จิตวิญญาณ "กล้วยไม้ไทย" (ศ.ระพี สาคริก)


ศาสตร์ทุกศาสตร์ แก่นแท้อยู่ตรงนี้ อยู่ที่ใจ

ผู้เขียนเขียนบทความนี้เพื่อบอกเล่าความประทับใจที่ได้มีโอกาสไปพบท่านศาสตราจารย์ระพี สาคริก และได้รับฟังแง่คิดที่ดีและมีคุณค่าจึงนำมาเล่าสู่กันฟัง

ศาสตราจารย์ระพี สะคริก เป็นบุตรชายคนโตของขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตริยสมุห (เนื่อง สาคริก) เป็นนักวิจัยและนักวิชาการเกษตร ผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ของประเทศสู่สากล ผู้ซึ่งมีความสนใจเรื่องกล้วยไม้และได้ศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้งจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2511) ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดด้านวิชาการ และสองปีต่อมายังได้ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ (พ.ศ. 2513) โดยไม่ต้องดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ก่อนแต่อย่างใด

ปัจจุบันศาสตราจารย์ระพี สะคริก ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ อันเป็นสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรโดยใช้ระบบการศึกษาแบบ "การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก" (Problem-based learningPBL) โดยมีสอนเพียงสามหลักสูตร คือ ประกาศนียบัตรบัณทิตวิชาชีพครู สถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาศึกษาแบบองค์รวม อันเป็นการเรียนแบบ "ทำงานไป ศึกษาทฤษฎีไป"

ศาสตราจารย์ระพี สะคริก หรือที่หลายๆ คนมักจะเรียกท่านกว่า "คุณปู่" ส่วนผู้เขียนเรียกท่านว่า "อาจารย์" ปัจจุบันท่านอาจารย์ระพีใช้ชีวิตในวัยย่าง 88 ปีอย่างมีความสุขกับการเล่นดนตรี สร้างสรรงานศิลปะ ประพันธ์บทกลอนและบทเพลงทั้งหลาย เขียนบทความให้แง่คิด รวมทั้งการออกไปบรรยายเพื่อการพัฒนาสังคมและการถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ของท่านทั้งในและต่างประเทศ

จากการพูดคุย ท่านอาจารย์ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์มากมายที่ท่านได้ผ่านพบมา โดยเฉพาะที่ท่านเป็นห่วงคือระบบการศึกษาไทย ซึ่งขณะที่ผู้เขียนไปพบท่านนั้น ท่านกำลังเขียนบทความหนึ่งชื่อ "ทำไมการศึกษาไทยจึงถูกครอบงำ" อันเป็นการเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสถาบันอุดมศึกษาและการบริหารจัดการนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ท่านอาจารย์ได้เล่าว่า ทุกสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้นั้นมันมีหลักที่สำคัญคือ ต้องมาจากจิตใจ "ศาสตร์ทุกศาสตร์ แก่นแท้อยู่ตรงนี้ อยู่ที่ใจ"

ท่านอาจารย์เล่าความประทับใจเมื่อครั้งที่ท่านได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระดำรัสให้เพียงสั้น กระชับ แต่กินใจ คือ "ท่านอาจารย์ ไม่ว่าท่านจะทำอะไรก็ขอให้ทำให้ดีที่สุด" ซึ่งเป็นพระดำรัสที่ท่านอาจารย์ระลึกและนำมาใช้ในชีวิตตราบเท่าทุกวันนี้ 

ท่านอาจารย์เล่าต่อไปอีกว่า อันที่จริงไม่ใช่ว่าผมจะสนใจแต่เรื่องกล้วยไม้เท่านั้น ทุกสิ่งย่อมมาแทนกล้วยไม้ได้เสมอ คือ "ผมไม่ยึดติดกับสิ่งใด แต่หากได้ทำสิ่งใดแล้วจะต้องทำให้ดีที่สุด"

ท่านอาจารย์ยังคุยต่อในเรื่องการเมืองและประชาธิปไตยว่า "ส่วนเรื่องประชาธิปไตยนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ที่ระบบอะไร สิ่งภายนอกนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นมาเท่านั้น แก่นแท้จริงๆ อยู่ที่จิตใจนี่ คนมักจะเรียกร้องประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่แท้จริงก็คือการเคารพสิทธิของผู้อื่นเป็นอันดับแรก อย่างที่ผมไปเยี่ยมชุมชนบางแห่ง มีกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจกดขี่ชาวบ้าน อย่างนี้ไม่ถูกต้อง หากเราต้องการความร่วมมือจากเขา เราต้องซื้อใจ มีเมตตาต่อเขา ไม่ใช่ไปบังคับ การกระทำเช่นนั้นเป็นการเข้าใจเรื่องการปกครองแต่ผิวเผิน ซึ่งจะใช้ในระยะยาวนั้นไม่ได้ผลเลย"

"สังคม ทุกศาสตร์ทุกแขนง เราต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรถึงจะพัฒนาจิตใจของคนได้ สิ่งอื่นภายนอกเป็นเพียงสิ่งสมมติเท่านั้น"

จากการพูดคุย ท่านอาจารย์ได้พาชมห้องทำงาน ที่ที่ท่านใช้สำหรับวาดรูป เขียนบทกลอน และประพันธ์เพลง รวมทั้งเยียมชมห้องพักส่วนตัวของท่าน พร้อมกันนี้ท่านยังได้หยิบไวโอลินตัวโปรดมาเล่นให้ผู้เขียนฟังด้วย ซึ่งถือเป็นเกียรติและเป็นความกรุณายิ่ง

โดยส่วนตัวผู้เขียนประทับใจในความกรุณาและความเป็นกันเองของท่านมาก ผู้ทรงคุณวุฒิของแผ่นดิน ผู้ซึ่งที่มีหัวใจในการส่งเสริมความรู้และสติปัญญาให้สังคมอย่างแท้จริง 

 

เดชอุดม ขุนนะสิทธิ์

06.10.2009

คำสำคัญ (Tags): #ศ.ระพี สาคริก
หมายเลขบันทึก: 303625เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2009 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท