ลักคณา พบร่มเย็น
อาจารย์ ลักคณา ลักคณา พบร่มเย็น พบร่มเย็น

แนวคิดกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายโรมัน


แนวคิดกรรมสิทธิตามกำหมายโรมัน

แนวคิดกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายโรมัน 

 

----------------------------------------------

แนวคิดพื้นฐานกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายโรมัน

----------------------------------------------

     นักนิติศาสตร์ของโรมัน  ได้พยายามอธิบายถึงแนวคิดพื้นฐานลักษณะของกรรมสิทธิ์ ซึ่งสามารถแยกอธิบายได้ดังนี้

1.  สิทธิเด็ดขาด

          Accarias  ให้ความเห็นอีกว่าความเด็ดขาดของกรรมสิทธิ์ก็เหมือนกับการสงวนสิทธิไว้ให้เฉพาะผู้ครองกรรมสิทธิ์ (exclusive) เท่านั้น กรรมสิทธิ์เป็นสิทธิเฉพาะตัวอันตรงกันข้ามกับการมีสิทธิร่วมกัน (communaute) ฉะนั้นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์รวม (communion) ก็มีลักษณะงวนไว้สำหรับผู้ครองกรรมสิทธิ์เท่านั้นเช่นกัน

          Nicholas[1] เห็นว่า การกล่าวถึงความเด็ดขาดของกรรมสิทธิ์ในลักษณะของการใช้สอยจะทำให้ไขว้เขว ทั้งนี้ เพราะการใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของผู้อื่น (iura in re aliena) อาจจะทำให้ผู้ครองกรรมสิทธิ์ไม่มีสิทธิในการใช้สอยทรัพย์สินของตนเลยในปัจจุบัน อันที่จริงเจ้าของที่ดินซึ่งรับภาระสิทธิเก็บกินหรือที่ดินที่รับภาระการเช่าระยะยาว (emphyteusis) หรือภาระการปลูกสร้างโรงเรือนระยะยาวหรือสิทธิเหนือพื้นดิน (superficies)ของผู้อื่นย่อมไม่มีอะไรเหลือ  นอกจากสิทธิขั้นสุดท้าย (ultimate residual right) ในทรัพย์สินอันเป็นสิทธิที่คงเหลืออยู่เมื่อสิทธิอื่นๆหมดหรือสลายไปแล้ว (expired)

          ดูเหมือน Nicholas จะมองข้ามความเด็ดขาดในอีกแง่มุมหนึ่งของกรรมสิทธิ์โรมันไปนั่นก็คือ ความเด็ดขาดในเชิงเวลา (duree) อันเป็นลักษณะเฉพาะของกรรมสิทธิ์โรมันโดยแท้นั่นก็คือกรรมสิทธิ์มีความคงทนถาวร (perpetual) [2]  ชี้ให้เห็นว่าทรัพยสิทธิอื่นอาจสิ้นไปเพราะถึงกำหนดเงื่อนเวลา แต่กรรมสิทธิ์นั้นจะไม่มีสิ้นไปนอกจากว่าทรัพย์อันเป็นวัตถุดับสูญไป (perte) จริงอยู่กรรมสิทธิ์อาจเปลี่ยนมือได้ แต่การเปลี่ยนมือเพราะการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินนั้น ย่อมสะท้อนถึงความคงทนถาวรของกรรมสิทธิ์ ผลที่ตามมาจากลักษณะพิเศษของกรรมสิทธิ์โรมันดังกล่าวก็คือว่ากรรมสิทธิ์ไม่อาจโอนให้แก่กันได้เป็นการชั่วคราว (adtempus) หรือเป็นครั้งคราว การโอนกรรมสิทธิ์โดยมีเงื่อนไขว่าผู้โอนจะต้องได้กรรมสิทธิ์กลับคืนมาเมื่อพ้นกำหนดเวลาหนึ่งหรือเมื่อมีเหตุการณ์ที่ระบุไว้เกิดขึ้นเป็นโมฆะตามกฎหมายโรมัน

          นอกจากกรรมสิทธิ์โรมันจะเด็ดขาดในเชิงเวลาแล้ว โดยทั่วไปก็มีความเด็ดขาดในเชิงสถานที่ด้วย โดยทั่วไปเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอยางเหนือและใต้ดิน ทั้งนี้หมายความว่ากรรมสิทธิ์อาจแบ่งแยกได้ตามแนวตั้ง (vertical) แต่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ตามแนวนอน (horizontal)[3] นั่นก็คือ เกษตรกรอาจแบ่งแยกที่ดินของตนออกขายได้ตามหลักการแบ่งแยกตามแนวตั้ง (vertical division) แต่ในอาคารชุด ผู้พำนักอาศัยอยู่ชั้นบนไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ได้ จึงเป็นได้แต่เพียงผู้เช่าโดยมีสิทธิตามสัญญาเช่าเท่านั้น ดูเหมือนBorkowski จะตีความคำว่า แนวตั้งกับแนวนอนในความหมายผิดปกติแต่ผลที่ออกมาก็เป็นที่เข้าใจได้ อย่างไรก็ดีก็มีข้องยกเว้นต่อหลักที่ว่าเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของทุกอย่างเหนือและใต้ที่ดินของตน

          Robaye[4] เห็นปัญหาความยุ่งยากในการพิจารณาว่ากรรมสิทธิ์โรมันมีลักษณะ “เด็ดขาด” อย่างไร ทำให้เขาเลี่ยงไปใช้คำอื่น เขากล่าวว่ากรรมสิทธิ์มีลักษณะดังนี้คือ การกันไม่ให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้อง ลักษณะเฉพาะตัวและความคงทนถาวร (I’exclusivite, I’individualite et le caractere perpetual) ลักษณะแรกเป็นในทางลบคือ การปลอดจากการสอดเข้าเกี่ยวข้องของผู้อื่น และลักษณะที่สองเน้นในทางบวกคือการแสดงความสามารถของผู้มีกรรมสิทธิ์ที่จะจัดการทรัพย์สินของตนอย่างใดก็ได้ทั้งหมดนี้ตรงกับความเห็นของ Accarias ที่กล่าวมาข้างต้น

 

2.  ความชอบธรรม

          Nicholas[5]  ยืนยันว่าในกฎหมายโรมันบุคคลผู้อ้างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์จะต้องแสดงตนว่าเป็นเจ้าของ ส่วนกฎหมายอังกฤษนั้นเพียงแต่แสดงว่ามีสิทธิครอบครองทันทีก็เป็นการเพียงพอแล้ว นอกจากนี้เขาอาจแสดงสิทธิครอบครองโดยเพียงแต่แสดงให้เห็นว่าเขาเคยครอบครองทรัพย์สินนี้นอยู่และสูญเสียการครอบครองไปโดยมิได้ยินยอม อย่างน้อยข้อนี้ก็เป็นความแตกต่างระหว่างกฎหมายโรมันกันกฎหมายอังกฤษ  โดยกฎหมายโรมันจะต้องแสดงสิทธิโดยเด็ดขาด ส่วนในกฎหมายอังกฤษสิทธิครอบครองก็เป็นการเพียงพอแล้ว

          ฉะนั้น Nicholas จึงถึงหาข้อยุติว่ากรรมสิทธิ์โรมันมิใช่เด็ดขาดในความหมายที่ว่าโจทก์ในการดำเนินการติดตามเอาคืนทรัพย์ (vindicatio) จำต้องพิสูจน์ว่าคนมีสิทธิดีที่สุดและสิทธิอันเดียวเท่านั้น อันที่จริงความหมายของสิทธิเด็ดขาด น่าจะเป็นการที่ไม่มีทางแก้ที่จะปกป้องสถานภาพที่สาม (tertiumquid) ซึ่งอยู่ระหว่างกรรมสิทธิ์และการปกครอง นั่นก็คือสิทธิครอบครองซึ่งไม่อาจอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ได้บุคคลอาจเป็นหรือไม่เป็นผู้ครองกรรมสิทธิ์ก็ได้ อย่างไรก็ดีแม้ลักษณะของกรรมสิทธิ์ที่ Nicholas เรียกลักษณะพิเศษ หรือการแบ่งแยกไม่ได้ (indivisibility) ก็เป็นจริงเพียงผิวเผินเท่านั้น ทั้งนี้เพราะ Nicholas ยอมรับว่าคนโรมันยึดหลักลักษณะพิเศษและการแบ่งแยกไม่ได้ของกรรมสิทธิ์ดังกล่าว  แต่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ด้วยการมองข้ามการเรียกร้องให้รรมสิทธิ์ของฝ่ายบริหาร (bonitary ownership) และการครอบครองโดยสุจริต (possesssio bona fide) เป็นกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน ทั้งสองแบบหลังนี้เป็นข้อยกเว้นที่ชัดเจนของหลักการแบ่งแยกไม่ได้ของกรรมสิทธิ์และแต่ละอย่างก็เป็นสถานภาพที่สาม (terium quid) ระหว่างกรรมสิทธิ์และการครอบครองทั้งสิ้น นั่นก็คือผู้ครอบครองโดยสุจริตเป็นผู้ครองกรรมสิทธิ์ไม่เด็ดขาดหรือโดยเทียบเคียง (relative  owner) เพราะเป็นผู้ครองกรรมสิทธิ์ในสายตาของคนทุกคนยกเว้นในสายตาผู้ครองกรรมสิทธิ์เด็ดขาด (dominus) Nicholas เชื่อว่านักนิติศาสตร์โรมันไม่อาจชี้ขาดเรื่องเหล่านี้ให้เสร็จเด็ดขาดลงไปได้

          Nicholas ถึงข้อยุติว่าความเด็ดขาดของกรรมสิทธิ์โรมันนั้นน่าจะพิจารณาในลักษณะที่เป็นการที่ไม่อาจละเมิดได้ (inviolability) มากกว่า ทั้งนี้หมายความว่าบุคคลไม่อาจสูญเสียกรรมสิทธิ์ได้โดยที่ตนมิได้ยินยอมโดยที่มีผลตามมาว่าบุคคลไม่อาจนำส่งสิทธิได้มากกว่าที่ตนมีอยู่  หรือผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนข้อยกเว้นมีเพียงข้อเดียว คือ การครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์ (prescription) ซึ่งตามหลักโรมันมีจำกัดมากเมื่อเปรียบเทียบกับที่ปรากฏในทายาทของกฎหมายโรมันในปัจจุบัน คือ Civil Law ลักษณะพิเศษของกฎหมายโรมันดังกล่าวนี้คลายคลึงกับกฎหมายอังกฤษ จนกระทั่งทำให้ผู้คุ้นเคยกับกฎหมายอังกฤษเกือบสังเกตไม่เห็น

 

 


[1] Nicholas Barry. An Introduction to Roman Law. Oxford : Oxford University Press,1962. P.154)

[2]Accarias Cprecis. de droit romanin. Tome premier. paris : Libraire cotillo,1886 , P. 514-515

[3] Borkowski  Andrew. Textbook on Roman Law. Second Edition. London : Blackstone Press Ltd. 1997, P.160

[4] Robaye  Renê. Le Droit Romain. Tome I, Bruxelles/Louvain-la-Neuve : Bruylant-Acadamia,1996, P. 101)

[5] Nicholas Barry. An Introduction to Roman Law. Oxford : Oxford University Press,1962. P.154-157

หมายเลขบันทึก: 307118เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2009 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท