เงิน ข้าศึกของความ "สงบ..."


มีเงินมากปัญหาก็มาก งานเยอะ เงินเยอะ ปิดเส้นทางแห่ง "ความสงบ"

เงินนั้นเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์
ที่เราทนทุกข์ในการร่ำ การเรียน การทำงานทุกวันนีก็เพราะ "เงิน"

มีเงินมากแล้วก็ทุกข์อีก กลัวคนจะมาขโมย กลัวจะเสีย กลัวจะหาย

มีเงินมากแล้วก็ไม่ได้ถือศีล ภาวนาอีก ก็เพราะคิดว่าเราทำทานเยอะแล้วดีแล้ว

มีเงินมากแล้วก็ท้อแท้ หาว่าทำดีไม่ได้ดี เพราะว่าทำทานกับคนอื่นมาก ไม่เห็นได้ความดีมาตอบแทน

เงินจึงเป็นเครื่องปิดกั้น "สติปัญญา" มีเงินมาก ใช้เงินซื้อความรู้มากกลับทำให้ตัวเองรู้น้อย รู้เรื่องตนเองน้อย รู้เรื่องคนอื่นมาก
คนไม่มีเงิน ใช้ตนเองแลกกับความรู้จึงรู้มาก รู้เรื่องตนเองมาก

รู้จักตนเอง ก็รู้จักอยู่กับตนเองอย่างเป็นสุข เมื่ออยู่กับตนเองอย่างเป็นสุขแล้ว อยู่ใกล้ ๆ ใครก็ไม่มีความทุกข์

คนที่เรียนรู้แต่คนอื่นก็เรียนรู้ไปเรื่อย ไปอยู่กับใครก็มีปัญหา เพราะจ้องจะไปเรียนรู้แต่เขา จ้องแต่จะปรับ จะเปลี่ยนเขา
แต่เราไม่รู้จักเรา เราไม่สามารถปรับ ไม่สามารถเปลี่ยนตัว เปลี่ยนตนของเรา

พอเกิดอะไรนิด อะไรหน่อย ก็ใช้เงินตัดสินกันแล้ว
พอไม่เข้าใจอะไรกันหน่อย ก็ทวงเงิน ทวงบุญคุณกันแล้ว

มีเงินมากปัญหาก็มาก งานเยอะ เงินเยอะ ปิดเส้นทางแห่ง "ความสงบ"

เงินกับความสงบจึงอยู่ตรงกันข้าม
เงินไม่สามารถซื้อความสงบ
มีเงินมากจึงอยู่ห่างจากความสงบมาก

เงินเหรอที่ให้ความสุข
ความสุขอื่นใดที่เหนือจากความ "สงบ" นั้นไม่มี...

(ที่มาจากบันทึก กรรมของคนมั่ง คนมี...)

หมายเลขบันทึก: 303988เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2009 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เงินส่งเราได้อย่างไกลแค่เตียงยาบาล

คุณความดีจะติดเราไปทุกหนทุกแห่ง

เงินบางทีก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดครับ

มาเยี่ยมชม คมความคิดครับ

เงินนั้นส่งเราได้ไกลกว่านั้นอีกนิดหนึ่ง คือ ส่งถึง "เชิงตะกอน"

ตอนนั้นครอบครัว ลูก หลาน ญาติพี่น้องก็มาคอยส่งเราพร้อมหน้า

ส่งแล้วเราก็ไป เขาก็กลับ ร่างกายก็ย่อยสลายด้วยไฟอยู่ตรงนั้น

ตอนเกิดมาเราก็ไม่ได้เอาอะไรมา ตอนไปเราก็ไม่ได้เอาอะไรไป

มีแต่ "กรรม" ที่เราทำไว้จะติดตามเราไปในชาติหน้า

ชาตินี้นั้นโอกาสดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา

โอกาสทำดีนั้นดีมาก การได้เกิดมาเป็นคนไทย อยู่ในประเทศไทย ชีวิตนั้นถูกหล่อหลอมให้เราเรื่องในเรื่องเวร เรื่องกรรม

วันก่อนเจอโยมป้าที่ไปอยู่ต่างประเทศมานาน (ประมาณ ๓๐ ปี) เขาเชื่อเรื่องเหตุและผลมากกว่าเรื่อง "กรรม"

เรื่อง "กรรม" นั้นเป็นเรื่องนอกเหตุ เหนือผล

เราก็เพิ่งรู้กระจ่างใจนี้เองว่าฝรั่งเขาคิดกันอย่างนี้ เขาเชื่อแต่ในการกระทำของตน

จะว่าไม่ดีก็ดีนะ เขาเชื่อในการกระทำของเขา "ทำดีต้องได้ดี" เขาเชื่ออย่างนั้น

แต่ความเชื่อนั้นก็ถูกครึ่งหนึ่ง

อีกครึ่งหนึ่งคือ เขาไม่รู้ว่าทำดีอย่างไรได้ดีน้อย ทำดีอย่างไรได้ดีมาก

บางคนถึงทำดีมาตลอดทั้งชีวิต แต่ไปทำดีในที่ได้ดีน้อย ก็เลยมาบ่นว่า ทำไมทำดีถึงไม่ได้ดี

เหมือนกับโยมป้าที่บ่น ว่าป้าทำดีมาตลอดทั้งชีวิต ทำไมป้าต้องมาเจอปัญหาหนัก ๆ แบบนี้

ก็ป้าไปทำความดีกับใครบ้างเล่า

ไปทำความดีกับบุคคลผู้ทุศีล เลี้ยงดูคนงานในร้าน ทำร้อยครั้งยังไม่เท่ากับเลี้ยงดูคนมีศีลห้าเพียงครั้งเดียวเลย

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงบุคคลผู้มีศีล ๘ นะ ยังไม่ต้องพูดถึงสมมติสงฆ์นะ ยังไม่ต้องพูดถึง "พระอริยะเจ้า" นะ โยมป้าต้องทำทานนับได้อีกหลายภูเขาเลยแหละ ถึงจะเทียบเท่ากับการรักษาศีลของตนเองให้ดี...

ตอนนี้ชวนไปวัดก็ไม่ไป ป้าบอกว่า "ใคร ๆ ก็รู้ว่าปกติป้าไม่เข้าวัด ป้าเชื่อในการทำความดีของตัวเอง" (แล้วจะไม่ปกติบ้างไม่ได้หรือ...?)

เราชวนถึงสามครั้ง เมื่อถึงสามครั้งแล้วก็ต้องปล่อยไป ปล่อยไปตามเวร ตามกรรม...

ป้าให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก มาเมืองไทยนอกจากจะเคลียร์เรื่องบ้าน เรื่องทรัพย์สิน ก็มีแต่โปรแกรมนัดครอบครัวมาสังสรรค์ ไปต่างจังหวัดก็ไปเยี่ยมญาติโก โหติกา ที่ไม่ได้เจอหน้ามานาน กะว่าจะเจอหน้ากันครั้งสุดท้ายก่อนตาย "แล้วตอนตายไปแล้วนี่จะพากันไปได้ด้วยหรือ...?"

เฮ้อ... พระพุทธองค์ซึ่งตรัสไว้ว่า "สัมมาทิฏฐิ" เป็นทางเริ่มต้นแห่งถนนหนทางแห่ง "อริยมรรค"

บุคคลใดที่ยังมี "มิจฉาทิฏฐิ" บุคคลนั้นก็ยังไม่เข้าสู่ถนนหนทางที่จะพ้นทุกข์

งานเลี้ยง งานสังสรรค์ที่มีญาติโก โหติกาพร้อมหน้านั้น ก็ให้ความสนุกสนาน ครื้นเครงกันก็ได้แต่เพียงคืนนี้ ชีวิตนี้ ชาตินี้

แล้ววันข้างหน้าเล่า โอกาสที่จะทำความดีให้สูงไปกว่านี้ โอกาสที่จะรู้จักความสุขที่มากไปกว่านี้ ญาติทั้งหลายที่มาสังสรรค์กันน่ะหรือเขาจะพาไปให้รู้จักได้...!!!

แต่นั่นก็เน๊อะ "ต้นทุน" ของคนเรามันไม่เหมือนกัน กรรมที่เราเคยทำมานั้นไม่เหมือนกัน เมื่อป้าตัดสินใจทำอย่างนั้นก็ต้องปล่อยท่านไป...

เงิน ไม่สามารถช่วยอะไรได้ทุกอย่าง ทุกเรื่อง

เงิน กลับทำให้คนที่มีนั้นเป็นทุกข์ มีมากทุกข์มาก มีน้อยทุกข์

เงิน ทำให้พี่น้องแตกแยกกัน ทะเลาะกัน

เงิน ซื้อทุกสิ่งได้แต่ไม่สามารถซื้อใจที่ดีได้

เงิน ไม่มีก็มีทุกข์ เพราะทุกวันนี้ จะกิน จะใช้ก็ต้องใช้เงิน

เงิน จึงควรมีแค่พอดีพอใช้ ไม่เอาเงินมาเป็นข้อที่1ของในใจ

จะได้ไม่ตกเป็นทาสของเงิน

ไม่ตกเป็น "ทาส" นะ ดีมาก ดีมาก

มีเงินก็รู้จักใช้เงิน อย่าให้เงินมันมาใช้เรา

ให้เงินมันเป็นทาสของเรา ไม่ใช่เราไปเป็นทาสของเงิน...

ไม่มีเงิน ชีวิตนี้ก็อยู่ลำบาก

มีเงินมาก ชีวิตนี้ก็ลำบากเหมือนกัน

ต้องมี "ปัญญา" นะ

ปัญญาจะมีได้ต้องรู้จักรักษาศีล และทำ "สมาธิ..."

ศีล สมาธิ ปัญญา นะ

ไม่ใช่ เงิน ทรัพย์สิน แล้วก็ "ปัญญา..."

โชคดีที่ชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงิน อยู่กับใจเสียมากกว่า

จริงๆชีวิตตนเองนั้นวนเวียนอยู่กับเงินเป็นอย่างมาก

แต่แปลกว่าทำไมจึงไม่ได้ตกเป็นทาส ของเงิน

อาจเป็นความโชคดี ที่ไม่คิดว่าเงินเป็นเรื่องใหญ่

กำลังคิดต่อไปว่า ทำไม บางคน ตกเป็นทาส ของเงิน

เพราะ เขาไม่เข้าใจ คิดไม่ออก ว่าตอนนี้กำลังตกเป็นทาส ของเงินอยู่หรือเปล่า

ท่าน ช่วยชี้แนะ ด้วยว่าทำไม เขาถึงไม่เข้าใจ

ขอบคุณที่ให้ความสว่างว่า ต้อง รักษา ศีล สมาธิ ปัญญา

การที่จะเข้าชมรมนักปั่น จำเป็นจะต้องสมัครหรือไม่ หรือเขียน-ส่ง ความคิดเห็นแบบนี้ก็เป็นการเข้าชมรมโดยอัตโนมัติ ใช่หรือเปล่า

เอ่... ไม่รู้นะ ก็เพราะว่าไม่ใช่เขา

เราสนใจตัวเราก็พอแล้ว อย่าไปยุ่งเรื่องคนอื่นเขามาก

เราไปทำให้เขาเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ไม่ได้หรอก ทำตัวเองให้ดี

คนเรามันยุ่งก็เพราะชอบไปยุ่งเรื่องคนอื่นเขาเนี่ยแหละ

เรามีหน้าที่เป็นผู้บอกทางเขาได้เท่านั้น ส่วนเขาจะทำหรือไม่ทำก็เป็นเรื่องของเขา...

จะไปจูงจมูกให้เขาเป็นคนทางโน้นทาง เราก็เหนื่อยเปล่า แล้วก็เจ็บฟรีด้วย ยังไม่ "เข็ด" อีกเหรอ...?

"อย่าไปขยันไม่เข้าเรื่อง"

ส่วนชมรมนักปั่นนี้เป็นชมรมประเภท "บอกรับสมาชิก" คือ ใครจะเป็นเป็นสมาชิกก็ให้ "บอก" บอกแล้ว รู้แล้วก็แค่นั้น แต่ข้อสำคัญ "ต้องโง่" อย่าไป "ฉลาด" หลาย ฉลาดมากแล้วจะเป็น "ทุกข์"

คนฉลาดอยู่ด้วยกันมักทะเลาะกัน เพราะฉันคิดโน่น เธอคิดนี่ คิดแล้วก็ถกเถียงกัน ทะเลาะกันในเรื่อง "โง่ ๆ"

อัติโนมัติไหมเหรอ...?

ไม่หรอก ต้องบอก ไม่บอก ไม่รู้...

นี่แหละที่ทำอยู่เลย ที่คิดว่าทำไม เขาเป็นแบบนั้น

ทำไม เขาทำแบบนั้น ทำไม เขาพูดแบบนี้

ชอบไปยุ่งกับคนอื่น เห็นเป็นไม่ได้ถ้าพูดได้ก็จะพูดและบอกเขาเลย

แต่ก็โดนคำว่ากลับมาทุกครั้ง แต่ก็ไม่ค่อยเข็ด

ตอนนี้เริ่มเป็นคนโง่ นิดหน่อยแล้ว เริ่มไม่พูด พยายามจะหยุดที่การกระทำที่โง่ของตนเสีย

วันนี้คิดได้ไม่พูด แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าข้างหน้าที่เจอ จะหลุดที่จะพูดหรือเปล่า

เนี่ยแหละบอกหลายครั้งแล้ว เมื่อก่อนก็เคยบอกว่าให้ "ฟังมากกว่าพูด" แต่ก็เป็นอย่างนี้ทุกที ไม่ค่อยฟังคนอื่นเขาพูด ได้แต่พูด พูด พูด แล้วก็พูด

แล้วเป็นอย่างไรเล่าต้องกลับมานั่งเจ็บช้ำ น้ำใจ ทำอะไรให้เขาไปเขาก็ไม่เห็น "คุณค่า..."

แต่ทว่า มีหน้าที่ทำก็ทำไป

ไม่ใช่ไม่ให้ทำ แต่ทำแล้วก็ให้รู้จักปล่อย จักวาง

อย่าไปหวังว่าเขาคำขอบคุณ ไม่ต้องไปหวังสิ่งตอบแทน

สิ่งตอบแทนมีให้แล้วเมื่อเรา "ทำ..."

ทีหลังนี้ต้องหัด "งดพูด" บ้าง

กลับไปก็ไปหาป้ายที่เขาใช้แขวนคอมาอันหนึ่งนะ เอาแบบที่พนักงานตามบริษัทใช้ก็ได้

แล้วก็พิมพ์กระดาษใบเล็ก ๆ ติดลงไปว่า "ขออภัยค่ะ งดพูด..."

เจอใครเขาจะได้รู้ว่าเรางดพูด

มีหน้าที่คุยเรื่องงานก็คุยไป

เรื่องลูกน้อง เรื่องคนงานก็ "ช่างเขา" ไม่ต้องไปสอน ไปพูดมาก สอนตัวเองให้ดี สอนตัวเอง "เงียบ" ให้ได้

วันนี้มีการบ้านนะ ต้องกลับไปสอนตัวเองก่อน พูดน้อย ๆ ไม่พูดเลยยิ่งดี โดยเฉพาะพูดเรื่อง "คนอื่น..."

ป.ล. แล้วตกลงจะเป็นสมาชิกไหม ไม่บอก ไม่รู้นะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท