โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ)
โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) เทศบาลนครนคราชสีมา

เทคนิควิธีการจัดการกับเด็กขี้อาย ...โดยครูสุภาภรณ์


การเรียนรู้ของคนเราคงจะพัฒนาไปเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง หากครูไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของทั้งตนเองและนักเรียนไปพร้อมๆ กัน

 

ภาพเคลื่อนไหว

        ในห้องเรียนหนึ่ง ๆ มักจะมีนักเรียนทั้งที่กล้าคิดกล้าพูด       และนักเรียนที่ขี้อายไม่กล้าแสดงออกปะปนกันไป แต่ครูจะทำอย่างไรเพื่อที่จะสร้างการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนให้กับนักเรียนทุกคน

        เคล็ดลับในการที่จะสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีชีวิตชีวาในชั้นเรียนนั้น ต้องพยายามสร้างสถานการณ์ที่ทำให้นักเรียนรู้สึกอยากมีส่วนร่วม โดยมีวิธีการดังนี้ 

                                                                ภาพเคลื่อนไหว

       ไม่รีบร้อนแก้ข้อบกพร่องหรือแก้คำผิดให้กับนักเรียนเร็วเกินไป เมื่อนักเรียนผิดพลาดในการเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้การเรียนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และนักเรียนไม่เสียความมั่นใจ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ช่วยแก้กันเอง แต่ถ้าไม่มีการแก้ไขกันเองในหมู่นักเรียนครูจะช่วยแก้ไขให้เมื่อจบจากชั่วโมงนั้นแล้ว

      เมื่อนักเรียนที่พูดเก่งตอบคำถาม ครูควรจะถามนักเรียนคนอื่นๆ ที่ขี้อายบ้าง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะตอบคำถามหลังจากเพื่อนตอบได้ดีกว่าที่จะตอบกับครูเป็นคนแรก

ภาพเคลื่อนไหว

      สร้างการมีส่วนร่วมจากนักเรียนขี้อายที่อาจมีความรู้ดีในเรื่องบางเรื่อง เช่น ถ้าสอนเรื่องภาคเหนือก็อาจจะให้นักเรียนที่มาจากภาคเหนือเล่าประสบการณ์ให้เพื่อนๆ ฟัง เพราะถ้านักเรียนมีพื้นหลังมาก่อนก็จะรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น

      พยายามเรียนรู้ที่จะอ่านสัญญาณจากนักเรียนขี้อายเมื่อเขาพร้อมที่จะตอบคำถามของครู เช่น การประสานตา อ่านความรู้สึกจากสีหน้า หรือภาษาท่าทาง ที่เป็นสัญญาณแสดงว่านักเรียนพร้อมจะเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน 

                                                                             

บัญญัติ 10 ประการของการสอนที่ดี

ศาสตราจารย์ ริชาร์ด เลอบลอง อาจารย์มหาวิทยาลัยยอร์ค (York University) ในแคนาดา ได้รับรางวัลการสอนยอดเยี่ยม เขาได้เปิดเผยเทคนิควิธีการสอนและการปฏิบัติตนที่ดี 10 ประการสำหรับครู ดังนี้

1. ให้ความรักแก่นักเรียน พร้อมๆ ไปกับเนื้อหาวิชาเรียน ครูควรแนะนำวิธีเรียนรู้ให้แก่เด็ก ดูแลและเอาใจใส่นักเรียน เหมือนกับการสร้างงานฝีมือขึ้นสักชิ้นที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก ทำให้การเรียนการสอนนั้นมีความหมายขึ้นมาจนเกิดเป็นความผูกพันระหว่างครูกับศิษย์

2. สอนให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตจริง และฝึกให้นักเรียนคิดให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ให้ผู้เรียนเข้าใจว่าความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในเฉพาะหนังสือเท่านั้น ครูยังควรเชื่อมช่องว่างระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติ ทำให้นักเรียนเกิดความชำนาญในเรื่องที่นักเรียนสนใจ โดยครูคอยให้คำปรึกษาช่วยเหลือในการปฏิบัติ และเชื่อมโยงสภาพชีวิตในชุมชนของนักเรียนกับความรู้ที่ศึกษาในโรงเรียน

3. ตั้งใจฟังนักเรียน ครูต้องรู้จักตั้งคำถาม สามารถตอบข้อสงสัยแก่นักเรียนได้ และควรระลึกอยู่เสมอว่านักเรียนแต่ละคนในชั้นเรียนมีความแตกต่างกัน ครูควรกระตุ้นการตอบสนองการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะการสื่อสารให้แก่นักเรียนด้วย

4. ไม่จำเป็นต้องมีแผนการสอนตายตัว แต่ต้องยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงได้ มีการทดลองการสอนที่หลากหลาย และมั่นใจที่จะเผชิญกับสถานการณ์ในชั้นเรียนได้ทุกรูปแบบที่อาจจะไม่เป็นไปตามความคาดหวังนัก ครูควรปรับการสอนบ้างเมื่อมีวิธีการที่ช่วยให้นักเรียนบางคนเรียนรู้ได้ดีขึ้น และควรสร้างสมดุลระหว่างเนื้อหาและความยืดหยุ่นในการสอน

5. สร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าการเรียนจะไม่มีสาระ การสอนที่มีประสิทธิภาพนั้นครูไม่จำเป็นจะต้องยืนอยู่หน้าชั้นตลอดเวลา หรือสายตาจับจ้องอยู่ที่เครื่องฉายแผ่นใสหรือสไลด์ในขณะที่บรรยาย ครูที่ดีต้องทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วม เปรียบได้กับวาทยากรที่มีนักเรียนเป็นนักดนตรีซึ่งแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในเครื่องดนตรีแต่ละอย่างต่างกัน

6. มีอารมณ์ขัน พยายามอย่าทำตัวให้เครียด ครูควรเล่าเรื่องตลกให้นักเรียนฟังบ้าง การมีอารมณ์ขันจะช่วยทลายกำแพงระหว่างครูกับนักเรียนได้ ครูควรเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายบรรยากาศในห้องเรียน และต้องระลึกเสมอว่า ครูก็เป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนกับนักเรียน ที่มีข้อบกพร่องและสามารถกระทำผิดได้เหมือนกัน

7. เตรียมตัวให้พร้อม มีความเอาใจใส่ และอุทิศเวลาให้แก่การค้นคว้าหาวิธีถ่ายทอดความรู้ด้านต่างๆ ให้แก่นักเรียน ครูดีต้องมีการเตรียมการสอนมาอย่างดี มีสื่อการสอนที่พร้อมและวิธีการสอนที่น่าสนใจ ทั้งหมดนี้หมายความว่าครูจะต้องทำงานหนักนอกเวลาด้วย

8. ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากผู้บริหาร ทั้งในด้านทรัพยากร และบุคลากร ผู้บริหารควรให้การเสริมแรงครูอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และสามารถทำงานได้อย่างปราศจากอุปสรรคปัญหา

9. รู้จักทำงานร่วมกับเพื่อนครู เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการแก้ปัญหาต่างๆ ของครูแต่ละคน

10. มีจินตนาการ จะเป็นครูที่ดีได้ จะต้องรู้จักหัดใช้จินตนาการบ้าง เพราะจะมีผลต่อความคิดริเริ่มใหม่ๆ ลองจ้องไปที่นักเรียนแถวหลังสุด นึกถึงเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกันและประกอบกันเป็นรูปร่างรวมตัวเป็นมนุษย์

                                                            

     การเรียนรู้ของคนเราคงจะพัฒนาไปเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง หากครูไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของทั้งตนเองและนักเรียนไปพร้อมๆ กัน ครูคือวิศวกรสังคม ที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่สมบูรณ์ขึ้นมา

 

P

ครูสุภาภรณ์

ครูสุภาภรณ์ พลเจริญชัย

โรงเรียนเทศบาล4(เพาะชำ)

ข้อมูลจาก

http://www.radompon.com/dlibrary/news.php?newsid=97

 

คำสำคัญ (Tags): #เด็กขี้อาย
หมายเลขบันทึก: 304652เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำดีๆ เพราะที่ห้องก็มีเด็กขี้อายและไม่กล้าแสดงออกจะ

ไปใช้ดู

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท