ฉลากคาร์บอน และรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Label and Carbon Footprint)


            ผมได้รับเกียรติจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยท่าน รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ให้เข้าร่วมการฝึกอบรมในหัวข้อเรื่องของ Carbon Footprint ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ครับ นับเป็นครั้งที่สองที่ผมมาในฐานะผู้เข้าร่วมฝึกอบรมกับทีมของ MTEC (ครั้งแรกนั้นมาฝึกอบรมเมื่อสองปีที่แล้วครับ หัวข้อเรื่องจะเน้นไปในเรื่องของการประยุกต์ใช้เครื่องมือการประเมินวัฏจักรชีวิต หรือที่เรารู้จักกันสั้นๆว่า LCA Life Cycle Assessment) ผมเขียนบทความนี้ก็เป็นช่วงท้ายๆ ของการฝึกอบรมแล้วครับ เรื่องของเรื่องที่อยากเขียนเล่าสู่กันฟังก็เพราะว่า ตัวผมเองก่อนมาก็มีความสับสนอยู่ไม่น้อยสำหรับฉลากคาร์บอนที่ออกกันมาในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศไทยของเรา ถ้าไม่ใช่นักวิชาการสิ่งแวดล้อมที่คลุกคลีอยู่กับเรื่องนี้ก็คงจะสับสนเหมือนกับผมอยู่ไม่น้อยครับ พอได้มาฝึกอบรม ได้เปิดหูเปิดตาถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะประสบการณ์ของคนญี่ปุ่นที่น่าจะเป็นบทเรียนกับนักวิชาการไทยเราอยู่ไม่น้อย ก็เลยอดไม่ได้ที่จะอยากเขียนอะไรเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้หลายๆท่านที่เป็นทั้งนักวิชาการ และไม่ได้เป็นนักวิชาการ ได้มีความเข้าใจเพิ่มมากยิ่งขึ้น ไม่สับสนเหมือนผมก่อนหน้าที่จะมาเมื่ออาทิตย์ก่อนหน้านี้นะครับ

            เริ่มต้นเลยก็อยากจะเท้าความว่าไอ้เจ้าฉลากที่ว่านี้ทั้งสองชนิดนะ ออกมาเพื่อวัตถุประสงค์ให้ผู้ที่ทำการผลิตผลิตภัณฑ์ได้มีความตระหนักถึงการช่วยกันลดผลกระทบที่จะเกิดจากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการช่วยกันลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะส่งผลกระทบต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ส่วนวัตถุประสงค์แอบแฝงนั้นกระผมยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด ก็มิอาจชี้แจงแถลงไขอย่างเป็นทางการให้ได้ทราบกันครับ ฉลากคาร์บอน หรือ Carbon Label มีแนวทางการดำเนินงาน หรือขั้นตอนการทำอย่างชัดเจนในมาตรฐาน ISO 14001 เรียบร้อยแล้วครับ ส่วนฉลากรอยเท้าคาร์บอน หรือ Carbon Footprint นะยังไม่มีครับ กำลังดำเนินการกันอยู่ ความแตกต่างของฉลากทั้งสองนอกจากจะเป็นเรื่องของขั้นตอนการดำเนินการอย่างชัดเจนแล้ว ก็เห็นจะเป็นประเด็นความสำคัญที่ของการออกฉลากนะครับ ฉลากคาร์บอนจะระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อมในหลายๆด้าน แต่ในขณะที่ฉลากรอยเท้าคาร์บอนนั้นจะมุ่งเน้นที่ผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential) เป็นหลักครับ

            ฉลากคาร์บอนตามมาตรฐาน ISO 14001 มีอยู่ 3 ประเภทครับ ประเภทแรกจะเป็นฉลากคาร์บอนประเภทที่ 1 ที่มีการตรวจสอบแค่เพียงประสิทธิภาพ และราคาของผลิตภัณฑ์เท่านั้นครับ (บ้านเราก็มีฉลากประเภทนี้เหมือนกันครับ ที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ ฉลากเขียวนั่นเองครับ) ฉลากประเภทที่ 1 นี้จะไม่ค่อยบอกรายละเอียดอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเลยครับ ซึ่งผลก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงตั้งชื่อซะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขนาดนี้ ฉลากประเภทที่1 นี้ต้องผ่านการตรวจสอบโดยคณะกรรมการครับ ไม่ใช้อยากได้ก็ไปใต้โต๊ะซื้อเอามา ฉลากคาร์บอนประเภทที่ 2 ถัดไปเป็นฉลากคาร์บอนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมแล้วครับ ผู้ที่ต้องการฉลากคาร์บอนประเภทที่ 2 นี้ต้องมีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตนเองตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตครับ หรือพูดฟังง่ายๆก็คือต้องมีการทำการประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิตนั่นเองครับ ซึ่งจะเหมือนกันกับฉลากคาร์บอนประเภทที่ 3 ที่ต้องทำการประเมินเช่นเดียวกับประเภทที่ 2 ครับ ต่างกันตรงที่ว่า ประเภทที่ 2 นะผู้ผลิตสามารถทำเองและออกฉลากของตนเองได้เลยครับ ไม่ต้องมีคณะกรรมการคอยตรวจสอบความถูกต้องก่อน (บ้านเราที่ตอนนี้บางบริษัททำแล้วครับ บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีช้างสีแดงเป็นสัญลักษณ์นั่นแหละครับ ไม่อยากเขียนเป็นชื่อเดี๋ยวจะหาว่าผมโฆษณาให้) ส่วนประเภทที่ 3 นี่ครับต้องมีคณะกรรมการกลาง หรือ third party ตรวจสอบก่อนครับ ซึ่งในรายละเอียดของการตรวจสอบก็ต้องมีการร่วมกันทำกฏการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ (Product Category Rule : PCR) ขึ้นมาร่วมกันระหว่างคณะกรรมการ และกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นๆครับ บ้านเรายังไม่มีฉลากประเภทที่ 3 นี้ครับ เพราะการสร้าง PCR นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายครับต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายๆฝ่าย

            ส่วนฉลากรอยเท้าคาร์บอน ซึ่งผมได้เกริ่นบอกแล้วว่าเป็นฉลากที่บอกถึงปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการคำนวณจากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ออกมาในรูปของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นการระบุปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ของผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกสำหรับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั่นเองครับ การทำฉลากรอยเท้าคาร์บอนต้องมีการจัดทำ PCR เช่นกันครับเพื่อให้การประเมินเป็นมาตรฐานในแต่ละผลิตภัณฑ์และเป็นธรรมมากที่สุด และที่สำคัญต้องทำการประเมินตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตครับ บ้านเราอยู่ในระหว่างการพัฒนาฉลากประเภทนี้อยู่ครับ คาดว่าไม่เกินปลายปีนี้คงได้เห็นกันอย่างแน่นอน เท่าที่ผมทราบจะมีโรงงานนำร่องที่นำเอาผลิตภัณฑ์เข้าร่วมโครงการการจัดทำฉลากรอยเท้าคาร์บอนในเฟสแรกนี้ประมาณ 25 ผลิตภัณฑ์ครับ

            อ้อ……เกือบลืมไปอีกหนึ่งฉลากครับ ซึ่งจะมีเฉพาะในบ้านเราเท่านั้น ฉลากที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่าฉลาก Carbon Reduction ซึ่งจะออกให้กับผลิตภัณฑ์ที่สามารถลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตของตนเองได้ครับ อย่าสับสนนะครับ ฉลาก Carbon Reduction นี้นะไม่ใช่ฉลาก Carbon Footprint เดี๋ยวจะสับสนเหมือนผมตอนแรกๆ

            ถามว่าฉลากทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวข้างต้นนี้มีความสำคัญมากหรือไม่ ในส่วนตัวผมยังเห็นว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคอย่างเราๆครับ ที่จะมีทางเลือกที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (แต่ไม่ทราบเหมือนกันครับว่าราคาสินค้าที่ได้ฉลากจะขึ้นหรือไม่ อันนี้ผมก็คงหาคำตอบมาเขียนนะตอนนี้ไม่ได้เช่นกันครับ) แต่ก็มีข้อเสียเหมือนกันครับ สำหรับผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าคล้ายๆกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นวัตถุประสงค์ของการออกฉลากคาร์บอนทั้งสองก็มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคร่วมกันช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของโลกเรานั่นเองครับ เพราะฉะนั้นอย่าคิดให้มากถือว่าทำเพื่อโลกใบนี้ของเราครับ

 

(บทความต้นฉบับพร้อมรูปตัวอย่างฉลากประเภทต่างๆสามารถดูได้ที่ www.en.mahidol.ac.th/EI

ดร.กิติกร จามรดุสิต

กันยายน 2552

หมายเลขบันทึก: 302241เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2009 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท