Broadband Wireless Access (BWA) บริการแห่งความหวังเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย


หลายฝ่ายตั้งความหวังกับเทคโนโลยีสื่อสารความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีไร้สายอย่าง 3G และ Wi-Max ซึ่งจะมาช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ เช่นเดียวกับกรณีการมีใช้โทรศัพท์มือถือของคนไทยในปัจจุบัน ที่สามารถเข้าถึงประชาชนทุกระดับ

เมื่อโลกได้เปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร (Information age) การเกิดขึ้นของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผสานกับเมื่อ Tim Berners-Lee ได้สร้างเว็บไซต์ครั้งแรกขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1989 (พ.ศ. 2532) ทำให้พรมแดนทางภูมิศาสตร์ด้อยความสำคัญลง ก่อให้เกิด Cyber State ขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับ Nation State และ Corporate State ที่มีอยู่เดิม (ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี,2552) แต่ประชากรของโลกจำนวนหลายล้านคนก็ยังไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ หรือที่เรียกว่า "ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทอล" (Digital Divide)

หลายฝ่ายตั้งความหวังกับเทคโนโลยีสื่อสารความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีไร้สายอย่าง 3G และ Wi-Max ซึ่งจะมาช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ เช่นเดียวกับกรณีการมีใช้โทรศัพท์มือถือของคนไทยในปัจจุบัน ที่สามารถเข้าถึงประชาชนทุกระดับ

จากเอกสารรับฟังความคิดเห็นสาธารณะการอนุญาตให้บริการสื่อสารความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีไร้สาย (Broadband Wireless Access: BWA) ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (http://www.ntc.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=5152&Itemid=76) พบว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความแตกต่างที่น่าสนใจอย่างมากระหว่างอัตราผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สูงมากกับบริการสื่อสารความเร็วสูงที่ต่ำมาก กุญแจสำคัญ สำหรับความสำเร็จของธุรกิจที่ให้บริการเคลื่อนที่ (Mobility) ที่ประเทศไทยและที่อื่นๆ คือ

  • ภาคธุรกิจที่มีการแข่งขันและเติบโตสูงโดยมีราคาของผู้ใช้รายสุดท้ายที่ต่ำลง
  • ความถี่ที่มากพอสำหรับการขยายตัว
  • นวัตกรรมและค่าใช้จ่ายที่ลดลง
  • กลยุทธ์การเปิดตัวบริการ (Roll-out) เชิงรุกซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน้าที่ที่ต้องการให้
  • ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการถ้วนหน้า
  • กฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งดูแลปัญหาเรื่องความไม่สมดุล เช่น อำนาจการตลาดที่มากมาย อัตราการบอกเลิก และการเชื่อมต่อสัญญาณโทรคมนาคม (Interconnection)
  • ความสำเร็จของธุรกิจ BWA น่าจะขึ้นอยู่กับเครื่องมือราคาถูก ความน่าใช้ของบริการที่มีต่อลูกค้าส่วนใหญ่ ราคาถูกและการจดทะเบียน พื้นที่ให้บริการ และการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ

ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Yankee Group Research, Inc. Accelerating Indian BWA ... November, 2008) มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ใดที่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง พื้นที่นั้นก็จะมีปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้น และจะนำพาไปสู่บริการขั้นพื้นฐานที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น

ด้วยจุดเด่นในประเด็นพื้นที่การให้บริการที่ครอบคลุม การลงทุนต่ำ และความเร็วในการรับส่งข้อมูล บริการสื่อสารความเร็วสูงจึงตอบสนองและช่วยในการบรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาสังคมได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ออนไลน์ (e-Health) การศึกษาออนไลน์ (e-Education) และการบริการของภาครัฐผ่านระบบออนไลน์ (e-Government) ทั้งนี้ การตอบสนองเป็นไปได้ทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทที่บริการโทรคมนาคมยังไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ซึ่งการที่จะทำให้บริการเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วที่สุด คงต้องอาศัยผู้ให้บริการท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่นั้นเป็นผู้ให้บริการและเป็นศูนย์บริการในพื้นที่นั้นๆ

บริการ BWA อาจเป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างกว้างขวางในหลายด้าน ได้แก่

  • เพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยการใช้ระบบอัตโนมัติและระบบการบริหาร
  • ข้อมูลที่ทันสมัยสำหรับงานด้านโลจิสติกส์ ซัพพลายเชน และการดูแลลูกค้า
  • สร้างสรรค์ พัฒนา ผลิตในเชิงพาณิชย์และส่งออกแอพพลิเคชั่น ที่สำคัญและอุปกรณ์ ตลอดจนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practice) ให้แก่ประเทศที่กำลังเติบโตและตลาดใหม่ๆ
  • ส่งเสริมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริการด้านโทรคมนาคม
  • ช่วยให้แวดวงการศึกษาทั้งในชนบทและในเมืองสามารถพัฒนาความสามารถและเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและผลผลิตได้
  • ส่งเสริมการพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยบริการ
    e-Government ทั้งในด้านการศึกษา สุขภาพ และบริการของหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ

เชื่อว่าการเกิดขึ้นของบริการสื่อสารความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีไร้สายอย่าง 3G และ Wi-Max จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทอลลงไปได้เป็นอย่างมาก แต่ปัญหาต่อไปคือรัฐ หรือ กทช. จะทำอย่างไรที่จะสร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านั้น เช่น การนำรายได้ที่ได้จากการเปิดประมูลการให้บริการสื่อสารความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีไร้สายจำนวนมหาศาลนี้ มาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น การจัดหาคอมพิวเตอร์แก่สถานศึกษา วัด มัสยิด หรือศูนย์ ICT ชุมชน การสนับสนุนให้ประชาชนได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ในราคาถูก การจัดฝึกอบรมการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น การใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ การรับ-ส่งอีเมล์ และการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการทำธุรกิจ เช่น e-Commerce e-Marketing เพราะคอมพิวเตอร์ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะเข้าถึงบริการเหล่านั้น เพราะถ้ามีแต่เครือข่ายแต่ไม่มีคอมพิวเตอร์ก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร

 

ทศพนธ์ นรทัศน์
ICT for All Club
[email protected]

หมายเลขบันทึก: 303106เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2009 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท