เครื่องทำความเย็น ( Refrigeration System )


เครื่องทำความเย็น ( Refrigeration System )

เครื่องทำความเย็น ( Refrigeration System )                                        

                เนื่องจากเรือสินค้าจะต้องเดินทางอยู่ในทะเลเป็นเวลานาน ระบบทำความเย็นจึงมีส่วนสำคัญมากในการใช้เพื่อเก็บรักษาเสบียงอาหารให้สามารถเก็บไว้นานๆ โดยไม่เน่าเสีย ระบบความเย็นยังใช้ในการให้ความสะดวกสบายและความเย็นแก่คนประจำเรืออีกด้วย จึงกล่าวได้ว่าระบบทำความเย็นเป็นระบบหนึ่งที่สำคัญมากที่จะขาดมิได้สำหรับเรือสินค้า ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่นายช่างกลจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในระบบการทำงานของเครื่องทำความเย็น รวมถึงการใช้ การบำรุงรักษา การซ่อมทำที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

                ระบบทำความเย็นประกอบด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องมากมาย

อุปกรณ์หลักสำคัญของระบบทำความเย็น

                 1. Compressor  เป็นเครื่องอัดและดูดสารทำความเย็นในขณะที่เป็นแก๊ส โดยดูดแก๊สที่มีอุณหภูมิ และความร้อนต่ำ และอัดให้มีความดันและอุณหภูมิสูง จนถึงจุดที่แก๊สพร้อมจะควบแน่นเป็นของเหลวเมื่อมีการถ่ายเทความร้อนออกจากสารทำความเย็น

                 2.Condenser ทำหน้าที่ให้สารทำความเย็นในสถานะที่แก๊สกลั่นตัวเป็นของเหลว ด้วยการระบายความร้อนออกจากสารทำความเย็นนั้นกล่าวคือ สารทำความเย็นซึ่งอยู่ในสถานะ อุณหภูมิสูง ความดันสูง ซึ่งถูกอัดส่งมาจาก Compressor เมื่อถูกระบายความร้อนแฝงออก จะกลั่นตัวเป็นของเหลว แต่ยังมีความดันและอุณหภูมิสูงอยู่

                 3.Receiver Tank สารทำความเย็นซึ่งอยู่ในสถานะของเหลวที่มีความดันและอุณหภูมิสูงที่ถูกส่งมายังถังพักในถังพักน้ำยานี้ ก่อนที่จะถูกส่งไปยัง Expansion Valve อีกทีหนึ่ง

                 4.Expansion Valve ทำหน้าที่ควบคุมอัตราการไหลของสารทำความเย็นเหลวที่ผ่านเข้าไปใน ลดความดันของสารทำความเย็นให้มีความดันต่ำลงจนสามารถระเหยเปลี่ยนสถานะกลายเป็นไอได้ในอุณหภูมิต่ำๆใน Evaporator กล่าวโดยสรุปคือจะเป็นตัวแสดงค่าความแตกต่างของแรงดันระหว่างภาคความดันสูง และภาคความดันต่ำของระบบทำความเย็นในขณะที่เครื่องทำงาน

                5.Evaporator ทำหน้าที่ดูดรับปริมาณความร้อนจากบริเวณหรือเนื้อที่ที่ต้องการทำความเย็น ขณะที่สารทำความเย็นภายในระบบนี้ จะดูดรับเอาความร้อนที่ต้องการจะทำให้เย็นเข้ามาสู่ตัวเองจนเดือดเปลี่ยนสถานะกลายเป็นก๊าช

                 6.อุปกรณ์ช่วยต่างๆ (โดยทั่วไปจะติดตั้งด้าน Hot Gas ที่ถูกส่งมาจาก Compressor)

ในระบบ เช่น

-          Oil Separator เป็นตัวแยกน้ำมัน

-          Drier เป็นตัวดักน้ำมัน ดักความชื้น

-          Drain เป็นลิ้นระบายที่ติดตั้งทางด้านล่างของ Receiver tank สำหรับระบายของเหลวจากเครื่องทำความเย็น    ( Liquid Refrigerant ) ออกจากวงจร

-          Accumulator เป็นตัวสะสมพลังงานควบคุมการไหลเวียนของน้ำยาไม่ให้น้ำยาขาดไปในระบบ

-          High Pressure Relief Valve เป็นลิ้นผ่อนกำลังดันโดยอาศัยแรงดันของสปริงที่อยู่ภายในและถ้ากำลังดันภายในเป็นทางส่งของแก๊สสูงกว่ากำลังสปริง ลิ้นนี้ก็จะคอยเปิดออกให้แก๊สไหลกลับไปเข้าทางดูด ซึ่งโดยปกติลิ้นนี้จะปรับแต่งสปริงไว้ที่ 200 ปอนด์ / ตารางนิ้ว

-          Purge Valve ลิ้นระบายอากาศเป็นลิ้นที่ติดอยู่ภายในตอนบนของเครื่องควบแน่น ( Condenser ) มีหน้าที่สำหรับใช้เปิดระบายอากาศที่อยู่ในวงจรออก

-          Solenoid Valve เป็นลิ้นสำหรับปิด – เปิดให้น้ำยาของเครื่องทำความเย็น ( Liquid Refrigerant ) ไหลเข้าไปใน Expansion Valve มีลักษณะเป็นเดือยสำหรับปิด – เปิด ภายนอกตัวลิ้นซึ่งเป็นขดลวดไฟฟ้าพันอยู่โดยรอบ เมื่อมีกระแสไหลผ่านขดลวดนี้ก็จะเกิดอำนาจแม่เหล็กขึ้น ทำให้ลิ้นยกตัวขึ้นไหลผ่านเข้าไปที่ Expansion Valve และเมื่อกระแสไฟฟ้าหยุดไหลอำนาจแม่เหล็กก็จะหมด ลิ้นจะตกลงมาปิดที่ทางเดินของ Liquid Refrigerant

               

การทำงานของระบบทำความเย็น

                 เริ่มต้นจาก Compressor จะทำหน้าที่ดูดน้ำยาจากสถานะที่เป็นก๊าซจาก Evaporator ซึ่งเป็นก๊าซความดันต่ำ Compressor จะอัดน้ำยาที่เป็นก๊าซนี้ให้มีกำลังดันสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้จุดเดือดของน้ำยาสูงขึ้นไปด้วย ก๊าซความดันสูงจาก  Compressor จะเข้าสู่  Oil Separator  เพื่อแยกน้ำมันหล่อลื่นที่อาจจะปะปนไปกับสารทำความเย็น และผ่านเข้าไปใน Condenser ในที่นี้ก๊าซร้อนความดันสูงก็จะถูกทำให้ควบแน่นเป็นของเหลว (โดยมีสารตัวกลางผ่านเข้ามารับความร้อนออกไปจากน้ำยาทำความเย็น ซึ่งสารตัวกลางนี้อาจจะเป็นน้ำ หรือ อากาศก็ได้ขึ้นอยู่กับประเภทของ Condenser ที่ใช้งานในระบบทำความเย็นนั้น) จากนั้นน้ำยาซึ่งในขณะนี้มีสถานะเป็นของเหลวความดันสูง จะถูกส่งผ่านเข้าไปเก็บในถังพักน้ำยา (Receiver Tank) ในถังเก็บน้ำยาจะมีน้ำยาทั้งสองสถานะปะปนอยู่ โดยส่วนที่เป็นของเหลวจะอยู่ด้านล่าง และส่วนที่เป็นก๊าซจะอยู่ด้านบน ต่อจากนั้นน้ำยาที่เป็นของเหลวอยู่อย่างเดียวที่ผ่านออกมาจากถังเก็บน้ำยาแล้วถูกจ่ายผ่าน  Dryer  เพื่อดูดความชื้นออกจากน้ำยา ผ่านเข้าไปใน  Expansion  Valve เพื่อควบคุมอัตราการไหลของน้ำยาทำความเย็นและทำให้ความดันลดลง เมื่อสารทำความเย็นผ่านเข้าไปใน  Evaporator  เพื่อทำหน้าที่ดูดรับความร้อนจากภายนอก ทำให้สารทำความเย็นภายในระบบระเหยเปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซ ดูดรับความร้อนผ่านผิวท่อทางน้ำยาซึ่งการเปลี่ยนสถานะนี้ต้องใช้พลังงานความร้อนที่เรียกว่า พลังงานความร้อนแฝงของการกลายเป็นไอ  ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโดยรอบ  Evaporator   ต่ำลง ความเย็นที่ผลิตได้จะถูกส่งไปตามท่อลมโดยใช้พัดลมเป็นตัวช่วยจ่ายความเย็น(กรณีที่เป็นเครื่องปรับอากาศ)ไปในที่ที่เราต้องการทำความเย็น ส่วนสารที่ทำความเย็นในสถานะก๊าซ มีความดันและอุณหภูมิต่ำจะถูกดูดเข้าสู่ Compressor   อีกครั้งหนึ่งเป็นการเริ่มวัฏจักรการทำความเย็นใหม่นั่นเอง

 

การเดินและการเลิกเครื่องทำความเย็น

                 ปกติแล้วเครื่องทำความเย็นโดยทั่วไปจะทำงานอัตโนมัติ โดยระยะเวลาการทำงานของ Compressor  จะตั้งให้เหมาะสมกับสภาพของ Load คือถ้า Load มาก ปริมาณความร้อนที่จะต้องถ่ายเทมีมาก ในขณะที่เครื่องอัดมีความสามารถในการถ่ายเทความร้อนคงที่ ดังนั้น  Compressor  ก็จะต้องทำงานเป็นระยะเวลานานจึงจะสามารถถ่ายเทความร้อนจากภาระสู่ภายนอกได้หมด ในทางตรงกันข้ามหาก Load น้อย  Compressor  ก็ไม่ต้องทำงานนานก็สามารถถ่ายเทความร้อนออกหมด

                สำหรับการ Start  และการหยุดทำงาน ของเครื่องทำความเย็น ด้วยเหตุที่ระบบทำความเย็นที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปเป็นแบบอัตโนมัติ การเดินเครื่อง การเลิกเครื่อง จึงเป็นเพียงแค่การกดปุ่ม Start - Stop เท่านั้น และ Compressor จะมีการพักการทำงานตามสภาพของ Loadของระบบ

                กรณีที่ต้องหยุดการทำงานของเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องปรับอากาศนานๆ ควรจะมีการถ่ายสารทำความเย็นที่มีในระบบสู่ถังเก็บ เรือบางลำจะมีถังเก็บอยู่ด้านล่างของ Condenser และหากไม่ทำอย่างนั้น น้ำยาก็จะไปรวมตัวกับน้ำมันหล่อลื่น ส่งผลให้เกิดปัญหาดังต่อไปนี้

                - อาจทำให้น้ำมันหล่อลื่นเหลือไม่มากพอสำหรับหล่อลื่น Compressor 

                - สารผสมระหว่างน้ำยาทำความเย็นกับน้ำมันหล่อลื่น เมื่อระเหยจะทำให้เป็นฟองเกิดขึ้นและมีโอกาศที่น้ำมันจะติดไปกับน้ำยาทำความเย็น

- ด้วยเหตุที่น้ำมันเป็นของเหลวเมื่อผ่านเข้าไปใน Compressor ซึ่งออกแบบมาสำหรับอัดก๊าซ ก็จะไปทำความเสียหายให้กับ  Compressor ได้

 

การเดินเครื่องทำความเย็น

การ Start ภายหลังจากที่ถ่ายสารทำความเย็นเก็บเอาไว้ในถังเก็บ

                1.  เดินปั้มสำหรับน้ำหล่อเย็น ชุด Condenser

                2.  เดินพัดลม (สำหรับกรณีที่เป็นเครื่องปรับอากาศ)

                3.  วาล์วต่อไปนี้ต้องอยู่ในตำแหน่งปิด

                                - วาล์วเติมสารทำความเย็น

                                - วาล์วเติมน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องทำความเย็น

                                - วาล์วไล่อากาศของ Condenser

                4.  เริ่มเดิน Compressor ซึ่งในขณะที่เริ่มต้นเดิน Load ของเครื่องจะไม่มากเพราะยังไม่มีน้ำยาผ่านเข้ามา

                5.  เปิดวาล์วทางเข้าของ Condenser และค่อยๆเปิดวาล์วทางออกช้าๆ

                6.  ตรวจสอบความดันทางดูดและทางส่งของ Compressor

  

การเลิกเครื่องทำความเย็น

                 ก่อนที่จะทำการเลิกเครื่องควรที่จะทำการถ่ายเก็บน้ำยาไว้ในถังเก็บ Receiver Tank ก่อนเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพของน้ำยาทำความเย็นเอาไว้ โดยวิธีการที่เรียกว่า  Pumped Down โดยการปิดวาล์วทางออกของถังพักน้ำยา เสร็จเรียบร้อยแล้วให้เลิก Compressor เลิกพัดลมในกรณีที่เป็นระบบปรับอากาศ และเลิกระบบน้ำระบายความร้อน

 

การตรวจสอบการทำงานขณะเครื่องเดิน

  1. ใส่เทอร์โมมิเตอร์ในห้องเย็นบริเวณที่ขดลวดความเย็น ในตำแหน่งที่สามารถวัดอุณหภูมิเฉลี่ยของห้องเย็น ถ้าพบว่าอุณหภูมิที่อ่านได้ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ให้ทำการตรวจสอบเป็นอันดับแรก สาเหตุอาจจะเกิดมาจากกำลังดันของสปริงอ่อนตัว หน้าสัมผัสอาจจะเกิดการชำรุด ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทำงานผิดปกติ อันเป็นเหตุให้อุณหภูมิไม่เป็นไปตามที่กำหนด
  2. ควรที่จะมีการติดตั้งเกจความดันในเครื่องขนาดเล็กที่ไม่มีการติดตั้งเอาไว้ ถ้าเป็นเครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่จะมีการติดตั้งอยู่แล้ว เราสามารถทำการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับความดันได้ สิ่งเหล่านี้จะบอกถึงสภาพของน้ำยาทำความเย็นในระบบ ให้ลองใส่เทอร์โมมิเตอร์บริเวณที่ใกล้ ๆ กับ Expansion Valve  แล้วทำการอ่านค่าที่ได้ ถ้ากำลังดันต่ำอาจจะมีสาเหตุมาจากน้ำยาไม่เพียงพอ
  3. น้ำแข็งที่จับชุดขดลวดทำความเย็นต้องทำการสังเกตดูด้วยเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ขดลวดทำความเย็นทั้งหมดจะต้องมีน้ำแข็งจับ และถ้าท่อทางของน้ำยาอุดตันหรือ Expansion Valve ทำงานผิดปกติอาจจะเกิดจากจำนวนน้ำยาที่เข้าไปในขดลวดทำความเย็นมีปริมาณที่ผิดปกติ ที่ขดลวดจะมีน้ำแข็งจับเป็นบางส่วนไม่ทั้งหมด เนื่องจากปริมาณน้ำยาไม่เพียงพอ
หมายเลขบันทึก: 302075เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2009 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ แอร์ก็ใช้ระบบนี้ใช้มั้ยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท