วิชาพุทธประวัติ ปริเฉทที่ ๖ ปฐมเทศนา และ ปฐมสาวก


เสวยวิมุตติสุข 

สัปดาห์แรก หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ยังคงประทับ ณ ภายใต้ร่มไม้พระศรีมหาโพธิ์ เสวยวิมุตติสุข  (ความสุขที่เกิดจากความหลุดพ้นจากอาสวะ) ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ตามลำดับและทวนกลับ ตลอด ๓ ยาม ทรงเปล่งอุทาน ยามละครั้ง ดังนี้

ปฐมยาม ทรงเปล่งอุทานว่า “เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งธรรมว่าเกิดแต่เหตุ”

มัชฌิมยาม ทรงเปล่งอุทานว่า “เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลายว่าเป็นเหตุสิ้นแห่งผลทั้งหลายด้วย”

ปัจฉิมยาม ทรงเปล่งอุทานว่า “เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น พราหมณ์นั้น ย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยกำจัดความมืด ทำอากาศให้สว่างฉะนั้น”

          สัปดาห์ที่ เสด็จลงจากบัลลังก์ไปประทับทางทิศอีสานแห่งต้นศรีมหาโพธิ์ ยืนจ้องพระเนตรดูต้นศรีมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน สถานที่นี้เรียกว่า อนิมิสเจดีย์

          สัปดาห์ที่ เสด็จออกจากอนิมิสเจดีย์ มาหยุดอยู่ในระหว่างต้นศรีมหาโพธิ์กับอนิมิสเจดีย์ ทรงเนรมิตที่จรงกรมขึ้น แล้วเสด็จจงกรมตลอด ๗ วัน สถานที่นี้เรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์

          สัปดาห์ที่ เสด็จไปทางทิศพายัพแห่งต้นศรีมหาโพธิ์ ประทับนั่งขัดสมาธิในเรือนแก้วซึ่งเทวดาเนรมิตถวาย ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกตลอด ๗ วัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า รัตนฆรเจดีย์

          สัปดาห์ที่ เสด็จไปยังร่มไม้ไทรชื่อว่า อชปาลนิโครธ ซึ่งอยู่ทางทิศบูรพาของต้นศรีมหาโพธิ์ ครั้งนั้นพราหมณ์ผู้ชอบตวาดบุคคลอื่นว่า “หึ หึ” ถามถึง พราหมณ์และธรรมซึ่งทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ พระองค์ตรัสตอบว่า “พราหมณ์ผู้ใดมีบาปอันลอยเสียแล้ว ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ มีตนสำรวมดีแล้ว ถึงที่สุดจบเวทแล้ว มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว ไม่มีกิเลสแม้น้อยหนึ่ง ควรกล่าวว่า ตนเป็นพราหมณ์โดยชอบ” (พระอรรถกถาจารย์ไม่ได้กล่าวถึงพราหมณ์  แต่กล่าวถึงธิดามาร ๓ ตน คือ นางตัณหา นางราคา นางอรดี ได้อาสาพระยามารผู้บิดา เข้าไปยั่วยวนพระพุทธองค์ด้วยอาการต่างๆ แต่พระองค์ไม่ทรงใยดี)

          สัปดาห์ที่ เสด็จไปยังต้นไม้จิกชื่อว่า มุจจลินท์ ซึ่งอยู่ทางทิศอาคเนย์แห่งต้นศรีมหาโพธิ์ ทรงเปล่งอุทานว่า “ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมได้สดับแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามเป็นจริงอย่างไร ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และปราศจากความกำหนัด คือล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสมิมานะคือความถือตัวตนให้หมดได้เป็นสุขอย่างยิ่ง” พระองค์ทรงประทับ ณ ที่นี้ ๗ วัน

 

ปฐมอุบาสก (เทฺววาจิกอุบาสก)

สัปดาห์ที่ เสด็จไปยังต้นไม้เกตุ ชื่อ ราชายตนะ อยู่ทางทิศทักษิณแห่งต้นศรีมหาโพธิ์ เสวยวิมุตติสุข ๗ วัน สมัยนั้น พาณิช ๒ พี่น้อง ชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ ถวายข้าวสัตตุผง สัตตุก้อน พระองค์ทรงรับ เสวยเสร็จแล้ว พาณิชทั้งสองกราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสก จึงนับว่าเป็น “ปฐมอุบาสก” ผู้ถึงรัตนะ ๒ คือพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ เรียกว่า เทฺววาจิกอุบาสก

          สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขเป็นเวลา ๗ สัปดาห์ ทั้ง ๗ แห่งนี้ เรียกว่า “สัตตมหาสถาน

          จากนั้น เสด็จออกจากร่มไม้ราชายตนะ (ไม้เกตุ) กลับไปประทับ ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธอีก พิจารณาธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว เห็นว่าลุ่มลึกเกินกว่าคนที่ยินดีในกามจะรู้ตามได้   จึงทรงท้อพระหฤทัยที่จะตรัสสั่งสอน  อาศัยพระกรุณา

ทรงทราบด้วยพระปัญญาว่า บุคคลกิเลสน้อยเบาบางก็มี กิเลสหนาก็มี

ในกาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงท้อพระหฤทัยนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ลงมาจากพรหมโลกกราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม อ้างว่าสัตว์ผู้มีกิเลสเบาบางอาจรู้ธรรมได้ก็มีอยู่ พระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระญาณ เห็นสัตว์มีประการต่างๆ เปรียบบัวต่างชนิด จึงทรงรับอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม

 

บัวสี่เหล่า

๑. ดอกบัวพ้นน้ำ คอยรัศมีพระอาทิตย์ จักบาน ณ วันนี้

          ๒. ดอกบัวตั้งเสมอน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้

          ๓. ดอกบัวที่ยังไม่ขึ้นจากน้ำ จักบานในวันต่อๆไป

          ๔. ดอกบัวที่อยู่ในโคลนตม จักเป็นอาหารของปลาและเต่า

บัวสี่เหล่าเปรียบเหมือนบุคคลสี่จำพวก คือ

พวกแรก   สอนให้รู้ธรรมได้ฉับพลัน เรียกว่า อุคฆฏิตัญญู

พวกที่สอง ได้รับการอบรมเป็นเบื้องต้น จนมีอุปนิสัยแก่กล้าก็สามารถรู้

              ธรรมได้  เรียกว่า วิปจิตัญญู

พวกที่สาม คุณสมบัติยังอ่อนหาอุปนิสัยไม่ได้ จึงควรได้รับการแนะนำใน

              ธรรมเบื้องต้นไปก่อนเพื่อบำรุงอุปนิสัย เรียกว่า เนยยะ

สามพวกแรกนี้เป็นเวไนยสัตว์

ส่วนพวกที่สี่  ไม่สามารถที่จะแนะนำสั่งสอนได้ คือไม่รับการแนะนำ

              เรียกว่า ปทปรมะ

พระองค์จึงทรงมุ่งหวังที่จะแสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์สามพวกแรก เพื่อประโยชน์แก่มหาชน

          เมื่อพระองค์ตั้งพระหฤทัยจะแสดงธรรมก็ดำริหาบุคคลผู้สมควรรับเทศนา ทรงปรารภถึงอาฬารดาบสและอุททกดาบส เนื่องจากท่านทั้งสองเป็นคนฉลาดมีกิเลสเบาบาง สามารถรู้ธรรมได้ฉับพลัน แต่ท่านทั้งสองสิ้นชีพเสียแล้ว

          ภายหลังทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ ผู้อุปัฏฐากพระองค์เมื่อครั้งบำเพ็ญ
ทุกรกิริยา จึงเสด็จจากต้นอชปาลนิโครธในเช้าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ไปยังเมืองพาราณสี ระหว่างทางทรงพบอุปกาชีวก (อาชีวกชื่อ อุปกะ) เดินสวนทางมา อุปกะเห็นพระวรกายของพระองค์ผ่องใส จึงทูลถามว่า ใครเป็นศาสดาของพระองค์
พระองค์ตรัสตอบว่า พระองค์เป็นสยัมภู เป็นผู้ตรัสรู้เอง ไม่มีใครเป็นครูสั่งสอน อุปกะได้ฟังดังนั้นก็สั่นศีรษะแล้วหลีกไป พระองค์เสด็จไปโดยลำดับถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นที่อยู่ของปัญจวัคคีย์

          รุ่งขึ้น วันอาสาฬหบุรณมี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีใจความย่อว่า ภิกษุควรเว้นส่วนสุดสองอย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือการทำตนให้พัวพันด้วยความสุขทางกาม (กามสุขัลลิกานุโยค) และการทรมานตนให้ได้รับความลำบาก (อัตตกิลม-ถานุโยค) โดยให้ปฏิบัติตามทางสายกลาง คือมัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่มรรคมีองค์แปด  แล้วทรงแสดงอริยสัจ ๔

ขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาอยู่นั้น โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา พระองค์ทรงทราบว่าโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม* ทรงเปล่งอุทานว่า “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ” (โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ) เพราะพระอุทานนั้น คำว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” จึงได้เป็นชื่อของท่านตั้งแต่นั้นมา

          โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม หมดสิ้นความสงสัย จึงทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาตด้วยพระวาจาว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิ” พระอัญญาโกณฑัญญะ จึงเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา พระรัตนตรัยได้เกิดขึ้นครบสามประการ  ณ วันนี้

          พระองค์ทรงจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงสั่งสอนบรรพชิตที่เหลือด้วยพระธรรมเทศนาต่างๆ จนได้ดวงตาเห็นธรรม (วันละองค์ ดังนี้
พระวัปปะ แรม ๑ ค่ำ พระภัททิยะ แรม ๒ ค่ำ พระมหานามะ แรม ๓ ค่ำ และ
พระอัสสชิ แรม ๔ ค่ำ) และทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาตเหมือนอย่างที่ประทานแก่พระอัญญาโกณฑัญญะ อุปสมบทแบบนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา

          เมื่อทรงเห็นว่าพระสาวกทั้ง ๕ มีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว ถึงวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๙ พระองค์จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อว่า “อนัตตลักขณสูตร” มีใจความย่อว่า ขันธ์ เป็นอนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น  จบพระธรรมเทศนา พระภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ คือ พระพุทธเจ้า ๑ และพระสาวกปัญจวัคคีย์ ๕ องค์

 


* ได้ดวงตาเห็นธรรม หรือธรรมจักษุ หมายถึงได้บรรลุธรรมวิเศษขั้นโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลระดับแรก  พระอริยบุคคลมี ๔ ระดับ คือ  พระโสดาบัน  พระสกทาคามี  พระอนาคามี และพระอรหันต์

หมายเลขบันทึก: 302089เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2009 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท