ประเด็นที่น่าสนใจจากการอบรม "เมื่อรายการเด็ก คิดเล็กไม่ได้"


บูรณาการนำความคิดใหม่ๆไปสอนบ้าง

                ประเด็นที่น่าสนใจจากการได้เข้าร่วมสัมมนาภายใต้ชื่อ “เมื่อรายการเด็ก คิดเล็กไม่ได้” เมื่อวันที่ ๑๐ – ๑๑ กันยายน ๒๕๕๒ ณ TK Park Central world คือกิจกรรมของเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกที่มีชื่อว่า “ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมเขียน...หลังชมภาพยนตร์

                กิจกรรมนี้มีความน่าสนใจมากเนื่องจากว่าวัยรุ่นนั้นมีความสนใจในการดูภาพยนตร์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะกีดกันภาพยนตร์ออกไปโดยการมองว่าภาพยนตร์เป็นเพียงสื่อบันเทิงนั้น คงจะกลายเป็นความคิดแบบเก่าไปแล้ว ความคิดแบบใหม่ในปัจจุบัน เราควรมองว่า เราจะเอากิจกรรมที่คนสนใจ หรือในกรณีนี้ก็คือ กิจกรรมที่วัยรุ่นสนใจ แล้วนำไปสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม หรือกระบวนการคิดในทางที่ถูกต้องอย่างไร

                การที่ให้เด็กวัยรุ่นได้ดูภาพยนตร์ แล้วแสดงความคิดเห็นหลังชมภาพยนตร์เสร็จเป็นการปลูกฝังกระบวนการคิด และเรายังได้ทราบถึงความคิดของเด็กว่ามีความคิดลักษณะไหนในแต่ละคน เพื่อที่จะได้ประมวลบุคลิกลักษณะของเด็กคนนั้นๆเพื่อที่จะเป็นแนวทางในการสอนเด็กแต่ละคนต่อไป เพราะเด็กแต่ละคนนั้นก็มีความเป็นปัจเจกอยู่ในตัวทั้งสิ้น เราคงไม่สามารถนำแนวทางเดียวไปสอนกับเด็กทุกคนได้ เราควรที่จะประเมินเด็กแต่ละคนว่าควรที่จะได้รับการสอน การแนะแนวในลักษณะไหน

                ประเด็นในเรื่องของภาพยนตร์นั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องคัดเลือกก่อนระดับหนึ่งว่ามีความเหมาะสมในการนำมาสอดแทรกวิธีคิดหรือไม่ เพราะเราก็ต้องยอมรับว่าภาพยนตร์บางเรื่องนั้นก็อาจจะเกินวัยของเด็กไปพอสมควร เราก็ควรที่จะเลือกเรื่องอื่นที่สามารถสอดแทรกความรู้ รวมถึงพัฒนาการที่สมวัยของเด็กวัยรุ่นได้

                จากที่ได้ฟังการบรรยายของวิธีสอนเด็กวัยรุ่นของบ้านกาญจนาภิเษกแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่าในโรงเรียนทั่วไป ทั้งของรัฐและเอกชนควรที่จะมีการบูรณาการนำความคิดใหม่ๆไปสอนบ้าง ควรที่จะมีความคิดที่ทันสมัย รู้เท่าทันเด็กว่าเด็กมีความสนใจในเรื่องอะไร แล้วนำเรื่องนั้นๆมาสอดแทรกทัศนคติ สอดแทรกความรู้ และกระบวนการคิด แทนที่จะไปกีดกันสิ่งเหล่านั้นออกไปจากชีวิตเด็ก ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ในสังคมยุคปัจจุบันซึ่งสื่ออยู่ทุกหนแห่งในสิ่งแวดล้อมของเด็ก

                บ้านกาญจนาภิเษกถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในกระบวนการคิดของวิธีการสอน ว่าควรที่จะนำสิ่งที่เรามองว่าเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ มาทำให้เป็นประโยชน์มากกว่าโทษ ถือว่าเป็นการรู้เท่าทันความต้องการของเด็ก จนอดคิดไม่ได้ว่า เด็กวัยรุ่นในบ้านกาญจนาภิเษก อาจจะได้รับการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมากกว่าเด็กในโรงเรียนดีๆของเอกชน หรือรัฐบาลด้วยซ้ำไป

 

หมายเลขบันทึก: 304743เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท