การจดทะเบียนการเกิด ภาคแรก


การแจ้งเกิด

การจดทะเบียนการเกิด

หลักการทั่วไป

พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดหลักการเรื่องการแจ้งการเกิดของเด็กทุกคนที่เกิดในราชอาณาจักรไทยไม่ว่าจะเป็นบุตรของคนสัญชาติไทย หรือเป็นบุตรของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นบุตรของผู้หลบหนีเข้าเมือง  ถ้ามีคนเกิดผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิด ได้แก่ บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือเจ้าบ้านที่เด็กเกิด แล้วแต่กรณี ต้องแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง  ณ สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่เด็กเกิด หรือจะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นที่บิดา มารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก็ได้ โดยนายทะเบียนต้องรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้ผู้แจ้งตามข้อเท็จจริงเท่าที่จะสามารถทราบได้
การแจ้งการเกิด แบ่งออกเป็น 
๑.     การแจ้งคนเกิดในบ้านหรือเกิดนอกบ้าน
๒.    การแจ้งการเกิดต่างสำนักทะเบียน
๓.    การแจ้งการเกิดเกินกำหนด
๔.    การแจ้งการเกิดกรณีเด็กด้อยโอกาส
๑. การแจ้งคนเกิดในบ้านหรือเกิดนอกบ้าน
กฎหมาย
พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔
มาตรา ๑๘  เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิด ดังต่อไปนี้
           (๑) คนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดในบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด
           (๒) คนเกิดนอกบ้าน ให้บิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดนอกบ้านหรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด  ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด ให้แจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเกิด
           การแจ้งตาม (๑) และ (๒) ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งแจ้งชื่อคนเกิดด้วย
 
กฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. ๒๕๕๑
          ข้อ ๓  เมื่อมีคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเกิดหรือตาย ให้บุคคลตามมาตรา ๑๘ หรือตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ แจ้งการเกิดหรือการตาย แล้วแต่กรณี
ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติ
ก. เด็กเกิดในบ้าน (อาคารที่มีบ้านเลขที่ รวมถึงสถานพยาบาลทั้งของหน่วยงานรัฐและเอกชน)
         ○ ผู้แจ้ง ได้แก่   บิดา หรือมารดา หรือเจ้าบ้านที่เด็กเกิด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบิดา มารดาหรือเจ้าบ้าน
         ○  ระยะเวลาการแจ้ง   ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันเกิด
         ○  สำนักทะเบียนที่แจ้งการเกิด  สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่เด็กเกิด
         ○ ขั้นตอนการแจ้ง
             ๑. ผู้แจ้งแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียน ได้แก่
                (๑) บัตรประจำตัวผู้แจ้ง และ บัตรประจำตัวของบิดา มารดา (ถ้ามี)
                (๒) สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสำเนาทะเบียนประวัติของบิดา มารดา (ถ้ามี)
                (๓) สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่จะเพิ่มชื่อเด็กที่เกิด
                (๔) หนังสือรับรองการเกิดตามแบบ ท.ร.๑/๑  ที่ออกให้โดยโรงพยาบาลหรือ สถานพยาบาลที่เด็กเกิด (กรณีเด็กเกิดในสถานพยาบาล)
                (๕) ใบรับแจ้งการเกิดตามแบบ ท.ร.๑  ตอนหน้า( กรณีแจ้งเกิดกับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน )
                (๖) หนังสือมอบหมาย (ถ้ามี)
              ๒. นายทะเบียน
                 (๑) ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้แจ้ง
                 (๒) ตรวจสอบรายการบุคคลของเด็กที่แจ้งเกิดกับฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรว่าเด็กมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่
                  (๓) ลงรายการในสูติบัตร ท.ร.๑ สำหรับเด็กที่ได้สัญชาติไทย  ท.ร.๓  สำหรับเด็กซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย หรือ ท.ร.๐๓๑ สำหรับเด็กที่เป็นบุตรของคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง
                 (๔) เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่เด็กเกิด (ท.ร.๑๔ หรือ ท.ร.๑๓ แล้วแต่กรณี) หรือทะเบียนประวัติ (ท.ร.๓๘ ก.) กรณีบุตรของคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง
                 (๕) มอบสูติบัตร ตอนที่ ๑ และหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง
                 ๓. กรณีเด็กเกิดและได้รับสูติบัตร ท.ร. ๑ หรือ ท.ร. ๓ เป็นคนในท้องที่ ให้นายทะเบียนเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ หรือ ท.ร.๑๓ ของบิดา มารดา หากบิดามารดาไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียน แต่ถ้าเด็กที่เกิดเป็นคนต่างท้องที่ ให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกลาง (ท.ร.๑๔ หรือ ท.ร.๑๓) ของสำนักทะเบียนแล้วแต่กรณี แล้วให้แนะนำผู้แจ้งดำเนินการแจ้งการย้ายที่อยู่เด็กที่เกิดใหม่ไปยังภูมิลำเนาที่บิดา มารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายอาศัยอยู่
                ๔. ถ้าเด็กที่เกิดและได้รับสูติบัตร ท.ร.๐๓๑ ให้นายทะเบียนเพิ่มชื่อในทะเบียนประวัติ ท.ร. ๓๘ ก ของบิดา มารดา  แต่ถ้าบิดามารดาไม่มีทะเบียนประวัติให้เพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนประวัติของสำนักทะเบียน
ข. เด็กเกิดนอกบ้าน เช่น ศาลาที่พักผู้โดยสาร ห้างนา รถยนต์ เรือยนต์ เป็นต้น
        ○ ผู้แจ้ง   ได้แก่บิดา หรือมารดา หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบิดาหรือมารดา
        ○ ระยะเวลาการแจ้ง  ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันเกิด เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นให้แจ้งภายหลังได้      แต่ต้องไม่เกิน ๓๐ วันนับแต่วันเกิด
        ○ สำนักทะเบียนที่แจ้ง  สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่เด็กเกิด หรือท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้
        ○ ขั้นตอนการแจ้ง
          ๑. ผู้แจ้งแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียน ได้แก่
             (๑) บัตรประจำตัวของผู้แจ้ง และบัตรประจำตัวของบิดามารดา (ถ้ามี)
             (๒) สำเนาทะเบียนบ้านหรือสำเนาทะเบียนประวัติของบิดามารดา (ถ้ามี)
             (๓) สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่จะเพิ่มชื่อเด็กที่เกิด
             (๔) ใบรับแจ้งการเกิด ตามแบบ ท.ร.๑ ตอนหน้า ( กรณีแจ้งเกิดกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน)
             (๕) หนังสือมอบหมายให้แจ้งการเกิดแทน (ถ้ามี)
           ๒. นายทะเบียน
              (๑) ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้แจ้ง
              (๒) ตรวจสอบรายการบุคคลของเด็กที่แจ้งการเกิดกับฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร
              (๓) ลงรายการในสูติบัตร ท.ร.๑ สำหรับเด็กที่มีสัญชาติไทย  หรือ ท.ร.๓ สำหรับเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทย หรือ ท.ร.๐๓๑  สำหรับเด็กที่เป็นบุตรของคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง
              (๔) เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ท.ร. ๑๔ หรือ ท.ร. ๑๓) หรือทะเบียนประวัติ  (ท.ร.๐๓๑) โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีเด็กเกิดในบ้าน
              (๕) มอบสูติบัตร ตอนที่ ๑ และหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง 
              (๖) กรณีเด็กที่เกิดเป็นคนท้องที่อื่น ให้แนะนำผู้แจ้งการเกิดแจ้งย้ายที่อยู่เด็กเกิดใหม่ไปยังภูมิลำเนาที่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายอาศัยอยู่
 
๒. การแจ้งการเกิดต่างสำนักทะเบียน
                กฎหมาย
พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑
               มาตรา ๑๘ วรรคสาม  ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การแจ้งตามวรรคหนึ่งจะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการเกิดหรือการตายต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่อื่น พ.ศ. ๒๕๕๑
               ข้อ ๑  ในกรณีผู้มีหน้าที่แจ้งการเกิดตามมาตรา ๑๘ (๑) หรือ (๒) ยังมิได้แจ้งการเกิด และคนซึ่งเกิดนั้นมีภูมิลำเนาปัจจุบันอยู่ต่างท้องที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่เกิด  บิดา มารดา ผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว แล้วแต่กรณี จะแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของคนซึ่งเกิดนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก็ได้
               การแจ้งการเกิดตามวรรคหนึ่ง ผู้แจ้งการเกิดต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการเกิดของคน     ซึ่งจะแจ้งการเกิดที่ออกให้โดยโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่คนนั้นเกิด และพยานบุคคลไม่น้อยกว่า สองคนซึ่งสามารถยืนยันความเป็นบิดาหรือมารดาของคนดังกล่าวได้ 
               ในกรณีไม่มีหนังสือรับรองการเกิด ผู้แจ้งการเกิดอาจใช้ผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์ เช่น การตรวจสารพันธุกรรม ที่ตรวจพิสูจน์จากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความเป็นบิดาหรือมารดาและบุตรแทนก็ได้
 
           ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติ
           ○ ผู้แจ้ง ได้แก่   บิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิด หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
           ○  ระยะเวลาการแจ้ง   ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันเกิด
           ○  สำนักทะเบียนที่แจ้งการเกิด  สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่บิดา มารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
           ○ ขั้นตอนการแจ้ง
             ๑. ผู้แจ้ง  ได้แก่บิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ของเด็กที่เกิด หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครองแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียน ได้แก่
               (๑) บัตรประจำตัวผู้แจ้งและบัตรประจำตัวของบิดา มารดา  (ถ้ามี)
               (๒) สำเนาทะเบียนบ้านที่ปรากฏชื่อบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของเด็กที่เกิด
               (๓) หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ที่ออกให้โดยโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่เด็กเกิด  หรือ ผลการตรวจ  ดีเอ็นเอ ที่ตรวจพิสูจน์จากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งแสดงความ สัมพันธ์การเป็นบิดามารดาของเด็กที่เกิดอย่างใดอย่างหนึ่ง
               (๔) หนังสือมอบหมายให้แจ้งการเกิดแทน (ถ้ามี)
               (๕) พยานบุคคลที่น่าเชื่อถืออย่างน้อย ๒ คน
           ๒. นายทะเบียน
              (๑) ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานของผู้แจ้ง
              (๒) ตรวจสอบรายการบุคคลของเด็กที่แจ้งเกิดกับฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรว่าเด็กมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่
              (๓) สอบสวนผู้แจ้งให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่แจ้งการเกิด ณ สำนักทะเบียนแห่งท้องที่ที่เด็กเกิด ประวัติของเด็กที่เกิด และสถานที่อยู่ปัจจุบันของเด็กและบิดา มารดาหรือผู้ปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย
              (๔) สอบสวนพยานบุคคลให้ทราบประวัติของเด็กที่แจ้งเกิดและบิดา มารดา
              (๕) เมื่อเห็นว่าเด็กที่เกิดเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรโดยยังไม่ได้แจ้งการเกิด และมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่กับบิดา มารดา หรือผู้ปกครองซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตท้องที่ ให้ออกสูติบัตร (ท.ร.๑ หรือ ท.ร.๓ แล้วแต่กรณี)
               (๖) เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ๒๐ บาท
               (๗) เพิ่มชื่อเด็กที่เกิดในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ท.ร.๑๔ หรือ ท.ร.๑๓ แล้วแต่กรณี)
               (๘) มอบสูติบัตร ตอนที่ ๑ พร้อมทั้งหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง
 
๓. การแจ้งการเกิดเกินกำหนด
                กฎหมาย
พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑
                มาตรา ๑๙/๓  ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเจ้าบ้านหรือบิดามารดามิได้แจ้งการเกิดให้ตามมาตรา ๑๘ อาจร้องขอต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเพื่อแจ้งการเกิดได้ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดและให้นำความในมาตรา ๑๙/๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
                ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองแจ้งแทนได้ แต่สำหรับกรณีของบิดามารดาให้นายทะเบียนดำเนินการให้ต่อเมื่อได้ชำระค่าปรับตามที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเปรียบเทียบตามมาตรา ๔๗ (๒) และมาตรา ๕๑ แล้ว
                มาตรา ๑๙/๒  การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา ๑๙ และมาตรา ๑๙/๑ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐานตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด 
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็ก     เร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง พ.ศ. ๒๕๕๑
                ข้อ ๓  ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตรวจสอบความถูกต้องของพยานเอกสาร และความครบถ้วนสมบูรณ์ของประเด็นการสอบสวนพยานบุคคล แล้วรวบรวมหลักฐานพร้อมเสนอความเห็นไปยังนายอำเภอแห่งท้องที่ที่สำนักทะเบียนนั้นตั้งอยู่ภายในระยะเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการเกิด โดยให้สรุปความเห็นพร้อมระบุเหตุผลประกอบว่าเด็กที่ขอแจ้งการเกิดเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรหรือไม่ และเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ได้สัญชาติไทย หรือไม่สามารถยืนยันสถานะ        การเกิดและสัญชาติของเด็ก ทั้งนี้ให้นายอำเภอพิจารณาและแจ้งผลให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความเห็น
                ข้อ ๔  การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กที่แจ้งการเกิดตามข้อ ๒ ให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร รวมถึงหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทยหรือไม่ได้สัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ โดยให้นายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น และนายอำเภอ พิจารณาปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็ก และความเป็นไปได้ในการแสวงหาพยาน หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรงประกอบด้วย
                ข้อ ๕  หากนายอำเภอมีความเห็นว่าไม่สามารถยืนยันสถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กได้ ให้แจ้งนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐานตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดตามมาตรา ๑๙/๒ พร้อมทั้งให้แจ้งความเห็นของนายอำเภอให้ผู้แจ้งการเกิดทราบเป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความเห็นของนายอำเภอ ...
 
          ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติ
          ○ ผู้แจ้ง ได้แก่
             (๑) บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง(สำหรับกรณีบุคคลที่จะแจ้งการเกิดยังไม่บรรลุนิติภาวะ)
             (๒) ผู้ที่ยังไม่ได้แจ้งการเกิดแจ้งด้วยตนเอง กรณีบรรลุนิติภาวะแล้ว
          ○ ระยะเวลาการแจ้ง  ตั้งแต่วันพ้นกำหนด ๑๕ วันนับแต่วันที่เกิด
          ○ สำนักทะเบียนที่แจ้งการเกิด  ได้แก่
             (๑) สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่เกิด หรือ
             (๒) สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นอื่นที่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (กรณีแจ้งการเกิดต่างสำนักทะเบียน)
 ก. การแจ้งการเกิดเกินกำหนดของผู้มีสัญชาติไทย
       ○ ขั้นตอนการแจ้ง
       ๑. ผู้แจ้งแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียน ได้แก่
             (๑) บัตรประจำตัวของผู้แจ้ง (กรณีที่ไม่ได้แจ้งการเกิดให้กับตัวเอง)
             (๒) บัตรประจำตัวหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของเด็ก     (ถ้ามี) 
             (๓) สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ที่มีชื่อบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของเด็ก (ถ้ามี)
             (๔) รูปถ่ายของเด็กขนาด ๒ นิ้ว จำนวน ๒ รูป
             (๕) หนังสือมอบหมายให้แจ้งการเกิดแทน (ถ้ามี)
             (๖) หนังสือรับรองการเกิด ตามแบบ ท.ร. ๑/๑ (กรณีเด็กเกิดในสถานพยาบาลและต้องการแจ้งการเกิดต่างสำนักทะเบียน)
              (๗) ผลการตรวจ ดีเอ็นเอ (กรณีแจ้งเกิดต่างสำนักทะเบียน และไม่มีหนังสือรับรองการเกิด)
          ๒. นายทะเบียน
             (๑) ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ของผู้แจ้ง
             (๒) กรณีที่นายทะเบียนที่รับแจ้ง มิใช่นายทะเบียนแห่งท้องที่ที่บุคคลนั้นเกิด ให้นายทะเบียนตรวจหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. ๑/๑) หรือผลการตรวจ ดีเอ็นเอ ที่ตรวจพิสูจน์จากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งแสดงความสัมพันธ์การเป็นบิดาหรือมารดาของบุคคลที่เกิด และสำเนาทะเบียนบ้านที่ปรากฏชื่อบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ของคนที่เกิดซึ่งต้องเป็นทะเบียนบ้านในเขตท้องที่สำนักทะเบียนที่แจ้งเกิด
             (๓) ตรวจรายการบุคคลในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรว่ามีการแจ้งการเกิดและมีรายการบุคคลของคนที่เกิดในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่
              (๔) เปรียบเทียบปรับ กรณีการแจ้งเกิดภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่พ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้แจ้ง (๑๕ วัน หรือ ๓๐ วัน แล้วแต่กรณี)
              (๕) ออกใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร.๑๐๐) ให้กับผู้แจ้งการเกิด
              (๖) ถ้าเด็กที่ขอแจ้งเกิดมีอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นไปให้รวบรวมหลักฐานและเสนอความเห็นไปยังนายอำเภอท้องที่ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการเกิด เพื่อพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติ โดยให้สรุปความเห็นพร้อมระบุเหตุผลประกอบว่าบุคคลที่ขอแจ้งการเกิดเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรหรือไม่ และเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือไม่ได้สัญชาติไทย หรือไม่สามารถยืนยันสถานะการเกิดและสัญชาติของผู้ที่เกิด  
              (๗) กรณีการแจ้งการเกิดสำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกินเจ็ดปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นคำร้อง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น พิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กที่เกิดแทนนายอำเภอ
              (๘) ถ้าผลการพิจารณาสถานะการเกิด และสัญชาติปรากฎว่าบุคคลที่แจ้งการเกิดเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรและเป็นผู้มีสัญชาติไทยให้นายทะเบียนออกสูติบัตร (ท.ร.๒) ให้แก่ผู้แจ้ง
              (๙) เพิ่มชื่อบุคคลที่เกิดเข้าในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) หรือทะเบียนบ้านกลาง (ท.ร.๑๔) แล้วแต่กรณี
              (๑๐) ถ้าผลการพิจารณาปรากฏว่าบุคคลที่แจ้งการเกิดไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยหรือไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของบุคคลดังกล่าวได้ ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนประวัติ (ท.ร.๓๘ ก)ให้บุคคลนั้นเป็นบุคคลประเภท 0 โดยใช้เลขที่บ้านของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
               (๑๑) กรณีแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่อื่นซึ่งมิใช่ท้องที่ที่บุคคลนั้นเกิดต้องเก็บค่าธรรมเนียมการแจ้งการเกิดต่างท้องที่  ฉบับละ ๒๐ บาท
 
ข. การแจ้งการเกิดเกินกำหนดของผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่เกิดในราชอาณาจักร
        ○ ขั้นตอนการแจ้ง
              ๑. ผู้แจ้งแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียน ได้แก่
              (๑) บัตรประจำตัวของผู้แจ้ง
              (๒) บัตรประจำตัวหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของเด็ก       (ถ้ามี)
              (๓) สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๔ หรือ ท.ร.๑๓) ที่มีชื่อบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของเด็ก (ถ้ามี)
              (๔) รูปถ่ายของเด็กขนาด ๒ นิ้ว จำนวน ๒ รูป
              (๕) หนังสือมอบหมายให้แจ้งการเกิดแทน (ถ้ามี)
              (๖) หนังสือรับรองการเกิด ตามแบบ ท.ร.๑/๑ (กรณีเด็กเกิดในสถานพยาบาลและต้องการแจ้งการเกิดต่างท้องที่)
              (๗) ผลการตรวจ ดีเอ็นเอ (กรณีแจ้งเกิดต่างสำนักทะเบียน และไม่มีหนังสือรับรองการเกิด)
           ๒. นายทะเบียน
              (๑) ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ของผู้แจ้ง
              (๒) กรณีที่นายทะเบียนที่รับแจ้ง มิใช่นายทะเบียนแห่งท้องที่ที่บุคคลนั้นเกิดให้นายทะเบียนตรวจหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) หรือผลการตรวจ ดีเอ็นเอ ที่ตรวจพิสูจน์จากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งแสดงความสัมพันธ์การเป็นบิดาหรือมารดาของบุคคลที่เกิด และสำเนาทะเบียนบ้านที่ปรากฏชื่อบิดามารดาหรือผู้ปกครองของบุคคลที่เกิดซึ่งต้องเป็นทะเบียนบ้านในเขตท้องที่สำนักทะเบียนที่แจ้งการเกิด
              (๓) ตรวจรายการบุคคลในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรว่ามีการแจ้งการเกิดและมีรายการบุคคลของคนที่เกิดในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่
              (๔) เปรียบเทียบปรับ กรณีการแจ้งเกิดภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่พ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด      ให้แจ้ง (๑๕ วัน หรือ ๓๐ วัน แล้วแต่กรณี)
              (๕) ออกใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร.๑๐๐) ให้กับผู้แจ้งการเกิด
              (๖) ถ้าเด็กที่ขอแจ้งเกิดมีอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นไปให้รวบรวมหลักฐานและเสนอความเห็นไปยังนายอำเภอท้องที่ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการเกิด เพื่อพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติโดยให้สรุปความเห็นพร้อมระบุเหตุผลประกอบว่าบุคคลที่ขอแจ้งการเกิดเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรหรือไม่ เป็น   ผู้มีสัญชาติไทย  หรือไม่ได้สัญชาติไทย  หรือไม่สามารถยืนยันสถานะการเกิดและสัญชาติของผู้ที่เกิด
              (๗) กรณีการแจ้งการเกิดสำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกินเจ็ดปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นคำร้อง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นรับผิดชอบการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กที่เกิดแทนนายอำเภอ
              (๘) ถ้าผลการพิจารณาสถานะการเกิดและสัญชาติปรากฏว่า บุคคลที่แจ้งการเกิดเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรและเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้นายทะเบียนออกสูติบัตร (ท.ร. ๓) ให้แก่ผู้แจ้ง
              (๙) เพิ่มชื่อบุคคลที่เกิดเข้าในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓) หรือทะเบียนบ้านกลาง (ท.ร.๑๓) แล้วแต่กรณี
              (๑๐) ถ้าผลการพิจารณาปรากฎว่าบุคคลที่แจ้งการเกิดไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยหรือไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของบุคคลดังกล่าวได้ ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนประวัติ (ท.ร. ๓๘ ก) ให้บุคคลนั้นเป็นบุคคลประเภท 0 โดยใช้เลขที่บ้านของบิดา มารดาหรือผู้ปกครอง
              (๑๑) กรณีแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่อื่นซึ่งมิใช่ท้องที่ที่บุคคลนั้นเกิดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ฉบับละ ๒๐ บาท
 
คำสำคัญ (Tags): #การแจ้งเกิด
หมายเลขบันทึก: 306559เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2009 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท