สื่อภาพยนตร์กับเด็ก


เราทำหน้าที่นี้ได้ดีแล้วหรือยัง?

แนวคิดเรื่องผลกระทบจากภาพยนตร์ที่มีต่อเด็ก 

                ปัจจุบัน ภาพยนตร์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมยามว่าง ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนในสังคม และได้เข้ามาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการโน้มนำความคิด ทัศนคติของคนผ่านทางเรื่องราว และการแสดงออกของตัวละคร

                ภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นมากมายในปัจุบันนั้น มีทั้งภาพยนตร์ที่ทำเพื่อตอบสนองสังคมในเชิงเสริมสร้าง และทำเพื่อตอบสนองสังคมในเชิงความต้องการ(demand) จึงทำให้ภาพยนตร์มีความหลากหลายในด้านเนื้อหา สาระ และจุดประสงค์ของภาพยนตร์ ซึ่งจากความคิดตรงนี้ ทำให้ภาพยนตร์ในแต่ละเรื่องนั้นมีความอ่อนโยน รุนแรง ให้ข้อคิด หรือให้ความสนุกแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังส่งผลกระทบต่อเด็กในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น

-          ด้านความรุนแรง แม้กระทั่งในภาพยนตร์การ์ตูนก็ยังมีภาพความรุนแรงให้เห็นได้บ่อย ๆ แน่นอนว่าอาจก่อให้เกิดความเคยชินให้กับตัวเด็ก ส่งผลต่อการเลียนแบบ เด็กในวัย 6- 12 ปี ซึ่งอาจจะเดินเข้าไปดูภาพยนตร์น้อยกว่าวัยอื่นๆ แต่อาจจะรับชมจากภาพยนต์จากแผ่นที่พ่อแม่เปิดดูที่บ้าน ซึ่งถ้าเด็กดูแล้วเกิดการเลียนแบบ ถ้าพ่อแม่เห็นว่าพฤติกรรมเลียนแบบของลูกเป็นเรื่องน่ารัก สนุกสนาน พฤติกรรมนั้นอาจติดตัวเด็กไป แต่ถ้าพ่อแม่สอนว่าอะไรควรอะไรไม่ควรก็จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง

-          ทางด้านเพศ  เห็นได้ชัดว่า ปัจจุบันมีภาพยนตร์ที่สื่อถึงเพศที่สามจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดค่านิยมและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบาททางเพศของเด็ก รวมไปถึงภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศโดยตรง เช่น  American pie เป็นต้น สร้างความเคยชินให้กับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเป็นวัยอยากรู้อยากเห็น อาจเข้าใจผิดหรือเลียนแบบพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ถูกวิธี

-          การใช้ภาษา โดยเฉพาะในภาพยนตร์ตลกส่วนใหญ่มีการใช้ภาษาหยาบคาย สร้างความเคยชินให้กับเด็กโดยไม่รู้ตัว  เด็กอาจจะแยกไม่ออกว่าคำพูดไหนควรไม่ควร และแยกไม่ได้ว่าคำพูดนั้นเป็นเพียงบทสนทนาที่สร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น

-          สารเสพติด การที่เด็กเห็นภาพที่ตัวละครเอก ที่เป็นที่ชื่นชอบของเด็กเสพย์สารเสพติด เด็กยังไม่สามารถแยกแยะว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติหรือไม่ และเด็กเกิดการซึมซับว่า หากตนต้องการเป็นคนที่เป็นฮีโร่ ก็ต้องเสพย์สารเสิพติด เพื่อความเท่ห์ ดูดี ต้องการการยอมรับจากเพื่อน หรือสังคม

-          ความเชื่อ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่สามารถสร้างระบบความคิดความเข้าใจที่ผิด ๆ ได้ เพราะเด็กเองยังไม่สามารถแยกแยะว่า สิ่งใดเป็นเพียงสิ่งที่สร้างความบันเทิง ไม่ใช่เรื่องจริง เด็กวัยนี้เป็นวัยที่เรียนรู้เรื่องค่านิยม หากเด็กได้ชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา  พระวิ่งหนีผี กลายเป็นการปลูกฝังความเชื่อ ความกลัวให้ติดตัวเด็ก ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กต่อไป

-          ค่านิยม  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาตินิยม เช่น ภาพยนตร์เรื่องหมากเตะโลกตะลึง เป็นการล้อเลียนชาติอื่น ทำให้เด็กถูกสร้างค่านิยมในการดูถูกชาติอื่น

                จากประเด็นตรงนี้เองที่ทำให้เกิดการเซนเซอร์ หรือการจัดเรทภาพยนตร์ เพื่อให้ภาพยนตร์ต่างๆที่มีความหลากหลายนั้น ไม่ส่งผลกระทบในด้านที่ไม่ดีต่อคนในสังคม โดยเฉพาะเด็ก เนื่องจากว่าเด็กนั้น ยังเป็นวัยที่ไม่มีความมั่นคงทางความคิดเชิงเหตุและผล เป็นวัยที่ชอบเลียนแบบ และเป็นวัยที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งหากไม่มีการควบคุมตรงนี้แล้ว อาจจะทำให้เด็กในสังคมของเรามีพฤติกรรมที่ไม่ถูกไม่ควร โดยมีสาเหตุมาจากภาพยนตร์ได้ โดยสามารถที่จะอธิบายแนวความคิดได้ 3 แนวทาง คือ

                1.แนวความคิดทางด้านชีววิทยา – กล่าวโดยภาพกว้างแล้ว พัฒนาการสมองของเด็กยังไม่พัฒนาเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะสมองส่วนที่เรียกว่า Prefrontal cortex ซึ่งเป็นสมองที่ทำหน้าที่เหมือน CEO (ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด เกี่ยวกับเหตุผล) ซึ่งหากในวัยเด็กได้รับข้อมูลเข้ามา เด็กก็จะยังไม่สามารถแยกแยะความเป็นเหตุและผลได้ ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมที่อาจจะเลียนแบบมาจากในภาพยนตร์ เช่นการสูบบุหรี่ การใช้ความรุนแรง หรืออาจจะเป็นในด้านความเชื่อ หรือทัศนคติต่างๆที่อาจจะทำให้ติดตัวเด็กไปในอนาคตได้

                2.แนวความคิดทางด้านจิตวิทยา – พฤติกรรมในวัยเด็กซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สำคัญคือ พฤติกรรมการเลียนแบบ ซึ่งมีนักจิตวิทยาชาวแคนาดาท่านหนึ่ง มีชื่อว่าอัลเบิร์ต แบนดูรา(Albert Bandura) ได้พูดถึงทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ทางสังคม(Social Learning Theory) มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า “เด็กจะไม่ค่อยทำตามในสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกให้กระทำ แต่จะทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่กระทำ” แสดงให้เห็นว่าหากในภาพยนตร์ มีการแสดงออกอะไรแล้ว เด็กก็อาจจะทำตามภาพยนตร์ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เด็กก็จะมีพฤติกรรมเลียนแบบ และอาจจะส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมติดตัวที่ไม่ดีต่อไปในอนาคตได้

                3.แนวความคิดทางด้านสังคมวิทยา – กระบวนการที่สำคัญ และสามารถสื่อผ่านภาพยนตร์ได้คือกระบวนการขัดเกลาทางสังคม(Socialization) ซึ่งภาพยนตร์สามารถที่จะโน้มนำ ชี้นำทัศนคติของสังคมได้ ยกตัวอย่างเช่น หากภาพยนตร์พยายามที่จะเน้นเรื่องการรักษาวัฒนธรรม พยายามสนับสนุนเรื่องการรักษาวัฒนธรรม ก็จะส่งผลมาถึงสังคม และที่สำคัญในทัศนคติของเด็ก กระบวนการแยกย่อยที่สำคัญของกระบวนการขัดเกลาทางสังคมคือ “กระบวนการขัดเกลาทางสังคมขั้นปฐมภูมิ” (Primary Socialization) ซึ่งมีใจความว่า การขัดเกลาขั้นปฐมภูมิจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กได้เรียนรู้ทัศนคติ ค่านิยม และการกระทำที่เหมาะสมจะเป็นสมาชิกหนึ่งในวัฒนธรรมนั้นๆ ยกตัวอย่าง เช่น หากเด็กได้เห็นพ่อแม่แสดงออกถึงพฤติกรรมการแบ่งแยกสีผิว เด็กก็มีแนวโน้มว่าพฤติกรรมนั้นๆยอมรับได้ และก็จะมีความคิดอย่างนั้นสืบเนื่องต่อไป จึงสามารถอธิบายได้เช่นเดียวกับภาพยนตร์ หากเด็กมีทัศนคติเปลี่ยนไปตามภาพยนตร์ แล้วภาพยนตร์นั้นๆมีแนวความคิดที่ไม่ดีต่อสังคม ก็จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อสังคม เป็นต้น

                จากที่กล่าวมาทั้งหมด หากเราต้องการที่จะเข้าใจเรื่องผลกระทบจากภาพยนตร์ต่อตัวเด็กแล้ว เราต้องทำความเข้าใจในรูปแบบองค์รวม ต้องสนใจว่าเด็กควรจะได้รับรู้ข้อมูลอะไร ได้รู้ว่าเด็กชอบทำอะไร และได้รู้ว่าเด็กชอบทำพฤติกรรมใด เพื่อที่จะได้นำมาพัฒนาภาพยนตร์ต่อไป   

 

กระบวนการในการจัดการภาพยนตร์

               การจัดเรทติ้งภาพยนตร์เป็นการให้ความคุ้มครองเด็กในการเข้าถึงสื่อที่มีความล่อแหลม ส่งผลให้เด็กเข้าชมภาพยนตร์จำกัดประเภทมากขึ้น เนื่องจากเหตุผลที่ว่าเด็กเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ และวิจารณญาณยังไม่สมบูรณ์มากนัก ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์การ์ตูนแม้ว่าจะสร้างมาเพื่อเด็กโดยตรง แต่ในภาพยนตร์การ์ตูนเองบางครั้งก็มีภาพการกระทำที่รุนแรง ซึ่งเด็กในวัยนี้อาจไม่สามารถแยกแยะ หรือมองเห็นผลจากการกระทำนั้นได้อย่างชัดเจน เด็กอาจจะมองแค่ว่าสิ่งนั้นทำได้นะ แต่ยังมองไม่ถึงผลของการกระทำนั้น ๆ ทำให้เกิดแนวคิดในการออกกฎหมายให้ความคุ้มครองเด็กจากภาพยนตร์ที่มีความล่อแหลม ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเด็กเอง แต่ในความเป็นจริงการบังคับใช้นั้นก็ไม่เข้มงวดเท่าที่ควร เนื่องจากทางโรงภาพยนตร์ก็เป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง แน่นอนว่าต้องหวังผลกำไร โดยเฉพาะจากเด็กที่นับได้ว่าเป็นกลุ่มตลาดที่นิยมบริโภคสื่อภาพยนตร์ การจัดเรทติ้งจึงสามารถนำมาปฏิบัติได้ยาก แม้ว่าสิ่งที่สร้างขึ้นจะต้องการก่อประโยชน์เพื่อตัวเด็กเอง และผู้ประกอบการอาจจะยังมีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก หากมองในมุมของนักวิชาการ การจัดเรทติ้งนั้น นับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบของสังคม ย่อมต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง โดยที่คณะกรรมการประกอบไปด้วยบุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามข้อเสนอของคณะกรรมการ  จำนวนไม่เกิน 7 คน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกิจการภาพยนตร์ กิจการวีดิทัศน์ กิจการโทรทัศน์ ศิลปวัฒนธรรม หรือการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในการจัดเรทติ้งนั้น จะว่าไปแล้วเป็นมุมมองของด้านจริยธรรมคุณธรรม จารีตประเพณี ซึ่งแต่ละคนก็มองในมุมที่ต่างกันออกไป เหมือนใช้ไม้บรรทัดกันคนละอัน โดยนักวิชาการอาจมองถึงผลกระทบของสื่อที่ส่งผลต่อเด็ก โดยมีระดับความเข้มงวดค่อนข้างสูง ในทางกลับกันผู้ประกอบการสื่อเอง ก็มองในมุมของศิลปะ ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้ว่าจะมีตัวชี้วัดที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก็ตาม สำหรับตัวผู้สร้างภาพยนตร์เองนั้น ถือได้ว่าไม่ใช่เพียงแค่ผู้สร้างศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่เป็นนักธุรกิจ นักการตลาดที่เมื่อสร้างผลิตภัณฑ์แล้ว ย่อมต้องการกำไรจากผลิตภัณฑ์นั้น แน่นอนว่าการจัดเรทติ้งทำให้จำกัดกรอบให้กับสื่อในการสร้างภาพยนตร์ สื่อเองก็มองว่าเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อเอง แต่ในทางกลับกัน นอกจากนี้ผู้ประกอบการสื่อยังเห็นว่าการจัดเรทติ้งในประเทศไทยที่อ้างอิงมาจากประเทศสิงคโปร์และอังกฤษ ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด หากสามารถจัดเรทติ้งตามสภาพสังคมไทยได้อาจเหมาะสมมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น หากในภาพยนตร์มีฉากที่กระทบต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่งอาจถูกผู้มีอิทธิพลสั่งให้ตัดทอน หรืองดฉายในฉากนั้น ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความกังวลในการสร้างภาพยนตร์ ว่าหากมีการจัดเรทติ้ง ตนอาจถูกจำกัดความอิสระทางความคิดและการแสดงออกก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างภาพยนตร์ตามเรทติ้งต้องสามารถดึงดูดผู้ชมในกลุ่มนั้น ๆได้อีกด้วย แต่ผู้เขียนคิดว่าการจัดเรทติ้งภาพยนตร์นั้น ทำให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงการสร้างภาพยนตร์มากขึ้น เป็นเส้นทางการพัฒนา และสร้างสรรค์วงการภาพยนตร์ให้ดีขึ้น เพราะหากมีการจัดเรทติ้ง ผู้ประกอบการเองก็ต้องคำนึงถึงประเภทของภาพยนตร์ที่ตนจะสร้าง ว่าสามารถเผยแพร่ให้กับคนดูได้ทุกกลุ่มหรือไม่ เพราะถ้าถูกจำกัดกลุ่มผู้ชม รายได้จากภาพยนตร์นั้นย่อมลดลงไปด้วย และประเทศไทยมิได้มีจำนวนผู้ชมภาพยนตร์ไทยจำนวนมากนัก ต่างจากประเทศที่มีการจัดเรทติ้งประเทศอื่น ๆ ที่มีความชาตินิยมจึงเลือกที่จะชมภาพยนตร์ที่สร้างจากประเทศของตนมากกว่าที่จะชมภาพยนตร์จากต่างชาติ นับว่าเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการวงการภาพยนตร์อย่างมาก

การจัดเรทติ้งอาจจะเป็นเหรียญสองด้านของวงการบันเทิงของไทย ที่มีทั้งคนที่เห็นด้วย และคัดค้าน เพราะเราอาจจะเคยชินกับการเป็นประเทศประชาธิปไตย มองถึงสิทธิที่ตนพึงได้ แต่ลืมตระหนักว่าการกระทำของตนได้ส่งผลกระทบกับผู้อื่นหรือไม่ ดังเช่นคนสร้างภาพยนตร์ ย่อมคิดว่าตนสร้างสรรค์ศิลปะให้คนเลือกเสพย์ โดยอาจยังไม่ได้คำนึงถึงผู้เสพย์ว่าเป็นใคร และจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้เสพย์บ้าง มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาย่อมได้รับสิทธิในการเลือก การชมภาพยนตร์ก็เช่นกัน ตัวเด็กเองก็มีสิทธิที่จะเลือก แต่หากมองในมุมของกฎหมาย เด็กก็ย่อมต้องได้รับการคุ้มครองจากสังคม แล้วผู้ใหญ่ในสังคมอย่างเราก็มีหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองดูแลเด็ก

“เรา” ได้ทำหน้าที่นี้ได้ดีแล้วหรือยัง?

วิรงรอง พานิช

ปิยะดา พิชิตกุศลาชัย

พัทริก เทพอารักษ์

นักศึกษาปริญญาโท สาขาพัฒนาการมนุษย์

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

หมายเลขบันทึก: 303540เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2009 01:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท