การพัฒนาภาวะผู้นำทางปัญญาแก่พระสงฆ์


เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552 ได้รับเชิญจาก มจร.ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี วัดพัฒนาราม (พระอารามหลวง) เข้าร่วมเสวนาในเรื่อง “การพัฒนาภาวะผู้นำทางปัญญาแก่พระสงฆ์” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจำนวน 3 คน จาก 3 สถานะคือ พระสงฆ์ นักการเมือง และ นักวิชาการ ข้าพเจ้าจึงได้รับเชิญให้พูดในฐานะและมุมมองของนักวิชาการ โดยมีประเด็นการเสวนา 4 ข้อคือ

  1. บทบาทพระสงฆ์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

  2. พระสงฆ์ควรเป็นผู้นำทางสังคมด้านใดบ้าง

  3. มีแนวทางและหรือวิธีการส่งเสริม/พัฒนาภาวะผู้นำของพระสงฆ์อย่างไร

  4. ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการพัฒนาภาวะผู้นำของพระสงฆ์

โดยในแต่ละประเด็นข้าพเจ้าได้แสดงทัศนะตามมุมมองของนักวิชาการ ดังนี้

บทบาทพระสงฆ์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

  • สังคมปัจจุบัน เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมแบบเก่า (ที่ยึดมั่นขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม) สู่ สังคมแบบใหม่ (ที่สรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี) บทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาส จึงเป็นไปใน 2 ลักษณะ คือ สังคมแบบเก่า พระสงฆ์เป็นผู้นำชาวบ้านในด้านของจิตวิญญาณ พิธีกรรม และคุณธรรมจริยธรรม และ สังคมแบบใหม่ ชาวบ้านเป็นผู้นำในการแสวงหาความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่สนใจ โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ

  • ในด้านของบทบาทของพระสงฆ์ในปัจุบันก็เป็นไปใน 2 ลักษณะเช่นกัน กล่าวคือ บทบาทพระสงฆ์แบบเก่า มุ่งศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง ใช้วัดเป็นฐานในการเผยแพร่หลักธรรมคำสอน ยึดมั่นในธรรมเนียมประเพญีปฏิบัติ ในขณะที่ บทบาทพระสงฆ์แบบใหม่ มุ่งศึกษาเพื่อพัฒนาสังคม นำความรู้สู่กลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการ และช่องทางต่าง ๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่หลักธรรมคำสอน

พระสงฆ์ควรเป็นผู้นำทางสังคมด้านใดบ้าง

  • พระสงฆ์ควรสร้างภาวะผู้นำทางปัญญาของสังคมใน 3 ประการคือ 1) ศีลธรรมจริยธรรม 2) สังคมพหุวัฒนธรรม และ 3) เทคโนโลยีสารสนเทศ

  • พระสงฆ์ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณของสังคม ต้องยึดมั่นใน ศีลธรรมจริยธรรม โดยการปฏิบัติเป็นแบบอย่าง และมีหน้าที่ในการแนะนำ สั่งสอน อบรมแก่ฆราวาส

  • พระสงฆ์จะต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับฆราวาส จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจใน สังคมพหุวัฒนธรรม คือ ความแตกต่างของบุคคลในสังคม ได้แก่ เพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ และ ชันชั้นทางสังคม เพื่อจะได้สร้างการสื่อสารที่ตรงกันระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาส

  • พระสงฆ์จะต้องมีความรู้และความเข้าใจในการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความรู้ในการพัฒนาตนเอง และเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่หลักธรรมคำสอน รวมถึงเป็นการแบบอย่างในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีวินัยและความรับผิด ชอบ

มีแนวทางและหรือวิธีการส่งเสริม/พัฒนาภาวะผู้นำของพระสงฆ์อย่างไร

  •  แนวทางในการพัฒนาพระสงฆ์ควรดำเนินการใน 3 ลักษณะ คือ 1) การจัดการอบรม ในกรณีที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน 2) การศึกษาต่อทั้งทางโลกและทางธรรม ในกรณีที่ต้องการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และ 3) ส่งเสริมการพัฒนาตนเองของพระสงฆ์

  • พัฒนาคุณลักษณะภาวะผู้นำของพระสงฆ์ อันประกอบด้วย 1) ความรู้ความสามารถในภาระกิจที่กระทำ 2)บุคลิกภาพที่เหมาะสมกับความเป็นสงฆ์ 3) ความสามารถในการสร้างแรงจุงใจ และ 4) พัฒนาให้พระสงฆ์มีทักษะทางสังคม นอกจากนี้ต้องพระสงฆ์พัฒนาอุปนิสัยที่จำเป็นของภาวะผู้นำคือ ความรับผิดชอบ ความคิดเชิงสร้างสรรค์ และ ความมุ่งมั่นในการกระทำให้ประสบความสำเร็จ

  • พระสงฆ์ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ที่มีความสามารถในการสร้างวิสัย ทัศน์ที่เชื่อมโยง สังคมแบบเก่า เข้ากับ สังคมแบบใหม่ นำไปสู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน

ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการพัฒนาภาวะผู้นำของพระสงฆ์

  •  พระสงฆ์ที่ได้รับการพัฒนาภาวะผู้นำ จะมีความสามารถในการชี้แนะ และดลใจ ให้ฆราวาสประพฤติ ปฏิบัติไปสู่เป้าหมายที่ต้องการของศาสนา คือ “การเป็นคนดีของสังคม”

หมายเลขบันทึก: 301387เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2009 03:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท