หัวข้อที่ 4 :Renal Stone Screening and I – san Metabolic Syndrome


โรคนิ่วไตและโรคอีสานรวมมิตร

โรคนิ่วไตเป็นปัญหาสาธารณสุขและอุบัติการณ์โรคนิ่วไตมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์โรคนิ่วไตสูงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณร้อยละ 10-16 การมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง และอาจร้ายแรงจนถึงเกิดภาวะไตวายเรื้อรังและโรคไตระยะสุดท้าย ซึ่งทำให้ถึงแก่ความตายได้ นอกจากนี้โรคนิ่วไตมีอุบัติการณ์การเป็นนิ่วซ้ำสูงมาก ทำให้ทั้งผู้ป่วยและภาครัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาและป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำสูงมาก ดังนั้นโรคนิ่วไตจึงจัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรไทยเป็นอย่างยิ่ง

สาเหตุของโรคนิ่วไตเกิดจากหลากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม เมแทบอลิซึม พันธุกรรม วิถีการดำเนินชีวิต และอุปนิสัยการกินอาหารของตัวผู้ป่วยเอง ชนิดของนิ่วมีหลากหลายชนิด องค์ประกอบส่วนใหญ่ในก้อนนิ่วเป็นผลึกแร่ธาตุ เช่น แคลเซี่ยมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต ยูเรต แมกนีเซี่ยมแอมโมเนี่ยมฟอสเฟต เป็นต้น นิ่วที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ นิ่วแคลเซี่ยมฟอสเฟตประมาณร้อยละ 80 รองลงมาคือนิ่วกรดยูริกพบประมาณร้อยละ 10-20 สาเหตุเริ่มต้นของการเกิดนิ่วคือการก่อผลึกแร่ธาตุในปัสสาวะ สารที่กระตุ้นการก่อผลึกเหล่านี้เรียกว่า “สารก่อนิ่ว” ได้แก่ แคลเซี่ยม ออกซาเลต ฟอสเฟต และกรดยูริก สำหรับสารที่ป้องกันการก่อผลึกในปัสสาวะเรียกว่า “สารยับยั้งนิ่ว” ที่สำคัญได้แก่ ซิเทรต โพแทสเซียม และแมกนีเซียม
ปัจจัยเสี่ยงด้านความผิดปกติทางเมแทบอลิซึมที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนิ่วไตไทย คือ การมีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะต่ำ ได้แก่ ภาวะซิเทรตในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 70-90 และภาวะโพแทสเซียมในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 40-60

การรักษาโรคนิ่วไตแบ่งเป็นการรักษาทางศัลกรรม เช่น การผ่าตัดเอานิ่วออกและการสลายนิ่ว เป็นต้น และการรักษาด้วยยาเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำ เช่นยาโพแทสเซี่ยมซิเทรต การรักษาจะรักษาโดยจะใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับหญ้าหนวดแมว (Orthosiphon) นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์แล้วการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการดำเนินชีวิตมีความสำคัญมากในการสร้างเสริมสุขภาพของผู้ป่วยโรคนิ่วไต ซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา

ใช้ปัสสาวะ ขับนิ่ว ใบอ่อนใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ที่มีประสิทธิภาพสูงเนื่องจากมีเกลือโปแตสเซียมมาก หญ้าหนวดแมวใช้รักษานิ่วได้ทั้งนิ่วด่างซึ่งเกิดจากแคลเซียม (หินปูน) ซึ่งมักจะเป็นก้อนที่เกิดจากการดื่มน้ำที่มีหินปูน นิ่วจำนวนนี้จะไม่เป็นก้อนแต่จะร่วนเป็นเม็ดทราย ไม่ทึบแสง มักเกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์มากเกินไป ทำให้มีกรดยูริกสูง เมื่อรับประทานหญ้าหนวดแมว ซึ่งมีโปแตสเซียมสูง จะทำให้ในกรดมีฤทธิ์เป็นด่าง ทำให้กรดยูริก และเกลือยูเรต (urate) ไม่จับตัวเป็นก้อน ช่วยป้องกันไม่ให้แคลเซียมตกค้างในไต ช่วยขยายท่อไตให้กว้างขึ้น จึงช่วยบรรเทาอาการปวด หญ้าหนวดแมวไม่มีฤทธิ์ละลายนิ่ว ดั้งนั้นนิ่วก้อนใหญ่จะไม่ได้ผล ใช้ได้ดีกับนิ่วก้อนเล็กๆ ฤทธิ์ขับปัสสาวะของหญ้าหนวดแมวจะช่วยดันเม็ดนิ่วเล็กๆให้หลุดออกมาได้

ผลการศึกษาวิจัยหญ้าหนวดแมว

รศ.นพ.อมร เปรมกมล ได้ทำการศึกษาผลของหญ้าหนวดแมวในการลดขนาดนิ่วไต ซึ่งพบว่าหญ้าหนวดแมว สามารถลดขนาดนิ่วได้ และผู้ป่วยนิ่วที่มีอาการเรื้อรังได้แก่อาการแน่นท้อง ปวดเอว ปวดข้อ เมื่อยเพลีย ปวดศีรษะ แสบร้อนสีข้าง ปวดขา หลังให้การรักษาด้วยหญ้าหนวดแมว พบว่า อาการดังกล่าวลดลงเกือบจะหมดและยังทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นสามารถทำงานได้มากขึ้น จากผลการศึกษาปรากฏว่าผลของสมุนไพรหญ้าหนวดแมว ในการลดขนาดนิ่วไตที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และเป็นผลดีต่อผู้ป่วยโรคนิ่วไตที่ได้รับความทุกข์ทรมานทางกาย ความทุกข์ทางใจ การสูญเสียเงินค่ารักษาพยาบาลต่อครั้งที่มีราคาสูง การเป็นนิ่วที่พบบ่อยในภาคอีสาน ซึ่งประชาชนมีฐานะยากจน การรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่การผ่าตัด การสลายนิ่ว ล้วนแต่ต้องใช้เงินมากมายนั้น การนำสมุนไพรหญ้าหนวดแมวมาใช้กับผู้ป่วยโรคนิ่วเป็นวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่งช่วยลดค่ารักษาพยาบาลประชาชนปลูกใช้เอาได้ขั้นตอนใช้ไม่ยุ่งยาก

หมายเลขบันทึก: 302174เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2009 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท