เกษตร


มหัศจรรย์สมุนไพรไทย
Amazing Thai Medicinal Plants
................................................................................................................................................
งามผ่อง คงคาทิพย์ บุญส่ง คงคาทิพย์ จักร แสงมา สีดา พลนาคู อรุณรัตน์ สัณฐิติกวินสกุล จาณียา ขันชะลี
คงเดช สวาทพันธุ์ สุวรรณา จันทนา ปกรณ์ วรรธนะอมร และ เอมอร ทองเป็นใหญ่

หน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและ เคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS) ภาควิชาเคมี
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

          สมุนไพร หมายถึง พืช สัตว์ จุลินทรีย์และแร่ธาตุ
ที่สามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคได้ปัจจุบันกระแสการ
กลับมาใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของประชาชนในซีกโลก
ตะวันตกมีมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ความนิยมและ
ทัศนคติต่อสมุนไพรไทยของคนไทยก็มีมากขึ้น
เนื่องจากสมุนไพรมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน
โดยสมุนไพรสามารถใช้เป็นยาช่วยรักษาบรรเทาอาการ
หรือเป็นอาหารเสริมในการป้องกัน การเกิดโรคต่าง ๆ ได้

       หน่วยปฏิบัติการวิจัยของเราได้เห็นคุณค่าของสมุนไพร
ไทยเป็นอย่างยิ่ง และมีความหวังว่าสมุนไพรไทยจะนำความ
มหัศจรรย์มาให้กับประเทศของเรา ดังนั้น การวิจัยที่หน่วย
ปฏิบัติการทำอยู่ คือ ทำการสกัด การแยกสารออกฤทธิ์ ทดสอบ
การออกฤทธิ์และสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ พร้อมทั้งทำการพัฒนา
  โครงสร้างของสารให้ออกฤทธิ์ดีขึ้น โดยการศึกษาทางด้าน
คอมพิวเตอร์ และ นำมาสังเคราะห์เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ทาง
ด้านการที่จะนำไปใช้เป็นยารักษาโรคได้ หรือได้สารออกฤทธิ์
ที่ใช้เป็นสารสำคัญในการควบคุมสมุนไพรชนิดนั้น ๆ

        สมุนไพรที่นำมาทำวิจัย จะเป็นสมุนไพรที่แพทย์โบราณ
นิยมใช้รักษาโรคต่าง ๆ ที่พบบ่อยในเมืองไทย ได้แก่ โรคเบาหวาน
โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งและโรคเอดส์ นอกจาก
นั้นหน่วยปฏิบัติการวิจัยของเรายังทำวิจัยสมุนไพรที่นำไปใช้เป็น
ส่วนประกอบของเครื่องสำอางและสมุนไพรที่ใช้ควบคุมแมลงโดย
ร่วมกับสถาบันค้นคว้าและผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรม
เกษตร (KAPI)

 

1. บอระเพ็ด (Tinospora crispa ) ; วงศ์ : Menispermaceae
ลักษณะ :
เป็นไม้เถา เปลือกหุ้มเถา เป็นตะปุ่มตะป่ำตลอดเถา ใบกลมมนสีเขียว ปลายใบแหลม ฐานใบ คล้ายรูปหัวใจ
แหล่งกำเนิด : พบทั่วไป
สรรพคุณ : ยาบำรุงหัวใจ ลดน้ำตาลในเลือดและลดความดันโลหิตสูง

 

งานวิจัยที่ทำ : พบว่าสารสกัดหยาบด้วยคลอโรฟอร์มและเอทานอลออกฤทธิ์เพิ่มแรงบีบตัวกล้ามเนื้อหัวใจ
แต่ไม่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และได้พบว่าสารบริสุทธิ์ที่ออกฤทธิ์เป็นพวกอัลคาลอยด์ ขณะเดียวกัน พบว่าสารสกัด
เอทานอลออกฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้ เมื่อสกัดบอระเพ็ดด้วยน้ำหรือเอทานอล/น้ำ พบว่า ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้
ขณะนี้กำลังแยกสารออกฤทธิ์ให้บริสุทธิ์ เพื่อใช้ควบคุมคุณภาพของบอระเพ็ดแต่ละแหล่ง ในการใช้เป็นยาเสริมรักษาโรค
เบาหวานได

 

2. ต้นเบาหวาน (Aerva lanata (L.) Juss.ex Schut) ; วงศ์ : Amaranthaceae
แหล่งกำเนิด : พบทั่วไป พบมากทางภาคใต้ของประเทศไทย
สรรพคุณ : ลดน้ำตาลในเลือด

 

งานวิจัยที่ทำ : ทำการสกัดและแยกสารจากใบรวมทั้งต้นของเบาหวานเพื่อหาสารออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
และได้พบสารบริสุทธิ์ที่ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดเป็นอนุพันธ์ของยูเรีย

 

3. สันโศก (Clausena excavata) ; วงศ์ :Rutaceae
ลักษณะ :
เป็นพืชไม้ยืนต้น
แหล่งกำเนิด : พบทั่วไป
สรรพคุณ : แก้พิษงู รักษาโรควัณโรค โรคมาเลเรีย

 

งานวิจัยที่ทำ : ชาวบ้านจะนำส่วนของรากและเหง้าของต้นสันโศกมาแช่เหล้าขาว เพื่อทำเป็นยาดองเหล้าและ
นำไปดื่มเพื่อรักษาผู่ป่วยโรคเอดส์ในระยะแรก หรือนำส่วนของรากและเหง้าบดผสมกับแอลกอฮอล์เล็กน้อยปิดตรงบริเวณ
ที่ถูกงูกัดเพื่อแก้พิษงู
 
             จากงานวิจัยพบว่าสารสกัดเอทานอลออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาเลเรีย ในขณะที่สารสกัดคลอโรฟอร์มออกฤทธิ์ยับยั้ง
เชื้อวัณโรค สำหรับสารบริสุทธิ์ที่แยกออกมาได้จากสารสกัดหยาบคลอโรฟอร์มและเอทานอลจากส่วนของเหง้าและราก ออก
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค เชื้อราและเชื้อเอชไอวี-1

 

4. ย่านพาโหม หรือ ตดหมูตดหมา หรือ กระพังโหม (Paederia foetida Linn.) ; วงศ์ :Rubiaceae
ลักษณะ :
เป็นไม้เถาขนาดเล็ก ใบเดี่ยว รูปหอกแคบเรียวเล็ก ปลายแหลม มีกลิ่นเหม็นมาก เกิดตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป
แหล่งกำเนิด : พบทั่วไป
สรรพคุณ : รักษาโรคเริม โรคงูสวัด

 

งานวิจัยที่ทำ : พบว่าสารสกัดออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส ที่ก่อให้เกิดโรคเริมและโรคงูสวัด ขณะนี้กำลังแยกสารออก
ฤทธิ์ให้บริสุทธิ์ เพื่อใช้ควบคุมคุณภาพของย่านพาโหมในการนำไปใช้

 

5. พลู (Piper betle Linn.) ; วงศ์ : Piperaceae
ลักษณะ :
พลูเป็นไม้เลื้อย ทุกส่วนมีกลิ่นหอม
แหล่งกำเนิด : พบทั่วไป
สรรพคุณ : ใช้ทาโรคหนอง ฝี แก้อักเสบ กลากเกลื้อน แก้ลมพิษ

 

งานวิจัยที่ทำ : สารสกัดจากใบพลู ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย จึงได้มีการนำเอาสารสกัดจากใบ
พลูมาพัฒนาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง งานวิจัยที่ทำอยู่ คือ การสกัดและแยกสารที่ยับยั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียให้บริสุทธิ์
เพื่อใช้เป็นสารเอกลักษณ์สำคัญในการควบคุมคุณภาพของสารสกัดจากใบพลู โดยการนำสารสกัดพลูที่ควบคุมคุณภาพ
ไปเป็นส่วนผสมของสบู่แข็งและสบู่เหลว เพื่อให้ได้สบู่ที่กันเชื้อราและแบคทีเรียได้

 

6. เทียนกิ่ง (Lawsonia inermis Linn.) วงศ์ : Lythraceae
แหล่งกำเนิด : พบทั่วไปตามป่าดิบแล้งและป่าโปร่ง
สรรพคุณ : ใช้เป็นสีย้อม

 

งานวิจัยที่ทำ : สารสกัดจากใบเทียนกิ่งใช้เป็นสีย้อมได้ สารที่ให้สีย้อมที่สำคัญ คือ lawsone จะมีสีแดงน้ำตาล
ในการติดสีผม ขณะนี้ได้ทำการ formulate สารสกัด เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ยาย้อมผม, เจล, leave in, แชมพูสระผม และ
conditioner เป็นต้น

 

สถาบันในประเทศที่มีความร่วมมือกัน
1. สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและ
อุตสาหกรรมเกษตร (KAPI)
2. ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
3. ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4. ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
6. ฝ่ายพิษวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
7. บริษัท Greenville Company Limited
  แหล่งทุนที่ได้รับ
1. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KIRDI)
2. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
3. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (NRCT)
4. ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติภายใต้โครงการ Biodiversity Research and Training Program (BRT)

 



คณะผู้วิจัยของหน่วยปฏิบัติการผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS)

 

 

 

การวิจัยและพัฒนาสมุนไพรเพื่อความงาม สมุนไพรเพื่อต่อต้านโรคมะเร็ง เอดส์ เบาหวาน หัวใจ
และโรคเริม สมุนไพรเพื่อต่อต้านเชื้อไข้หวัดนก และทดแทนสารปฏิชีวนะในไก่
คณะผู้วิจัย หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS)
และ ภาควิชาเเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รายชื่อคณะผู้วิจัย --->  

             หน่วย NPOS คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการวิจัยสมุนไพรหลายชนิด โดยเน้นที่จะไปใช้เป็นยาเสริมในการรักษาโรคต่าง ๆ ที่พบได้บ่อยในเมืองไทยหรือในโลก ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น นอกจากนั้น สมุนไพรยังมีความสำคัญในทางด้านเครื่องสำอาง หน่วย NPOS จึงได้ทำวิจัยสมุนไพรที่สามารถนำไปใช้ในเครื่องสำอาง น้ำหอมและสุคนธบำบัด ซึ่งทำให้สมุนไพรนั้น ๆ มีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการที่เสริมทำให้ใช้สมุนไพรได้ถูกต้อง
            ปัจจุบันได้มีไข้หวัดนกระบาดในไก่โดยเฉพาะในฤดูหนาว ซึ่งโรคนี้มีความน่ากลัวตรงที่สามารถติดต่อกับมนุษย์ได้ นอกจากนั้นแล้วการเลี้ยงไก่ได้มีการใช้สารปฏิชีวนะผสมกับอาหารไก่เพื่อให้ไก่กินป้องกันโรคและเติบโตเร็ว ซึ่งผลของการใส่สารปฏิชีวนะก็อาจจะทำให้ติดค้างในเนื้อไก่ และมีอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ดังนั้น หน่วย NPOS ของเราจึงได้ทำวิจัยเพื่อใช้สมุนไพรผสมในอาหารไก่แทนสารปฏิชีวนะ และสามารถต่อต้านโรคหวัดนิวคาสเซิลและไข้หวัดนกได้
            นอกจากนั้น หน่วย NPOS ของเราก็มีความสามารถในการสังเคราะห์สารธรรมชาติที่สามารถออกฤทธิ์ได้ดี และพัฒนาโครงสร้างให้ออกฤทธิ์ดียิ่งขึ้น ดังนั้น หน่วยของเราจึงได้สังเคราะห์สารยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ถึง 60 ชนิด และสังเคราะห์ยาแก้แพ้ แก้อักเสบ สารยับยั้งเชื้อเอดส์ สารรักษาโรคหัวใจ ยาฮอร์โมนต่าง ๆ ยาคุมกำเนิด และแม้กระทั่งการผลิตยาทามิฟลูที่ใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดนกในมนุษย์
            สาเหตุที่ทำไมจึงต้องทำวิจัยสมุนไพรต่าง ๆ เนื่องจากว่าสมุนไพรชนิดเดียวกัน ถ้าปลูกในแหล่งที่ต่างกัน สิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ก็จะทำให้การผลิตสารออกฤทธิ์ฯต่างกัน จึงทำให้ในหลาย ๆ ครั้งที่พบว่าการรับประทานสมุนไพรบางครั้งได้ผล บางครั้งไม่ได้ผล สารออกฤทธิ์ที่พืชสมุนไพรผลิตขึ้นและออกฤทธ์นั้นเป็นสารทุติยภูมิ (secondary metabolite) ซึ่งพืชจะผลิตต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ พันธุกรรม ชนิดของดิน ธาตุอาหารในดิน ภูมิอากาศ ปริมาณแสง การควบคุมศัตรูพืช เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องมีความจำเป็นจะต้องสกัดและแยกสารให้บริสุทธิ์ พร้อมทั้งการทดสอบการออกฤทธิ์เพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ที่ใช้ควบคุมคุณภาพของสมุนไพรชนิดนั้นๆ
            สมุนไพรที่หน่วย NPOS ได้ทำวิจัยไปแล้วและที่กำลังทำวิจัยอยู่ คือ บอระเพ็ด ต้น สันโศก ขมิ้นชัน ย่านพาโหม ต้นเบาหวาน พลู เทียนกิ่ง ฟ้าทะลายโจร ราชดัด แพทชูลี เสม็ดขาว และสะเดา

งานวิจัยที่ได้ทำสำเร็จแล้ว และกำลังทำอยู่ ได้แก่

 

             บอระเพ็ด พบว่า มีสารออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดยับยั้งเซลล์มะเร็ง ยับยั้งเชื้อเอชไอวี 1 (โรคเอดส์) เพิ่มแรงบีบตัวกล้ามเนื้อหัวใจ โดยไม่เพิ่มอัตราการเต้นหัวใจ ซึ่งมีผลดีต่อหัวใจ และสามารถทราบวิธีที่วิเคราะห์สารออกฤทธิ์เหล่านี้ เพื่อควบคุมคุณภาพของบอระเพ็ดในการใช้เป็นยาเสริมในการรักษาโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเอดส์ และพบว่าการใช้บอระเพ็ดผสมในอาหารไก่ ซึ่งดีกว่าการใช้สารปฏิชีวนะ โดยสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันและคลายเครียดในไก่ได้
            ต้นสันโศก พบ สารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอชไอวี 1 ถึง 5 ชนิด และสามารถทราบวิธีที่วิเคราะห์สารออกฤทธิ์เหล่านี้ในการควบคุมคุณภาพของสันโศก


            ต้นเบาหวาน พบ สารออกฤทธิ์ที่ลดน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งสามารถใช้เป็นสารสำคัญในการควบคุมคุณภาพของต้นเบาหวานได้
ย่านพาโหม พบว่า มีสารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสโรคเริม และเชื้อโรคเอดส์ และทราบวิธีวิเคราะห์สารออกฤทธิ์เพื่อควบคุมคุณภาพในการใช้รักษาโรคเริม
            ฟ้าทะลายโจร พบว่า สามารถใช้ผสมในอาหารไก่แทนสารปฏิชีวนะ สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันในไก่ได้ดี


            พลู พบว่า ใบพลู มีสารออกฤทธิ์ที่ยับยั้งเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียได้ดี จึงเหมาะสมในการนำไปใช้ผสมในเครื่องสำอาง ทางหน่วย NPOS ได้นำสารสกัดพลูที่ได้วิเคราะห์สารออกฤทธิ์เพื่อควบคุมให้ได้มาตรฐานมาทำเป็นสบู่ NPOS ที่สามารถใช้ในการป้องกันและรักษาสิวได้ดี (ซึ่งมีจำหน่ายในราคาถูก)
            ขมิ้นชัน พบว่า มีสารออกฤทธิ์ที่สามารถต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรียบางชนิด จับแสง UV ได้ ยับยั้งเอนไซม์โทโรซิเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างเม็ดสี สารสกัดขมิ้นชัน จึงมีความเหมาะสมในการนำมาทำสบู่ หน่วย NPOS ของเราได้ทำสบู่ NPOS ที่มีสารสกัดขมิ้นชันอยู่ ทำให้สบู่มีคุณภาพในการป้องกันรักษาผิวให้ผ่องและขาวขึ้น โดยมีจำหน่ายในราคาถูก


            นอกจากนั้น หน่วย NPOS ของเรา ยังได้มีการพัฒนาการสกัดสารเคอคูมินอยด์ให้มีปริมาณสูงจากขมิ้นชัน เพื่อจะได้นำไปสู่อุตสาหกรรมได้ และการเปลี่ยนสารเคอร์คูมินอยด์เป็นสารเตตระไฮโดรเคอร์คูมินอยด์ (ทีเอชซี, THCs) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ดีกว่า และเนื่องจากมีสีขาว จึงทำให้มีความเหมาะสมในการผสมในเครื่องสำอางโดยเฉพาะ ครีมทาหน้า ซึ่งเรียกกันว่า ครีมหน้าเด้ง หน่วย NPOS ของเราได้ผลิตครีม NPOS ซึ่งมีส่วนของสารออกฤทธิ์นี้ โดยครีมนี้จะทำให้ลดริ้วรอยผิวผ่องและขาวขึ้น และอ่อนกว่าวัย โดยไม่มีอาการแพ้ ซึ่งมีจำหน่ายในราคาถูกเกินคุ้มค่า
            แพทชูลี หน่วยวิจัย NPOS ได้ร่วมกับสถาบันผลิตผลเกษตรฯ ทำการสกัดแพทชูลีในแบบต่าง ๆ ที่ได้ทั้งน้ำมันแพทชูลี และสารสกัดแพทชูลี ซึ่งใช้เป็นสุคนธบำบัดได้ดี และยังนำไปทำเป็นส่วนผสมในสบู่ชนิดต่าง ๆ และธูปหอม และธูปไล่ยุงได้ โดยพบสารหลักซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่สามารถใช้วิเคราะห์ เพื่อควบคุมคุณภาพของแพทชูลีได้
            เทียนกิ่ง พบสารออกฤทธิ์ที่ทำให้ติดสีผม และกระตุ้นเซลล์ผม ทำให้ผมไม่ร่วง ซึ่งสามารถนำไปเป็นส่วนผสมของแชมพูสระผม ยาย้อมผม เป็นต้น

 

             หน่วย NPOS ได้สังเคราะห์สารต้านมะเร็ง ได้นำสารต้นแบบมาจากทองพันชั่ง โดยพบว่ารากและใบทองพันชั่งมีสารออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด สารที่สังเคราะห์ขึ้นเป็นสารใหม่ถึง 50 ชนิด ซึ่งอาจจะพัฒนาไปเป็นยารักษาโรคมะเร็งได้ ถ้ามีทุนสนับสนุน
            ได้ทำการสังเคราะห์สารต้านเอดส์หลายชนิด และยังสังเคราะห์ยาแก้แพ้ แก้อักเสบ ยาคุมกำเนิด ยาฮอร์โมน สารต้านมะเร็ง โดยเริ่มจากน้ำทิ้งป่านศรนารายณ์
            ขณะเดียวกัน กำลังทำการสังเคราะห์ทามิฟลูที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดนกโดยเริ่มต้นจากน้ำตาล และกำลังสังเคราะห์สารที่ใช้รักษาโรคหัวใจ โดยมีสารต้นแบบจากบอระเพ็ด
            หน่วย NPOS ได้มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยและดำเนินการจดสิทธิบัตรทั้งหมด 12 ฉบับ
            หน่วย NPOS ได้ทำงานร่วมกับสถาบันต่าง ๆ ดังนี้ สถาบันผลิตผลเกษตรฯ คณะเกษตร คณะสัตวแพทย์ คณะประมง คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
            ฝ่ายสมุนไพร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ


คณะผู้วิจัย รศ.ดร.บุญส่ง คงคาทิพย์ (หัวหน้าหน่วยฯ), รศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์, ดร. นราทิตต์ น้อยไม้,
คมกริช หาสิตะพันธ์, สุวรรณา จันคนา, คงเดช สวาสดิ์พันธ์, ชัชวาล พลอยสุข, สุธินี บุญอนันต์วงศ์, วัชราภรณ์ ทาหาร, นราธิป ประดิษฐ์ผล, พจมาลย์ บุญญถาวร, สุริยัน สุทธิประภา, อนงค์วรรณ สำอาง, คมสัณห์ อิ่มพันธ์แบน, ศุภณัฐ เขียวพันธุ์, เพ็ญธนา สมานพันธุ์, จันจิรา รุจิรวนิช, เอมอร ทองเป็นใหญ่, กิตติภูมิ ตั้งวงษ์ภิมุข, สาวิตรี โชติชัย,ชนายุทธ ลักษณะวีระ, สุพิชญา เอี่ยมสะอาด, ศศิธร เหล่ากาญจนา, ภาวิณี วิเชียรนุกูล, นิรดา ปิ่นพิภพ, อนุชิต ภานุมาสวิวัฒน์ และ ภานุพงศ์ แต่งอักษร

หน่วยงาน หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์(NPOS) คณะวิทยาศาสตร์ มก.
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

 

 

ศักยภาพสมุนไพรไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ
Potential of Thai Medicinal Herbs for Thai Economic Development

       
          ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศไทยถดถอย คณะวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล็งเห็นว่าประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมุนไพรอยู่มากมายหลายชนิด หน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS) ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ นำโดยรศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ และ   รศ.ดร.บุญส่ง คงคาทิพย์ ได้ทำวิจัยสมุนไพรไทยหลายชนิดที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมในการรักษาโรค อาหารสัตว์ และเครื่องสำอาง ร่วมกับหน่วยงานต่างๆทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย           สมุนไพรไทยมีศักยภาพสูงในการนำไปใช้ประโยชน์แบบครบวงจร ตัวอย่างเช่น ขมิ้นชัน แพทชูลี พลู ไม้กฤษณา บอระเพ็ด และสันโศก โดยสมุนไพรเหล่านี้สามารถนำมาสกัดได้หลายรูปแบบ  ได้แก่  การสกัดน้ำมันหอมระเหยออกมาหรือการสกัดด้วยตัวทำละลายอื่นๆ เพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ที่นำไปใช้  ตัวอย่างสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงที่ทำในหน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS) มีดังนี้

ขมิ้นชัน (Curcuma longa Linn)

           ขมิ้นชัน สามารถทำการวิจัยแบบครบวงจร โดยนำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เป็นยารักษาโรค คณะวิจัยได้ทำการวิจัยนำสารสกัดซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย และเคอร์คูมินอยด์ เป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญมาทำเป็นสบู่กลีเซอลีนขมิ้นชันที่ใช้ล้างหน้าและฟอกตัวได้ คุณสมบัติทำให้ผิวผ่อง ป้องกันหรือลดกระ ฝ้า ลดรอยเหี่ยวย่น ทำให้อ่อนวัย มีความชุ่มชื้นในขณะเดียวกันได้นำสารออกฤทธิ์เคอร์คูมินอยด์ในสารสกัดมาทำการเติมไฮโดรเจนได้เป็นสารสีขาวมีชื่อว่า เตตระไฮโดรเคอร์คูมินอยด์ (THC) ซึ่งมีคุณสมบัติออกฤทธิ์สูงกว่าเคอร์คูมินอยด์ เมื่อนำไปผสมในครีมจะเรียกว่า ครีมหน้าเด้ง เนื่องจากสามารถช่วยลดริ้วรอย ทำให้อ่อนวัย ลดกระ ฝ้า ทำให้ผิวผ่องได้ดี ให้ความชุ่มชื้น ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ และกันแดดได้ (ครีมหน้าเด้งและสบู่กลีเซอลีนขมิ้นชันมีจำหน่ายราคาถูกในงานฯ) ในงานนี้ยังแสดงถึงการนำสารสกัดขมิ้นชันไปผสมในอาหารสัตว์น้ำ (กุ้ง ปลา)  และสัตว์บก (สุกร ไก่) ซึ่งสามารถช่วยทดแทนสารปฏิชีวนะ เพิ่มภูมิคุ้มกันและลดต้นทุน มีความปลอดภัยสูง และมีการนำน้ำมันหอมระเหยขมิ้นชันผสมกับน้ำมันหอมระเหยอื่นมาทำเป็นน้ำยาล้างมือที่สามารถยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ได้ นอกจากนี้เป็นส่วนผสมในอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ต่างๆ แม้กระทั่งกากขมิ้นชันก็มีประโยชน์ในการนำไปทดแทนส่วนผสมในอาหารสัตว์บางชนิด ทำให้ลดต้นทุนในการผลิต และนอกจากนี้ยังพบว่า สมุนไพรขมิ้นชันสามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดนกได้

แพทชูลี (Pogostemon  cablin )

           แพทชูลี เป็นพืชที่ให้น้ำมันหอมระเหยที่มีราคาแพง ปกติน้ำมันหอมระเหยจากแพทชูลีจะนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อมาใช้ประโยชน์เป็นสุวคนธบำบัดและนำมาใช้ในสปา แพทชูลีสามารถปลูกได้ง่าย คณะวิจัยได้ทำการศึกษาวิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว การสกัด เพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหยสูงสุด พบว่าน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดจากใบแพทชูลีสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด รวมทั้งแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว ดังนั้นคณะวิจัยจึงได้ทำการพัฒนาน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดมาเป็นผลิตภัณฑ์สบู่ โฟมล้างหน้า และธูปหอม ส่วนกากแพทชูลีนำมาทำเป็นธูปไล่ยุงที่มีประสิทธิภาพสูง และกลิ่นชวนดม

ไม้กฤษณา (Aquilaria crassna)

            ไม้กฤษณา เป็นไม้ยืนต้นที่เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง เนื่องจากถ้าไม้กฤษณาสามารถผลิตสารหอมได้ทั้งต้น ราคาประมาณหนึ่งแสนบาท คณะวิจัยสามารถพบวิธีการกระตุ้นให้ไม้กฤษณาเกิดสารหอม เพียงเจาะรูประมาณ 60 รูต่อ 1 ต้น จะได้สารหอมประมาณ 5 โตร่า (1 โตร่า = 12 ซีซี) น้ำหอมที่ได้เป็นเกรด A+ ราคาในท้องตลาดประมาณ 8,000 บาท ดังนั้นถ้า 1 ต้น เจาะ 60 รูก็จะได้ราคาประมาณสี่หมื่นบาท อายุไม้กฤษณาที่เหมาะสมในการกระตุ้น คือมีอายุ 8 ปีขึ้นไป
             น้ำหอมกฤษณามีราคาแพงเนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์ในเครื่องสำอาง น้ำหอม และยังเป็นตัว fixative ยารักษาโรค ธูป กำยาน และใช้ในสปา

บอระเพ็ด (Tinospora crispa)

             บอระเพ็ด เป็นไม้เถาที่พบสารออกฤทธิ์หลายชนิดโดยบอระเพ็ดแต่ละแหล่งพบปริมาณสารออกฤทธิ์ต่างกัน บางแหล่งมีน้อยมาก จนไม่ออกฤทธิ์ พบว่า สารสกัดบอระเพ็ดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ (คลอโรฟอร์ม และ เอทานอล) สามารถเพิ่มแรงบีบตัวกล้ามเนื้อหัวใจได้โดยไม่เพิ่มอัตราการเต้นหัวใจ เหมาะสำหรับเป็นสมุนไพรเสริม เป็นยาบำรุงหัวใจ เนื่องจากส่วนของบอระเพ็ดที่ใช้เป็นลำต้น ดังนั้นการรับประทานควรจะทราบแหล่งปลูกด้วยว่ามียาฆ่าแมลงเจือปนในดินที่ปลูกหรือไม่ ดังนั้นคณะวิจัยจึงได้ศึกษาการปลูกบอระเพ็ดเพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์สูง โดยปลูกในที่ที่ปลอดยาฆ่าแมลง (organic farm) จึงเหมาะที่จะนำมาทำเป็นสมุนไพรเสริม นำมาใช้รับประทาน (มีบอระเพ็ดแคปซูลจำหน่ายในราคาถูกในงานฯ) พบว่าถ้านำลำต้นบอระเพ็ดมาสกัดด้วยน้ำ จะออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด (ลดเบาหวาน) และพบว่าบอระเพ็ดบางแหล่งไม่ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ดังนั้นคณะวิจัยจึงได้ทำการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ในบอระเพ็ดแต่ละแหล่ง บอระเพ็ดมีสารออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดถึง 3 ชนิด จึงทำเป็นบอระเพ็ดแคปซูลสมุนไพรเสริม (มีจำหน่ายราคาถูกในงานฯ) ที่ได้ควบคุมคุณภาพของสารออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดโดย HPLC  นอกจากนั้นยังพบสารยับยั้งเชื้อเอดส์และยับยั้งเซลล์มะเร็งในบอระเพ็ดอีกด้วย

พลู (Piper betle Linn)

               พลู เป็นไม้เถาที่มีสารออกฤทธิ์ยูจีนอล และไฮดรอกซีชาวีคอล ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียได้ดีมาก รวมทั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว ดังนั้นคณะวิจัยจึงได้ทำการศึกษาสารออกฤทธิ์จากพลูแหล่งต่างๆ พบว่าแต่ละแหล่งมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่างกัน จึงได้นำสารสกัดพลูที่มีสารออกฤทธิ์สูง มาผสมในสบู่ที่มาสารถช่วยป้องกันและยับยั้งสิว และยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ (มีสบู่กลีเซอรีนพลู จำหน่ายในราคาถูกในงานฯ)

สันโศก  (clausena evcavata)

                สันโศก เป็นไม้พุ่ม พบได้ทั่วไป มีลำต้นสูงคล้ายกับไม้ยืนต้น พบว่าในรากและเหง้าสันโศก มีสารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV-1(เอดส์) ถึง 5 ชนิด ณะวิจัยได้พบวิธีควบคุมคุณภาพของสันโศกโดยการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ยับยั้งเอดส์เพื่อนำไปใช้เป็นสมุนไพรเสริมยับยั้งเชื้อเอดส์ การสกัดด้วย 35% เอทานอล-น้ำ โดยให้ความร้อน หรือ ที่อุณภูมิห้อง จะออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอดส์ได้ดี ภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้แช่ด้วยเหล้า 35 ดีกรี ประมาณ 7 วัน และก่อนนำไปรับประทานควรนำไปอุ่นเพื่อให้เอทานอลระเหยออกไป สมุนไพรนี้จึงเป็นความหวังที่จะใช้เป็นสมุนไพรเสริมหรือเป็นยารักษาโรคเอดส์ ซึ่งนอกจากรักษาโรคเอดส์แล้ว สันโศกยังเพิ่มภูมิคุ้มกันและยับยั้งเชื้อราและเชื้อวัณโร

คำสำคัญ (Tags): #บอระเพ็ด#เกษตร
หมายเลขบันทึก: 304970เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2009 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท