ลักคณา พบร่มเย็น
อาจารย์ ลักคณา ลักคณา พบร่มเย็น พบร่มเย็น

ความหมายกรรมสิทธิ์ในกฎหมายโรมัน


ความหมายกรรมสิทธิ์ในกฎหมายโรมัน

 

ความหมายกรรมสิทธิ์ในกฎหมายโรมัน[1] 

 

          กรรมสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีอำนาจมากที่สุดในบรรดาสิทธิทั้งหลาย เพื่อที่จะอธิบายลักษณะแห่งกรรมสิทธิ์ในทุกแง่ทุกมุมจะแยกพิจารณาเป็นสองทาง คือ ในแง่ความคิดเห็นของนักนิติศาสตร์กับในแง่ความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 

---------------------------------------

ความหมายของนักนิติศาสตร์

---------------------------------------

          นักกฎหมายโรมันในสมัยก่อนยุคทองไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับการให้ความหมายกรรมสิทธิ์  ต่อมานักฎหมายโรมันได้พยายามรวบรวมและให้ความหมายของคำว่า กรรมสิทธิ์ ไว้ดังนี้

          Schulz[2] ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายโรมันสมัยยุคทอง ( Classical period ) อันต่อมาจากสมัยประชาธิปไตย  เห็นว่าคนโรมันน่าจะให้คำนิยามกรรมสิทธิ์ว่าเป็นสิทธิเหนือทรัพย์สินมีรูปร่าง (corporeal thing) ซึ่งโดยหลักการแล้วน่าจะทำให้ผู้ครองกรรมสิทธิ์มีอำนาจโดยสมบูรณ์ (full power) เหนือทรัพย์สินดังกล่าว   ถึงแม้ว่าอำนาจนั้นจะถูกจำกัดขอบเขตบ้าง  (limitations) ก็ตาม

          Kaser[3] เห็นว่า กรรมสิทธิ์โรมันในสมัยโบราณเป็นสิทธิตามกฎหมายเหนือทรัพย์สิน โดยมิได้มีการกำหนดขอบเขตชัดเจน (eine rechtliche Sachherrschaft ohne scharfgezogene Grenzen)  ความเห็นของ Kaser ตรงกับความเห็นของ Schulz ว่าก่อนสมัยยุคทองคำนิยามกรรมสิทธิ์แม้จะไม่มีปรากฏในแหล่งที่มาใดๆ น่าจะเป็นอำนาจโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายเอกชน (die privatrechtliche Vollherrschaft) เหนือทรัพย์สิน อำนาจดังกล่าวสามารถใช้ยันทุกคน (gegen jedermann) ได้โดยการทำดำเนินคดีปกป้องทรัพยสิทธิ(action in rem)

          Marky[4]  อ้างว่า Institutiones (หลักกฎหมายเบื้องต้น) ของจัสติเนียนให้คำนิยามโดยตรงว่ากรรมสิทธิ์ (dominio) เป็นอำนาจในทรัพย์สินโดยสมบูรณ์ (in re plena potestas) ดูเหมือน Marky จะเป็นนักกฎหมายโรมันเพียงผู้เดียวที่อ้างแหล่งที่มาดังกล่าวเป็นไปได้ว่าคนโรมันซึ่งเป็นนักปฏิบัติพยายามใช้กฎหมายแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่มีเวลาที่จะให้คำนิยามทางวิชาการอย่างน้อยก็ในสมัยยุคทอง คือ ช่วงเวลาที่ทำให้กฎหมายเอกชนโรมันเป็นปึกแผ่นโดยแท้จริง

          Arangio-ruiz [5] ผู้ให้ความสนใจในกฎหมายโรมันให้คำนิยามกรรมสิทธิ์โรมันว่าเป็นอำนาจซึ่งบุคคลมีเหนือทรัพย์สิน (signoria dell’uomo supra la cosa) ความเด็ดขาดของอำนาจดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับการที่กีดกันไม่ให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับอำนาจดังกล่าว (esclusione di ogni ingerenza altrui)

          ส่วน Rein[6]  เห็นว่ากรรมสิทธิ์โรมันเป็นสิทธิอันไม่มีขอบเขตจำกัดของบุคคลเหนือทรัพย์สิน (das unbeschrankte Recht der Person uber Sache) นอกจากจะมีความเด็ดขาดดังกล่าวแล้ว สิทธินี้มีลักษณะสงวนไว้เฉพาะผู้ครอง ห้ามผู้อื่นสอดเข้ามาเกี่ยวข้อง (ausschliessliche) อีกด้วย

          หลังจากสมัยโบราณมาถึงสมัยหลังของประชาธิปไตย (in der spaten Republik) อำนาจดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายภายใต้ชื่อว่า dominium และ proprietas ตามจารีตดั้งเดิมกรรมสิทธิ์เป็นสิทธิซึ่งสงวนไว้เฉพาะผู้มีสัญชาติโรมันในนครรัฐ (burgervorrecht) ตามกฎหมายเอกชนโรมัน (ius civile) และมีชื่อเรียกว่า dominium ex iure Quiritium เท่านั้น บุคคลอื่นไม่มีสิทธิดังกล่าว ถ้าความเห็นของ Kaser เชื่อถือได้ (และไม่มีเหตุผลที่จะคิดเป็นอย่างอื่นๆ) จุดเริ่มต้นของกรรมสิทธิ์ก็เป็นดังที่เขากล่าวอ้าง[7]

----------------------------------------

ความหมายของนักเศรษฐศาสตร์

----------------------------------------

          การที่พิจารณาในแง่ความคิดเห็นทางเศรษฐศาสตร์ประกอบด้วยนั้นเป็นสิ่งมีประโยชน์ เพราะเราย่อมตระหนักดีอยู่ว่า ความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์นั้นมีอิทธิพลในการบัญญัติกฎหมายเป็นอันมาก

          ชาลส์จี๊ด เป็นนักเศรษฐสาสตร์อธิบายลักษณะของกรรมสิทธิ์หนักไปในทางปฏิบัติและแบ่งลักษณะของกรรมสิทธิ์ไว้เพียง 2 ประการเท่านั้น คือเป็นสิทธิจำหน่ายได้ตามชอบใจประการหนึ่งและเป็นสิทธิที่มีลักษณะถาวรอีกประการหนึ่ง

1. สิทธิจำหน่ายได้ตามชอบใจ 

          ลักษณะที่สำคัญอันประกอบเป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอย่างหนึ่ง คือ สิทธิจำหน่ายได้ตามชอบใจ โดยอ้างบทวิเคราะห์ในประมวลกฎหมายแห่งฝรั่งเศสมาแล้วว่าเป็นสิทธิจะใช้ทรัพย์และจำหน่ายโดยทำนอเด็ดขาดที่สุด  ในบทวิเคราะห์หนี้  องค์ประกอบสำคัญแห่งสิทธิในทรัพย์สิน คือ สิทธิจำหน่าย ถ้าขาดสิทธิจำหน่าย สิทธิที่เหลือเป็นแต่เพียงสิทธิเก็บกินเท่านั้น กรรมสิทธิ์ขยายตัวออกทำนองเดียวกับวัตถุแห่งกรรมสิทธิ์ ชาวโรมันได้ชื่อเสียงในทางนิติศาสตร์ก็เพราะได้มีการให้กรรมสิทธิ์มีลักษณะสูงลิบซึ่งไม่เคยมีมาก่อน  บัดนี้ด้วยอิทธิพลแห่งความคิดใหม่ๆ ทำให้สิทธิจำหน่ายโดยเด็ดขาดเริ่มสูญไปทุกที  ต่อไปนี้คือบัญญัติแห่งวิธีจำหน่ายทรัพย์ที่คนเรารู้จักเกิดขึ้นสืบต่อตามกันมา  ทำให้สิทธิจำหน่ายเป็นลักษณะสำคัญของกรรมสิทธิ์  ซึ่งมีสิทธิต่างๆ ดังต่อไปนี้

          (1) สิทธิการใช้ประโยชน์แห่งทรัพย์ โดยแรงงานของคนงานอิสระนั่นคือลักษณะสำคัญของกรรมสิทธิ์ที่มีผลทางชุมชนเป็นที่สุด  เพราะว่าก่อให้เกิดชนชั้นผู้ดี คนชั้นที่ไม่ต้องทำงานเป็นวันๆเพื่อหาข้าวใส่ท้อง  ใช้เวลาว่างของตนไปในทางหย่อนใจบ้าง  ในอาชีพบางอย่างที่นำมาซึ่งอำนาจและอิทธิพลบ้าง เช่น การเมือง อักษรศาสตร์และศิลปะ

          (2) สิทธิให้โดยเสน่หา  เป็นวิธีเก่าแก่วิธีหนึ่งในการจำหน่ายทรัพย์  อย่างน้อยในการโอนทรัพย์  บางทีจะเกิดขึ้นก่อนสิทธิขายทรัพย์ด้วยซ้ำ  เห็นได้โดยง่ายว่าเมื่อเจ้าของมีสิทธิบริโภคได้ตามความพอใจของตนเอง  ทำไมจะไม่มีสิทธิให้คนอื่นบริโภคได้  ถ้าจะทำลายทรัพย์นั้นก็ย่อมทำได้  ดังนั้นเจ้าของกรรมสิทธิ์จะจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์ให้แก่คนอื่นได้   สิทธินี้ช่วยให้มีการเฉลี่ยประโยชน์ของทรัพย์ให้แก่ผู้อื่นได้

          (3) สิทธิจะขายหรือให้เช่า  ได้ปรากฏต่อภายหลังต่อเมื่อคนรู้จักกรรมสิทธิ์ในที่ดินแล้ว  แต่เมื่อราวศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราช อริสโตเติล กล่าวว่า สิทธิขายหรือให้เช่าจำเป็นแท้แก่กรรมสิทธิ์  ในสมัยนั้นคนยังหารู้จักการขายหรือให้เช่าไม่  เพราะว่าทรัพย์ยังเป็นของครอบครัวและภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติศาสนาอันเป็นสภาพของทรัพย์แต่โบราณกาล  การโอนทรัพย์สินนั้นเป็นไปไม่ได้  ถ้าขืนทำเขาถือกันว่าเป็นการกระทำอันเป็นบาป  ทุกครอบครัวพอหาได้พอเลี้ยงตน  สังหาริมทรัพย์ก็ยังหาได้ยากและทุกคนมีอะไรก็เก็บเอาไว้  บางทีเขาก็ฝังทรัพย์นั้นพร้อมกับศพของเจ้าของ  ในสถานการณ์อย่างนี้ถ้าจะมีการซื้อขายก็เป็นเพียงการกระทำที่นอกคอกผิดปรกติ  แม้ว่าการซื้อขายต้องห้อมล้อมไปด้วยแบบวิธีอันยุ่งยาก  เช่น ซื้อขายสมัยนั้นต้องกระทำกันต่อหน้าพยานถึง 5 คน แทนบุคคล 5 ชั้น ของบุคคลสมัยโรมัน

          (4) สิทธิทำพินัยกรรม  คือ สิทธิจำหน่ายทรัพย์ของตนเมื่อตายแล้วโดยทำพินัยกรรมขึ้นไว้  เป็นสิทธิที่เสริมต่อกรรมสิทธิ์  เพราะว่ามันยืดกรรมสิทธิ์ออกไป  ภายหลังความตายสิทธินี้ไม่ใช่เป็นการขยายสิทธิมรดกดังที่มีบางท่านคิด  ตรงกันข้ามสิทธิจำหน่ายทรัพย์ต่อเมื่อตาย  ไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิสืบทอดมรดกตามหลักโดยธรรมแต่อย่างใด  สิทธิทั้งสองนี้กลับขัดแย้งกันเสียอีก  มีการต่อสู้ระหว่างแนวคิดสองประการ  ประการหนึ่งให้กรรมสิทธิ์เด็ดขาดแก่เอกชนและรวมเอาสิทธิการทำพินัยกรรมไว้ด้วย  อีกประการหนึ่งสิทธิเป็นของครอบครัวเท่านั้น  คือทรัพย์ของครอบครัวยังคงอยู่มิให้กระจายแหลกไปตกได้แก่ชาติที่มีมากกว่ามาก  หัวหน้าครอบครัวรับช่วงต่อๆกันมาเป็นทอดปกครองไว้คล้ายๆกับทรัสตีและจำต้องโอนทรัพย์ต่อไปให้แก่ ลูก หลาน เหลน ฯลฯ  แม้ในสมัยโรมัน สมัยเมื่อกรรมสิทธิ์ของเอกชนมีอยู่สุดขีด  บิดายังไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมได้  ก่อนมีกฎหมาย 12 โต๊ะ (450 ปีก่อน ค.ศ. ) การทำพินัยกรรมต้องมีแบบพิธีมากมายเพื่อให้ศักดิ์สิทธิ์  

2. สิทธิที่มีลักษณะถาวร

          กรรมสิทธิ์มีลักษระถาวร  ถ้าทรัพย์สินในกรรมสิทธิ์นั้นสลายไปเมื่อบริโภคหรืออายุของทรัพย์สินนั้นสั้น  ลักษณะความถาวรแห่งกรรมสิทธิ์ไม่มีผลสำคัญทางเศรษฐกิจ  แต่ถ้าทรัพย์ที่ยึดถือมีสภาพคงทนตลอดไปหรือมีอายุนาน  กรรมสิทธิ์ย่อมขยายออกไปตามอายุของวัตถุอันมีผลสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง

          แม้วัตถุบางอย่างจะมีสภาพถาวร  เช่น ที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์ชนิดพิเศษ  แต่ตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของหาถาวรตามวัตถุไปด้วยไม่  เว้นแต่จะเป็นนิติบุุคคล  เจ้าของย่อมรู้จักตาย  ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญแห่งกรรมสิทธิ์  เมื่อเจ้าของตายสิทธิไม่ตายตามเจ้าของ  ก็ต้องผ่านไปยังมือบุคคลอื่น  หากบุคคลที่ตายได้แสดงเจตนาไว้ให้ใครรับช่วงต่อไป  ทรัพย์นั้นก็ตกทอดเป็นมรดกตามเจตนาของผู้ตาย  แต่หากคนตายไม่แสดงเจตนาไว้ก็ให้ตกแก่ทายาท

-----------------------------------------

บทสรุปของความหมายกรรมสิทธิ์

-----------------------------------------

          หลังจากสมัยโบราณมาถึงสมัยหลังของประชาธิปไตย (in der spaten Republik) อำนาจเหนือทรัพย์สินดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายภายใต้ชื่อว่า dominium และ proprietas ตามจารีตดั้งเดิม  กรรมสิทธิ์เป็นสิทธิซึ่งสงวนไว้เฉพาะผู้มีสัญชาติโรมันในนครรัฐ (burgervorrecht) ตามกฎหมายเอกชนโรมัน (ius civile) และมีชื่อเรียกว่า dominium ex iure Quiritium เท่านั้น บุคคลอื่นไม่มีสิทธิดังกล่าว ถ้าความเห็นของ Kaser เชื่อถือได้ (และไม่มีเหตุผลที่จะคิดเป็นอย่างอื่นๆ) จุดเริ่มต้นของกรรมสิทธิ์ก็เป็นดังที่กล่าวอ้าง[8]

          ออสติน นักนิติศาสตร์อังกฤษกล่าวว่า  “กรรมสิทธิ์หมายถึงสิทธิในทรัพย์สินซึ่งไม่มีจำกัดในการใช้  ไม่มีข้อกำหนดห้ามในการจำหน่าย  ไม่มีกำหนดเวลาจำกัด” ดังนั้น  กรรมสิทธิ์  จึงเป็นสิทธิเด็ดขาดในทรัพย์สินในการจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สิน  ซึ่งเป็นสิทธิกฎหมายให้ไว้ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเป็นเป็นสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคนที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าของทรัพย์ในการกีดกั้น ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน

          คำว่า “กรรมสิทธิ์” ได้ปรากฏในประมวลกฎหมายนโปเลียน มาตรา 544 บัญญัติว่า “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินคือ สิทธิที่จะใช้และจำหน่ายทรัพย์ในทำนองเด็ดขาดที่สุด” แสดงให้เห็นว่า สภาพของกรรมสิทธิ์ว่าเป็นสิทธิเด็ดขาด  เด็ดขาดอยู่สองกรณีคือ

          1.  เจ้าของจะใช้ทรัพย์อย่างใดๆก็ได้ เพื่อได้รับความพอใจจากทรัพย์โดยเต็มที่แม้จะทำลายเสียก็ได้

          2.  กรรมสิทธิ์ไม่มีจำกัดโดยกาลเวลา  จนกว่าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสิทธิจะบุบสลายสูญสิ้นไปเอง  การจำหน่ายทรัพย์โดยอิสระ และความถาวรแห่งกรรมสิทธิ์ เป็นลักษณะสองประการของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

 

 


[1] ประชุม  โฉมฉาย.วิวัฒนาการของกฎหมายโรมัน.โครงการตำราและวารสารนิติศาสตร์  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัทโรงพิมพ์เดือนตุลา จำกัด, กุมภาพันธ์ 2548, น. 252-254

[2] Schulz  Fritz. Classical  Roman  Law. Darmatadt : Scientia  Verlag  Aalen.  1992, P.338

[3] Kaser Max. Das Römische Privatrecht. Menchen : C.H. Beck’sche  Verlagsbuch-handlung,1971 P. 400

[4] Marky  Thomas. Curso  Elementar de Droreito  Romano. 8a ediçà. Sào  Paulo : Saraiva,1995 P.65

[5] Arangio-ruiz. Iatituzioni  di Diritto romano, Napoli : Casa Editrice Drott. Eugenio Jovene,1994 P.179

[6] Rein Wilhelm. Das Privatrecht und der Zivilprozess der Römer, Darmstadt : Scientia Verlag Aalen,1964 ,P.198

[7] Kaser Max. Das Römische Privatrecht. Menchen : C.H. Beck’sche  Verlagsbuch-handlung,1971 P.402

[8] Kaser Max. Das Römische Privatrecht. Menchen : C.H. Beck’sche  Verlagsbuch-handlung,1971 P.402

หมายเลขบันทึก: 307113เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2009 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเยี่ยม มาชม

หาความรู้ทางด้านกฎหมาย

ขอบคุณค่ะ จะคอยติดตามตอนต่อไปค่ะ

ให้กำลังใจ

cheers!!!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท