หัวข้อที่ 8 : Suicide Prevention


Suicide Prevention : การป้องกันการฆ่าตัวตาย

การฆ่าตัวตาย (Suicide) คือการกระทำที่ทำให้ตนเองเสียชีวิตโดยเจตนา สำหรับมนุษย์อาจเกิดมาจากภาวะความเสียใจอย่างมาก เช่นสูญเสียคนรัก หรือภาวะความเครียดที่ไม่สามารถหาทางออกได้ จึงคิดสั้นโดยการฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา การฆ่าตัวตายนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งปรากฏอยู่ในสังคมและชุมชนต่างๆอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้สามารถป้องกันได้ หากว่าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน ช่วยเหลือ มีความเห็นอกเห็นใจ รวมทั้งความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาและสาเหตุของการฆ่าตัวตาย และสังเกตสัญญาณเตือนที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายเสียแต่เนิ่นๆและรู้แหล่งหรือบุคคลที่จะให้ความช่วยเหลือ ย่อมจะทำให้ปัญหาการฆ่าตัวตาย และพยายามฆ่าตัวตายของคนในชุมชนต่างๆ ลดลงไปมาก และนำความสงบสุขมาสู่ชุมชนนั้น ซึ่งเหตุผลที่คนเราฆ่าตัวตายมีหลายเหตุผลด้วยกัน เช่น  มองไปทางไหนก็เห็นแต่ปัญหา ไม่เห็นทางออก เจอแต่ทางตัน ซึมเศร้า หมดอาลัยตายอยาก หดหู่ ท้อแท้ ป่วยเป็นโรคจิต หลงผิดคิดว่ามีคนสั่งให้ไปตาย หรือระแวงว่าจะมีคนมาฆ่า ก็เลยอยากตายไปให้พ้น ติดเหล้า ติดยา ไม่ได้เสพก็ทรมาน พอเสพจนเมาก็ขาดสติ ไม่มีใครอยากเหลียวแล มีความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยทางกาย จนไม่สามารถทนได้ จึงฆ่าตัวตายเพื่อให้พ้นทุกข์ คนที่ฆ่าตัวตาย ต้องการสิ่งต่างๆเหล่านี้ คือความเข้าใจ เพื่อนที่จริงใจ การระบายความทุกข์ ความเอาใจใส่

สถิติของการฆ่าตัวตายในประเทศไทย
       เกือบจะทุกวันที่เราได้พบเห็นข่าวการฆ่าตัวตายตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวันทั่วไป ด้วยวิธีการ ต่าง ๆ กัน เช่น ยิงตัวตาย, กระโดดตึก, กินยาฆ่าตัวตาย, ผูกคอตาย เป็นต้น ต่างรายก็ต่างปัญหา เมื่อเกิดปัญหาก็เกิดความเครียด หาหนทางออกของการแก้ไขปัญหาไม่ได้ รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ในที่ สุดหลายคนตัดสินใจหนีปัญหานั้นด้วยการฆ่าตัวตาย… แต่ปัญหาไม่จบตามไปด้วย ทุกเรื่องยังคงอยู่ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความทุกข์ เศร้าโศกเสียใจให้กับคนใกล้ชิดอีกด้วย …
        “การฆ่าตัวตายสำเร็จของคน 1 คน จะมีผลกระทบต่อคนอื่นอีกอย่างน้อย 5 คน ได้แก่ พ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อนสนิท คนรัก” ดังนั้นถ้าในประเทศไทยมีการฆ่าตัวตายสำเร็จปีละประมาณ 4,000 คน จะมีผู้รับผลกระทบที่ต้องทุกข์ทนกับการสูญเสียถึงปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 คน

(ปุณยภพ สิทธิพรอนันต์ : “ฆ่าตัวตาย เพราะโรคซึมเศร้า”)

สถิติการฆ่าตัวตายเฉลี่ยของคนไทย

        จากการเก็บข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่า สถิติการฆ่าตัวตายของคนไทย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ ประมาณ 5.77 คนต่อประชากรแสนคน หรือมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 3,612 คนต่อปี และถ้าคิด เฉลี่ยต่อวัน พบว่าในแต่ละวันมีคนฆ่าตัวตายถึง 12 คน หรือเฉลี่ย 1 คนต่อทุก ๆ 2 ชั่วโมง

สถิติการฆ่าตัวตายตามอายุ และเพศ

        ถ้ามาดูกันในเรื่องของกลุ่มอายุ และเพศของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ และผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย แล้ว จะพบว่า ช่วงอายุของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศไทยอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี มากที่สุด และถ้าแบ่งตามเพศ จะพบว่า เพศชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเพศหญิงถึง 4 เท่า แต่เพศหญิงมี แนวโน้มที่คิดจะฆ่าตัวตายได้ง่าย และมีจำนวนมากกว่าเพศชาย

สถิติการฆ่าตัวตายตามพื้นที่ในประเทศไทย

        สำหรับสถิติด้านพื้นที่ที่มีผู้ฆ่าตัวตายมากที่สุดในรอบหลายปีมาแล้ว จะพบว่าภาคเหนือของ ไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด ส่วนอัตราการฆ่าตัวตายต่ำสุดอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส

วิธีการฆ่าตัวตาย

        สำหรับการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ส่วนใหญ่ใช้วิธีการแขวนคอ, ใช้ปืนยิง, กินยาฆ่าแมลง หรือยาฆ่าหญ้า

        จากข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของคนไทยข้างต้น สามารถสะท้อนเรื่องราว, ปัญหา, ความจริงในสังคม, สิ่งที่รอการแก้ไข กับเราได้ในหลากหลายประเด็น ที่สำคัญตัวเลขเหล่านี้ควรจะลดลง… ซึ่งเราทุกคนสามารถดูแลตนเองให้ห่างจากความคิดฆ่าตัวตายได้ หากเรารู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง และเราทุกคนก็สามารถช่วยเหลือ และร่วมกันป้องกันการฆ่าตัวตายของคนใกล้ชิด คนที่เราห่วงใยได้ โดยเฉพาะคนใกล้ตัว เพียงแค่ใส่ใจดูแล และห่วงใยกัน ตลอดจนมีข้อมูลความรู้ที่จะทำให้เข้าใจถึงสาเหตุของการคิดฆ่าตัวตาย เพื่อการป้องกัน ช่วยเหลือ และดูแลคนที่คุณห่วงใยอย่างถูกทาง 

 ดูอัตราการฆ่าตัวตายรายจังหวัด/รายปี ได้ที่นี่ :กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

        สำหรับการแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายไม่ใช่หนทางออกที่ดี จากการวิเคราะห์สถิติการฆ่าตัวตายทำให้ทราบว่าปัญหานี้นับวันจำนวนผู้ฆ่าตัวตายยิ่งจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ว่าจะเกิดด้วยสาเหตุใดก็ตาม ตัวนักศึกษาเองอยากให้ผู้คนทั่วไปคิดสักนิดว่า ถ้าหากตัดสินใจด้วยวิธีนี้แล้วผลกระทบอะไรบ้างที่จะตามมา คนที่อยู่รอบข้างจะต้องรับผิดชอบอะไรอีกบ้าง เพราะการที่ผู้นั้นฆ่าตัวตายแล้วไม่ใช่ว่าปัญหาทุกอย่างจะจบลงแต่กลับเป็นภาระของคนที่อยู่และที่สำคัญอย่าลืมนะว่า ปัญหาทุกอย่างบนโลกใบนี้มีทางแก้ไขได้

หมายเลขบันทึก: 302140เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2009 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท