ลักคณา พบร่มเย็น
อาจารย์ ลักคณา ลักคณา พบร่มเย็น พบร่มเย็น

แนวคิดทฤษฎีการครอบครอง


แนวคิดทฤษฎีการครอบครอง

แนวคิดทฤษฎีการครอบครอง 

 

----------------------------

ทฤษฎีการครอบครอง

----------------------------

          การใช้ทฤษฎีการครอบครองได้ขยายออกไปทั้งในแง่ของทรัพย์ซึ่งบุคคลอาจจะครอบครองได้ และในแง่ของเงื่อนไขทางกฎหมายอันจะทำให้ผู้ถือครองหรือยึดถือทรัพย์ (avait une chose entre les mains) สามารถเป็นผู้ครอบครองได้ตามกฎหมาย ในชั้นต้นทรัพย์ที่บุคคลสามารถครอบครองได้ ประกอบด้วยที่ดิน (fonds de terre) ต่อมาได้ขยายไปถึงสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย และเปิดกว้างให้ทรัพย์ (biens) ทั้งหลายอันอาจเป็นวัตถุแห่งกรรมสิทธิ์ของปัจเจกชนอยู่ในข่ายที่บุคคลสามารถครอบครองได้ [1]

          อย่างไรก็ดี นักนิติศาสตร์โรมันเห็นว่า การครอบครองเป็นอิสระ (independante) จากกรรมสิทธิ์ โดยเหตุนี้ผู้เช่าเลื่อนลอยหรือไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน (precariste) และเจ้าหนี้ผู้รับจำนำทรัพย์ (creancier gagiste) ซึ่งใช้อำนาจทางพฤตินัยเหนือทรัพย์ผู้อื่นเพียงชั่วคราวจึงสามารถได้รับฐานะเป็นผู้ครอบครองและได้รับการคุ้มครองจากคำสั่งของ Praetor ได้โดยไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่าในโรมทฤษฎีการครอบครองมีความสำคัญกับอสังหาริมทรัพย์มากกว่ากับสังหาริมทรัพย์หลายเท่า

            เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษสุดท้ายแห่งสมัยประชาธิปไตย นักนิติศาสตร์จัดประเภทของผู้ครอบครองตามพื้นฐานทางกฎหมายของการครอบครอง (fondement juridique de leur possession หรือคนโรมันเรียกว่า causa possessionis)[2]  Lepointe ให้ความเห็นว่าการครอบครองแต่เดิมเป็นเรื่องตรงไปตรงมา แต่เกิดความซับซ้อนขึ้นเพราะนักนิติศาสตร์พยายามแยกแยะประเภทการครอบครองโดยใช้ causa possessionis (เหตุการครอบครองอันชอบธรรม)  เป็นฐานนั่นเอง [3]

----------------------------------

แนวคิดพื้นฐานการครอบครอง

----------------------------------

            ความเห็นแตกแยกในเชิงพื้นฐาน (diver gences fondamentales) มีเกิดขึ้นระหว่างนักนิติศาสตร์ตลอดสมัยยุคทอง

            สำนักซาบิเนียน (sabininens) เช่น paulus และ Julianus  ซึ่งตามมาด้วย Ulpianus ให้ความสำคัญพื้นฐานแก่ลักษณะความชอบธรรม (juste) และ ไม่ชอบธรรม (injuste) ของการครอบครองละ จัดให้ผู้ถือครองทรัพย์ (detenteurs) เข้าในข่ายการจัดประเภทพื้นฐานของการครอบครอง (causes de possession) ด้วยนักนิติศาสตร์เหล่านี้ยอมรับว่าบุคคล 2 คน อาจครอบครองทรัพย์อย่างเดียวกันทั้งหมด (pour le tout) พร้อมกันได้ (simultanement) โดยที่ฝ่ายหนึ่งครอบครองโดยซอบธรรม และอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชอบธรรม ตามทัศนะของนักนิติศาสตร์เหล่านี้เราถือได้ว่าบุคคลครอบครองทรัพย์นับจากขณะที่เขาได้รับการคุ้มครองจากคำสั่งของ praetor แม้คำสั่งนั้นจะเป็นไปในลักษณะเพียงให้ผู้ถูกรอนสิทธิกลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม (recuperatoire) ก็ตาม

            ส่วนสำนักโพรคิวเลียน (proculiens) และ paulus นั้นพยายามปรับการครอบครองเข้าหา (rapprochant) กรรมสิทธิ์และเห็นว่าบุคคล 2 คน ไม่อาจครอบครองทรัพย์ใดทรัพย์หนึ่งทั้งหมด (pour le tout) พร้อมกัน (simultanement) ได้ อันที่จริงผู้ครอบครองจะมีเพียงผู้เดียว คือ ผู้ซึ่งมีอำนาจควบคุม (maitrise) ทรัพย์นั้นได้  นักนิติศาสตร์สำนักนี้ลดความสำคัญของลักษณะความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมของการครอบครองในความหมายเคร่งครัด (possession propremen dite) ลง โดยกล่าวว่าลักษณะดังกล่าวไม่น่าสนใจนอกจากจะพิจารณาตัวบุคคลที่แน่นอน นักนิติศาสตร์สำนักนี้จำกัดทฤษฎี causa possessionis อยู่เฉพาะการครอบครองมันแตกต่างจากการถือครอง (par opposition de la detention) และถือว่านิติเหตุหรือเหตุชอบธรรม (iusta causa) ในการครอบครองสามารถนำไปสู่การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ได้

------------------------------

การครอบครองอันชอบธรรม

------------------------------

          โดยหลักการแล้วในการเสาะหา causa possessionisu (เหตุการครอบครองอันชอบธรรม)   นักนิติศาสตร์เหล่านี้ดูจากทัศนะของขณะที่มีการได้มาซึ่งการครอบครอง (prise de possession) หรือการเริ่มต้นครอบครอง (initium possessionis) โดยเหตุนี้นักนิติศาสตร์จึงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในทางพฤตินัย ในขณะที่มีการได้มาซึ่งการครอบครอง โดยที่จะถือว่าการครอบครองจะมีลักษณะไม่ชอบธรรม (iniusta) แม้จะมีฐานทางกฎหมายที่ถูกต้องก็ตาม ถ้าเป็นการครอบครองมีข้อบกพร่องหรือมีมลทิน (vicieuse) ในความหมายของกฎหมายโรมันคือได้มาโดยแปดเปื้อนด้วยมลทิน 3 ประการคือ (1) Vi  = การใช้กำลัง (2) clam = โดยไม่เปิดเผย และ  (3) precario = ขออนุญาตให้ครอบครองจากเจ้าของ แต่เจ้าของจะเพิกถอนการอนุญาตเมื่อใดก็ได้

          Legointe ให้อรรถาธิบายว่า causa (เหตุ) ย่อม iusta (ชอบธรรม) และกฎหมายถือว่ามี iusta possessio (การครอบครองโดยชอบธรรม) ถ้าการได้มาซึ่งการครอบครองเป็นไปตามภาวะปกติและชอบธรรม (cironstances normales et justes) ตรงกันข้ามการครอบครองจะถือว่าไม่ชอบธรรม (injuste) ถ้าการได้มาซึ่งการครอบครองที่มีมลทิน (vice) โดยเฉพาะมลทินของความง่อนแง่น คือการครอบครองแบบ precario (ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ และเจ้าของจะเพิกถอนเมื่อใดก็ได้) ปิดบัง หรือ การใช้กำลัง (vice de precante, clandestinite ou violence)

          อันที่จริงผู้ซึ่งเข้าครอบครองทรัพย์โดยการใช้กำลังจะมีการสัมผัสกับทรัพย์และมีอำนาจทางพฤตินัย (pouvoir de fait) เหนือทรัพย์ อย่างไรก็ดีนักนิติศาสตร์ยุคทองเห็นว่าเนื่องจากมี causa iniusta (เหตุอันไม่เป็นธรรม) สถานภาพเช่นนี้ไม่ควรได้รับการคุ้มครองปกติกฎหมายจะให้การคุ้มครองหรือปกป้องกับผู้ซึ่งเข้าครอบครองโดยเปิดเผย (au vu et au su de tous) และการเริ่มต้นการครอบครอง (initium possessionis) เป็นไปโดยสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมาย (parfaitement sain et legitime) เท่านั้น ในขณะเดียวกันนักนิติศาสตร์ในยุคนี้ก็ถือกฎเกณฑ์ว่าไม่มีผู้ใดที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงฐานทางกฎหมายของการครอบครองได้

----------------------

สิทธิการครอบครอง

----------------------

            นับแต่จุดเริ่มต้นของปลายสมัยจักรวรรดิหรือจักรวรรดิต่ำ (Bas Empire) คือนับแต่จักรพรรดิดิโอคลีเซียนซึ่งขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 284 เป็นต้นไป ทฤษฎีการครอบครองได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย (profondes transfomations) และปัญหาเรื่องเจตนา (intention) และความสุจริต (homnete) ของผู้ครอบครองกลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง (capitale) ความคิดใหม่ๆ (notions) ปรากฏขึ้น (ในพระราชบัญญัติของจักรพรรดิคอนสแตนตินใน ค.ศ. 314 ซึ่งแยกแยกระหว่างการครอบครอง quae iure consistit ผู้อื่นมีฐานมาจากกฎหมายหรือสิทธิ กับการครอบครอง quae conpore consistit ผู้อื่นมีฐานทางกายภาพ หรืออินทรีย์เท่านั้น) Monier[4] ชี้ให้เห็นว่าความคิดใหม่เกิดขึ้นจากผลงานของนักบุญ (saint) Augustin และ paulus (ในหนังสือ Sententiae) เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ความคิดใหม่ ยังยอมรับว่าผู้ซึ่งมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองของตน (doutes sur son droit de posseder หรือละตินว่า super iure possessionis) มิใช่ผู้ครอบครองที่แท้จริง (veritable) แม้จะเป็นผู้ยึดถือหรือเก็บรักษาทรัพย์นั้นไว้กับตนก็ตาม (licet corpore teneat)             นับแต่การเกิดความคิดใหม่ขึ้นมาเคียงคู่กับสภาพความเป็นจริงของการครอบครอง (fait de posseder) ก็เกิดมีสิทธิแท้จริงแห่งการครอบครอง (veritable droit de possession) ขึ้นมา

            Lepointe (1958 : 56) ให้อรรถาธิบายเพิ่มเติมว่าเจตนาและความสุจริต(intention et honnetete) มีความสำคัญยิ่งต่อการคุ้มครองการครอบครองในตอนต้นของจักรวรรดิต่ำ ผู้ซึ่งมีข้อสงสัยต่อสิทธิที่จะครอบครองของตนย่อมมิใช่ผู้ครอบครองที่แท้จริง(veritable) และแม้เขาจะยืดถือทรัพย์อยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ (detention indeniable) ก็ตามกฎหมายเห็นว่าเขาไม่สมควรได้รับการคุ้มครองและเขาไม่ใช่ผู้ครอบครองที่แท้จริง (vrai) โดยเหตุนี้จึงมีการแยกแยะระหว่างการครอบครองตามกฎหมายหรือตามสิทธิ (possession de droit) และการครอบครองตามความเป็นจริง (possession de fait) หรือการครอบครองที่มีเหตุสนับสนุน (justifiee) และไม่มีเหตุสนับสนุน (injustifiee) กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือการครอบครองโดยสุจริต (de bonne foi) และโดยไม่สุจริต (de mauvaise foi) นั่นเอง

-------------------------------------------------------------------------------

ข้อแตกต่างระหว่างผู้ครอบครองโดยสุจริต (de bonne foi) กับโดยไม่สุจริต (de mauvaise foi)

-------------------------------------------------------------------------------

          การครอบครองโดยสุจริตกับโดยไม่สุจริต มีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก กฎหมายจัดเข้าอยู่ภายใต้ชื่อ possessor bonae fidei (ผู้ครอบครองโดยสุจริต) ซึ่งบุคคลต่อไปนี้ : ผู้ครอบครองทุกคนมันมีการครอบครอง ซึ่งมีเหตุผลสนับสนุนจากการที่ได้มาโดยชอบธรรม (iuste titre d' acquisition) และผู้ซึ่งครอบครองในฐานะผู้ทรงกรรมสิทธิ์ ตรงกันข้ามภายใต้ชื่อ possessor malae fidei (ผู้ครอบครองโดยไม่สุจริต) นักนิติศาสตร์จัดผู้ครอบครองทุกคนมันมีการครอบครองซึ่งแปดเปื้อนด้วยมลทิน (vice) ของความรุนแรง (violence) การไม่เปิดเผย (clandestmite) หรือการมีฐานะง่อนแง่น (precarite)

            Lepointe[5] (1958 : 56) ขยายความว่าความสุจริต (bonne foi) หรือละตินเรียกว่า bona fides) นั้นหมายถึงความเชื่อ (croyance) อันอาจจะเป็นความสำคัญผิด(erronee) ก็ได้ว่าตนเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์โดยแท้จริง (vraiment) ความเชื่อดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในกรณีเช่นบุคคลคนหนึ่งได้มา (a acquis) ซึ่งทรัพย์จากอีกคนหนึ่งโดยเชื่อว่าบุคคลนี้เป็นเจ้าของโดยแท้จริง (veritable proprietaire) ศาสตร์จารย์พิเศษ ประชุม โฉมฉาย เห็นว่าความเชื่อจะเป็นความสุจริตได้ ก็ต่อเมื่อเห็นความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าตนเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์เพราะการได้มาซึ่งทรัพย์จากเจ้าของโดยแท้จริง

          ในสมัยจักรวรรดิต่ำ (Bas-Empire) ผู้ครอบครองโดยสุจริตมีข้อได้เปรียบหลายประการ

          (1) ดอกผลของทรัพย์ย่อมตกเป็นของเขา นั่นก็คือดอกผลเป็นของเขาโดยชอบด้วยกฎหมาย (legitimement) ฉะนั้นเขาจึงสามารถใช้ (consommer) ได้โดยเสรีเพราะเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ในดอกผลดังกล่าว

          (2) เขาสามารถได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์ (usucapion) ถ้ากำหนดเวลาตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว

          (3) เขาสามารถฟ้องคดีพูบลิชิอานา (Publiciana หรือ publicienne) ได้

          (4) ถ้าเขาทำทรัพย์หายไป praetor ก็จะคุ้มครองเขาในลักษณะหนึ่ง และ

          (5) เขามีฐานะเป็นจำเลยถ้ามีผู้มาฟ้องคดีเอาคืน (revendication) ซึ่งทรัพย์โดยผู้ฟ้องแสดงตนว่าเป็นเจ้าของทรัพย์ที่เขาครอบครองอยู่

          ภายใต้จักรวรรดิต่ำ (Bas-Empire) ทางออกในลักษณะพิเศษ (exceptiomelles) ซึ่งนักนิติศาสตร์ยุคทองให้ไว้เป็นการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติ (but pratique) ได้นำมาใช้กับกรณีทั่วไป (generalisees) และภายใต้จัสติเนียนทางออกเหล่านี้ได้กลายเป็นฐานของหลักในทางทฤษฎีที่ตรงกันข้ามกับฐานในทางทฤษฎีของยุคทองโดยสิ้นเชิง[6]

-------------

บทสรุป

--------------

          การครอบครองเป็นอิสระ (independante) จากกรรมสิทธิ์  โดยนิติเหตุหรือเหตุชอบธรรม (iusta causa) ในการครอบครองสามารถนำไปสู่การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ได้ อย่างไรก็ตาม การครอบครองตามกฎหมายหรือตามสิทธิโดยสุจริตและโดยไม่สุจริต ย่อมมีผลต่อการได้สิทธิครอบครอง

 

 

 

 

 

 


[1]Monier Raymond. Mauel Elémentaire de Droit Romain, Tome I en, Paris : Edition Domat Montchestien, 1947,P.385

[2] Lepointe  Gabriel, Droit Romain et Ancien Proit Français (Droit des beins). Paris : Dalloz, 1958, P. 55

[3]อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 1, น.385

[4] อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 1 , น. 386

[5] อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 2, น.56)

[6] อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 1, น.187

หมายเลขบันทึก: 307112เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2009 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท