ประวัติวัดพระฝาง อุตรดิตถ์


ประวัติศาสตร์

วัดพระฝาง หรือชื่อเต็มว่า วัดพระฝางสว่างคบุรีมุนีนาถ ตั้งอยู่ที่บ้านฝาง หมู่ที่ 3 ต.ผาจุก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามทะเบียนวัดระบุว่า ประมาณปี พ.ศ. 1700 (ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) วัดพระฝางนับว่าเป็นกลุ่มโบราณสถานของเมืองฝางสวางคบุรี (สว่างคบุรี เพี้ยนมาจาก สวรรคบุรี) เพียงแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในสมัยสุโขทัย และเป็นวัดพระมหาธาตุประจำเมืองสว่างคบุรี เมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และเคยเป็นวัดที่จำพรรษาของ “เจ้าพระฝาง” เมืองสวางคบุรี ซึ่งอยู่ในสมณเพศแต่นุ่งห่มผ้าแดงและมิได้สึกเป็นฆราวาส ท่านได้ซ่องสุมผู้คนสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 เพื่อจะกู้เอกราช

วัดพระฝาง มีโบราณสถานที่สำคัญคือโบสถ์มหาอุด (มีประตูทางเข้าบานเดียว) อยู่ด้านทิศตะวันตกของกลุ่มโบราณสถานตัวอุโบสถมีสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเดิมภายในอุโบสถเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระฝาง ซึ่งปัจจุบันตัวอุโบสถยังคงมีบานประตูไม้และหน้าบันแกะสลักสมัยอยุธยาอันสวยงามอยู่ บริเวณกลางกลุ่มโบราณสถานมีพระมหาธาตุเจดีย์ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระเจดีย์องค์เดิมปรักหักพังไปมากจึงมีการบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 และด้านทิศตะวันออกของกลุ่มโบราณสถานมีพระวิหารหลวง เดิมเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปเชียงแสน ปัจจุบันในพระวิหารหลวงมีบานประตูไม้แกะสลักวัดพระฝาง (เป็นบานประตูบานจำลอง สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2551 เพื่อนำมาติดตั้งแทนที่บานประตูเดิมที่ได้นำไปเก็บรักษาที่วัดธรรมาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494)

"เจ้าพระฝาง"เป็นชาวเหนือ บวชพระแล้ว ลงมาร่ำเรียนพระไตรปิฎกที่อยุธยา สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เชี่ยวชาญได้ชั้นมหา เรียกตามชื่อเดิมว่า “มหาเรือน”

โปรดเกล้าฯ เป็นพระราชาคณะ ที่ พระพากุลเถระ อยู่วัดศรีโยธยาได้ไม่นาน ก็โปรดเกล้าฯ...ให้เป็น พระสังฆราชา ณ เมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) มีผู้คนเคารพนับถือมาก สร้างพระประธานองค์สำคัญไว้ในโบสถ์วัดสวางคบุรี

ครั้นเมื่อรู้ว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เจ้าพระฝางก็ซ่องสุมผู้คนได้หลายเมือง ตั้งตัวเป็นเจ้า แต่ไม่ยอมสึกจากพระ เปลี่ยนสีจีวรจากสีเหลืองเป็นสีแดง นับเป็นชุมนุมใหญ่ฝ่ายเหนือ ประชาชนเรียกกันว่า “เจ้าพระฝาง”

ปีชวด พ.ศ. 2311 เจ้าพิษณุโลก ผู้นำชุมนุมสำคัญถึงแก่พิราลัย พระอินทรอากรผู้น้องขึ้นครองเมือง เจ้าพระฝางยกกองทัพไปตีพิษณุโลก สู้รบกันสามเดือน ชาวเมืองไม่ชอบเจ้าพิษณุโลกองค์ใหม่ แอบเปิดประตูรับกองทัพเจ้าพระฝางเข้าเมืองชนะพิษณุโลก ประหารพระอินทรอากรแล้ว เจ้าพระฝางก็สั่งให้ขนทรัพย์สินจากเมืองพิษณุโลก และอพยพผู้คนไปปักหลักอยู่ที่เมืองสวางคบุรี ชื่อ เสียงของชุมนุมเจ้าพระฝางก็ยิ่งเลื่องลือระบือไกล

สองปีต่อมา กรมการเมืองอุทัยธานี และเมืองชัยนาท กราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า เจ้าพระฝางประพฤติเป็นพาลและทุศีลมากขึ้น ตัวยังห่มผ้าเหมือนพระ แต่ ประกอบกรรมปาราชิก พวกพระที่เป็นแม่ทัพนายกองก็ออกปล้นข้าวปลาอาหารจากราษฎร เดือดร้อนกันไปทั่ว

พระเจ้ากรุงธนฯ โปรดให้พระยาพิชัยราชา คุมทัพไปทางตะวันตก ให้พระยายมราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1) คุมทัพไปทางตะวันออก สองทัพสมทบกันโจมตีเมืองสวางคบุรี

สภาพเมืองสวางคบุรี ที่มั่นเจ้าพระฝาง ไม่มีกำแพง มีแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน เจ้าพระฝางสู้ได้สามวันก็แตกพ่ายหนี พาลูกช้างพังเผือกหนีไปด้วย กองทัพพระเจ้ากรุงธนฯติดตามไป ได้ช้างพังเผือกคืน ตัวเจ้าพระฝางหายสาบสูญไป

อัญเชิญพระฝางไปยังวัดเบญจมบพิตร

ฐานพระเปล่า ในอุโบสถวัดพระฝาง สถานที่ ๆ เคยประดิษฐานพระฝางในอดีต

ในปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดให้อัญเชิญองค์พระประธาน ที่เรียกกันว่า “พระฝาง” ลงมายังวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ โดยทิ้งฐานพระไว้ที่เดิมพ.ศ. 2451 ปรากฏพระราชหัตถเลขา ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า “ให้จำลองรูปพระฝาง ได้สั่งให้ช่างรีบปั้นหุ่นถ่ายรูปไว้แล้ว ให้กระทรวงมหาดไทยคิดจัดพระฝางกลับคืนไปไว้ที่เมืองฝางตามเดิมให้ทันฤดูน้ำ นี้”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระฝางทรงเครื่อง ณ วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549

แต่ในปัจจุบันนี้ เกินเวลาหนึ่งร้อยปีแล้ว องค์พระฝางก็ยังประดิษฐานอยู่วัดเบญจมบพิตร มิได้กลับคืนไปอุตรดิตถ์ ตามพระราชดำริแต่ประการใด

ในปี พ.ศ. 2549 คณะสงฆ์และหน่วยงานราชการในจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ร่วมใจหล่อพระฝางทรงเครื่อง (จำลอง) องค์ใหม่ โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระฝางทรงเครื่อง ณ วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549 เพื่อนำ พระฝางทรงเครื่อง (จำลอง) ที่ได้หล่อขึ้นใหม่ กลับสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเคารพสักการะของชาวพระฝางและชาวจังหวัดอุตรดิตถ์สืบไป

ชุมนุมเจ้าพระฝาง เป็นชุมนุมอิสระที่แยกออกจากอำนาจกรุงธนบุรี หลังกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2310 โดยมีผู้นำชุมนุมเป็นพระสงฆ์ คือ พระพากุลเถระ (มหาเรือน) พระสังฆราชาแห่งเมืองสวางคบุรี (ฝาง)

พระพากุลเถระ (มหาเรือน) หรือเจ้าพระฝาง ท่านเป็นชาวเมืองเหนือ (เวียงป่าเป้า) ได้ศึกษาเล่าเรียนพระศาสนาจากราชสำนักกรุงศรีอยุธยา และได้รับการสถาปนาเป็น พระพากุลเถระ คณะฝ่ายอรัญวาสี อยู่ ณ วัดศรีอโยธยา ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชาเจ้าคณะเมืองสวางคบุรี กลับขึ้นไปจำวัดอยู่ที่วัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 ท่านจึงได้ตั้งตนเป็นเจ้าทั้งที่อยู่ในสมณเพศ แต่ผู้คนก็พานับถือเรียกกันว่า เจ้าพระฝาง หรือ พระเจ้าฝาง เนื่องจากชาวบ้านนับถือว่าเป็นผู้วิเศษ

ต่อมาหลังจากการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงทราบข่าวเรื่องที่เจ้าพระฝางยกทัพยึดชุมนุมพิษณุโลกได้ และถึงกับส่งกองทัพไปปล้นแย่งชิงข้าวปลาราษฎรลงมาถึงเมืองอุทัยธานี และชัยนาท พระองค์จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปปราบในปี พ.ศ. 2313 โดยมีพระยายมราช(บุญมา) เป็นแม่ทัพหน้า กองทัพหน้าของพระยายมราชได้เข้าโจมตีเมืองพิษณุโลกด่านหน้าของเจ้าพระฝาง ซึ่งมีหลวงโกษา(ยัง) คุมกำลังมาตั้งรับอยู่ภายในคืนเดียว แล้วจากนั้นกองทัพหลวงก็ยกไปตีเมืองสวางคบุรี เจ้าพระฝางสู้รบได้ 3 วัน เห็นศึกหน้าเหลือกำลังจึงพาพรรคพวกหลบหนีไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นพม่าปกครองอยู่ กองทัพหลวงจึงยึดเมืองสวางคบุรีได้ และยังได้ลูกช้างเผือกซึ่งตกลูกระหว่างศึกมาอีกด้วย

 ล่วงมาถึงปีขาล พ.ศ. 2313 มีข่าวมาถึงกรุงธนบุรีว่า เมื่อเดือน 6 ปีขาล เจ้าพระฝางให้ส่งกำลังลงมาลาดตระเวณถึงเมืองอุทัยธานี และเมืองชัยนาท เป็นทำนองว่าจะคิดลงมาตีกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงมีรับสั่งให้เตรียมกองทัพ จะยกไปตีเมืองเหนือในปีนั้น ขณะนั้นพวกฮอลันดาจากเมืองยะกะตรา (จาร์กาตา) ส่งปืนใหญ่มาถวาย และแขกเมืองตรังกานู ก็นำปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย จำนวน 2,000 กระบอก พอเหมาะแก่พระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่จะใช้ทำศึกต่อไปในครั้งนี้

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนทัพเรือ ยกกำลังออกจากกรุงธนบุรี เมื่อวันเสาร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 8 ไปประชุมพล ณ ที่แห่งใดไม่ปรากฏหลักฐาน จัดกำลังเป็น 3 ทัพ ทัพที่ 1 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จพระราชดำเนินไปโดยขบวนเรือมีกำลังพล 12,000 คน ทัพที่ 2 พระยาอนุชิตราชา ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยายมราช ถือพล 5,000 คน ยกไปทางบกข้างฟากตะวันออกของแม่น้ำแควใหญ่ กองทัพที่ 3 พระยาพิชัยราชา ถือพล 5,000 คน ยกไปทางข้างฟากตะวันตก

ฝ่ายเจ้าพระยาฝาง เมื่อทราบว่ากองทัพกรุงธนบุรียกกำลังขึ้นไปดังกล่าว จึงให้หลวงโกษา ยังคุมกำลังมาตั้งรับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก

กองทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยกขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลก เมื่อ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 9 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีรับสั่งให้เข้าปล้นเมืองในค่ำวันนั้น ก็ได้เมืองพิษณุโลก หลวงโกษา ยัง หนีไปเมืองเมืองสวางคบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เมืองพิษณุโลกแล้ว กองทัพที่ยกไปทางบกยังขึ้นไปไม่ถึงทั้งสองทัพ ด้วยเป็นฤดูฝนหนทางลำบาก พระองค์ประทับที่เมืองพิษณุโลกอยู่ 9 วัน กองทัพพระยายมราชจึงเดินทางไปถึง และต่อมาอีก 2 วัน กองทัพพระยาพิชัยจึงยกมาถึง เมื่อกำลังพร้อมแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงให้กำลังทางบก รีบยกตามข้าศึกที่แตกหนีไปยังสวางคบุรี พร้อมกันทั้งสองทาง รับกำลังทางเรือให้คอยเวลาน้ำเหนือหลากลงมาก่อน ด้วยทรงพระราชดำริว่า ในเวลานั้นน้ำในแม่น้ำยังน้อย หนทางต่อไปลำน้ำแคบ และตลิ่งสูง ถ้าข้าศึกยกกำลังมาดักทางเรือจะเสียเปรียบข้าศึก ทรงคาดการณ์ว่าน้ำจะหลากลงมาในไม่ช้า และก็เป็นจริงตามนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็เสด็จพระราชดำเนินยกกำลังทางเรือขึ้นไปจากเมืองพิษณุโลก

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาพิชัยราชา คุมทัพไปทางตะวันตก ให้พระยายมราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1) คุมทัพไปทางตะวันออก สองทัพสมทบกันโจมตีเมืองสวางคบุรี

สภาพเมืองสวางคบุรี ที่มั่นเจ้าพระฝาง ไม่มีกำแพง มีแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน เจ้าพระฝางสู้ได้สามวันก็แตกพ่ายหนี พาลูกช้างพังเผือกหนีไปด้วย กองทัพพระเจ้ากรุงธนฯติดตามไป ได้ช้างพังเผือกคืน ตัวเจ้าพระฝางหายสาบสูญไป

พรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีละครหญิง สมโภชพระประธานวัดสวางคบุรี 7 วัน นับเป็นงานใหญ่เทียบเท่างานสมโภชพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ที่พิษณุโลก

"เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้แล้ว ก็เท่ากับได้เมืองเหนือกลับมาทั้งหมด"

พระองค์ได้ประทับจัดการปกครองเมืองเหนืออยู่ตลอดฤดูน้ำ เกลี้ยกล่อมราษฎรที่แตกฉานซ่านเซ็น ให้กลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม จัดการสำรวจไพร่พลในเมืองเหนือทั้งปวง พบว่า เมืองพิษณุโลกมีพลเมือง15,000 คน เมืองสวรรคโลก มี 7,000 คน เมืองพิชัย รวมทั้งเมือง สวรรคบุรี มี 9,000 คน เมืองสุโขทัย มี 5,000 คน เมืองกำแพงเพชร และเมืองนครสวรรค์ มีเมืองละ 3,000 คนเศษ จากนั้นได้ทรงตั้งข้าราชการซึ่งมีบำเหน็จความชอบในการสงครามครั้งนั้นคือ พระยายมราช ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช อยู่สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก พระยาพิชัยราชา ให้เป็นเจ้าพระยาพิชัยราชา สำเร็จราชการเมืองสวรรคโลก พระยาสีหราชเดโชชัย ให้เป็นพระยาพิชัย พระยาท้ายน้ำ ให้เป็นพระยาสุโขทัย พระยาสุรบดินทร์ เมืองชัยนาท ให้เป็นพระยากำแพงเพชร พระยาอนุรักษ์ภูธร ให้เป็นพระยานครสวรรค์ เจ้าพระยาจักรี (แขก) นั้นอ่อนแอในสงคราม มีรับสั่งให้เอาออกเสียจากตำแหน่งสมุหนายก พระยาอภัยรณฤทธิ์ ให้เป็นพระยายมราช และให้บัญชาการกระทรวงมหาดไทยแทนสมุหนายกด้วย

เมื่อจัดการหัวเมืองเหนือเสร็จแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงธนบุรี

พิธีดำน้ำพิสูจน์ความบริสุทธิ์พระสงฆ์ฝ่ายเหนือ จากพระราชพงศาวดาร

...หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกกองทัพไปปราบปรามชุมนุมเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเสร็จแล้ว โปรดให้ทำการสมโภชองค์พระศรีมหาธาตุ ดำรัสให้ราชบัณฑิตจัดหาพระไตรปิฏกลงบรรทุกเรือเข้ากรุง เพื่อทำการจำลองเสร็จแล้วจะนำส่งคืน ทั้งให้สังฆการีนิมนต์พระอาจารย์สี วัดพนัญเชิงซึ่งหนีพม่าออกมาอยู่ ณ เมืองนครนั้น ให้รับเข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรีพร้อมกับพระสงฆ์สามเณรศิษย์ทั้งปวงด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งให้พระอาจารย์สี ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สถิตอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่ในเดือน 4 ปีฉลู เอกศกนั่นเอง

ครั้นถึงปีขาล โทศก 2333 เจ้าพระฝางซึ่งเป็นพระเถระ หรือพระสังฆราชาเจ้าคณะเมืองสวางบุรีที่พระพากุละเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แสวงหาอำนาจ ลาภ ยศ กันอย่างเปิดเผยโดยมิได้คำนึงถึงพระพุทธบัญญัติหรือพุทธวินัยกันเลย ได้ก่อให้เกิดความสกปรกอัปยศโสมมขึ้นในวงการของคณะสงฆ์ เป็นที่แปดเปื้อนต่อความบริสุทธิ์ผ่องใสแห่งพระบวรพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยตั้งตัวเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งๆที่ตนเป็นพระ ประพฤติพาลทุจริตทุศีลก่อกรรมลามกบริโภคสุราร่วมกับพระสงฆ์อลัชชี

แล้วยังนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ จัดเป็นกองทัพทำการต่อต้าน จึงโปรดให้สืบเสาะจับพระสงฆ์เหล่าร้ายได้ตัวพระครูศิริมานนท์หนึ่ง พระอาจารย์หนึ่ง พระอาจารย์จันทร์ อาจารย์เกิดหนึ่ง ล้วนเป็นแม่ทัพอ้ายเรือน (เจ้าพระฝาง) ทั้งสี่รูป แต่พระครูเพชรรัตน์กับอ้ายเรือนพระฝางนั้นหาตัวได้ไม่ จึงดำรัสให้ผลัดผ้าเป็นคฤหัสถ์ทั้ง 4 คน แล้วจำส่งลงมาใส่คุก ณ กรุงธนบุรี

ในวันนั้น ให้นิมนต์พระสงฆ์เมืองเหนือมาพร้อมกันหน้าพระที่นั่ง แล้วให้หาขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยมาประชุมพร้อมกัน จึงดำรัสปรึกษาว่า พระสงฆ์บรรดาอยู่ฝ่ายเหนือนี้เป็นพรรคพวกอ้ายเรือนพระฝางทั้งสิ้น ย่อมถืออาวุธและปืนรบศึกฆ่าคนปล้นเอาทรัพย์สิ่งของ กินสุราเมรัยส้องเสพอนาจารด้วยหญิง ต้องจตุปาราชิกาบัติต่าๆ ขาดจากสิกขาบทในพระพุทธศาสนาล้วนลามก จะละไว้ให้คงอยู่ในสมณเพศฉะนี้มิได้ อนึ่ง พระสงฆ์ฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ ก็จะแปลกปลอมปะปนกันอยู่มิรู้ว่าองค์ใดดีองค์ใดชั่ว จะได้ไหว้นบเคารพสักการบูชาให้เป็นเนื้อนาบุญ ได้มีผลานิสงส์แก่เราท่านทั้งปวง ให้พระสงฆ์ให้การไปตามสัตย์ตามจริง ถ้าได้ผิดในจตุปาราชิกแต่ประการใดประการหนึ่ง จะพระราชทานผ้าคฤหัสถ์ให้ผลัดสึกออกทำราชการ ที่ไม่รับนั้น จะให้ดำน้ำพิสูจน์สู้นาฬิกาสามกลั้น แม้ชนะนากาจะให้เป็นอธิการและพระครูราชาคณะฝ่ายเหนือ โดยสมควรแก่คุณธรรมที่รู้ แม้แพ้แก่นาฬิกาจะให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนตีแล้วสักข้อมือไว้มิให้บวชได้อีก แม้เสมอนาฬิกาจะถวายผ้าไตรให้บวชใหม่ แต่ถ้าเดิมไม่รับ ครั้นจะให้ลงดำน้ำพิสูจน์กลับคืนคำว่าได้ทำผิด จะให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตเสีย

หาดแม่น้ำน่าน หน้าวัดพระฝาง ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5

อนึ่ง เมื่อพระสงฆ์จะลงดำน้ำนั้น ให้ตั้งศาลากั้นม่านคาดเพดานผ้าขาวแต่งเครื่องพลีกรรมเทพยดาพร้อมแล้ว จึงทรงพระสัตยาธิษฐานให้พระบารมีนั้น ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพระสงฆ์ทั้งปวง ถ้าภิกษุสงฆ์องค์ใดมิได้ขาดสิกขาบทจตุปาราชิกขอให้บารมีของเราและอานุภาพเทพยดาอันศักดิ์สิทธิ์จงเป็นสักขีพยาน ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพระผู้เป็นเจ้าองค์นั้น อย่าให้แพ้แก่นาฬิกาได้ ถ้าแลภิกษุองค์ใดถึงศีลวิบัติแล้ว เทพยดาจงสังหารให้แพ้แก่นาฬิกาเห็นประจักษ์แก่ดาโลก แล้วเสด็จทรงพระเก้าอี้อยู่ที่หาดทราย ให้พระสงฆ์ดำน้ำพิสูจน์ตัวต่อหน้าพระที่นั่ง พลางอธิษฐานด้วยเตชะพระบรมโพธิสมภาร ครั้งนั้นพระสงฆ์ที่มีศีลบริสุทธิ์ก็ชนะนาฬิกาบ้าง เสมอนาฬิกาบ้าง ภิกษุผู้ทุศีลก็แพ้แก่นาฬิกาเป็นอันมาก เสนาบดีก็กระทำตามรับสั่งโดยสมควรแก่คุณและโทษ แต่ผ้าไตรที่พระสงฆ์พวกแพ้ต้องสึกนั้นให้เอาสมุกไปทาพระมหาธาตุเมืองสวางบุรี แล้วทรงพระกรุณาให้เย็บผ้าจีวรสบงให้ได้พันไตร จะบวชพระสงฆ์ฝ่ายเหนือ จึงดำรัสสั่งให้สังฆการีลงมาอาราธนาพระราชาคณะกับพระสงฆ์อันดับ ณ กรุงธนบุรีห้าสิบรูปขึ้นไปบวชพระสงฆ์ไว้ ณ หัวเมืองทุกๆเมือง และให้พระราชาคณะอยู่สั่งสอนในข้อพระวินัยสิกขาบท กับให้เก็บพระไตรปิฏกลงมาเป็นฉบับสร้าง ณ กรุงด้วย

โปรดให้พระพิมลธรรมไปอยู่เมืองสวางบุรี ให้พระธรรมโคดมไปอยู่เมืองพิชัย ให้พระธรรมเจดีย์ไปอยู่เมืองพิษณุโลก ให้พระพรหมมุนีไปอยู่เมืองสุโขทัย ให้พระเทพกวีไปอยู่เมืองสวรรคโลก ให้พระโพธิวงศ์ไปอยู่เมืองศรีพนมมาศทุ่งยัง

พร้อมกับสั่งให้ทำการสมโภชพระมหาธาตุวัดพระฝาง ทั้งทำการปฏิสังขรณ์อารามทั่วไป และสมโภชพระแท่นศิลาอาสน์ กับสมโภชมหาธาตุเมืองสวรรคโลกเช่นเดียวกัน...

 

หมายเลขบันทึก: 304098เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2009 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ความจำเป็นอย่างหนึ่ง ที่จะแสดงให้เห็นถึงการรับผิดชอบด้านวิชาการต่อข้อมูล ในกรณีนี้ ได้นำข้อมูลมาจากวิกิพีเดีย ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขคือ ต้องอ้างอิงว่านำข้อมูลมาจากวิกิพีเดีย และเผยแพร่ข้อมูลต่อโดยใช้สัญญาอนุญาตเดียวกัน จึงขออ้างอิงแทนท่านเจ้าของบล็อกไว้ที่นี้ว่า บทความนี้ ได้นำมาจากวิกิพีเดียครับ

เที่ยวเมืองไทยก็สนุกแล้ว555555555555

แม่พาเป็นคนผาจุกที่นั้นเป็นบ้านเกิดพี่น้องทุกคนก็ใจดีแต่ตอนนี้น้าคน1เส้นเลือดแตกในสมองอาการแย่มากน้าไม่ค่อยมีเงินรักษาหนูอยากขอพรให้พระฝางช่วยส่งดวงแก้วมาช่วนน้าหนูด้วยเถิดหนูเป็นหว่งแม่และน้ามากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ดีๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท