ปัญญาที่เกิดจากการปล่อย การวาง...


จากการ "ปั่น" เกลียวความรู้ให้กันและกันของท่าน ใบไม้ร้องเพลง ในบันทึกนี้ เริ่มต้นสะสม "ทุน" ดี ๆ...นั้น เราขอต่อ ขอปั่นเกลียวให้กันและกันดังนี้...


 

พวกที่ชอบคิดในด้านลบนี่ไม่ใช่คนโง่นะ แต่เป็นคนฉลาด ฉลาดที่ชอบคิดเรื่อง "โง่ ๆ"

คนโง่จริงเขาไม่ค่อยคิดอะไรพวกนี้หรอก เพราะเขาตั้งใจแล้ว รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นดีแล้วเขาก็ทำ "ทำไปเรื่อย"
เหนื่อยก็ทำ ไม่เหนื่อยก็ทำ ทำไปอย่างนั้นแหละ...

เมื่อมีความหวัง ก็ต้องทำใจให้พร้อมกับ "ความผิดหวัง" เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของคู่กัน
เหมือนกับสุข ก็ต้องคู่กับความทุกข์ ความร้อนก็ต้องคู่กับความเย็น ความดีใจก็ต้องคู่กับความเสียใจ สิ่งเหล่านี้ไซร้เป็นเรื่อง "ธรรมดา..."
แต่ทว่า วันนี้เราพัฒนาจิตของเราให้อยู่ตรงที่ ความไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ร้อน ไม่หนาว ไม่สมหวัง ไม่ผิดหวัง เราทำจิตใจให้ "เฉย ๆ" อย่างนี้แหละ
ถ้าทำใจให้เฉยได้นี่แหละจึงเรียกว่า "การปล่อยวาง"

การปล่อยวางนี่ไม่ได้หมายความว่าไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่สุข ไม่ทุกข์อย่างที่เคยเข้าใจนะ
สิ่งต่าง ๆ นั้นมันก็เกิดขึ้นอยู่ ผิดหวัง สมหวัง ดีใจ เสียใจ แต่ทว่าเราไม่เอาจิตใจไปจับ ไปจดมันไว้แค่นั้นแหละ
มันเกิดก็รู้ว่าเกิด มันไปก็รู้ว่าไป ไม่เสียดาย ไม่เจ็บใจ อะไรมันเกิดขึ้นมาก็ อ้อ ดีใจเหรอ อื่ม เสียใจแล้ว แล้วก็ "สลัด" มันทิ้งไป

หรือว่าร้อน ก็รู้ว่าอ้อ "ร้อนเหรอ" แต่ทว่า ไม่ใช่ร้อนแล้วก็นั่งตากแดด หรือปล่อยให้ไฟมันเผามืออย่างนั้นนะ ทำร้อนแล้วทำอย่างนั้นเขาเรียกว่าว่า "ปล่อยวางอย่างไม่มีปัญญา"

การปล่อยวางนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำนะ แต่หมายถึงกระทำการต่าง ๆ อย่างปล่อยวาง
อาทิเช่น บ้านเรามันร้อน เราก็ซื้อแอร์มาติด อย่างนี้เรียกว่าปล่อยวางไหม ต้องดูว่าที่เราเอามาติดนี้ เราติดเพื่อโก้ ติดเพื่อโชว์ หรือติดเพื่อคลายร้อน อันนี้อย่างหนึ่ง
แต่ทว่า "มีปัญญาไหม..?" อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง
อาทิ ถ้าให้ดี ปลูกต้นไม้ดีกว่าไหม หรือใช้วัสดุทนความร้อนไปป้องกันไว้ก่อนที่หลังคาดีไหม หรือจะให้ดี ก็จะอยู่ที่ "วังน้ำเขียว" เลยดีไหม อันนี้ก็อีกอย่างหนึ่ง

เวลาปฏิบัติธรรมนี้ต้องมี "ปัญญา" นะ
จะทำอะไรต้องให้ "ปัญญา" ขึ้นมาเสมอ เชิดหน้า ชูตาให้ได้
เดี๋ยวเขาจะมาว่าเราได้เน๊อะ ว่าไปปฏิบัติธรรมมาแล้วไม่เห็นจะ "หายโง่" เลย

ปัญญาของผู้ปฏิบัติธรรมต้อง "แวววาว" เฉียบขาด ใสปิ๊ง
ไม่ใช่ทำอะไรก็ "เฉิ่ม" ไปเรื่อย
เจอฝน เจอพายุ เจอขโมย ก็ย่างหนอ ก้าวหนออยู่ อย่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่อง

การปฏิบัติธรรมคือการฝึกใช้ "ปัญญา"
จะทำอะไรต้องดึงปัญญาขึ้นมาใช้ให้ได้
ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะดึงปัญญาขึ้นมาใช้อย่างไร
จะดึงปัญญาขึ้นมาได้ต้องกลับไป Re-check ศีลให้ดี
ถ้าศีลดีแล้วสมาธิก็มาโดยอัติโนมัติ
สมาธิมี สติก็มี ทำใจนิ่ง ๆ ว่าง ๆ เดี๋ยว "ปัญญา" มันก็มาเอง

นิ่ง ๆ ว่าง ๆ นี่ก็อีกนะ ไม่ใช่หมายความว่าไม่คิด
ต้องคิด คิดให้มาก คิดให้ถี่ถ้วน แต่เวลาคิดจะต้องว่างจากความโลภ ความโกรธ ความหลง
ความโลภ ความโกรธ และความหลงนี้ก็คือ เหตุแห่งความผิดศีลนั่นแหละ
ท่านถึงว่าถ้าศีลดี ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ไม่มี
ถ้าไม่มีอุปสรรคทั้งสามตัวนี้แล้ว จิตใจก็จะแน่วแน่ ไม่มั่นคง ความมั่นคงแห่งจิตนี้เองท่านเรียกว่า "สมาธิ"

แล้วการตัดสินใจบนฐานแห่งสมาธินี้ซึ่งว่างจากความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้เองจึงเรียกว่าผู้มี "ปัญญา..."

 

 

หมายเลขบันทึก: 302396เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2009 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ ไม่มีอะไรง่ายอย่างที่คิดหรอก ปัญาญาจอมปลอมจะทำให้เราหลงทางไปไกลแสนไกล

นิ่ง ๆ ว่าง ๆ วางอย่างมีปัญญา

 

 

ธรรมชาติของใจ

มันชอบหาที่เกาะเจ้าค่ะ

เกาะ ความดี บ้าง เกาะความชั่วบ้าง

เผลอปุ๊บ กระโดดเกาะโทสะ

 

อ๊ะ!! มาได้ไงนี่ ออกไป ๆ ฉันไม่ให้แกอยู่นะ

คนนี้แกโกรธไม่ได้นะ ท่านเป็นคนดี 

โอ้ มันหลายซับหลายซ้อน ดันฉลาดมาได้ไง

 

ยื้อยุดอารมณ์ ตนเอง อยู่นาน กว่าจะยอมโง่ได้

 

เผลอปุ๊บ โกรธปั๊บ แม่เจ้า! เอาอีกแล้วเหรอ เจ้าความโกรธ

แกมาเกาะใจฉันทำไม ออกไปนะ ออกไป ที่นี่ไม่ใช่ที่ของแก

ขู่ก็แล้ว ด่าก็แล้ว แต่เจ้าความโกรธก็ไม่เคยออกไป ดูซิดันฉลาดขึ้นมา

พอความฉลาดหมดแรง เอาวะ.....อยากอยู่ก็อยู่

อยากโกรธก็โกรธฉันไม่มีปัญญาจะจัดการแกแล้ว

เจ้าความโกรธ.....พอยอมโง่ ปุ๊บ

เอ๋าใจโล่งขึ้นมา

 

อ้าวนี่มันอะไร

 

เอ๋า ดันฉลาดมาคิดอีก.....กลายเป็นความสงสัย

ฉลาดมาคิด ๆ ๆ ๆ ทำไมยื้อมันตั้งนาน ไล่ก็แล้ว ความโกรธไม่หาย

แต่พอบอกช่างมัน ดันหายไปได้วะ.....โอ้ปวดหัว

คิดไม่ออกแล้ว จะอะไรก็ช่างมัน.....อ้าวปวดหัวหายไป

ใจโล่งขึ้นมา.......ยอมโง่ดีกว่า

 

ไม่ค้นหามันและ อะไรจะเกิดก็ปล่อยมันไป

แค่จะมีสติดู

เฮอะ ๆ มันเป็นเช่นนี้บ่อยครั้งเจ้าค่ะ

 

(^____^) 

"นิ่ง ๆ" ไม่ได้หมายความว่านิ่งแล้วไม่ทำ แต่นิ่ง ๆ นี้นั้นให้ทำแบบ "นิ่ง ๆ"

ทำแบบนิ่ง ๆ นี้ไม่ได้หมายความถึง ทำช้า ๆ เฉิ่ม ๆ ซึมไปเรื่อย เอื่อยเชื่อยไปอย่างนั้น

เคยเห็นรถแข่งที่เขาขับกันไหม เราต้องนิ่งเหมือนรถแข่ง ยิ่งนิ่ง ยิ่งเร็ว ยิ่งนิ่ง ยิ่งตรง

รถแข่งขันไหนขับส่ายไปส่ายมา มีหวังได้ไปชนกับยางที่เขาวางไว้ข้าง ๆ ทางเป็นแน่แท้

"วาง ๆ" วางนี่ไม่ได้หมายถึงว่า "ไม่ทำ" คือวางไว้เฉย ๆ วางไว้อย่างนั้นแหละ ฉันวางแล้ว ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องทำความสะอาดบ้าน ฉันปลง ฉันวางทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว

พ่อแม่ก็ต้องดูแล ลูกก็ไม่ต้องเลี้ยง ฉันวางครอบครัวได้แล้ว การวางไม่ได้หมายความว่าวางอย่างนี้นะ

การวางนี้คือ ให้ทำหน้าที่ทุกอย่างอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง ทำแล้ว ก็ถือว่า "ได้ทำ" จะชั่ว จะดี เขาจะชม จะด่า ก็ให้วาง วางโลกธรรมนั้นไว้

การวางนี้คือ การไม่ติดรส ติดชาด ขาดเธอแล้วใจฉันจะขาดดิ้น อารมณ์ใด ๆ เกิดมาก็ให้วาง โดยเฉพาะอารมณ์ความอยาก อยากกิน อยากอยู่ อยากไป อยากได้ อยากมี วางความอยากให้ได้นะ

"ว่าง ๆ" ไม่ได้หมายความว่าอยู่เฉย ๆ ไปนั่งอยู่เฉย ๆ ไปเดินเฉย ๆ ไม่ทำอะไร

คนเรานี้นะ เกิดมามีสมอง มีกำลังดี ๆ ต้องรู้จักเอามาใช้ เอามา "ทำงานให้เกิดประโยชน์..."

แต่เวลาทำงานทั้งหลาย ทั้งปวงนี้ ให้ "นิ่ง" ทำเสร็จแล้วก็ให้ "วาง..." เวลาทำนั้นก็ให้มีจิตใจที่ "ว่าง" ว่างจากความคิดที่ "เห็นแก่ตัว" วางจากความคิด "ชั่ว ๆ" ให้ตั้งหน้า ตั้งตา "ตั้งใจ" ทำให้ดี...

ที่เกาะ ที่ยึด "ที่พึ่ง (สรณะ...)"

นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง (พุทโธ ธัมโม สังโฆ) เม สะระณัง วะรัง

สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี (พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์) เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ วัฑเฒยยัง สัตถุ สาสะเน

ด้วยการกล่าวคำสัจจ์นี้ ข้าพเจ้าพึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา

(พุทธัง ธัมมัง สังฆัง) เม วันทะมาเนนะ (วันทะมานายะ*) ยัง ปุญญัง ปะสุตัง อิธะ

ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่ซึ่ง(พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์) ได้ขวนขวายบุญใดในบัดนี้

สัพเพปิ อันตะรายา เม มาเหสุง ตัสสะ เตชะสา

อันตรายทั้งปวงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า ด้วยเดชแห่งบุญนั้น

ทำอย่างเต็มที่ แล้วหนูทำทุกอย่างเต็มที่รึยังนะ?

 

คำตอบมันไม่น่าให้อภัยเลยเจ้าค่ะ เพราะมันคือยังไม่เต็มที่

ยังเหยาะ ๆ แหยะ ๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว

พอจะลงมือทำเต็มกำลัง ก็เหมือนจมอยู่กับสิ่ง ๆ นั้น

 จนมองไม่เห็นสิ่งอื่นใด

กว่าจะรู้ตัวอีกที หลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยนไป

อืม พอทำอะไร ใจมันก็ไหล ไปคาดหวัง ตามช่องเดิมในความเคยชิน

ยิ่งสำรวจใจตนเอง

หนูยิ่งรู้สึกถึงคำว่า ใช้ชีวิตห่างไกลวิถีแห่ง อริยมรรคเจ้าค่ะ

 

ไม่เป็นไร "ช่างหัวมัน" เอาใหม่ เริ่มต้นใหม่...

เหยาะ ๆ แหยะ ๆ ก็ให้รู้ไว้ ว่าทำไปได้อะไร

ทำไม่เต็มที่ก็ให้รู้ว่า ว่าไม่เต็มที่

วันนี้โอกาสยังดีที่เรายังมี "ชีวิต" อยู่

วันนี้ยังมีโอกาสให้แก้ตัว แต่วันหน้า "ไม่แน่" นะ...

จะว่าไกลก็ไม่ไกลหรอก

เพราะ "สัมมาทิฏฐิ" นั้นเกิดขึ้นและมีอยู่ในตัวเราแล้ว

เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ ก็เท่ากับเข้าถนนถูกสาย ถูกทางแล้ว

ตอนนี้เดินต้วมเตี้ยมไปหน่อยก็ไม่เป็นไร

เดินช้าก็เกิดอีกหลายภพ หลายชาติก็แค่นั้น

เดินเร็วก็ถึงเร็วหน่อย เลือกได้ เลือกเอา...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท