การจัดการความรู้เรื่องถนน 1


การบริหารบ้านเมืองจะอาศัยนิติศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่ควร

ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรของเมืองสาระขันอยู่หลายครั้ง

ครั้งหนึ่งที่ประชุมพูดถึงเรื่องความปลอดภัยในการจราจรบนถนนในชุมชน ตามตรอกซอกซอยต่างๆ

ในสังคมทุกแห่งในโลกนั้น การเดินทางไม่ได้มีเพียงรถยนต์อย่างเดียว ระยะทางใกล้ๆ ผู้คนก็จะใช้การเดิน ไกลไปอีกนิดก็ใช้จักรยาน ส่วนคนพิการก็ใช้ไม้เท้าหรือรถเข็น ส่วนสภาพร่างกายของแต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันไป คนหนุ่มสาวก็คล่องแคล่วว่องไว แต่คนท้องหรือคนชรา ก็ค่อยๆ เดินค่อยๆ ไป

ประชาชนจำนวนหนึ่งก็ได้ร้องขอมายังผู้บริหารเมืองสาระขัน ให้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของถนนในชุมชนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อคนเดินเท้า เด็กๆ และคนสูงอายุ จะได้ปลอดภัยมากขึ้นกว่าปัจจุบัน

ประธานในที่ประชุมได้พูดขึ้นด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า "ตามกฎหมาย ถนนมีไว้สำหรับให้รถวิ่ง"

เรื่องถนนเป็นของรถนี้ไม่มีใครเถียง เพราะกฎหมายได้กำหนดเอาไว้ แต่การบริหารบ้านเมืองจะอาศัยนิติศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่ควร ควรคำนึงถึงรัฐศาสตร์ควบคู่ไปด้วยเสมอ บ้านเมืองถึงจะสงบเรียบร้อยและประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เป็นธรรมดาอยู่เองที่บรรดาผู้ร่วมประชุมส่วนใหญ่ซึ่งเป็นข้าราชการย่อมพยายามเกาะเก้าอี้ตัวเองไว้อย่างแน่นหนาที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อประธานในที่ประชุมเผยใต๋ว่าจะเอนเอียงไปในทิศทางใดแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดก็เทคะแนนเสียงไปในทางนั้นโดยพร้อมเพรียง เพื่อความปลอดภัยในสวัสดิภาพของหน้าที่การงานของตัวเองเป็นสำคัญ โดยมิใยดีต่อสวัสดิภาพของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ๆ ที่ตัวเองมีหน้าที่ดูแล

ในที่สุดที่ประชุมก็ไม่เห็นความสำคัญของผู้ใช้จักรยาน คนเดินเท้า คนชรา และคนพิการอีกตามเคย

กระแสจราจรของรถยนต์ (motor vehicle) ได้แบ่งแยกผู้คนสองฝั่งถนนออกจากกัน ยิ่งเป็นถนนสี่ช่องจราจร ที่มีรถวิ่งด้วยความเร็วสูงเป็นจำนวนมากด้วยแล้ว การแบ่งแยกนี้ยิ่งชัดเจนและแทบเป็นการแบ่งแยกอย่างสิ้นเชิง เมื่อมีประชาชนพยายามข้ามถนนที่ไม่ได้จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการข้ามถนนตามความเหมาะสมแล้ว สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ อุบัติเหตุ

ดังนั้นการออกแบบถนน หรือการบริหารจัดการถนนและการจราจรนั้นควรคำนึงถึงผู้ใช้ถนนทุกคน (all road user) รวมไปถึงผู้ที่มีบ้านเรือนหรือที่ทำงานอยู่ริมถนนสายนั้นๆ (ที่กำลังออกแบบหรือจัดการ) ด้วย

เรามาดูตัวอย่างกันดีกว่าครับ

ถนนสาย 4135 เป็นถนนขนาดสี่ช่องจราจร และมีไหล่ทางกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร รถจึงวิ่งด้วยความเร็วสูง ริมถนนสายนี้มีโรงเรียนใหญ่อยู่แห่งหนึ่งซึ่งมีนักเรียนจำนวนมากต้องข้ามถนนไปมาทั้งช่วงเช้าและเย็น เพื่อมาโรงเรียนและกลับบ้าน

แต่ถนนสายนี้ไม่มีทั้งเกาะกลาง (Median) สัญญาณไฟสำหรับการข้ามถนน (Pedestrian crossing signal) หรือสะพานคนข้าม (Pedestrian bridge) สักแห่งเดียว โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียน

ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสถามเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องว่าทำไมถึงไม่มีเกาะกลาง คำตอบที่ได้รับคือ "ไม่ต้องการเสียงบประมาณในการดูแลรักษา" (ทาสี ดูแลต้นไม้)

แสดงว่าในมุมมองของเจ้าของถนนชีวิตของเด็กๆ นักเรียนไม่มีความสำคัญเลยแม้แต่น้อย จึงไม่ได้รับการเหลียวแล นำมาพิจารณาจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการข้ามถนน

ถนนสายนี้แม้จะมีความยาวไม่มากนัก (ไม่น่าเกิน 20 กิโลเมตร) แต่เป็นถนนที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยมากที่สุดสายหนึ่ง โดยเฉพาะบริเวณทางร่วมทางแยก ซึ่งปรากฎว่าไม่มีสัญญาณไฟจราจรเลย ทั้งๆ ที่ควรจะมี (สัญญาณไฟจราจร) ในบางทางแยก

 

 

 

ถ้าบริเวณนี้มีเกาะกลางสำหรับการข้ามถนน (Pedestrian refuge) ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย นักเรียนและครูรวมถึงผู้ใช้ถนนอื่นๆ ก็จะสามารถอาศัยเป็นที่หลบภัยจากรถในยามที่ต้องข้ามถนนได้อย่างอุ่นใจ

แต่ในขณะนี้ ที่ยังไม่มีเกาะกลางสำหรับการข้ามถนน (Pedestrian refuge)  นักเรียน ครูและผู้ใช้ถนนอื่นๆ คงต้องใช้ทางม้าลายนี้เป็นที่ซ้อมวิ่ง (sprint) 100 เมตรไปพลางๆ สำหรับคนท้อง ผู้พิการและผู้สูงอายุนั้น คงต้องพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แต่ละคนเคารพนับถือกันละครับ

เพราะรถ (ส่วนใหญ่) ในประเทศนี้ ไม่เคยหยุดให้คนข้ามถนน หรือแม้กระทั่งลดความเร็วลงให้คนสามารถข้ามถนนได้อย่างอุ่นใจเลย

หมายเลขบันทึก: 30311เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2006 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • แถมด้วยเรื่องที่กำลังอินเทรนด์อยู่ในตอนนี้คือ
  • ทำไมข่าวนี้ไม่ค่อยดังเลยครับ>>ประณามทล.ขยายถนน ผ่ามรดกโลก-สัตว์ตายอื้อ
    http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E4338155/E4338155.html#108
  • รายงานความคืบหน้ากรณีการสร้างถนนสี่เลนตัดผ่านเขาใหญ่ จากเวปผู้จัดการ
    http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E4393775/E4393775.html#5
  • ได้ข้อสรุปเชื่อมผืนป่ามรดกโลก สร้างสะพานให้สัตว์ข้าม http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9490000067150&
  • มาแบบเดียวกับแหลมผักเบี้ยคือ อนุมัติงบประมาณก่อน EIA เสร็จ
  • โครงการนี้แสดงให้เห็นว่า เจ้าของโครงการเห็นว่า รถ สำคัญกว่า สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
  • ในทำนองเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้นคือ กระแสการจราจรของรถ แบ่งแยกสิ่งมีชีวิตสองฝั่งถนนออกจากกัน
  • ธรรมชาติของสัตว์ ย่อมมีการอพยพกันไปมาตามฤดูกาล
  • ป่าทั้งสองฝั่งถนนควรเป็นผืนเดียวกัน
  • การสร้างสะพานสัตว์ข้ามเพียงไม่กี่จุดอาจจะไม่เพียงพอ
  • ควรมีการศึกษาให้ละเอียดและลึกซึ้งกว่านี้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า + นิเวศน์วิทยา + Road Safety + สาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ควรมีการทำ Road Safety Audit

ถนนนี้ หน้า รร.มัธยม ชานเมือง นร.หลายพันคน ใกล้สนามบินนานาชาติ หาดใหญ่ ด้วย  เขาขยายถนนให้พวกไปมาสนามบิน สะดวก ไม่ได้มีมุมมองคนข้างถนนทั้งหลาย

ลูกหลานคนใหญ่คนโต มักไม่ได้มาเรียนที่นี่ เสียด้วย มีแต่ลูกชาวบ้าน  นโยบายสาธารณะต่อคนข้างถนน เกิดช้ายากขึ้นไปอีก

งานนี้ สำหรับสังคมไทย(คิดในแง่ร้าย) ต้องสังเวยชีวิตก่อน จึงจะคิดออกว่า ต้องแก้ปัญหาอย่างไร

น่าตั้งคำถามว่า งานนี้ รร.และชุมชน มีสิทธิจัดการถนน เอง เพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน ได้หรือไม่  ทำเกาะกลางถนนเองก้ได้ ทำ humpเอง  ทำไปจราจรเอง

รร. นวมินทราชูทิศ ที่สงขลา อยู่ริมถนนใหญ่เหมือนกัน เป็นอย่างไร  ต้องตามไปสังเกตุและเปรียบเทียบ อย่างน้อย มีเกาะกลางถนนแน่  เท่าที่ทราบ ผอ. รร.ติดด่อให้รถคิว ไปจอดรอรับใน รร. แทนรอรับ นร.ข้างถนน

เรื่องทำนองนี้ เราจะพบหน้า โรงงานใหญ่ๆ  ตลาดนัดข้างถนนสายหลัก

 

ผมคิดว่า นักการเมือง สงขลา ที่รู้เรื่องถนน การขนส่ง ความปลอดภัยบนถนนดี คือ คุณนิกร จำนง แห่งพรรคชาติไทย

ต้องเชิญมาแสดง  ปาฐกถา ขายฝันแล้ว หาทางลองทำดู

 เสียดายว่า ลูกสะตอ ชาวใต้ทั้งหลาย คงมีอคติยี่ห้อพรรค

ความจริงต้องคิดรวมพลังคนสงขลา คิดทำเพื่อคนสงขลา เพื่อเป็นตัวอย่างของประเทศไทยพันธุ์ใหม่ 

มีพรรคพวกจากส่วนกลาง และ อีสาน ที่สร้างเครือข่าย ถนนปลอดภัย จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ  เขามาจัดการประชุม ที่หาดใหญ่ วันนี้  เขาเพิ่งบอกว่า สมัยที่คุณนิกร  ดูแลงานใน กระทรวงคมนาคม  ทำงานขับเคลื่อนได้คล่องตัว งานก้าวหน้าที่สุด กว่าสมัยใดๆ     

  • ขอบคุณ คุณหมอโชคครับที่ร่วมแสดงความเห็น
  • คงต้องรอให้มีรถบรรทุกสักคันพุ่งชนรถ VIP ที่มาจากสนามบินกันก่อนครับ ถึงจะรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง
  • คุณหมอคงเห็นว่ามีทางลำลองเพื่อไปยังบ่อดินลูกรังอยู่ตรงทางโค้งพอดี (ราวๆ กม.6 - 7)
  • และพอรถบรรทุกทำดินลูกรังหล่นลงบนถนน แล้วมีฝนตก ถนนลื่นตรงทางโค้งพอดี เราก็จะมีภาพโศกนาฏกรรมให้ดูกันบ่อยๆ
  • คนเหนื่อย ถ้าไม่ใช่หมอก็สับปะเหร่อแหละครับ (รถมูลนิธิ+ร้อยเวร+ส.ว.ส.+อัยการ+ศาล)
  • ไม่รู้ทำไมบ้านเราชอบมีทางเข้าออกอยู่บริเวณทางโค้ง
  • มี Record จากหลายหน่วยงานครับ ที่บอกว่ามีจุดอันตรายบนถนนสายนี้ โดยเฉพาะตามแยกใหญ่ๆ ตายปีละหลายสิบคนเลยครับ
  • ถนนสายหลักที่มุ่งหน้าไปยังสนามบินนานาชาติ หน้าตา และ Gateway ของประเทศ แต่ไม่มีการใส่ใจเรื่องความปลอดภัยเลยแม้แต่น้อย
  • ตอนประชุม APEC มีการทำ Road Safety Audit   (RSA) ในถนนที่แขก VIP ต้องผ่าน ไม่ทราบว่า ตอนจัดงานฉลอง 60 ปีทรงครองราชย์ ที่กำลังจะมีในไม่กี่วันนี้ได้มีการทำ RSA กันบ้างหรือไม่
  • ถนนสายสำคัญเช่น ถนนที่ไปยังสนามบินนานาชาติ อย่าง 4135 เส้นนี้ ก็น่าจะมีการทำ RSA ด้วยเช่นกัน

มาแล้วครับข้อมูลอุบัติเหตุบนนถนนสายนี้ เฉพาะปี 2548 เพียงปีเดียว

จำนวนอุบัติเหตุปี 2548
- แยกควนลัง (ถนนเพชรเกษม ถึง 4135 กม.2+000)  10 ครั้ง
- 4135 (กม.6+000 ถึง  กม.6+999)                        9 ครั้ง
- 4135 (กม.4+000 ถึง กม.4+999)                         3 ครั้ง
- 4135 (แยกควนลัง ถึง กม.2+999)                         2 ครั้ง
- 4135 (กม.5+000 ถึง กม.5+999)                         1 ครั้ง

  • บนช่วงถนนตั้งแต่ทางแยกไปสนามบิน การลงจุดเกิดอุบัติเหตุ (ในฐานข้อมูล GIS) อาจไม่แม่นยำ เนื่องจากไม่มีการระบุสถานที่สำคัญหรือจุดเดินในแผนที่ แต่เป็นการเกิดอุบัติเหตุบนเส้นทางนี้ 
  • ขอขอบคุณชมรมลดอุบัติเหตุบนท้องถนนเมืองหาดใหญ่ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูลอุบัติเหตุ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท