การศึกษาบริการทางการเงินของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ (บทนำ)


1.  ความสำคัญและปัญหา

       หน่วยงานภาครัฐมีนโยบายในการส่งเสริมการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนโดยทั่วไปในประเทศไทย โดยเฉพาะประชาชนระดับรากหญ้าได้มีการกำหนดแผนแม่บทการเงินระดับฐานรากเพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของภาครัฐได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานแสดงความเป็นนิติบุคคลหรือสถานะของบุคคล ซึ่งบุคคลที่มีปัญหาต่อการขอรับการบริการทางการเงินของภาครัฐมากที่สุดคือ บุคคลที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายที่จะแสดงว่าบุคคลคนนั้นเป็นคนมาจากรัฐใดและสัญชาติใด ทั้งที่ในความเป็นจริงบุคคลเหล่านี้เป็นคนไทยแต่ไม่ได้รับการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ถูกปฏิเสธในการขอรับบริการทางสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐ เพราะเป็นบุคคลที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ แสดงว่าเป็นคนไทย

       บุคคลกลุ่มนี้จึงเป็นปัญหาสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยศึกษา ปัญหา ข้อเท็จจริงของบุคคลที่ตกอยู่ในสถานะเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติเพื่อหาทางให้ความช่วยเหลือให้เป็นบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถเข้ารับบริการของภาครัฐได้เฉกเช่นคนไทยที่พึงได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน

 2.  วัตถุประสงค์ของการศึกษา

       วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการศึกษาในเรื่องนี้เพื่อ

       (1)  ศึกษาปัญหาการได้รับบริการทางการเงินของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

       (2)  ศึกษาปัญหา อุปสรรคของกฎหมายที่เกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินแก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติเพื่อผ่อนคลายกฎ ระเบียบของกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นและเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน

        (3) วิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคของการเข้ารับบริการทางการเงินของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในเชิงลึกเพื่อหาวิธีการให้ความช่วยเหลือคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้เป็นบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมายไทย

        (4) เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการให้บริการทางการเงินแก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการทางการเงินแก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย

        (5)  เป็นการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่มีปัญหาทางสังคมให้เป็นบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นการสร้างระบบการบริหารจัดการทางการเงินซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในการจัดเก็บภาษีจากการทำธุรกรรมทางการเงินของบุคคลกลุ่มนี้ที่เข้ามาใช้บริการ

 3.  ขอบเขตของการศึกษา

               ประการแรก ศึกษากฎหมาย กฎ ระเบียบและวิธีการเกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อพิจารณาข้อจำกัดและหาวิธีการผ่อนคลายระเบียบเพื่อกำหนดแนวทาง   ในการให้ความช่วยเหลือคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้สามารถได้รับบริการทางการเงินในประเทศไทยได้โดยสะดวก

               ประการที่สอง หน่วยงานที่ทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัทประกันภัย และโรงรับจำนำ

               ประการที่สาม ระยะเวลาที่ทำการศึกษาได้รวบรวมข้อมูลในช่วงปี 2549 – 2552 เพื่อศึกษาปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งไม่ได้รับความสะดวกในการขอรับบริการทางการเงินจากภาครัฐ เพื่อนำปัญหาดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขและร่วมกันกำหนดกรอบทิศทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับคนไร้รัฐไร้สัญชาติได้ตรงกับปัญหาที่ต้องการให้มีการแก้ไขมากที่สุด

 4. วิธีการศึกษา

               ในการศึกษานี้จะทำการศึกษาด้วยกระบวนการวิธีใน 5 ลักษณะ ดังนี้

               ลักษณะที่ 1 การศึกษาผ่านการสัมภาษณ์ตัวบุคคล

               คือ การสัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการเงิน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย โรงรับจำนำ สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน

               ลักษณะที่ 2 การศึกษาผ่านการวิจัยเชิงเอกสาร

               คือ เป็นการศึกษาเอกสารใน 2 ระดับ ได้แก่

               การศึกษาในระดับปฐมภูมิ ได้แก่ การศึกษากฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่งที่เกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน และ

               การศึกษาในระดับทุติยภูมิ ได้แก่ การศึกษารายงานผลการศึกษา ตลอดจนแนวคิด หรือข้อเสนอแนะจากการประชุม/เสวนาทางวิชาการในรูปแบบของเอกสาร

               ลักษณะที่ 3  การศึกษาโดยการออกแบบสอบถาม

               คือ การออกแบบสอบถามเพื่อสอบถามข้อมูลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในการขอรับบริการทางการเงินจากภาครัฐว่ามีปัญหาและอุปสรรคเป็นอย่างไรเพื่อภาครัฐจะได้ปรับปรุงแก้ไขหรือหาวิธีผ่อนคลายระเบียบเพื่อแก้ไขปัญหาและความเดือดร้อนที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติได้รับ

               ลักษณะที่ 4 การศึกษาผ่านการมีหนังสือขอข้อมูล/หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

               คือ การมีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการเงิน ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และสถานธนานุบาล เป็นต้น

               ลักษณะที่ 5 การศึกษาผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือการรับฟังความคิดเห็นจากเวทีการเสวนาทางวิชาการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการเงินและปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

 5.  ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

               1. การนำปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการทางการเงินในประเทศไทยมาเป็นกรณีศึกษา และวิเคราะห์ปัญหาในเชิงลึกเพื่อหาวิธีการให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติสามารถเข้ารับการให้บริการทางการเงินได้โดยสะดวก

               2. การให้ความช่วยเหลือ หรือหาแนวทางการผ่อนคลายระเบียบ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินที่เป็นปัญหากับคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้มีความยืดหยุ่นและเป็นประโยชน์ต่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติในการขอใช้บริการจากภาครัฐ

               3. เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในการขอรับบริการทางการเงินจากภาครัฐและกำหนดกรอบวิธีการในการให้ความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาของสังคมให้กับประเทศชาติ รวมทั้งสามารถเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติได้ทำธุรกรรมทางการเงินในประเทศไทยได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น 

 

หมายเลขบันทึก: 305126เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทำได้ตามนี้ ครบถ้วนแล้วยังคะ

อยากที่เคยพูดนะคะ หากเรามองจากมุมของมนุษย์ว่า มีสิทธิ จะง่ายกว่านะคะ ลองคิดดูไหมคะ ต้องลองนะ ถ้าเราเป็นรัฐนะคะ มันจะยากกว่า เพราะในความเป็นจริง รัฐไทยไม่มีแนวคิดมนุษย์นิยม แม้กฎหมายจะบังคับอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท