป็นต้นมาก็จะได้กรรมสิทธิ์ โรมันภายหลังโดยการครอบครองเป็นเวลานาน (possession prolongee) ในช่วงเวลา 1 ปีสำหรับสังหาริมทรัพย์ และ 2 ปีสำหรับอสังหาริมทรัพย์  วิธีนี้เรียกว่าการครอบครองปรปักษ์ (usucapion) คือ การได้มาเพราะการใช้ (usu capiebat) กรณีนี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อยกเว้น เพราะการครอบครองปรปักษ์เป็นวิธีการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายเอกชน

          อย่างไรก็ดีกฎหมายของไพเตอร์ใช้วิธีการนี้เป็นฐานสร้างข้อยกเว้นขึ้นมาใหม่เพื่อปกป้องผู้มีกรรมสิทธิ์ นับแต่ขณะการส่งมอบธรรมดา (tradition) ซึ่งทรัพย์อันส่งมอบได้ยาก (res mancipi) โดยที่ผู้รับมอบจะไม่ได้กรรมสิทธิ์จนกว่าครบกำหนดเวลาการครอบครองแล้ว

          ไพรตอร์ได้ใช้ประโยชน์จากระยะเวลาการครอบครองด้วยการปกป้องผู้รับมอบทรัพย์มาดังกล่าวในเชิงพิธีการ ฉะนั้น ถ้าบุคคลผู้นำไม่มีทรัพย์นั้นอยู่ก็จะสามารถฟ้องคดีแบบไพรตอร์ (action pretorienne) ได้ โดยจะเป็นฝ่ายชนะคดีได้โดยการนำสืบว่าเขาจะได้รับกรรมสิทธิ์ถ้าเวลาครอบครองมาครบถ้วนแล้ว หรือถ้าเขาเก็บรักษาทรัพย์นั้นอยู่โดยไม่มีใครแย่งการครอบครองไป เพราะเขามีข้อต่อสู้ที่เหมาะสม ทั้งนี้โดยการอ้างว่าเวลาครอบครองได้ครบถ้วนแล้ว เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์ (action publicienne) หรือใช้ข้ออ้างที่ว่า ทรัพย์นั้นขายให้แก่เขาและส่งมอบเรียบร้อยแล้ว (exceptio rei venditae et traditae) หรือใช้ข้อต่อสู้ที่ว่าฝ่ายตรงข้ามไม่สุจริต (exceptio doli mali) ทั้งนี้เป็นการให้กรรมสิทธิ์แบบไพรตอร์ (คือมีทรัพย์นั้นอยู่ในกองทรัพย์สินของเขา rem in bonis habere) ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเรียกกันว่ากรรมสิทธิ์บอนิทาริ (bonitary ownership) โดยเห็นว่ากรรมสิทธิ์แบบไพรตอร์นีไม่อาจนำไปปะปนกับ

          (1) กรรมสิทธิ์ต่างด้าว (propriete des peregrins) หรือ

          (2) กรรมสิทธิในที่ดินชั้นนอก (propriete des fonds provinciaux) ซึ่งมีอยู่เหนือทรัพย์โรมันและ

          เพื่อประโยชน์ของคนโรมัน และจะแปรสภาพเป็นกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายเอกชนโรมันโดยสมบูรณ์เมื่อครบกำหนดเวลาการครอบครองปรปักษ์แล้ว อย่างไรก็ดีกรรมสิทธิ์แบบไพรตอร์ไม่อาจเป็นกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายเอกชนโรมันได้ทันที  เพราะได้รับการก่อให้เกิดขึ้นโดยวิธีการของไพรตอร์เท่านั้น ส่วนผู้ซึ่งส่งมอบทรัพย์อันส่งมอบยาก (res mancipi) โดยการหยิบยื่นให้เฉย ๆ (tradition) ยังคงมีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายในทรัพย์นั้นจนกระทั่งครบกำหนดเวลาการครอบครองปรปักษ์แล้ว  ทั้งนี้เพราะการส่งมอบดังกล่าวเป็นวิธีการของกฎหมายสากลอันไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายเอกชนโรมันเหนือทรัพย์ดังกล่าวได้ ถึงกระนั้นก็ตามผู้ซึ่งได้รับมอบทรัพย์โดยการส่งมอบปกติ (tradition) เช่นเดียวกับกรณีทั่วไปที่ผู้รับมอบทรัพย์รับมอบมาโดยวิธีการอันกฎหมายเอกชนโรมันไม่รับรองแต่ได้รับการยอมรับจากไพรตอร์จะได้กรรมสิทธิ์แบบไพรตอร์ทันที คือ เขามีทรัพย์นั้นอยู่ในกองทรัพย์สิน (in bonis) ของเขา ผู้รับมอบทรัพย์ดังกล่าว (ยกเว้นข้อสงวนบางประการ) ได้รับประโยชน์ทุกประการของกรรมสิทธิ์แบบกฎหมายเอกชนโรมัน ฝ่ายผู้มีกรรมสิทธิ์เอกชนโรมันโดยนิตินัยกลับมีเพียงกรรมสิทธิ์เปลือยหรือว่างเปล่า (nudum ius quiritium) โดยพร้อมที่จะสลายไปในที่สุดเมื่อครบวาระการครอบครองปรปักษ์แล้ว

          กรรมสิทธิ์อันแบ่งเป็นสองภาค (dualisme) ดังกล่าว Girard  ยืนยันว่ายืดเยื้อไปตลอดระยะเวลาของยุคทอง อย่างไรก็ดีวิธีการส่งมอบทรัพย์แบบไพรตอร์ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าของกฎหมายเอกชนและใช้ได้คล่องแคล่วมากกว่าก็มีชัยชนะในที่สุด แม้สำหรับทรัพย์ที่ส่งมอบได้ยาก (res mancipi) คนโรมันก็เลิกใช้วิธีการโอนแบบกฎหมายเอกชน และโดยเหตุนี้การแบ่งแยกทรัพย์โดยบังคับวิธีการส่งมอบเป็น res man cipi และ nec mancipi ก็ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป จัสติเนียนจึงทรงทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นโดย พฤตินัยให้ถูกต้องโดยนิตินัยในการทรงตราพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งยกเลิกกรรมสิทธิ์เปลือยหรือว่างเปล่า (nudum ius quiritium) และอีกฉบับหนึ่งยกเลิกการแบ่งแยกประเภททรัพย์ดังกล่าว

--------------------------------------------------

บทสรุปกรรมสิทธิ์ตามความคิดเห็นของ Girard

---------------------------------------------------

          Girard  ได้มีความเห็นเกี่ยวกับความเป็นมาในเรื่องการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในยุคก่อนมีกฎหมาย 12 โต๊ะ และยุคการใช้กฎหมาย 12 โต๊ะเป็นต้นมา  ทำให้เห็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ดังนี้

          1.  กรรมสิทธิ์รวมของชุมชน  เหนือบริเวณล่าสัตว์หรือ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์  เป็นกรรมสิทธิ์รวมของกลุ่มใหญ่ คือ เผ่า (tribu) สกุล (clan)

          2. กรรมสิทธิ์รวมของครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กคือ ครอบครัว ที่มีเหนือที่ดินทำกิน

          3. กรรมสิทธิ์ของเอกชนเฉพาะบุคคล

          4.  กรรมสิทธิในที่ดินของคนต่างด้าว

          5. กรรมสิทธิ์ในที่ดินของนครโรมัน (รัฐ)

 

 


[1] ประชุม  โฉมฉาย.วิวัฒนาการของกฎหมายโรมัน.โครงการตำราและวารสารนิติศาสตร์  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัทโรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด,กุมภาพันธ์ 2548, น.267-280

[2] Girard, P.F.I.  Manuel  élémentaire de droit romani 8th edition revue par F. Senn, Paris : Librarie Arthur Rosseu,1929, P. 280-286

[3] อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 2 น.286

หมายเลขบันทึก: 307125เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2009 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท