เครือข่ายฯภาคอีสานตอนบน ร่วมกับ ก.สาธารณสุข และจังหวัดขอนแก่น ตรวจสถานประกอบการร้านค้า พบทำผิดกฎหมายเพียบ


ภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคอีสานบน ร่วมกับ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯ ออกตรวจเข้มร้านค้าทั่วในตัวเมืองขอนแก่น พบมีการโฆษณาและกระทำผิดกฎหมายทั้งทางตรงและทางอ้อมเพียบ

นายนิรุจน์ อุทธา ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานบน ได้นำภาคีเครือข่ายงดเหล้าในพื้นที่ ได้แก่ เครือข่ายสื่อพัฒนาชุมชนเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายเยาวชนงดเหล้าขอนแก่น เป็นต้น ร่วมกับ นายแพทย์สมาน  ฟูตระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนำเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดขอนแก่นจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น สำนักงานสรรพสามิตจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด รวมทั้งสื่อมวลชนในจังหวัดขอนแก่น ออกตรวจสถานประกอบการหรือร้านค้าต่างๆในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เพื่อติดตามเร่งรัดการประชาสัมพันธ์และการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่มีการบัญญัติขึ้นแล้ว ให้ถูกนำไปใช้อย่างจริงจัง เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน

ผลการตรวจสอบพบว่า สถานประกอบการร้านค้าต่างๆในเขตเทศบาลนครขอนแก่น มีการละเมิดหรือกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ป้ายไฟแสดงชื่อร้านที่แฝงไปด้วยโลโก้เครื่องดื่ม แก้วเหล้าแก้วเบียร์ที่มีรูปโลโก้เครื่องดื่ม ป้ายไวนิลโฆษณาเหล้าเบียร์ตามหน้าร้านหรือข้างในร้าน  ป้ายสายธง ทั้งแสดงชื่อยี่ห้อเหล้าหรือโลโก้ ป้ายติดตามรถเข็นที่มีรูปเหล้า-เบียร์  การส่งเสริมการขายสุรา/เบียร์ ทั้งลด-แลก-แจก-แถม ซื้อเหล้า 1 ขวดแถมมิกเซอร์ ที่จูงใจให้คนมากินเหล้า หรือใช้ดารา นักแสดง เป็นพรีเซ็นเตอร์มาช่วยโปรโมตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การโฆษณาตามสื่อต่างๆทั้งวิทยุ  หนังสือพิมพ์ ทั้งส่วนกลาง หรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น  ป้ายขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ ชื่อร้านที่มีชื่อโรงเหล้า โรงเบียร์ เป็นต้น

 ด้าน นายแพทยสมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า การกระทำผิดกฎหมายของสถานประกอบการร้านค้าต่างๆดังกล่าว ถ้าหากทำการเข้าจับกุมแต่ละแห่งก็จะมีความผิดหลายมาตรา เช่น ที่ไปตรวจพบคือ ป้ายไฟฟ้าสื่อโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์ที่มีชื่อโรงแรม ชื่อร้านค้าสถานบริการที่ติดร่วมกับโลโก้ แต่ละแห่งก็จะบอกว่าสปอนเซอร์เป็นคนทำให้ ตามความผิดแล้ว เจ้าของผู้ประกอบการก็จะเป็นจำเลยที่ 1 ผู้ผลิตป้ายโลโก้สปอนเซอร์ก็เป็นจำเลยที่ 2 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 500,000 บาท หากไม่รื้อถอนหลังเข้าจับกุมปรับเพิ่มวันละ 50,000 บาท ผู้ขัดขวางห้ามเข้าตรวจสอบในสถานบริการก็มีความผิดจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 20,000 บาท ผู้ไม่อำนวยความสะดวกให้ชุดตรวจจับก็มีความผิด ผู้ไม่ยอมให้ถ้อยคำอ้างโน่นอ้างนี่ก็มีความผิด ก็ฝากเตือนให้เจ้าของโรงแรม สถานบริการต่างๆให้รีบแก้ไขรื้อถอนโดยด่วน เพราะเมื่อคณะทำงานเข้าตรวจสอบจะต้องถูกดำเนินคดีทันที”

“สำหรับสถานที่ห้ามดื่มแอลกอฮอล์คือ วัด สถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานพยาบาล สถานที่ราชการ  หอพัก สถานศึกษายกเว้นที่พักส่วนบุคคล สโมสรหรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี ส่วนสถานที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มี วัด สถานศึกษา สถานพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ปั้มน้ำมัน ซึ่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้มาแล้วตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 มาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินอย่างเด็ดขาด ดังนั้น ทางส่วนกลางจึงลงมาร่วมดำเนินการกับพื้นที่และเจ้าหน้าไม่ให้ความร่วมมือก็จะถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย”   นายแพทยสมาน กล่าว

หมายเลขบันทึก: 302549เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2009 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยกับการทำอย่างนี้แต่ ทำไม่ไหวแน่เลย ตำรวจต้องจับจริงจังต่อเนื่อง ทำแค่วันเดียวไม่ได้ผล เด็กๆถูกมอมเมา ด้วยค่านิยม และธรุกิจที่มีผลประโยชน์มหาศาล จับปรับก็ไม่กลัวต้องติดคุกไปเลย คนกินคนดื่มเอาพ่อแม่มาทำโทษ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท