74.ความเรียบง่ายคือ "อินเดีย" ที่มีกึ๋น


รูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้สะท้อนความดีของจิตใจ

       

 

       ดิฉันเห็นวิถีชีวิตของชาวอินเดียไม่ว่าจะเป็นท่านมหาตมา คานธี พิพิธภัณฑ์ของท่านอดีตนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธีที่กรุงเดลลี รวมถึงวิถีชีวิตของผู้นำอินเดียมากมายทั้งทางการเมือง และทางจิตวิญญาณต่างก็ล้วนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ตลอดจนบ้านของชาวอินเดียโดยทั่วไปที่มีฐานะปานกลางจะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกแก่ชีวิตอย่างเพียงพอ ที่สำคัญยิ่งหากบ้านใดเคร่งครัดในการรับประทานอาหารมังสวิรัติด้วยแล้ว เชื่อได้เลยว่าอาหารของคนเหล่านั้นจะคล้ายๆ กัน

        อาหารเน้นธัญพืชถั่วชนิดต่างๆ ที่เป็นแหล่งอาหารของโปรตีน มันฝรั่ง และแป้งเพื่อทำโรตี ปาระทา (โรตีใส่ไส้มันฝรั่งกับหอมใหญ่) ปูรี (แป้งทอดกลมๆพองๆ) เพื่อทานกับอาหาร มีข้าวเป็นตัวประกอบเครื่องเทศที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ผักสดของคนอินเดียคือมะเขือเทศ แตงกวา หัวไชเท้า       หอมใหญ่หัวโตทุกอย่างฝานบางๆ บ้างโรยเกลือ บ้างบีบมะนาวก็อร่อยดี ไม่มีผักสดเป็นใบให้ทาน สังเกตว่าผักที่ขายส่วนใหญ่เป็นพืชหัว หรือเป็นลูกมากกว่า

        ที่ร้านอาหาร หากสั่งอาหารชุดจะได้อาหารทุกอย่างที่เขากำหนดไว้แล้วใส่มาในถ้วยสแตนเลสใบเล็กๆ ไม่น้อยกว่าห้ารายการ โดยมีผักที่เป็นเครื่องเคียงดังกล่าวมาด้วย แล้วแต่ว่าทางร้านจะมีให้เลือกแบบใด สิ่งที่ขาดไม่ได้จะมีข้าว ดาฮี (นมเปรี้ยว) ให้ด้วย และแถมด้วยโรตีเป็นถาดเลย อาหารอินเดียก็มีเครื่อง   ชูรส เช่นพริกดอง มะนาวดอง เป็นต้นซึ่งมีรสชาติจี๊ดจ๊าดมาก ทานผสมกับอาหารของเขาก็ทำให้อาหารได้รสชาติไปอีกแบบหนึ่ง แต่หากไม่ชอบกลิ่นหรือรสก็เลี่ยงๆ ได้ การรับประทานที่มีทั้งข้าวและโรตีจึงต้องผสมกันระหว่างมือและช้อน ดังนั้นก่อนทานต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง โดยทั่วไป ชาวอินเดียรับประทานอาหารด้วยมือซึ่งถือว่าเป็นช้อนธรรมชาติที่ติดตัวมาอยู่แล้ว ใหม่ๆ เราอาจจะรู้สึกไม่สะดวกใจ แต่หากทดลองทำไปก็สามารถทำได้เราก็จะทำตัวได้เนียนกับสังคมอินเดียมากขึ้น

 การแต่งกายของชายชาวอินเดีย

        สุภาพบุรุษอินเดียไม่ค่อยแต่งสูทรสากลไปงานในพิธีของเขา หรือพิธีการของคนอื่นก็ตาม (แต่ก็มีแต่งสูทร ไม่ใช่ไม่มีนะคะ) ผู้ชายมักใส่เสื้อยาวๆ คลุมถึงครึ่งน่อง แบบที่ผู้หญิงอินเดียใส่ บางครั้งก็เป็นเสื้อผ้าไหมบ้าง หรือสีขาวบ้าง สีเนื้อเข้มๆ บ้าง ใส่กางเกงข้างในรัดขาแคบๆ รองเท้าหนังหุ้มส้นเตี้ยๆ แบบอินเดีย ไม่ใส่ถุงเท้า 

        ชุดทางการอีกประเภทที่เห็นคือใส่เสื้อคลุมยาวนี่แหละ แต่นุ่งผ้าโธตีซึ่งทำจากผ้าไหมมีสีขาวบ้าง สีเนื้อเข้มๆ บ้าง รองเท้าแตะแบบอินเดีย ผู้เขียนเห็นผู้ชายหลายคนแต่งเวลาเข้าร่วมในพิธีสำคัญๆ เช่นพิธีเปิดการประชุม หรือไปร่วมพิธีที่วัด เป็นต้น แต่หากไม่เป็นทางการ เราจะเห็นว่าผู้ชายอินเดียแต่งตัวง่ายๆ บ้างก็ใส่เสื้อยาวๆ เป็นผ้าฝ้าย กางเกงอะไรก็ได้ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รองเท้าจะเป็นแตะหรือหุ้มส้นหรือรัดส้นก็ได้ อินเดียจะมีรองเท้าแตะคล้ายฟองน้ำแต่เป็นหนัง มีหนังทำเป็นวงกลมสำหรับสอดนิ้วโป้งเท้าเข้าไป ซึ่งคล้ายกับพม่าที่เขามีรองเท้าแตะประจำชาติของตนเองที่ใส่กับโสร่งบางคนก็แต่งตัวเหมือนผู้ชายไทยทั่วไปคือเสื้อเชิร์ตไม่ปล่อยชายคาดเข็มขัด แต่ก็ใส่รองเท้าแตะหนัง หรือรองเท้าหนังรัดส้น หรือรองเท้าหุ้มส้น อีกประเภทคือใส่เสื้อ     เชิร์ตปล่อยชายเสื้อคลุมสะโพกก็มีให้เห็นประจำ  ผู้ชายทำงานเมื่อไปทำงานโดยทั่วไปแม้จะใส่รองเท้าแตะที่รัดส้นหรือไม่ก็ตาม เขาไม่ใส่รองเท้าฟองน้ำไปทำงานในที่ทำงาน (office) ยกเว้นผู้ที่ทำงานใช้แรงงานก็มีการแต่งกายตามสภาพของเขา

        ทั้งนี้ทั้งนั้นการแต่งกายของชายชาวอินเดียก็บ่งบอกถึงความเป็นอินเดียที่มีหลายระดับตามวาระและโอกาส แต่มีอิสระที่ไม่ต้องให้กฎเกณฑ์ตะวันตกมาครอบงำ มีความเรียบง่าย แต่สบายเมื่อสวมใส่ ไม่รัดรึง (ผู้ชายอินเดียวัยทำงานจำนวนมากพุงเริ่มใหญ่ขึ้นๆ ตามวัย) ที่สำคัญคือการแต่งกายเหมาะกับอากาศร้อนๆ ในฤดูที่ไม่ใช่ฤดูหนาวของอินเดียเป็นอย่างยิ่ง

        การถอดรองเท้าเดินเมื่อเข้าไปในศาสนสถานเป็นสิ่งที่ต้องทำ การเดินเท้าเปล่าจึงเป็นเรื่องปกติของคนอินเดีย แต่ไม่ปกติสำหรับคนไทยโดยเฉพาะคนในเมือง เขาถอดรองเท้ากันตั้งแต่ลงจากรถจะเข้าวัดสำหรับบางศาสนสถาน เช่นวัดเชนในอินเดียซึ่งมีความสวยงาม และหลากหลายตามเมืองต่างๆ บ้างก็อยู่ที่ราบ บ้างก็อยู่เนินเขา ผู้เข้าไปในศาสนสถานดังกล่าว ต้องถอดรองเท้าเดินตั้งแต่ประตูใหญ่ กลางวันแดดร้อนจัดๆ เชื่อได้ว่าไม่ว่าจะเป็นเท้าใครคงพองพอกัน แต่ใครจะอดทนมากกว่าใครเพื่อแสดงความเคารพนั่นเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์กัน วัดฮินดูก็เช่นกัน หรือในบริเวณที่ชาวฮินดูถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต้องถอดรองเท้าทั้งนั้น

        นี่เป็นหนึ่งในความเรียบง่ายของชาวอินเดีย  เราไม่ควรดูหรือตัดสินกันแต่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้นเพราะเราจะดูผิดมากกว่าถูก แต่ต้องดูที่ “จิตใจ” ที่เขาแสดงออกเป็นสำคัญ ชาวอินเดียให้ความสำคัญกับ “ใจ” มากกว่า “วัตถุ” อยู่แล้ว ดังนั้น เราต้องค้นหา “แก่น” จากความเรียบง่ายที่สัมผัสด้วยตาให้พบ เมื่อนั้นจึงจะเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น

บอกกล่าว  ข่าวแจ้ง

1) ฟรี! --ขอเชิญท่านที่สนใจการทำวิจัยที่ประเทศอินเดีย เข้าร่วมฟังการสัมมนาเรื่อง "แนวทางความร่วมมือในการวิจัยด้านสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ระหว่างไทย-อินเดีย" จัดโดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

         ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 เวลา 9.00-15.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารภาษาและวัฒนธรรมสยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหิดล พุทธมณฑล 4 กรุณาโทร. สำรองที่นั่งที่คุณวาสนา ส้วยเกร็ด โทร. 02-800-2308-14 ต่อ 3209

2) ท่านที่สนใจจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมและการพัฒนา เอกอินเดียศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล สนใจกรุณาเข้าชม www.mahidol.ac.th และซื้อใบสมัคร พร้อมสมัครได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2552  โทร. 02-800-2308-14 ต่อ 3309

หมายเลขบันทึก: 303727เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2009 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อจ.โสภนาครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าได้ประโยชน์ในการชวนคนไทยให้ไปเห็นและสัมผัสอินเดีย ก็คือการเรียนรู้เรื่องวิถีชีวิตนี่ละครับ

สังคมไทยต้องการกระบวนการทางปัญญา เพื่อปรับให้มีความเรียบง่ายและพอเพียง เพียงพอ พอดี และสมดุลย์ให้มากขึ้น

ถ้าไม่ไปเห็นด้วยตัวเอง คงยากที่จะเข้าใจและไม่มีทางที่จะปรับเปลี่ยนได้เลย

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ที่ถ่ายทอดอย่างสม่ำเสมอครับ

คณะของรองนายกกอร์ปศักดิ์ เพิ่งเสร็จสิ้นการเยือนเดลี ถือว่าประสบความสำเร้จด้วยดี เป็นการไปกระตุ้นในภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศให้เชื่อมต่อกันได้

โอกาสในอินเดียมีมากมายมหาศาล ขอเพียงเปิดใจไปเรียนรู้ครับ

เรียน ท่านพลเดช ที่เคารพ

ใช่ค่ะ ท่านได้เห็นและสัมผัสข้อเท็จจริงมากกว่าดิฉัน ดิฉันเพียงแต่เป็นผู้ศึกษา และสังเกตแบบคนที่นานๆ ไปเห็นทีค่ะ

การได้รู้จัก และเข้าใจกันจะช่วยสร้างความคุ้นเคยกัน เรียนรู้กัน และรู้จักกันให้ดียิ่งขึ้น เราควรมองกันในด้านดีๆ เพื่อนำไปสู่

ความคิดร่วมกัน ความร่วมมือกันที่ดีๆ ต่อไปนะคะ

เห็นด้วยกับท่านทั้งสองอย่างยิ่งค่ะ มีโอกาสได้ไปศึกษาและเก็บข้อมูลโครงการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบไทยกับอินเดีย ประทับใจ "อินเดีย" มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตใจดี ให้เกียรติกับผู้มาเยือนอย่างดีที่สุด มีดีมากมาย แต่ไม่โอ้อวด ไม่เหยียดผู้อื่น

คนไทยเสียอีกที่บางครั้ง คิดและเข้าใจว่ามีดีกว่าชาติอื่น ความภาคภูมิใจแบบนี้เป็นหนทางทำลายชาติได้เหมือนกันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท