เมื่อรายการเด็ก...คิดเล็กไม่ได้ (TK Park)


เมื่อรายการเด็กคิดเล็กไม่ได้

 

                “เมื่อรายการเด็ก คิดเล็กไม่ได้” การสัมมนาเพื่อหาแนวทางที่จะทำให้เกิดการผลิตสื่อให้เด็กดูแล้วได้ทั้งความสนุกและสาระ และเมื่อรายการที่เป็นเรื่องของเด็กๆ แต่ผู้ที่ทำกลับเป็นผู้ใหญ่ จึงไม่แปลกเลยที่การตีโจทย์ให้เข้าถึงในตัวเด็กนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก จะทำอย่างไรให้รายการที่ผลิตออกมานั้นเข้าไปนั่งอยู่ในใจของเด็ก ที่ผ่านมารายการเด็กนั้นมีอยู่น้อยมาก การให้ความสำคัญกับเด็กมีน้อย เพราะเข้าถึงยาก ผู้ผลิตจึงหันไปให้ความสำคัญและสนใจกับกลุ่มที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากกว่า เช่น วัยรุ่น ส่วนรายการเด็กก็หนีไม่พ้นการ์ตูนอย่างที่ผ่านมา

                การเข้าฟังสัมมนาครั้งนี้ ได้เปิดแนวคิดและความรู้ใหม่ๆมากมาย ที่จะนำไปพัฒนาเด็ก อาทิ การใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อในการสอนเด็กๆ ที่กระทำความผิดที่บ้านกาญจนาภิเษกของป้ามล หรือ ครูทิชา ณ นคร ที่มีมุมมองและข้อคิดมากมายเกี่ยวกับการใช้ภาพยนตร์ในการขัดเกลาเด็ก เป็นแนวคิดที่น่าจะนำมาปรับกับการใช้ชีวิตของเด็กข้างนอกบ้านกาญจนาได้ และถ้าเป็นไปได้การใช้ความบันเทิงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ก็น่าจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากว่าการเรียนการสอนที่เน้นด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว เพราะการประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญก็จริง แต่การมีคุณธรรมและมีความสุขก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังเชิญผู้ที่ผลิตรายการโทรทัศน์ที่เน้นการสร้างสรรค์สังคมจากทีวีบูพาเพื่อให้มองเห็นถึงวิธีการทำรายการทีวีจริง ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานกับเด็ก

                และจากที่กล่าวไปข้างต้นว่า การทำรายการเด็กนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจถึงความคิดและความต้องการของเด็ก เทคนิค “สุข สนุก ท้าทาย ได้ใจเด็ก” ของครูชีวัน วิสาสะ ซึ่งเป็นครูคนหนึ่งที่มีความเข้าใจถึงความต้องการของเด็กอย่างแท้จริง รู้ว่าสิ่งไหนที่จะสามารถดึงดูดความสนใจและพร้อมกับการให้ความรู้เด็กไปด้วยได้ เช่น กิจกรรมการพับกระดาษ ที่เป็นกิจกรรมที่ใช้กระดาษ A4 เพียง 1 แผ่น มีรูปสัตว์ที่มีหัวกับตัวไม่สอดคล้องกัน ให้เด็กพับออกมาให้หัวกับตัวมีการสอดคล้องกัน ทำให้เด็กเกิดความเพลิดเพลินและความท้าทายที่ได้พับกระดาษออกมาเป็นสัตว์ที่ถูกต้อง ครูได้เล่านิทานที่เกี่ยวกับหนู 7 ตัวที่ไปเจอช้างแต่ละส่วนแล้วมาเล่าให้หนูตัวแต่ละตัวฟัง และมีนิทานชื่อ “ช้างเบิ้ม” ตัวใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม ที่ทำให้เด็กมีความเพลิดเพลินไปกับนิทานและการได้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของนิทานด้วยการพูดประโยคหรือคำซ้ำๆกัน ที่ต้องอาศัยทักษะของการเล่านิทานทั้งจังหวะ ลีลา น้ำเสียงของผู้เล่านิทานนั้นจะต้องสอดคล้องลงตัวกัน เพื่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่นิทานต้องการสื่อ เช่น ช้างเบิ้ม ตัวใหญ่...เบ้อเริ่มเทิ่ม  จึงทำขนมปังออกมาชิ้นใหญ่...เบ้อเริ่มเทิ่ม  เป็นต้น

                การได้ฟังครูชีวันบรรยายในครั้งนี้ ทำให้สามารถทราบว่าจังหวะนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก จังหวะที่ดีจะช่วยให้เด็กมีความเพลิดเพลิน และเกิดการเรียนรู้ที่ดี นอกจากนี้ การใช้สีสันที่ฉูดฉาด และแสงสีเสียงที่มากเกินไปก็ไม่เหมาะสมกับเด็ก เพราะเด็กนั้นยังไม่สามารถที่จะรับอะไรที่ฉูดฉาดสายตาได้ ซึ่งทำให้ทราบว่า ที่ผ่านมานั้นมีความเข้าใจผิดอยู่มากเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเข้าใจมาตลอดว่าเด็กมักจะสอบอะไรที่มีสีสันสะดุดตา จึงถือเป็นการเปลี่ยนทรรศนะของการมองและเข้าใจเด็กในอีกมุมมองหนึ่ง

                เด็กนับได้ว่าเป็นอนาคตของชาติ เป็นความสำคัญที่ไม่ควรละเลย และการที่เด็กจะเป็นไปอย่างไรนั้น ก็อยู่ที่ผู้ใหญ่ว่าจะอยากให้เด็กเป็นแบบใด และจะพัฒนาเด็กไปในทิศทางใด รายการเด็ก...คิดเล็กไม่ได้ จริงๆ

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #tk park#รายการเด็ก
หมายเลขบันทึก: 304796เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ป้าเหมียวก็ทำรายการเด็กอยู่บ้าง...คิดไม่ตก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท