ชีวิต กับการศึกษาชั้นสูงสุด...


ชีวิตที่สมบูรณ์ ครอบครัวที่พร้อมพรั่ง จะเกิดไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่จบการศึกษาชั้นสูงสุด แต่ละเลยการศึกษาชีวิตและจิตใจ

การศึกษาชั้นสูงสุด คือ การศึกษาเพื่อให้เข้าใจตนเอง เมื่อเราสามารถเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้แล้วนั้น เราจึงจะสามารถเข้าใจใน “สรรพสิ่ง...”

ถ้าเราพิจารณาถึงความเป็นจริงในข้อหนึ่งซึ่งบ่งถึงผู้ที่สำเร็จการศึกษาในทางโลกซึ่งเขาสมมติว่าเป็น “ดร.” หรือจบปริญญาเอกนั้น รวมถึงผู้ที่สำเร็จการศึกษาสูงสุดในทางธรรมโดยของประเทศไทยนั้นก็คือ การสำเร็จ “เปรียญธรรม ๙ ประโยค...”

บุคคลทั้ง ๒ ทั้งทางฝ่ายโลกและฝ่ายธรรมที่สังคมนั้นสมมติให้เขาสำเร็จการศึกษาสูงสุด ก็มักจะมามี “ปัญหาชีวิต” ที่เป็นข่าวดังฮือฮาตามหน้าหนังสือพิมพ์...

การสำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดนี้ ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตเราปราศจากปัญหาอย่างนั้นหรือ...?
คำตอบก็คือ “ไม่...”
ถึงแม้นว่าเราสำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดในสาขาวิชาใด หากเราไร้ซึ่งการเข้าใจตนเองแล้วไซร้ชีวิตก็ยังต้องมี “ปัญหา” อยู่...

การเรียน การศึกษาในปัจจุบัน เขาวางระบบไว้ให้เราเน้นศึกษาความเป็นไปของ “สิ่งภายนอก” ดิน ฟ้า อากาศ เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น “ปัญหา” ซึ่งจะติดตามมาไม่ช้าก็เร็ว

คนที่เข้าใจว่าเรียนจบสูง มักจะเข้าใจว่าตนเองนั้นเข้าใจอะไรต่อะไรมากกว่าคนที่เรียนจบชั้นต่ำกว่า
ความคิดเป็นนี้นี่เอง เป็นสาเหตุหลักในการปิดกั้นตนเองที่จะทำความเข้าใจ “จิตใจ” ของผู้อื่น...

หลายครั้งที่คนจบปริญญาเอกด้านจิตวิทยาต้องทิ้ง ต้องลาจากงานที่มีเกียรติ มาหลบ มาพัก ด้วยเหตุเพราะ “อกหัก” หรือผิดหวังจนรับไม่ได้...


ดังนั้น “พุทธศาสนา” ที่แท้จริงแล้วท่านให้หันย้อนกลับมาศึกษาที่ตัวเรา ที่ตัว ที่ตน ที่จิต ที่ใจของเรา
ป่าไม้นั้นมีต้นไม้หลากหลาย การศึกษาเรื่องภายนอกนั้น เราต้องตีวงให้กว้างที่สุด เพื่อให้รู้มากที่สุด แต่ความรู้นั้นก็ยังไม่มีที่สิ้นสุด เขาเลยสมมติให้จบ ณ จุด ๆ หนึ่งแล้วให้ “ปริญญา”

คนเราในสังคมทั้งหลายก็เลยมีความรู้ มีความคิดกันคนละจุด
บางคนรู้แก่น บางคนรู้กระพี้ บางคนรู้ดอก บางคนรู้ใบ บางคนรู้เรื่องสัตว์ บางคนรู้เรื่องแมลง บางคนรู้เรื่องฟ้า บางคนรู้เรื่องอากาศ ฯลฯ แล้วแต่ละคนก็มาถก มาเถียงกัน “ทั้งชีวิต...”
การศึกษาจากภายในนั้น เป็นการศึกษาเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ ต้องศึกษาเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ และเป็นสิ่งที่เรานั้นไซร้ควรศึกษาเป็นลำดับแรก

ตัวตนของเรา จิตใจของเรานั้นคือ “ฐานแห่งการเรียนรู้”
เมื่อเรารู้จริงเรื่องกายของเรา อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งผลให้รู้ซึ้งถึงจิตใจภายในของเรา ก็เท่ากับเรา “จบการศึกษาชั้นสูงสุด”

หมอถึงแม้นจะรู้จักสรีระและสามารถรักษาอาการป่วยของคนอื่น ๆ ได้ แต่หมอนั้นก็ยังต้องพึ่งหมออีกท่านในการรักษาตนเอง...
ฉันใดก็ฉันนั้น ตนเองนั้นแลจักเป็นที่ตนของตนได้ หากเรารู้จักให้เวลาในการศึกษา “กายและจิต” นี้ เราจึงจะสามารถมี “อิสระ” และเสรีในความรู้...

ครั้นเมื่อเรารู้จักกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งรู้จักจิตของเราแล้ว
เมื่อนั้น เราสามารถเข้าถึงขุมกำลังแห่งความรู้ทุก ๆ “ศาสตร์” ในโลกนี้
เมื่อจิตใจของเราเปิดกว้าง เพื่อรับความรู้แล้ว จึงไม่มีความรู้ใดใหญ่เกินกว่าจิตใจของเรา

กำแพงหรือศัตรูตัวสำคัญที่ปิดกั้นการเรียนรู้นั้นคือ “จิตใจที่คับแคบ”
คับและแคบเกินไปกว่าที่ความรู้ของใครต่อใครจะเข้ามา
ไม่มีอะไรที่คนเราหรือใครจะเรียนรู้ไม่ได้
และไม่มีอะไรที่จะเราเรียนรู้ได้ถ้าหากจิตใจของเราไม่เปิดกว้าง...

เด็กนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการ และประชาชนในสังคมโลกใบกลม ๆ นี้กำลังประสบปัญหาเรื่องความคับแคบแห่งจิตใจ
ศาสตร์จากภายนอกนั้นเป็นด่าน เป็นปราการสำคัญที่กั้นขวางจิตใจนี้จาก “ปัญญา” อันสูงสุดนั้น

กระดาษแผ่นน้อย ๆ คือ “ใบปริญญาบัตร” มักจะเป็นตัวสกัดความรู้ที่พร้อมจะมุ่งสู่จิตใจ
ซึ่งเมื่อใดที่เราคิดว่าเราจบการศึกษาสูงสุดทางโลก เมื่อนั้นกำแพง “อัตตา” ก็จะเกิดขึ้นมาเพื่อขวางกั้น ชีวิตของเรานั้นกับ “ความจริง...”

ความจริงที่เราควรเรียนรู้ของตัว เรื่องตน
ความจริงที่เราควรเรียนรู้เรื่องจิต เรื่องใจ
ความจริงที่เราควรเรียนรู้เรื่องลมหายใจที่เข้าและออกอย่างสบายเพื่อชีวิตที่ “สมบูรณ์...”

ชีวิตที่สมบูรณ์ ครอบครัวที่พร้อมพรั่ง จะเกิดไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่จบการศึกษาชั้นสูงสุด แต่ละเลยการศึกษาชีวิตและจิตใจ

การศึกษาชั้นสูงสุดในชีวิตที่เราควรมี ควรหวังให้เกิดมีขึ้นมานั้นคือ การศึกษาชั้นสูงสุดเรื่อง “ชีวิต...”
ชีวิตนี้ประกอบด้วย “กายและจิต” เป็นสิ่งที่เราต้องเริ่มคิด เริ่มศึกษา
ความรู้แห่งชีวิตนี้หนอจักนำพา ความสุขที่ค้นหาได้แท้จริง...

 
 

หมายเลขบันทึก: 301899เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2009 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะมาเรียนรู้ค่ะ....

ยิ่งเรียน ยิ่งรู้สึกว่าตนไม่รู้...

ขอบพระคุณสำหรับข้อคิดดีๆ ที่ช่วยลดอัตตานะคะ

ธรรมฐิตขอสับสนุนความคิดนี้สองมือเลยขอรับ..

เพราะจบเปรียญธรรมเก้าประโยค

หากไม่ย้อนศึกษาเรียนรู้ดูใจตนก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาได้เลย..

แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยในการศึกษาดูใจอันโง่เขลาของธรรมฐิตได้มากพอสมควรเหมือนกัน..

สำหรับธรมฐิตเองป.ธ.๙อยู่ในกระดาษ  นิกายอยู่ในใบสุทธิ

จึงมีแต่กายกับใจ(ที่ยังหนาด้วย โลภ โทสะ โมหะ)ในรูปนามนี้

สาธุขอรับอาจารย์..

ใบปริญญาใด ๆ

หาได้บ่งบอกความเข้าใจ ในการเกิดของมนุษย์ไม่

คนที่ได้ แผ่นกระดาษเหล่านี้มา

 

หลายคนกระหยิ่ม ยิ้มย่อง ฉันเก่ง ฉันสุดยอด

เป็น ที่สุด ของที่สุด ในสาขานี้

 

แต่พอมีปัญหาในชีวิต เกิดขึ้น

การแก่งแย่งของ อสุรกาย ในคราบมนุษย์

ทั้งลาภยศ สรรเสริญ สุข

เงินตรา ทาสของ ความโลภ โกรธ หลง

 

โอ้ น่าอนาถ ความทุกข์เข้ามาเกาะกินใจจิตใจ

ที่เคยถือดี ว่า เก่ง ว่า เจ๋ง

เคยแก้ปัญหา แก้โจทย์ ยาก ๆ ได้

 

แต่ปัญหาที่เข้ามาในชีวิต

ใจที่โดนความทุกข์ บีบคั้น

แทบจะทำให้คนเหล่านี้แทบล้มประดาตาย

 

หากใครกล้ายืดออกยอมรับความจริง ที่มันทุกข์

ก็จะเริ่มสรรหา กัลยาณมิตร

ส่วนใครที่ไม่กล้ายอมรับความจริง อาจจะตัดช่องน้อยแต่พอตัว

ก็ว่ากันไป ตาม กรรม เจ้าค่ะ

คนเรานั้นถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็ต้องอยู่ในสังคมที่ทุกอย่างนั้นเป็นเรื่อง "สมมติ"

เมื่อต้องอยู่กับสิ่งสมมติก็ต้องรู้จักใช้สมมติให้เป็น...

อย่าตกเป็นทาสของสิ่งสมมติ ต้องใช้สมมติ ไม่ให้สมมติต่าง ๆ เหล่านั้นมาใช้เรา

ใช้ให้เราไปเรียน ใช้เราให้หาเงิน ใช้ให้เราโกรธ ใช้ให้เราโลภ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ให้เรา "หลง"

คนเราในปัจจุบันนี้หลงสมมติกันเยอะ

คนเราหลงในกระดาษแผ่นหนึ่งที่เอา "สมมติ" ว่าดี ว่าเลิศ...

แต่ถ้าหากเราทำจิต ทำใจให้อยู่เหนือสมมติได้แล้ว เราจะรู้จักใช้ประโยชน์จากสมมติต่าง ๆ เหล่านั้นได้

คนเราไม่มีเงินจะมาวัดก็มาไม่ถึง จะไปขอน้ำมันเขาเหรอ ใครเขาจะให้

แต่ถ้ามีเงิน อันคนทั้งหลายสมมติว่ากระดาษใบนี้มีค่าแล้ว ก็ให้รู้จักใช้มัน อย่าให้มันมาใช้เรา

มันใช้ให้เราโง่มาก็มาก โง่แล้วก็อย่าโง่ซ้ำอีก

ใช้มันเยอะ ๆ เจ้าสมมตินี่ ใช้มันให้เข็ด หลังจากที่เราโดนมันหลอกใช้เรามานาน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท