2. Nation health act_พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ..เครื่องมือการสร้างสุขภาวะ


"สุขภาพ" ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องการเจ็บไข้ ได้ป่วย เรื่องมดหมอหยูกยา หรือเรื่องการแพทย์การสาธารณสุขตามความหมายเดิม ๆ แต่หมายถึง สุขภาวะที่เป็นองค์รวมทั้งของบุคคลและของสังคม และครอบคลุมทั้งมิติด้านกาย ใจ และสังคม

ปัจจุบัน สุขภาพ มีความหมายแคบและระบบสุขภาพมุ่งที่การจัดบริการเพื่อการรักษาพยาบาลเป็นหลัก ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากแต่ให้ผลตอบแทนด้านสุขภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็นและไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ในขณะเดียวกันโรคและปัญหาที่คุกคามสุขภาพเปลี่ยนแปลงยุ่งยากสลับซับซ้อนมาก ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยระบบ วิธีการและองค์ความรู้เดิม ๆ ภาคประชาชนมีส่วนร่วมน้อย ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีเจตนารมณ์ปฏิรูปการเมืองของสังคมไทยไปสู่

การมีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน ซึ่งมีบทบัญญัติจำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องสุขภาพ ได้แก่ หมวดที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย (ม.4, 26, 28,30, 31, 34, 45, 52, 53, 54,55, 56, 57, 59) หมวดที่ 4 หน้าที่ของชนชาวไทย (ม. 69) หมวดที่ 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (ม.76, 78, 79, 80, 82, 86, 87) เป็นอาทิ จึงสมควรที่จะตราพระราชบัญญัตินี้ในรูปของธรรมนูญด้านสุขภาพ กำหนดหลักการ ทิศทาง มาตรการ เครื่องมือและเงื่อนไขสำคัญ ๆ ของระบบสุขภาพแห่งชาติที่สามารถสร้างสุขภาพและจัดการกับปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อย่างได้ผล สามารถปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาได้อย่างเป็นพลวัต

นี่คือ ที่มาของ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายที่มีการยกร่างอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2550  กำหนดให้มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  และมีองค์ประกอบมาจากทั้งสามฝ่าย คือ ฝ่ายการเมือง ฝ่ายสังคมและฝ่ายวิชาการและวิชาชีพ

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่สำคัญ 5 ประการคือ 1. จัดทำธรรมนูญ ว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ 2. จัดให้มีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และสนับสนุนการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่และสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น  3. ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย  4. ให้ข้อเสนอแนะและคำปรึกษาในประเด็นด้านสุขภาพต่อคณะรัฐมนตรี และ 5. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นจากนโยบายสาธารณะ 

เจตนารมณ์ของกฎหมาย  เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ในกระบวนการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพของประเทศ

สิทธิ-หน้าที่ของประชาชนตามกฎหมาย

  1. มีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และ มีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่จะดำเนินการ
  2. ได้รับการคุ้มครอง เรื่องข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล
  3. มีสิทธิได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการอย่างเพียงพอ เพื่อการตัดสินใจ (ยกเว้น...) หากปฏิเสธการรับบริการ จะให้บริการนั้นไม่ได้
  4. มีหน้าที่แจ้งข้อมูลการเจ็บป่วยต่อผู้ให้บริการ ถ้าปกปิด/แจ้งเท็จ ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการให้บริการ
  5. มีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์ที่จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต    

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การออกแบบเครื่องมือใหม่ให้กับสังคมไทย  ดังที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ท่านเรียกว่าเป็น “นวัตกรรมทางสังคม” และสุขภาพตามความหมายของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องการเจ็บไข้ ได้ป่วย เรื่องมดหมอหยูกยา   หรือเรื่องการแพทย์การสาธารณสุขตามความหมายเดิม ๆ แต่หมายถึง สุขภาวะที่เป็นองค์รวมทั้งของบุคคลและของสังคม  และครอบคลุมทั้งมิติด้านกาย ใจ และสังคม

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติฉบับนี้  ถือว่า เป็นเครื่องมือของทุกฝ่ายในสังคม  สำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อนำไปสู่การสร้างสุขภาวะของคนไทยและสังคมไทย.

 

นายไพฑูรย์ พรหมเทศ / ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ / จุดประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้

หมายเลขบันทึก: 302031เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2009 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท